xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องเชิดสิงโตในเทศกาลตรุษจีน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เข้าช่วงเทศกาลตรุษจีนทีไร ไปไหนมาไหนก็ต้องเห็นการแสดงเชิดสิงโตตัวใหญ่ ขนปุกปุย น่ารักน่าชัง ขยับไปมาตามจังหวะกลองฉิ่งฉาบที่บรรเลงได้อย่างสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ หลายคนก็อาจสงสัยเหมือนกันใช่ไหมว่า ทำไมต้องเป็นสิงโต? แล้วทำไมต้องเชิดในเทศกาลตรุษจีน?

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่าเนื่องจากวันตรุษจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน เป็นวันฤกษ์งามยามดี ประกอบกับชาวจีนให้การนับถือสิงโตมาก เพราะเชื่อว่า สิงโตมีความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมี อิทธิฤทธิ์ที่จะบันดาลโชคลาภมาให้ คอยช่วยปกป้องและปัดเป่าโพยภัยต่าง ๆ ไม่ให้มารังควานผู้คนได้ และเชื่อกันว่าผู้ใดได้ชมการเชิดสิงโต จะมีโชคลาภ เจริญรุ่งเรือง เป็นสิริมงคล จึงนิยมเชิดสิงโตในวันตรุษจีนและสืบทอดการแสดงมากว่าพันปี

ในสมัยก่อนนั้นจะนิยมเชิดสิงโต 2 แบบ คือ การเชิดสิงโตแบบโบราณโดยแสดงกายกรรมต่อตัว และ การเชิดสิงโตแบบปีนกระบอกไม้ไผ่ ต่อมาภายหลังได้พัฒนาขึ้นมาอีกหนึ่งประเภท คือ การเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศแถบเอเชีย อาทิ จีน มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย

เป็นที่รู้กันว่าสิงโตเป็นสัตว์ในนวนิยายหรือจินตนาการของประเทศจีน โดยชาวจีนได้มี จินตนาการว่า สิงโตมีกำเนิดมาจากสัตว์ 3 ประเภท ได้แก่ ตัวแรกคือ แรด เพราะมีนอที่หน้าผากตรงตามนิทานพื้นบ้านของจีน ตัวที่สอง คือ ม้า เพราะมีลำตัวเป็นม้าที่มีเขาเดียวอยู่บนหัว ถือว่าเป็นสัตว์มงคล ซึ่งจะปรากฏตัวเมื่อมีซินแสเกิดหรือมีนักปราชญ์ผู้ทรงธรรมขึ้นครองบัลลังก์ และสุดท้าย สุนัข จะเห็นว่าท่าทางการเต้นของสิงโตนั้นเลียนแบบมาจากท่าทางสุนัขล่าเนื้อ ของทิเบต หรืออาจจะเป็นสุนัขพันธ์ปักกิ่งและสุนัขพันธ์จูนั่นเอง

ในอดีตคณะสิงโตประเทศจีนจะตั้งขึ้นเป็นคณะใหญ่ๆ มีสมาชิกประมาณ 70 - 80 คน และต้องใช้เวลาฝึกฝนการเชิดสิงโตไม่น้อยกว่า 3 ปีครึ่งก่อนออกแสดงได้ นอกจากนั้นฝึกหัดมวยจีน กระบอง มีดสั้น ทวน ง้าว และอื่น ๆ การเชิดสิงโตจะใช้ลีลาการร่ายรำเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า ระบำสิงโต แต่หลังจากสมัยของราชวงศ์ชิง จึงค่อย ๆ ถูกหลอมรวมเข้ากับหลักวิทยายุทธ์ การเชิดสิงโตให้ดูสง่างดงาม มีชีวิตชีวา ต้องมีพื้นฐานในการเคลื่อนไหวที่แม่นยำ และมั่นคง คนเชิดสิงโตต้องรู้จังหวะการยกเท้าให้มีอากัปกิริยาเหมือนสิงโต ไม่ว่าจะเป็นการกระโดด กลิ้งเกลือกหรืออื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้นความแข็งแกร่งของร่างกายส่วนล่างจึงมีความสำคัญที่จะสามารถเชิดสิงโตให้ดูน่าเกรงขาม ว่องไว ปราดเปรียว ซึ่งท่วงท่าของการย่างเท้าที่ใช้ในการเชิดสิงโต ก็คือหลักของการใช้เท้าในการฝึกการต่อสู้ของจีน หรือ มวยจีนนั่นเอง

เคยมีตำนานการเชิดสิงโตเรื่องหนึ่งเล่าว่า หลายร้อยปีมาแล้วได้มีสัตว์ยักษ์ตัวหนึ่งตัวยาว 8 ฟุต มีหัวที่น่าเกลียดมาก ได้มากินข้าวในนาที่มณฑลกวางตุ้งในวันตรุษจีน ชาวบ้านจึง ร่วมมือกันคิดหาวิธีขับไล่สัตว์ร้าย โดยนำเอาไม้ไผ่ทำเป็นโครง เอากระดาษสีปะสร้างเป็นรูปสิงโตขึ้นมา แล้วให้ชาวบ้านหลบเข้าไปซ่อนอยู่ด้านในรอจวบจนถึงเวลากลางคืน เมื่อสัตว์ยักษ์ได้เห็นสิงโตจำลองที่กระโดดโลดเต้น และมีเสียงดังที่ชาวบ้านได้เอาครัวมาตีกระทบกัน ทำให้สัตว์ยักษ์เกิดความหวาดกลัวหลบหนีไป ชาวนาจึงไม่ถูกสัตว์ยักษ์มากินข้าวในนาของตนต่อไป และเพื่อระลึกถึงบุญคุณของสิงโตจำลอง พวกชาวนาจึงจัดให้มีการเชิดสิงโตเป็นประจำทุกปีในช่วงตรุษจีน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การเชิดสิงโตอาจจะมีจุดกำเนิดมาจากเทศกาลตรุษจีน

อีกตำนานหนึ่งของจีนกล่าวว่า สิงโตและการเชิดสิงโตเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเคี่ยนหลงกุน แห่งราชวงศ์ชิง ในวันหนึ่งขณะพระเจ้าเคี่ยนหลงกุ๋นหรือจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จออกท้องพระโรงมีข้าราชบริพารมาเข้าเฝ้าก็ได้เกิดเหตุการณ์ ท้องฟ้ามืด สลัวลง พร้อมกับปรากฏสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายกับสุนัขตัวใหญ่ มีขนปุกปุย ลอยลงมาจากก้อนเมฆทางทิศตะวันออก ทั้งมีเสียงดนตรีประโคมกึกก้อง สัตว์ประหลาดหมอบลงก้มศีรษะทำความเคารพต่อพระองค์ 3 ครั้ง ก่อนลอยหายไปทางทิศเหนือ

หลังเกิดเหตุการณ์นั้นขุนนางผู้เฒ่าคนหนึ่งได้กราบทูลว่าสัตว์ที่มาถวายบังคมต่อพระองค์นั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ ยากที่มนุษย์สามัญจะได้พบเห็น แต่การที่สัตว์นั้นมาถวายมงคลพระองค์เพราะพระองค์เป็นผู้ทรงบุญญานุภาพ สิงโตจึงมาถวายบังคม เพื่อมาแสดงความจงรักภักดี และอวยพรแด่พระองค์ พระเจ้า เคี่ยนล่งกุ๋นได้ฟังก็เกิดปิติโสมนัส พร้อมตรัสสรรเสริญสิงโต ต่อมาเมื่อราษฎรได้ทราบ เหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้พากันจัดหารูปสิงโตมาตั้งเคารพบูชาไว้ที่บ้านของตน

ต่อมามีชาวจีนสกุลโง้ว (แซ่โง้ว) ได้คิดทำหัวสิงโตขึ้นมาใช้แทนสิ่งที่เคยลอยลงมาจากฟ้า หา เครื่องดนตรีประกอบให้มีเสียงเร้าใจ ชวนให้สนุกสนาน โดยใช้คนจับหัวเชิด แสดงคาราวะต่อผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ถือว่าเป็นมิ่งมงคลแก่ผู้รับการคาราวะ เปรียบเสมือน เป็นพระเจ้ากรุงจีน สิงโตจึงเกิดขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สิงโตที่เราเห็นกันนั้น ก็มีรูปร่างหน้าตาหลากหลายประเภท โดยชาวจีนแบ่งเป็น สิงโตเหนือ และสิงโตใต้ โดย สิงโตเหนือ มีต้นแบบมาจากสุนัขพันธุ์ปักกิ่ง ทำให้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สิงโตปักกิ่ง ซึ่งหุ่นสิงโตจะมีขนยาว ขาเล็ก ร่างเล็ก สามารถเชิดคนเดียวหรือสองคนก็ได้ ส่วนสิงโตใต้ จะนิยมเชิดในมณฑลกวางตุ้ง กว่างซี และฮกเกี้ยน แต่ต่อมาภายหลังชาวจีนทางตอนใต้และในมณฑลกวางตุ้งได้อพยพไปอยู่ยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก สิงโตกวางตุ้งจึงได้รับ การรู้จักกันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในประเทศไทยเองก็ได้รับรูปแบบการเชิดแบบกวางตุ้ง ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้รูปร่างลักษณะของหัวสิงโตก็จะมีความแตกต่างกันไปแต่ชาวจีนแต่ละกลุ่มเป็นจะประดิษฐ์ขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเห็น คือ
- สิงโตของชาวจีนแคระ มีหัวคล้ายกับบุ้งกี๋ ทาหน้าเป็นลายสีเขียว เหลือง แดง มีฟันซี่โต
- สิงโตกวางตุ้ง จะประดับกระจกที่หน้า เขียนสีสันลวดลายลงบนหัว มีนอที่หน้าผาก และมีเคราที่คาง
- สิงโตไหหลำ ชาวจีนไหหลำได้มีการสร้างรูปหัวเสือขึ้นมาใช้แทนรูปหัวสิงโต ทำให้มีลักษณะแตกต่างจากชาวจีนกลุ่มอื่น ๆ อย่างเด่นชัด
- สิงโตแต้จิ๋วหรือสิงโตปักกิ่ง หรือสิงโตกวางเจา มีลักษณะคล้ายกับหมาจู มีขนปุกปุย ตาโต มีโบว์ที่หัว และติดกระดิ่งที่ใต้คาง จะแสดงสองตัวขึ้นไป
ก็พอเข้าใจแล้วใช่ไหม ว่าทำไมต้องเชิดสิงโตในเทศกาลตรุษจีน แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตได้คือประเพณีวัฒนธรรม การละเล่นต่างๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ว่าจะสังคมหรือชนชาติไหน ล้วนแต่มีที่มาที่ไป มีตำนานและความเชื่อ ซึ่งถ่ายทอดผ่านศิลปะอันทรงคุณค่า มีจุดประสงค์เป้าหมายเพื่อความดีงามเป็นสิริมงคล และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งเยาวชนรุ่นหลังต้องพึงตระหนักและสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น