xs
xsm
sm
md
lg

เดินเล่น “เสาชิงช้า” ชมย่านเก่า-สะดือเมืองกรุงเทพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ย่านเสาชิงช้า
ในยุคนี้หากพูดถึงใจกลางกรุงเทพฯ หลายคนคงจะนึกถึงย่านสยามสแควร์ สุขุมวิท หรือสีลม ที่เป็นทั้งแหล่งธุรกิจ แหล่งค้าขาย แหล่งรวมแฟชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย แต่หากเป็นในอดีต ใจกลางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในย่านเสาชิงช้า เพราะที่นี่ถือเป็น “สะดือเมือง” หรือจุดศูนย์กลางของพระนครที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในวันนี้จะพาไปเดินเล่นชมเมืองในย่านเสาชิงช้ากัน

สำหรับสะดือเมืองนั้นถูกกำหนดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือรัชกาลที่ 1 หลังจากที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายขอบเขตของพระนครออกไปทางตะวันออก และมีการขุดคลองรอบกรุงขึ้น และพระองค์จึงได้กำหนดจุดศูนย์กลางของพระนครหรือสะดือเมืองขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ตั้งของเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ รวมทั้งเสาชิงช้าด้วย
“เสาชิงช้า” ไฮไลท์เด่นประจำย่าน
“เสาชิงช้า” จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของกรุงเทพฯ มาจนทุกวันนี้ โดยเสาชิงช้านั้นเป็นเสาไม้ขนาดใหญ่สีแดง ตั้งอยู่บนแท่นหินขนาดใหญ่ มีความสูง 21.15 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว ตามแนวโค้งของฐานติดแผ่นจารึกประวัติเสาชิงช้า เสาไม้แกนกลางคู่และเสาตะเกียบ 2 คู่ เป็นเสาหัวเม็ด ล้วนทำด้วยไม้สักกลึงกลม โครงยึดหัวเสาทั้งคู่แกะสลักอย่างสวยงาม กระจังและหูช้างไม้เป็นลวดลายไทย ทั้งหมดทาสีแดงชาด ใช้เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีโล้ชิงช้าในพระราชพิธี”ตรียัมปวาย ตรีปวาย”ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเมื่อครั้งอดีตปัจจุบัน และเสาชิงช้าที่ได้เห็นกันในปัจจุบันนั้นเป็นเสาต้นใหม่ ซึ่งได้มีการจัดพิธีสมโภขน์เสาชิงช้าใหม่ไปเมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2550 โดยตัวไม้เป็นไม้สักทองมาจากเมืองแพร่
“ศาลพระพรหม” ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์
ส่วน “เทวสถานโบสถ์พราหมณ์” ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันนั้น ถือได้ว่าเป็นโบสถ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีความสำคัญมากที่สุดในบรรดาวัดฮินดูทั้งหมดในประเทศไทย รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2327 เพื่อเป็นสถานที่ในการประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ภายมีโบสถ์ทั้งหมด 3 หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวมีกำแพงล้อมรอบ ในแต่ละวิหารเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปปูนปั้นนูนขององค์เทพต่างๆของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งบริเวณหน้าโบสถ์ทั้งสามเป็นที่ตั้งของศาลพระพรหม เทวสถานฯเห่งนี้จึงเป็นที่ผู้ที่เคารพนับถือในทวยเทพได้มาสักการะบูชาขอความเป็นมงคลให้แก่ชีวิต
“พระศรีศากยมุนี” (พระโต) วัดสุทัศนเทพวราราม
อีกหนึ่งสถานที่สำคัญในย่านเสาชิงช้าก็คือ “วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร” วัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปองค์สำคัญพระดิษฐานอยู่ในพระวิหารคือพระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เมื่อเข้าไปด้านในจะพบภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ภาพวาดที่มีคนพูดถึงกันมากก็คือภาพของเปรตตนหนึ่งนอนพาดกายอยู่บนพื้น และมีพระสงฆ์ยืนพิจารณาอยู่ หากใครมาวัดนี้แล้วอยากดูก็สามารถเข้าไปดูได้ ภาพจะอยู่บนเสาด้านในสุดทางซ้ายมือของพระวิหาร
ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์เลียบถนนย่านสำชิงช้า
ตึกแถวเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมถนนดินสอและถนนบำรุงเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่ย่านเสาชิงช้ามานาน อาคารพาณิชย์เหล่านั้นแม้จะเก่าแก่แต่ก็ยังคงสภาพดี เป็นอาคารปูนแบบเก่ามีกำแพงหนา ขอบประตูตอนบนโค้งมน ซึ่งลักษณะอาคารแบบนี้เป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 5

มองไปมองมาจะเห็นว่าอาคารพาณิชย์เหล่านี้เป็นแหล่งขายเครื่องสังฆภัณฑ์ซึ่งอยู่หลายร้านทีเดียว โดยเฉพาะตึกแถวทางถนนบำรุงเมืองถือได้ว่าย่านเสาชิงช้านี้เป็นแหล่งรวมสินค้าที่ใช้ในศาสนพิธีทั้งหลาย และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ก็ว่าได้
มนต์นมสด” ร้านขนมปัง-นมสดชื่อดังเลียบถนนดินสอ
และสำหรับตึกแถวทางฝั่งถนนดินสอเองก็มีร้านสังฆภัณฑ์เช่นกัน และยังมีร้านอาหารมากมายเรียงรายไปตามริมถนน หากมาเที่ยวในย่านนี้ก็คงอาจพูดได้ว่าไม่ต้องห่วงเรื่องปากท้องกันเลย มีทั้งร้านเก่าแก่ ร้านเปิดใหม่ มีทั้งของคาวของหวานให้ได้เลือกชิมกันตามอัธยาศัยจะกินที่ร้านหรือซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้านก็มีให้ได้เลือกมากมาย พบร้านอาหารแนะนำของย่านเสาชิงช้าได้ที่นี่
ป้ายชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร
มาเยือนย่านเสาชิงช้าก็ต้องพูดถึง “ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร” สักหน่อย ที่นี่ก็เป็นที่ทำงานของผู้ว่า กทม. และข้าราชการ กทม. ส่วนหนึ่ง บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการ กทม. คือ “ลานคนเมือง” ลานกว้างที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพฯ และลานคนเมืองฝั่งที่ใกล้กับเสาชิงช้ายังเป็นที่ตั้งของประติมากรรมและป้ายแสดงชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานฉลอง 220 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งป้ายชื่อนี้เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า เมืองหลวงของประเทศไทยแห่งนี้มีชื่อเมืองหลวงยาวที่สุดในโลกที่ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค
อาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ในช่วงเย็นที่แดดร่มลมตก ลานคนเมืองจะเป็นสถานที่ที่ประชาชนในละแวกนั้นมาพูดคุยพบปะ และมาออกกำลังกาย มาเต้นแอโรบิค วิ่ง และเดินออกกำลัง บ้างก็พาลูกหลานหรือสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเล่น นักเรียนมาซ้อมเต้นเชียร์กีฬา บ้างก็ซื้อขนมของกินมานั่งกินและพูดคุยรับลมเย็นๆ กัน เรียกว่าลานคนเมืองและย่านเสาชิงช้านี้เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินเที่ยวซึมซับบรรยากาศประวัติศาสตร์ และชิมของอร่อยได้พร้อมๆ กัน

*************************************************************************************************************

การเดินทางมายังย่านเสาชิงช้า สามารถเดินทางโดยรถโดยสาร ขสมก. จากฝั่งพระปิ่นเกล้า รถเมล์โดยสารสาย 42 จากฝั่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิรถเมล์โดยสารสาย 12 นอกจากนั้นยังมีสาย 10, 508 หรือนั่งรถเมล์โดยสารสายอื่นๆที่ระบุว่าผ่านถนนราชดำเนิน แล้วเดินไปตามถนนดินสอประมาณ 300 ม. ก็จะถึงเสาชิงช้า

คลิกอ่านเรื่องอาหารในย่านเสาชิงช้า "ตะลุยย่านเสาชิงช้า อย่าพลาด “ข้าวตัง เมี่ยงลาว” คุณยายอุดม" ได้ที่นี่

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น