เมื่อพูดถึงประเพณี"บุญบั้งไฟ" ที่เป็นประเพณีการละเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน แน่นอนว่าหลายๆคนคงต้องนึกถึงงานประเพณีบุญบั้งไฟที่จังหวัดยโสธรมาเป็นลำดับต้นๆ
และเมื่อพูดถึงชาว"ผู้ไท" "ภูไท" หรือ "ผู้ไทย" หลายคนมักจะนึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติพันธุ์ที่มีภาษาพูด การแต่งกาย และวัฒนธรรมประเพณีที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหลายคนก็คงไม่ได้คิดถึงชาวผู้ไทกับงานบุญบั้งไฟมากนัก
แต่สำหรับชาวผู้ไทยที่ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ พวกเขามีงานประเพณีบุญบั้ืงไฟอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร กับงาน "บุญบั้งไฟตะไลล้าน" อันน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 พ.ค. ที่ผ่านมา
นายพิศดา จำพล ปราชญ์ชาวบ้าน เล่าว่า งานบุญบั้งไฟตะไลถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านกุดหว้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาผู้ไทย ที่สืบทอดต่อกันมาให้ลูกหลาน ในสมัยก่อนการทำบุญบั้งไฟบ้านกุดหว้า จะใช้บั้งไฟหางเหมือนกับพื้นที่อื่น ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก จนมาเมื่อปี พ.ศ. 2521 ตนได้คิดค้นวิธีทำบั้งไฟ เพื่อให้แตกต่างจากพื้นที่อื่น จนได้เริ่มการทำบั้งไฟตะไลแสนขึ้นมา และได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟในปีนั้น และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลเรื่อยมา
ในส่วนของบั้งไฟตะไลล้านนั้น แรกเริ่มเดิมทีมีเพียงแค่การจุดบั้งไฟตะไลแสน แต่ต่อมาได้มีการพัฒนาบั้งไฟให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จนในปี พ.ศ.2540 ได้มีการทำบั้งไฟตะไลล้านขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง แต่เมื่อจุดตะไลแล้วไม่ประสบผลสำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาสูตรการทำตะไลล้านมาเรื่อยๆ จนในที่สุดการทำบั้งไฟตะไลล้านก็สำเร็จ และสามารถจุดขึ้นได้ในปี พ.ศ. 2542 จากนั้นจึงได้มีการทำบั้งไฟตะไลล้านมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันการจุดบั้งไฟตะไลนั้น มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายล้อเกวียน ประกอบด้วยกระบอกหรือแป๊บเหล็ก ข้างในอัดแน่นด้วยดินปืน ขอบของบั้งไฟ มีลักษณะเป็นวงกลมทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน เรียกว่า ‘กง’ มีหน้าที่บังคับบั้งไฟ
บั้งไฟตะไลมีหลายขนาด มีการแบ่งตะไลออกเป็นสองประเภท คือตะไลเล็กกับตะไลใหญ่ ซึ่งตะไลเล็กจะเรียกว่าตะไลแสน มีความยาวประมาณ 2 - 3 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้วขึ้นไป ส่วนตะไลใหญ่ คือบั้งไฟตะไลล้านจะมีความยาว 6 เมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้วขึ้นไป ตัวบั้งไฟทำจากท่อเหล็ก ไม่เหมือนกับบั้งไฟหางในปัจจุบัน ในการประกอบบั้งไฟนั้น ดูจากภายนอกเหมือนไม่มีอะไรที่ยุ่งยากมากนัก เห็นก็จะมีเพียงแค่ตัวท่อเหล็กตรงกลาง และไม้ไผ่ที่ประกอบเป็นตะไลเท่านั้น
นายดวงจันทร์ วรรณสา ผู้ทำบั้งไฟ ค่ายศิษย์ช่างแดง บอกกับเราว่า สำหรับการทำตะไลนั้น ในแต่ละปีจะเริ่มทำตอนเดือนเมษายน ไปจนถึงวันงาน โดยรวมๆ แล้ว ก็จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่เคยทำ หรือไม่มีอุปกรณ์ในการทำ ก็ใช้เวลาร่วม 2 เดือน
ในการทำตะไลแต่ละอันจะใช้ดินปืน หรือดินประสิวบรรจุเข้าไปในท่อเหล็ก โดยใช้แรงดันจากเครื่องอัด เป็นตัวบรรจุดินประสิวเข้าไปทีละนิดๆ ให้แน่น จนกว่าจะเต็ม โดยในการทำตะไลแต่ละอันต้องทำรูไว้ เพื่อใช้ในการจุด ส่วนจะมีจำนวนกี่รูนั้นก็ขึ้นอยู่กับขนาดของตะไลแต่ละอัน โดยประมาณจะอยู่ที่ 4 และ 6 รู และในการจุดตะไลนั้น ต้องจุดให้ติดครบทุกรู ถ้ารูใดรูหนึ่งไม่ติด ก็จะทำให้บั้งไฟตะไลขึ้นสู่ท้องฟ้าไม่ได้
เมื่อมาถึงวันงานประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน (วันจริง) แต่ละค่ายก็จะแบกตะไลเข้าไปยังพื้นที่ที่จัดไว้สำหรับใช้ในการจุดบั้งไฟ โดยนำตะไลแต่ละอันไปวางบนฐานที่เตรียมไว้สำหรับการจุด เมื่อนำตะไลไปวาง และสำรวจทิศทางแล้ว จากนั้นจะมีการชูธงเขียว บอกสัญญาณให้ทางคณะกรรมการรู้ว่า พร้อมที่จะจุดแล้ว จากนั้นก็จะจุดไฟในรูแต่ละรูจนครบ และนาทีระทึกใจก็มาถึง เมื่อคนจุดไฟจุดครบทั้งหมดแล้ว ก็ต้องวิ่งแบบไม่หันหลังกลับไปมอง เพื่อไปหลบในบังเกอร์
จากควันสีขาวปนเทา จะค่อยๆ ลอยออกมา เสียงตะไลที่กำลังหมุน ดังไปทั่วทั้งพื้นที่ และตะไลก็ค่อยๆ ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว เมื่อบั้งไฟขึ้นจนสุดแล้วร่มจะค่อยๆ กางออก ตะไลจะค่อยๆ ร่อนลงมาถึงพื้นดินอย่างช้าๆ และนิ่มนวล บ้างก็ได้ยินเสียง “ตู้ม” ตะไลระเบิดกระจัดกระจาย เศษของตะไลและดินปืนที่อัดไว้ กระจายออกมาเป็นสาย ลูกไฟสีส้มกระเด็นกระดอนเข้าท้องนา สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้มาดูได้ไม่น้อย
นอกจากนี้แล้วในวันก่อนวันจุดบั้งไฟจริง บริเวณหน้าเทศบาลตำบลกุดหว้าจะมีพิธีเปิด โดยภายในพิธีเปิดจะมีการร่ายรำของสาวผู้ไทย ซึ่งจะสังเกตได้จากการแต่งกายของสาวผู้ไทย นอกจากเสื้อผ้าที่โดดเด่นดูเป็นเอกลักษณ์แล้ว การจัดแต่งทรงผมที่ประดับด้วยผ้าก็เป็นเอกลักษณ์ ชวนให้น่ามอง
หลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ก็จะมีการเคลื่อนขบวนแห่ของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งภายในขบวนแห่จะมีรถบั้งไฟสวยงามประดับด้วยตะไลจำลองในหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์ของตกแต่งต่างๆ ที่ใช้ในขบวนแห่ ซึ่งมีความสวยงามและยังแสดงให้เห็นถึงประเพณีที่ดีงามไว้อีกด้วย
นอกจากนี้ภายในขบวนรถต่างๆ จะมีสาวงามของแต่ละหมู่บ้าน เดินถือป้ายหรือนั่งอยู่ในขบวนรถ เมื่อขบวนรถขับเคลื่อนออกมาจากเทศบาลตำบลกุดหว้า เสียงดนตรีภายในขบวนก็เริ่มดังขึ้น มีทั้งเสียงแคน เสียงพิณ และเครื่องดนตรีต่างๆ มากมาย และมีสาวน้อย สาวใหญ่ ร่ายรำมาพร้อมกับขบวนรถ บางขบวนก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่เดินร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะสามารถสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตและประเพณีที่ชาวกุดหว้าสืบทอดกันมาได้เป็นอย่างดี
หากใครที่ไม่เคยดูบั้งไฟ ไม่เคยเห็นวิถีชีวิต และประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน เชื่อได้ว่า นี่เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่จะทำให้ได้สัมผัสวัฒนธรรม ในแบบที่ไม่เคยเห็นและไม่เคยสัมผัส บ้านกุดหว้าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมายังลูกหลาน
นอกจากจะได้ตื่นเต้นไปกับการดูบั้งไฟตะไลล้านแล้ว ยังสามารถเห็นวิถีชีวิตแบบเดิมๆของชาวกุดหว้าได้อีก และถ้าหากใครกลัวว่าการไปดูบั้งไฟจะอันตรายหรือไม่ ไม่ต้องกังวลเลยเพราะทางเทศบาลกุดหว้าได้จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยไว้สำหรับผู้ชมซึ่งหากจากลานที่ใช้จุดบั้งไฟอยู่หลายร้อยเมตรอีกด้วย
************************************************************************************************
สำหรับประเพณีบั้งไฟตะไลล้าน ปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งหากใครสนใจงานบั้งไฟตะไลล้านในปีต่อๆไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น (รับผิดชอบพื้นที่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) โทร.0-4322-7714-6
***********************************************************************************************
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com