“ผ้าหมักโคลน” หนึ่งในภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นของชาวบ้านในชุมชนบ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ภูมิปัญญาเรียบง่ายที่กลายมาเป็นความมหัศจรรย์ของการผสมผสานระหว่างดินและผ้า จนกลายมาเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ที่มาเยือนยังหมู่บ้านแห่งนี้
จุดเริ่มต้นของภูมิปัญญาที่น่าทึ่งนี้ เริ่มขึ้นจากการสังเกตของชาวบ้าน ที่ถูกเล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่นว่า ยามที่ออกไปทำนา เสื้อผ้าส่วนล่างที่ใส่ไปนั้น ก็จะเปื้อนโคลนทุกๆ ครั้ง หลังจากกลับบ้านมาซักผ้าเพื่อทำความสะอาดแล้ว จึงสังเกตว่าผ้าในส่วนล่างที่เปื้อนโคลนนั้น มีความนิ่มกว่าผ้าส่วนบนที่ไม่เปื้อนโคลน
หลังจากการช่างสังเกตของบรรพบุรุษของชาวบ้านบ้านนาต้นจั่น กรรมวิธีการทำผ้าหมักโคลน จึงถือกำเนิดขึ้น และกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอันน่ามหัศจรรย์ ที่ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านบ้านนาต้นจั่นอีกทางหนึ่ง
ขั้นตอนในการทำผ้าหมักโคลนนั้นไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก เริ่มจากการย้อมเส้นฝ้ายสีขาวด้วยคราม ซึ่งจะใช้เวลานานนับชั่วโมงกว่าสีจะติดตามต้องการ แล้วนำเส้นฝ้ายไปผึ่งแดดให้แห้งและซักน้ำครามออก นำกลับไปผึ่งแดดอีกครั้งหนึ่ง จึงนำมาทอตามลวดลายที่กำหนดตามเอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านนาต้นจั่น ซึ่งลวดลายส่วนใหญ่ลอกเลียนแบบจากธรรมชาติ เช่น ลายผักแว่น ลายดอกพิกุล
หลังจากนั้นแล้วก็นำผ้าที่ทอได้เป็นผืนมาหมักในโคลน ซึ่งโคลนที่ได้นั้น ก็มาจากการเก็บตามท้องนาของหมู่บ้าน ซึ่งจะต้องนำมาคัดเศษผงที่เจือปนออก ก่อนนำไปผสมกับน้ำตามสัดส่วน หลังจากนั้นนำผ้ามาหมักไว้ และทิ้งไว้ 1 คืน ซึ่งเกินกว่านั้นไม่ได้เพราะทำให้ผ้าเปื่อย
เมื่อเสร็จสิ้นจากการหมักแล้วก็จะนำมาซักให้สะอาด แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งให้ผ้าซับน้ำจนอิ่มตัว ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในขั้นตอนนี้ จากนั้นก็จะเป็นการย้อมสีให้กับผ้านุ่มๆ ผืนนี้
การยอมสีผ้าของชาวบ้านบ้านนาต้นจั่นนั้น จะเป็นการย้อมผ้าที่ใช้สีธรรมชาติ ซึ่งแต่ละสีก็จะได้มาจากเปลือกไม้ ใบไม้หรือดอกไม้ อาทิ ต้นมะกอก ต้นหว้า ให้สีเขียวครีม ใบสะเดาให้สีเขียว แก่นขนุนให้สีเหลืองอมเขียว เป็นต้น ในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง และจะต้องใส่เกลือลงไปเพื่อไม่ให้สีตก และใส่ผงซักฟอกเพื่อไม่ให้ผ้าหดตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของชาวบ้านแห่งนี้
เมื่อสีสันของผ้าเริ่มได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็จะนำผ้าขึ้นมาซักกับน้ำ โดยซักจนกว่าน้ำที่ซักจะใส เพื่อเป็นการยืนยันว่าสีไม่ตก และนำไปผึ่งให้แห้ง เสร็จสิ้นกระบวนการนี้ก็จะได้ผ้าฝ้ายสีสันสดใสและนุ่มน่าสัมผัส
หากใครสนใจก็สามารถมาชมขั้นตอนในการผลิตได้ที่ โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมชนบทเพื่อการท่องเที่ยว หมู่บ้านบ้านนาต้นจั่น โดยจะมีผลิตภัณฑ์จากผ้าหมักโคลน ทั้งแบบทอเป็นผืนและแบบที่แปรรูปแล้ว เช่น กระเป๋า, เสื้อ, ชุดต่างๆ ให้ได้เลือกซื้อเลือกชมติดไม้ติดมือกลับบ้าน
นับได้ว่าการทำผ้าหมักโคลน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มหัศจรรย์ที่ได้มาจากการช่างสังเกต ซึ่งสามารถนำดินมาสร้างมูลค่าให้แก่ผ้าได้อย่างมากมาย และกลายมาเป็นสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ และนำรายได้มาสู่ชุมชน ซึ่งเปรียบได้กับคำพูดที่ว่า “ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ” นั้นมีอยู่จริงๆ
อีกทั้งหมู่บ้านบ้านนาต้นจั่น ยังได้รับรางวัล PATA GOLD AWARDS 2012 ประเภท Heritage and culture และรางวัลยอดเยี่ยม Tourism Award 2013 อีกด้วย และหากใครที่มีโอกาสได้มาเที่ยวที่นี่ ก็อย่าลืมชิม “ข้าวเปิ๊บ” อาหารพื้นบ้านประจำถิ่นแสนอร่อย และแวะทักทายคุณตาวงศ์ ผู้ที่ริเริ่มประดิษฐ์ตุ๊กตาโหนบาร์ สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ หมู่บ้านบ้านนาต้นจั่นเเห่งนี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่น่าสนใจที่จะมาเยี่ยมเยือนสักครั้ง
(คลิกติดตามเรื่อง “ข้าวเปิ๊บ” ของดีมีให้ชิมที่ “บ้านนาต้นจั่น” สุโขทัย)
****************************************************************************************************************************************
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุโขทัย รับผิดชอบสุโขทัย กำแพงเพชร โทร.0-5561-6228-9
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com