xs
xsm
sm
md
lg

ออนซอน ขอนแก่น “เที่ยวบ้านเต่า-เข้าบ้านงู” ดูไปลุ้นไป/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
หุ่นจำลองไดโนเสาร์ที่ภูเวียง
“ขอนแก่น” นอกจากจะเป็นเมืองแห่งเสียงแคนดอกคูนแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โดดเด่นไปด้วยสรรพสัตว์อีกด้วย

สัตว์ชนิดแรกถือว่าโด่งดังในระดับสัญลักษณ์ของจังหวัด แต่ประทานโทษ!!! เจ้าสัตว์ชนิดนี้มนุษย์เรายุคปัจจุบันไม่มีใครเคยเห็นมันตัวเป็นๆแบบมีชีวิตสักคน สำหรับเจ้าสัตว์ที่ว่านั่นก็คือ“ไดโนเสาร์”สัตว์โลกล้านปี ที่คนอีสานส่วนหนึ่งนิยมเรียกกันว่า “กะปอมยักษ์”

กะปอมยักษ์ ที่ขอนแก่นมีแหล่งชมสำคัญอยู่ที่ อุทยานแห่งชาติภูเวียง ที่มีทั้งพิพิธภัณฑ์ และหลุมขุดค้นในสัมผัสกัน

นอกจากไดโนเสาร์แล้ว ขอนแก่นยังมีแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆที่มีสัตว์เป็นตัวชูโรงอยู่อีก 2 แห่ง นั่นก็คือ“หมู่บ้านเต่า” กับ “หมู่บ้านงู”

ทั้งสองหมู่บ้านถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในโครงการ“ออนซอน วิถีอีสาน” ใน 4 จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานขอนแก่น ได้คัดสรร 6 หมู่บ้านน่าสนใจมานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจในการท่องเที่ยวแนววิถีชีวิตและชุมชน
เต่าเพ็กเดินต้วมเตี้ยมที่บ้านกอก
หมู่บ้านเต่า บ้านกอก

เต่าแม้เป็นสัตว์อายุยืน แต่ที่ผ่านมาเต่าบ้านเราถูกคนจับฆ่าทิ้ง ฆ่ากิน ไปเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับที่ “หมู่บ้านกอก” หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ชาวบ้านที่นี่มีความผูกพันและอยู่ร่วมกันกับเต่ามาช้านานกว่า 200 ปี พวกเขารักและดูแลเต่าเหมือนคนในครอบครัว ซึ่งทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการเรียกขานว่า “หมู่บ้านเต่า”

หมู่บ้านเต่าหรือหมู่บ้านเต่าบ้านกอก มีหลักฐานว่าก่อตั้งขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2310 ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เป็นหมู่บ้านอนุรักษ์เต่าเพ็ก ที่มีศูนย์รวมจิตใจที่ชาวบ้านเคารพศรัทธาอยู่ที่ “ศาลเจ้าคุณปู่” หรือ “ศาลเจ้าปู่ฟ้าระงึม” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของเต่าและการอนุรักษ์เต่าในหมู่บ้านแห่งนี้

ศาลเจ้าคุณปู่ตั้งอยู่บริเวณดอนเจ้าคุณปู่ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าคุณปู่ที่พวกเขานับถือเป็นชายชราร่างสูงใหญ่ นุ่งขาวห่มขาว และมีเต่าเพ็กเป็นบริวาร ทำให้ภายในบริเวณดอนเจ้าคุณปู่มีเต่าเพ็กอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
เต่าน้อยเคียงคู่
เต่าเพ็ก” หรือ “เต่าเหลือง” เป็นเต่าบกที่ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในน้ำได้ เต่าพวกนี้จะออกหาอาหารกินตามธรรมชาติ ซึ่งการที่มีเต่าอยู่ที่บริเวณดอนเจ้าคุณปู่อยู่เป็นจำนวนมากนั้น ได้มีผู้รู้ให้ข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเพราะบริเวณนั้นมีใบไผ่จากกอไผ่ร่วงหล่นทับถมกันอยู่เป็นจำนวนมาก และใบไผ่เหล่านี้ถือเป็นที่อยู่อาศัยอย่างดีของเต่าเพ็ก

ผู้ใหญ่ฉลาด เคนานันท์ เล่าให้ผมฟังว่า เต่า(บริวาร)เจ้าคุณปู่เป็นเต่าศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ ชาวบ้านที่นี่นับจากอดีตจึงนับถือเต่า ไม่ทำร้ายเต่า และอยู่ร่วมกันกับเต่ามาตลอด ส่วนใครที่หากเผลอไปทำร้ายเต่าเข้าก็ต้องทำการขอขมาต่อศาลเจ้าคุณปู่

นอกจากนี้ชาวบ้านที่นี่ยังปล่อยให้เต่าเข้ามาอาศัย มาหาอาหาร และมาใช้เป็นที่ออกไข่ในบริเวณบ้นของพวกเขาได้ ซึ่งผมไปเจอเต่าอยู่ 2-3 ตัว เดินต้วมเตี้ยมอยู่ในบ้านหลังหนึ่งดูเป็นที่น่าเอ็นดูยิ่งนัก

ผลพวงจากการที่ชาวบ้านที่นี่นับถือเต่า ไม่ทำร้ายเต่า และร่วมกันอนุรักษ์เต่าไว้ ทำให้ที่นี่ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งในหมู่บ้านท่องเที่ยวอันโดดเด่นของจังหวัดของแก่น

ทั้งนี้คนที่มาเที่ยวยังหมู่บ้านกอก สามารถเดินชมและศึกษาธรรมชาติการดำรงชีวิตของเต่า และเดินดูความน่าทึ่งของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคนกับเต่า ลองให้อาหารเต่า ไปสักการะศาลเจ้าคุณปู่เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือใครจะแต่งหล่อ-สวยไปถ่ายรูปคู่กับเต่าก็น่าสนใจทีเดียว

ด้านใครที่อยากจะได้อรรถรสได้ข้อมูลมากขึ้นลึกก็สามารถติดต่อให้ไกด์น้อยนำชม ส่วนใครอยากสัมผัสบรรยากาศอย่างเต็มอิ่ม ก็สามารถเลือกพักค้างแบบโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านนี้เขาจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งจากการมาเที่ยวบ้านเต่าและเข้าสัมผัสกับกิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ คงทำให้ใครหลายๆคนรู้สึกรักเต่าขึ้นมากไม่แพ้กับการรักหมีแพนด้าเลยทีเดียว
คนชกมวยกับงูที่บ้านโคกสง่า
หมู่บ้านงู โคกสง่า

งูแม้ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงแต่ที่หมู่บ้านโคกสง่า เขาได้ทำการเลี้ยงงูอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จนเป็นที่โด่งดังไปไกลถึงเมืองนอกเมืองนา

หมู่บ้านโคกสง่า ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทำไมหมู่บ้านนี้ถึงมามีอาชีพเลี้ยงงู อาชีพอื่นตั้งมากมายมีไม่ทำ เรื่องนี้ต้องเท้าความไปถึงอดีตการก่อตั้งหมู่บ้านเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

หมู่บ้านโคกสง่ามีผู้ใหญ่บ้านคนแรกในปี พ.ศ. 2469 ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพกสิกรรม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมีอาชีพเป็นหมอยา เก็บสมุนไพร เร่ขายสมุนไพร จากนั้นประมาณ ปี พ.ศ. 2494 พ่อใหญ่เคน ยงลา ได้ริเริ่มการจับงูมาแสดงประกอบไปกับการขายสมุนไพร เพื่อดึงดูดคนและแสดงให้เห็นถึงสรรพคุณของสมุนไพรว่าสามารถรักษาพิษงูได้
นักมวยงูรุ่นเยา
การแสดงครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้หลังจากนั้นชาวบ้านที่นี่ไม่ต้องออกเร่ขายสมุนไพร แต่ใช้การแสดงโชว์งูเป็นตัวดึงดุดให้คนมาซื้อสมุนไพรที่หมู่บ้าน

เดิมการแสดงจะใช้งูเห่า แต่ว่างูเห่าสามารถพ่นพิษได้จึงเปลี่ยนมาใช้งูจงอางแทน และด้วยการแสดงอันสุดระทึกทำให้หมู่บ้านนี้โด่งดังขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์ของจังหวัดขอนแก่นในช่วงเกือบ 10 ปีที่แล้ว

มาวันนี้แม้ชื่อเสียงด้านการแสดงโชว์งูของหมู่บ้านโคกสง่าจะไม่เปรี้ยงปร้างเหมือนช่วงเปิดตัวใหม่ๆ แต่ก็ยังมีเสน่ห์จากการแสดงอันหวาดเสียว และวิถีชีวิตของคนเลี้ยงงูอันเป็นเอกลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปสัมผัสและลุ้นระทึกกับการชมโชว์งูอันน่าระทึกใจ

สำหรับโชว์งูที่นี่มีทั้ง การแสดงเซิ้งร่วมงูของแม่บ้าน(จับงูมาแขวนคอ) โชว์สาวๆอมหัวงู การแสดงสาวน้อยกับงู และโชว์ไฮไลท์ การชกมวยกับงู ที่มีนักมวยหลายรุ่น ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้อาวุโส ที่ผมดูแล้วทั้งสนุก ทั้งหวาดเสียว และลุ้นระทึกยิ่งกว่าการดูบอลยูโร 2012 นัดชิงแบบทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น
นักท่องเที่ยวผู้กล้า
นอกจากการแสดงงูแล้ว ที่นี่ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับงู การสาธิตต่างเกี่ยวๆกับงู อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่ห้าวหาญถ่ายรูปร่วมกับงูเหลือม(คล้องคอ)เป็นที่ระลึก และที่ระทึก โดยมีชาวบ้านเจ้าของงูให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

และนั่นก็เป็นเสน่ห์ของหมู่บ้านงูที่แม้ชาวบ้านที่นี่เขาจะรักงู แต่ถ้าจะให้ผมงูรักด้วยคงไม่ไหว งานนี้จึงขอดูอยู่ห่างๆเป็นพอ

ส่วนที่ผมแปลกใจมากก็คือผู้หญิงหลายๆคนที่ผมรู้จักเกลียดงูชนิดเข้าไส้ แต่ทำไมพวกเธอกลับอยากฝันให้ถูกงูรัดเสียจริง
*****************************************

หมู่บ้านเต่าบ้านกอก จะมีการจัดงานประเพณีไหว้เจ้าคุณปู่รดน้ำเต่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆปี เช่นเดียวกับหมู่บ้านงูโคกสง่าที่จะจัดประเพณีงูจงอาง ในช่วงสงกรานต์ของทุกๆปี

นอกจาก 2 หมู่บ้านที่กล่าวมาแล้ว หมู่บ้านในโครงกา“ออนซอน วิถีอีสาน”ยังมีอีก 4 แห่ง ได้แก่ หมู่บ้านทอเสื่อกกบ้านแพง จ.มหาสารคาม,หมู่บ้านทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จ.กาฬสินธุ์,หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง จ.กาฬสินธุ์ และแหล่งอายธรรมขอมกลางทุ่งกุลาฯ บ้านกู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานขอนแก่น 0-4324-4498-9

- หมายเหตุ : ภาพหมู่บ้านงูโคกสง่าจาก ททท.
กำลังโหลดความคิดเห็น