xs
xsm
sm
md
lg

“วัดโพธิ์-ป้อมพระสุเมรุ” บนแบงก์ 500 โฉมใหม่ ในมูลค่ามีเรื่องราว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนบัตร 500 บาทแบบใหม่
เวลาหยิบเงินออกมาใช้จับจ่ายซื้อของ คนส่วนมากอาจสนใจเพียงมูลค่าของธนบัตรหรือแบงก์ แต่แท้จริงแล้วบนแบงก์แต่ละใบก็จะมีเรื่องราวปรากฏอยู่บนกระดาษเป็นเรื่องที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ 20 บาท 50 บาท 100 บาท หรือ 1,000 บาท โดยบนธนบัตรทุกใบด้านหนึ่งจะมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของบูรพมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งของไทย และจะมีภาพพระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยของกษัตริย์องค์นั้นๆ หรือภาพสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระองค์อยู่ร่วมด้วย

อย่างบนธนบัตร 500 บาทแบบใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งนำออกมาใช้เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมานี้ก็เช่นเดียวกัน ด้านหนึ่งมีภาพประธานด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์

ทีนี้ลองพลิกมาดูด้านหลังธนบัตรซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจกันบ้าง โดยภาพประธานด้านหลังธนบัตรเป็นรูปพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ โดยพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่สะพานพุทธยอดฟ้านั่นเอง
เจดีย์ 4 รัชกาลในวัดโพธิ์ มุมมองในธนบัตร
นอกจากนั้นภาพอื่นๆ ที่ประกอบในธนบัตรด้านนี้ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 1 ทั้งสิ้น โดยบริเวณด้านซ้ายของธนบัตรเป็นภาพของ “พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล” ซึ่งเป็นพระเจดีย์ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ อันเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เนื่องจากพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นใหม่ให้เป็นวัดหลวงคู่พระนคร

พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 1-4 เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสองเพิ่มมุมสูง 42 เมตร ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยลวดลายต่างๆ และสำหรับเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1 นั้นคือ “พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชดาญาณ” เป็นเจดีย์กระเบื้องเคลือบสีเขียว สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 16 เมตร ที่ได้ชะลอมาจากพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งภายในองค์เจดีย์ยังบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย
ป้อมพระสุเมรุ 1 ใน 2 ป้อมของกรุงเทพฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่
ส่วนทางด้านขวาของธนบัตร เป็นรูป “ป้อมพระสุเมรุ” 1 ใน 2 ป้อมเก่าแก่ของกรุงเทพมหานครที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ โดยเมื่อแรกที่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างกรุงเทพฯ นั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคูเมืองและสร้างกำแพงเมืองรอบเขตพระนคร รวมทั้งสร้างป้อมรักษาพระนครอยู่ตามแนวกำแพง 14 ป้อมด้วยกัน

ป้อมพระสุเมรุเป็น 1 ใน 14 ป้อมรอบกรุงเทพฯ บริเวณหัวมุมกำแพงเมืองทางด้านเหนือ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางลำพูหรือคลองรอบกรุงด้านเหนือ เป็นป้อมใหญ่มีหอรบสูง เลียนแบบป้อมเพชรที่พระนครศรีอยุธยา และเป็นป้อมก่ออิฐถือปูนทรงแปดเหลี่ยม รากฐานของป้อมและกำแพงเป็นฐานแผ่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดิน 2 เมตร กว้าง 45 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอดใบเสมาบนป้อม 10.50 เมตร และจากพื้นป้อมชั้นบนถึงหลังคาหอรบ 18.90 เมตร ลักษณะเป็นป้อม 3 ชั้นมีบันไดขึ้นป้อมจากด้านในกำแพงจำนวน 3 บันได มีเชิงเทินและแผงบังปืน ป้อมพระสุเมรุถือเป็นด่านป้องกันด่านแรกในพระนครหากมีข้าศึกล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาจากทางเหนือ จึงถือเป็นป้อมที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง

ปัจจุบัน ป้อมพระสุเมรุตั้งอยู่ในสวนสันติชัยปราการ สวนสาธารณะบนถนนพระอาทิตย์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในบริเวณนี้

หากใครมีแบงก์ 500 แบบใหม่มาไว้ในครอบครอง อย่าลืมพลิกดูรายละเอียดด้านหน้าด้านหลังซักนิดก่อนจ่ายเงินใช้ไป
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น