xs
xsm
sm
md
lg

ชมเเสตมป์สวย ไหว้หลวงพ่อโสธรจำลอง ชิมของอร่อย ที่ “ย่านสะพานควาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ย่านสะพานควาย” บริเวณทางลงจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
ชื่อเรียกของย่านแต่ละย่าน นับเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของย่านนั้นๆ และหากมีชื่อที่ดูแปลกด้วยแล้ว ก็นับเป็นอีกหนึ่งจุดสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างเช่นที่ “ย่านสะพานควาย” ย่านกลางใจกรุงเทพฯ แห่งนี้ ไม่ได้มีแค่ชื่อที่แปลกเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งย่านที่คึกคักไม่แพ้ย่านไหนๆ และยังเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจตั้งอยู่อีกด้วย
ร้านค้ามากมายมีให้เลือกชิม
โดยย่านสะพานควายนั้นจะตั้งอยู่ที่บริเวณแยกสะพานควาย เป็นจุดตัดของถนนพหลโยธินกับถนนประดิพัทธ์ ซึ่งจุดกำเนิดของชื่อย่านแห่งนี้ ถูกเล่าไว้ว่า พื้นที่บริเวณสะพานควายนั้นเดิมมีชื่อเรียกว่าทุ่งศุภราช เป็นทุ่งนาปลูกข้าวขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครริมคลองบางซื่อ เมื่อถึงฤดูแล้งว่างจากการทำนา บรรดานายฮ้อยจากภาคอีสานจะต้อนควายมาขายให้ชาวนาบริเวณนี้เลือกซื้อไว้ทำนา บริเวณนี้ในหน้าแล้งจึงเต็มไปด้วยฝูงควาย
บรรยากาศริมถนนพหลโยธิน
ในเวลาต่อมามีการตัดถนนประดิพัทธ์มาเชื่อมกับถนนพหลโยธิน และเนื่องจากข้างถนนพหลโยธิน มีคูน้ำส่งน้ำจากคลองบางซื่อ ขวางสามแยกถนนประดิพัทธ์กับถนนพหลโยธิน เพื่อให้เป็นการดำเนินความสะดวกในการขายควายจึงมีการทำสะพานให้ควายเดินข้าม โดยใช้ไม้พาดให้ควายข้ามคูส่งน้ำจากถนนพหลโยธินเข้าถนนประดิพัทธ์ และเรียกกันว่า "สะพานควาย" จึงได้มาเป็นชื่อเรียกของย่านแห่งนี้ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
จุดชุมนุมของเหล่าเซียนพระเครื่อง
เริ่มต้นการเที่ยวครั้งนี้ ด้วยการเดินเลียบถนนพหลโยธิน เรื่อยมาจนถึงใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยทั้งสองฟากฝั่งนั้นจะมีร้านค้าร้านอาหารมากมายให้เราได้จับจ่าย โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีอยู่มากมายหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวนานาชนิด ข้าวราดแกง ข้าวมันไก่ ให้เลือกแวะลองลิ้มชิมรสหรือซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้าน (คลิก!! อ่านเรื่องกินย่านสะพานควาย)
ร้านหนังสือมือสอง
แต่ที่เป็นเอกลักษณ์ของย่านนี้ที่สุดก็เห็นจะเป็น เหล่าร้านเช่าพระเครื่องที่ตั้งอยู่เรียงรายริมถนนพหลโยธิน ที่มีอยู่มากมายหลายร้าน โดยจะเป็นจุดนัดพบของเหล่าเซียนพระมากหน้าหลายตาที่ยืนดูยืนชมพระเครื่อง สร้างความคึกคักให้กับย่านแห่งนี้ยิ่งขึ้นไปอีก สำหรับใครๆ กำลังมองหาหนังสือการ์ตูนและนิตยสารมือสอง ก็ยังมีร้านหนังสือมือสองให้ได้แวะดูกันอีกด้วย
หลากหลายหนังสือมือสอง มีให้เลือกซื้อ
บรรยากาศภายใน พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรฯ
ใกล้กันนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารไปรษณีย์สามเสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน" โดยภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของแสตมป์ไว้อย่างครบถ้วน ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ยุคเริ่มต้น และวิวัฒนาการจนมาถึงยุคปัจจุบันของกิจการไปรษณียากร
ตู้จัดแสดงแสตมป์รุ่นต่างๆ
ยังมีการจัดแสดงแสตมป์ต่างๆ มากมายหลายดวงให้ได้ชมกันอีกด้วย ส่วนในวันเสาร์และอาทิตย์ก็จะมีการจัดตลาดนัดคนรักแสตมป์ ให้สำหรับคนที่ชื่นชอบสะสมแสตมป์มาซื้อขายแลกเปลี่ยน อีกทั้งทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดนิทรรศการ “เปิดหน้าต่างอาเซียน” และนิทรรศการขยาย “กินใส่สไตล์อาเซียน” ให้ผู้ที่สนใจได้ชม โดยนิทรรศการนี้จะจัดยาวไปถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558
จุดจัดแสดงประวัติตราไปรษณียากร ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
บรรยากาศบริเวณนิทรรศการ “เปิดหน้าต่างอาเซียน”
“นิทรรศการ เปิดหน้าต่างอาเซียน”
“วิหารจัตุรมุข” และบรรยากาศภายใน “วัดไผ่ตัน”
ถึงแม้จะเป็นย่านที่คึกคักไปด้วยผู้คน ย่านแห่งนี้ก็ยังมีมุมสงบอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือภายในบริเวณ “วัดไผ่ตัน” โดยวัดจะตั้งอยู่ในซอยพหลโยธิน 15 ซึ่งภายในวัดแห่งนี้เป็นที่ตั้งของวิหารจัตุรมุข เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพุทธโสธรจำลอง ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2496 ให้ผู้ที่แวะมาได้สักการะขอพรและทำบุญ อีกทั้งภายในวิหารยังมีภาพฝาผนังประดับมุกโดยเป็นเรื่องราวต่างๆ ในพระพุทธศาสนาให้ได้ชมกันอีกด้วย
“หลวงพ่อโสธรจำลอง”
ย่านสะพานควายแห่งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งย่านที่น่าสนใจ หากมีโอกาสมาเที่ยวย่านแห่งนี้ ก็คงจะพูดได้ว่าคุ้มสุดๆ เพราะได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งบุญ และยังอิ่มท้อง เป็นอีกหนึ่งย่านที่ไม่ทำให้ผิดหวังจริงๆ หากมาเยือน
บรรยากาศภายในวิหารจัตุรมุข
 ภาพฝาผนังประดับมุก
****************************************************************************************

การเดินทาง : รถประจำทางสาย 3, 8, 28, 29, 38, 44, 59, 108 และรถปรับอากาศสาย 29, 44, 503, 509, 510 ฯลฯ
รถไฟฟ้า BTS สถานีสะพานควาย

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 อาคารปฏิบัติการไปรษณีย์สามเสนใน (หลังที่ทำการไปรษณีย์สามเสนใน) เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวันพุธ-อาทิตย์ หยุดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลาเข้าชม 08.30-16.30 น.

ตลาดนัดคนรักแสตมป์ จัดขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น.
 

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 
กำลังโหลดความคิดเห็น