ในช่วงเวลาของการเดินทางแต่ละครั้ง มักมีเรื่องราว-ความประทับใจให้ได้จดจำเสมอ เช่นเดียวกับการเดินทางไปเยือนจังหวัดจันทบุรีในครั้งนี้ ก็มีเรื่องราวกลับมาเล่าสู่กันฟังเหมือนเช่นเคย
จังหวัดจันทบุรี หนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย ที่ยังเป็นจังหวัดที่มีขนบธรรมเนียม รวมถึงประเพณีเก่าแก่โบราณที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสเข้าร่วมงาน “ประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท” หรือ “ชักเย่อพระบาท” ที่วัดตะปอนใหญ่ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมที่จะจัดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี
สำหรับการชักเย่อเกวียนพระบาท เป็นการนำเชือกผูกติดกับเกวียนทั้งสองด้าน (ด้านหัวกับด้านท้าย) บนเกวียนจะมีผ้าพระบาทห่อเป็นม้วนแล้วผูกไว้บนเกวียน และคนตีกลองอยู่ด้านบน โดยชาวบ้านจะมีการแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองฝ่าย จากนั้นกรรมการจะนับถอยหลังเพื่อปล่อยตัวชักเย่อ เมื่อปล่อยตัวแล้วแต่ละฝั่งก็ออกแรงดึงกันเต็มที่ ด้านข้างก็จะมีชาวบ้านรวมถึงผู้เฒ่าผู้แก่คอยนั่งเชียร์ออกเสียงสั่งการกันสุดฤทธิ์ บางคนมายืนคุมติดขอบสนามคอยสั่งการชักเย่อจนนึกว่าตัวเองเป็นผู้เล่นเสียเอง บางทีมดึงเชือกไป-มาพอเหนื่อยก็กดเชือกแช่ลงพื้นเป็นการคุมไม่ให้เกวียนเคลื่อนตัว ส่วนด้านบนเกวียนคนตีกลองก็คอยตีกลองรัวเป็นจังหวะสร้างความมันเป็นอย่างยิ่ง เมื่อฝ่ายใดลากเกวียนเข้ามาในเส้นเขตของตัวเองได้ ก็ถือเป็นผู้ชนะลากพระบาทได้
ลุงกาญ กรณีย์ ผู้สูงอายุในพื้นที่เล่าถึงที่มาของการชักเย่อเกวียนพระบาท หรือชักเย่อพระบาทให้เราฟังว่า ในอดีตเกิดโรคห่าขึ้นภายในหมู่บ้าน ทำให้มีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดว่านำศพคนแรกไปฝัง กลับมาบ้านคนต่อไปก็ตายอีก รักษาอย่างไรก็ไม่หาย จึงมีพระแนะนำให้เอาผ้าพระบาทออกแห่ แห่โดยตีฆ้อง กลอง โหม่ง ตีสนั่นแห่ไปตามหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเห็นและได้ยินเสียงขบวนแห่ ก็จะยกมือสาธุ บ้านไหนมีคนป่วยก็เอาผ้าพระบาทขึ้นไปทำพิธี
จากการแห่ผ้าพระบาทในครั้งนั้นก็ทำให้เกิดความมหัศจรรย์ขึ้น ฝนตกและโรคระบาดหายไป ทำให้ชาวบ้านเกิดศรัทธา จึงมีการสืบทอดประเพณีติดต่อกันมาทุกปี สำหรับผ้าพระบาทนั้นมีผืนเดียว เวลาชาวบ้านมารับผ้าไปก็จะแย่งกันเอาไป ต่างคนต่างอยากได้ไปทำบุญที่หมู่บ้านตนก่อน ทำให้เกิดการชักเย่อกันขึ้น จึงเป็นที่มาของการชักเย่อ ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นการละเล่นแบบสนุกๆ ไม่มีใครโกรธกัน ทำให้ที่นี่มีการสืบทอดการชักเย่อมาแล้วกว่า 70 ปี โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ชาย-หญิง เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบกัน ผู้ชักเย่อจะต้องชนะ 2 ใน 3 และชาวบ้านยังเชื่ออีกว่าถ้าแห่ผ้าพระบาทปีละ 3 ครั้ง จะทำให้ไม่เจ็บไม่ป่วย
“การแข่งชักเย่อพระบาทที่นี่ไม่เหมือนชักเย่อทั่วไป ไม่มีใครชนะได้ มาจากที่ไหนก็แพ้หมด เพราะไม่รู้เทคนิคการชักเย่อของเราต้องมีท่าทางที่ถูกต้องตามหลักคือ ยืดตัวตรง ขาก้าวมา 45 องศา เหมือนเป็นท่ากายภาพบำบัด การชักเย่อจะสร้างแดนไม่เกิน 3 เมตร ให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายมาโยนหัว-ก้อย และมีการกำหนดเวลาไว้รอบละ 10 นาที เพราะถ้าไม่กำหนดอาจจะนานเป็นชั่วโมงได้”
เมื่อถามถึงที่มาของผ้าพระบาท ลุงกาญเล่าให้ฟังว่า ว่ากันว่าผ้าพระบาทนั้นมาทางเรือ มาขึ้นฝั่งที่บ้านคลองยายดำ และมีการฉลอง 7 วัน 7 คืน จากนั้นนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดตะปอนน้อย พอถึงสงกรานต์ก็จะเปิดผ้าทำบุญบูชา
ลุงกาญอธิบายถึงลักษณะของผ้าพระบาทให้ฟังอีกด้วยว่า “ผ้าพระบาทมีความกว้าง 5 ศอก ยาว 21 ศอก เป็นผ้าเขียนมีลักษณะ 4 รอย เขียนเป็นรอยเล็ก-ใหญ่ซ้อนกันอยู่บนผืนผ้า ตามตำนานเชื่อกันว่าเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ รอยแรก (รอยนอกสุด) เป็นรอยของพระกุตสันโธ รอยที่สองเล็กลงมาเป็นรอยของพระโคนาดม รอยที่สามเป็นรอยของพระกัสสปะ และรอยที่สี่เป็นรอยเล็กที่สุด เป็นรอยของพระพุทธโคดม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ภายในรอยเล็กเขียนรูปเทวดาและนางฟ้า เมื่อก่อนผ้าสีออกฟ้าๆ ภายในมีรูปกวางแต่เลือนรางไปหมดแล้ว แต่ไม่ได้เปิดให้ใครดูเพราะคนในสมัยก่อนบอกว่าถ้าแกะผ้าออกมาจะทำให้ไม่ดี”
ปัจจุบันผ้าพระบาทจะถูกอัญเชิญออกมาในช่วงวันสงกรานต์ โดยที่วัดตะปอนใหญ่มีการกำหนดกติกาและวันเวลาที่ชัดเจนขึ้น คือวันที่ 17 เมษายนของทุกปี จะมีการจัดงานประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาทขึ้น ชาวบ้านในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในตอนเช้า เมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาทขึ้นอย่างสนุกสนาน พอแข่งชักเย่อเสร็จ แดดร่มลมตกชาวบ้านในพื้นที่ทั้งผู้เฒ่าผู่แก่ คนหนุ่ม คนสาว รวมไปถึงลูกเด็กเล็กแดงก็ร่วมกันก่อเจดีย์ทรายและตกแต่งกันอย่างสวยงาม
เมื่อเสร็จจากการก่อทรายก็แยกย้ายกันไปอาบน้ำอาบท่า พอได้เวลาสองทุ่มก็กลับมาที่วัดกันใหม่ มาประจำที่เจดีย์ทรายที่ก่อกันเอาไว้ โดยจะปิดไฟที่อยู่รอบๆ และจุดเทียนที่เจดีย์ทรายแทนทำให้ส่องแสงสว่างไสวไปทั่ว จากนั้นพระจะทำการสวดทำพิธีและให้พร เมื่อเสร็จสิ้นแล้วก็จะมีการประกาศผลการก่อเจดีย์ทรายว่าใครก่อได้สวย ตกแต่งสวยงามหรือสร้างสรรค์ จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน พอรุ่งเช้าก็มีการทำบุญกันอีกครั้งเป็นอันจบพิธี เรียกได้ว่าเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาอย่างดี ทั้งได้บุญทั้งได้สนุกสนานกันตั้งแต่เช้าจดค่ำเลยทีเดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง (รับผิดชอบพื้นที่ระยอง, จันทบุรี) โทร.0-3865-5420-1
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com