xs
xsm
sm
md
lg

หลงเสน่ห์ “นางงาม” เมืองสงขลา/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
ซุ้มประตูเมืองสงขลาย่านเมืองเก่า
แม้ตัวเมืองสงขลาจะไม่ใหญ่ ไม่เจริญ ไม่อุดมแสงสีและความบันเทิงเท่าตัวเมืองหาดใหญ่ที่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสงขลา แต่ตัวเมืองสงขลาโดยเฉพาะบริเวณเขตเมืองเก่าสงขลานั้นถือว่ามีเสน่ห์น่าเที่ยวไม่น้อย เพราะหลายปีมานี้ เทรนด์เที่ยวสัมผัสวิถีย้อนยุคมาแรง นั่นจึงทำให้เมืองเก่าสงขลาได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น

เป็นการปลุกเมืองนี้ให้ตื่นขึ้นมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนรอยสงขลา

พูดถึงเมืองสงขลาแล้ว เมืองนี้มีการย้ายเมือง ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาแล้วหลายครั้งหลายหน เริ่มตั้งแต่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานว่าที่นี่เคยเป็นชุมชนโบราณที่มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย มีการตั้งชุมชนแรกเกิดขึ้นที่บริเวณบ้านสทิงหม้อ ก่อนขยายเป็นชุมชนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมที่เมืองสทิงพระ (จะทิ้งพระ) ที่นักโบราณคดีหลายคนยกให้เป็นชุมชนเมือง (อย่างเป็นทางการ) แห่งแรกของจังหวัดสงขลา เมื่อประมาณ พ.ศ. 1000 กว่าๆ

-เมืองสงขลาเขาแดง

จากนั้นในช่วงประมาณ พ.ศ. 2150 (บ้างก็ว่าในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21) ศูนย์กลางเมืองได้ย้ายมาที่เขาแดง (หัวเขาแดง) ซึ่งเติบโตพัฒนามาจากย่านพักสินค้าและที่จอดเรือของพ่อค้า เกิดเป็นเมืองท่าชายฝั่งสำคัญ ที่ปรากฏชื่อในเอกสารต่างๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตกว่า “Singora” และ “Singor” ซึ่งมีการตีความว่าน่าจะเป็นที่มาของคำว่า “สิงขร” หรือ “สิงหลา” ที่ภายหลังกลายเป็นเมือง “สิงหนคร” หรือที่ชาวมลายูเรียกว่า “สิงขระ” หรือ “สิงคะรา” หรือ “สิงโครา” ที่แปลว่า “ภูเขา” ซึ่งมีข้อสันนิษฐานไป 2 ทาง

ทางหนึ่งเชื่อว่ามาจากการที่ที่ตั้งของเมืองสิงหนครมีภูเขาอยู่หลายลูก เช่น เขาแดง เขาตังกวน เขาน้อย ส่วนอีกทางหนึ่งสันนิษฐานว่าภูเขาที่ว่าน่าจะมาจากเขาแดง ที่เมื่อล่องเรือมายังเมืองนี้จะเห็นเขาแดงเป็นจุดสังเกตสำคัญ

จากนั้นต่อมาเมืองสิงขระได้ถูกเรียกขานเพี้ยนไปกลายเป็น “สงขลา” ดังในปัจจุบัน

เมืองสิงขระในยุคเขาแดงอาศัยความเป็นเมืองท่าสำคัญ จึงได้สร้างกำแพงเมือง ป้อมปราการต่างๆ อย่างแน่นหนา พร้อมกับประกาศตัวเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยา จึงถูกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีหลายครั้ง และมาตีแตกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงปี พ.ศ. 2223
ซุ้มประตูเมืองสงขลา บริเวณหาดสงขลา
-เมืองสงขลาแหลมสน

หลังเมืองสงขลาที่เขาแดงถูกทำลาย กลุ่มพ่อค้าชาวจีนได้ร่วมกันฟื้นฟูเมือง ก่อนจะย้ายศูนย์กลางมาอยู่ที่บริเวณแหลมสน มีการตั้ง “พระยาสงขลา” (เดิมเป็นชาวบ้านชื่อ “โยม”) เป็นเจ้าเมืองสงขลาคนแรก

ต่อมามีการแต่งตั้ง “นายเหยี่ยง แซ่เฮา” ที่มาทำสัมปทานรังนกบนเกาะสี่ เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา เป็น “หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลาคนถัดมา ซึ่งหลวงสุวรรณคีรีสมบัติถือเป็นต้นสายสกุล “ณ สงขลา” ที่คนไทยคุ้นหูกันดีในปัจจุบัน

-เมืองสงขลาบ่อยาง

ในปี พ.ศ. 2379 (บ้างว่า 2375) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้ย้ายเมืองสงขลาอีกครั้งมาอยู่ที่บ้านบ่อยาง พร้อมให้สร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้น มีการสมโภชหลักเมืองในปี พ.ศ. 2385

จากนั้นเมืองสงขลาบ่อยางได้ขยายเมือง ตั้งศูนย์ราชการ พัฒนาเมืองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ถนนนางงาม
ท่องเมืองเก่าสงขลา หลงเสน่ห์นางงาม

หลังเมืองสงขลาผ่านการย้าย การเปลี่ยนแปลง ผ่านการพัฒนามาเป็นเมืองสงขลาดังเช่นทุกวันนี้ ในบริเวณเมืองสงขลาเองได้มีย่าน “เมืองเก่าสงขลา” ที่เป็นดังพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้ผู้สนใจได้มาสัมผัสกับอดีตที่ยังมีลมหายใจ

ย่านเมืองเก่าสงขลา บางคนให้ฉายาย่านนี้ว่า เมือง “2 นคร 1 นาง” มีถนนสายสำคัญอยู่ 3 สาย คือ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเที่ยวของผมครั้งนี้
ตึกเก่าที่ถนนนางงาม
ถนนนางงาม เดิมชื่อ “ถนนเก้าห้อง” เนื่องเพราะแต่ก่อนถนนสายนี้มีอาคารบ้านเรือนเพียงแค่ 9 ห้อง แต่ต่อมาถูกเรียกขานใหม่ว่า “ถนนนางงาม” ซึ่งที่มาของชื่อถนนนั้นมีข้อสันนิษฐานไป 3 ทิศทาง

ทางแรก เชื่อว่ามาจากการที่ในอดีตมีสาวงามจากถนนเก้าห้อง ได้รับเลือกให้เป็นนางงามสงขลาคนแรก ผู้คนจึงเรียกถนนสายนี้ว่าถนนนางงาม
ร้านภาพเก่า อีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป
ทางที่สอง สันนิษฐานว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่านางงาม เพราะในอดีตที่แถบนี้เคยเป็นท้องนามาก่อน ก่อนจะพัฒนาเป็นเมือง

ทางที่สาม สันนิษฐานว่ามาจากการที่ถนนสายนี้เคยมีโรงแรมแห่งแรกในสงขลา และที่โรงแรมก็มีหญิงงามบริการ ผู้คนจึงเรียกว่าถนนนางงามที่มาจากหญิงงามเมือง
อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีสที่ยังหลงเหลือ
นั่นก็คือข้อสันนิษฐาน 3 ทาง ต่อที่มาของชื่อถนนนางงาม ถนนที่ยังมีความงดงามอาคารเก่าแบบเรือนไม้ 2 ชั้น เรือนครึ่งตึกครึ่งไม้ และอาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ให้ชมกันบ้างจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่ว่า ควรจะพัฒนาอาคารเหล่านี้บางหลังให้มีสภาพดีกว่านี้ และควรนำสายไฟลงดิน ส่วนอาคารที่สร้างใหม่ก็ต้องควบคุมความสูง และสร้างให้กลมกลืนกับพื้นที่ ซึ่งก็น่ายินดีที่ผมเห็นตึกแถวใหม่บางหลังสร้างในแบบชิโน-โปรตุกีสดูสวยงาม
หลวงพ่อบ่อยาง วัดยางทอง
บนถนนนางงามมีวัดสำคัญคือ “วัดยางทอง” วัดเก่าแก่ไม่ปรากฏช่วงเวลาที่สร้างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในวัดมี “หลวงพ่อบ่อยาง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญ นอกจากนี้ก็ยังมี “บ่อยาง” บ่อน้ำโบราณที่เป็นที่มาขอชื่อชุมชนบ่อยางที่วันนี้ขยายเป็นตำบล ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาตามที่กล่าวมาข้างต้น
ภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง มีหลักเมือง เจ้าพ่อหลักเมือง และรูปเคารพอีกหลากหลายให้สักการะบูชา
นอกจากนี้ที่นี่ยังมี “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา และ”ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา” ที่ตัวศาลมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเก๋งจีน ประดับประดาสวยงาม ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง เจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าแม่กวนอิม และรูปเคารพอื่นๆ ซึ่งทางศาลได้ทำผังลำดับการไหว้เทพเจ้า ไหว้หลักเมืองเอาไว้ ไล่ลำดับไปจาก 1 ถึง 9 ใครที่ไปเที่ยวก็สามารถไปไหว้ตามนั้นได้
ลีลาป้าเล็กที่ร้านใต้ถุนโรงงิ้ว
ตรงกันข้ามกับศาลหลักเมืองเป็นที่ตั้งของโรงงิ้ว ที่เป็นโรงงิ้วที่แปลกไม่เหมือนใครเพราะมี “ก๋วยเตี๋ยวใต้ถุนโรงงิ้ว” เจ้าดัง ที่แม้จะต้องก้มมุดตัวเข้าไปนั่งยองๆ กินในใต้ถุนโรงงิ้ว แต่ก็มีทั้งคนพื้นที่และนักทองเที่ยวจำนวนมากไม่ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น

ก๋วยเตี๋ยวใต้ถุนโรงงิ้วดั้งเดิมเริ่มมาจากป้ารุ่ง ก่อนส่งต่อมาถึงรุ่นปัจจุบันเป็นป้าเล็กที่ยังคงสูตรดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งหากใครจะกินให้อร่อยควรเติมเครื่องปรุงตามสูตรของร้านคือ น้ำตาล 1 ช้อน น้ำส้ม 1 ช้อน และพริก 1 ช้อน

สำหรับเรื่องรสชาติก๋วยเตี๋ยวขึ้นอยู่กับรสปากของใครของมัน ส่วนปากของป้าเล็กนั้นจัดอยู่ในประเภท ปากจัดแต่จริงใจ ซึ่งแกได้เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ผมฟังหลายอย่างในระหว่างที่นั่งกินก๋วยเตี๋ยว กินไป ฟังไป แถมขำไปบ้าง เพลินทีเดียว
ไอศกรีมไข่แข็ง(ซ้าย) ไอศกรีมถั่วเขียวสูตรโบราณ(ขวา)
พูดถึงของกินแล้ว ที่ถนนนางงามนี้เด่นมากเรื่องอาหารการกิน ที่นี่มีของกินน่าสนใจให้เลือกกินกันหลายอย่าง ทั้งขนมพื้นบ้าน ของกินดั้งเดิม มาจนถึงของกินร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวไก่ หมู อาหารตามสั่ง กวยจั๊บ กะลอจี๊ โจ๊ก ชา กาแฟ ข้าวสตูเกียดฟั่ง ซาลาเปาลูกยักษ์สูตรโบราณ ขนมพื้นเมือง เช่น ขนมค้างคาว ขนมลูกโดน ขนมหวัก ขนมปาด ขนมขี้มอด(ขนมชมดาว) และอาหารของกินอีกหลากหลาย รวมไปถึง ไอศกรีม หรือไอติม ที่มี 4 เจ้าเด่นให้เลือกกิน ทั้งไอติมไข่แข็ง 2 เจ้าพี่น้องที่ชื่อคล้ายกัน ไอติมโอ่งที่เด่นที่ภาชนะใส่ และไอติมถั่วเขียวสูตรโบราณ ซึ่งแต่ละเจ้ามีดีแตกต่างกันออกไป
คู่บ่าวสาวใช้ตึกเก่าที่ถนนนางงามเป็นฉากถ่ายภาพแต่งงาน
ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แหล่งของกินอันหลากหลาย มีอาคารเก่าที่น่าสนใจ มีศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ ผู้คนส่วนใหญ่น่ารักมีมิตรไมตรี ซึ่งนี่ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ช่วยกันเกื้อหนุนให้ถนนนางงาม มีความน่าสนใจเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งหลังจากที่ผมออกเดินทอดน่องเที่ยวไปบนถนนนางงาม ผมยอมรับว่า แม้ถนนสายนี้จะเล็ก สั้น แต่ว่ามันมีเสน่ห์ไม่น้อย

งานนี้นางงามแห่งสงขลาทำให้ผมตกหลุมรักเข้าแล้ว
****************************************

นอกจากสิ่งน่าสนใจที่ถนนนางงามแล้ว ในบริเวณเมืองเก่ายังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย อาทิ วัดมัชฌิมาวาส พิพิธภัณฑ์ธำมะรงค์ มัสยิดอุสาสนอิสลาม โรงสีหับโห้หิ้น และ ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น