“ทุเรียน” ผลไม้ที่มีเอกลักษณ์ด้วยเปลือกที่เป็นหนามแหลมสะดุดตา มีกลิ่นฉุนเฉพาะโดดเด่น มีเนื้อในที่แน่นนุ่มและรสชาติเป็นที่ชื่นชอบ จนได้ฉายาว่า “ราชาแห่งผลไม้” มีหลากหลายสายพันธ์ แต่ที่นิยมปลูกในประเทศไทย ก็คือ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว ที่มักจะออกผลผลิตตั้งแต่ช่วง เมษายน-พฤษภาคม หรือมีเหลือประปรายจนถึงเดือนกรกฎาคม เป็นที่รู้ว่า จะปลูกกันมากทางภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด และสามารถปลูกได้ในอีกหลายๆจังหวัด
จังหวัดศรีสะเกษถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านทุเรียนไม่น้อย โดยปัจจุบันทุเรียนศรีสะเกษ กำลังเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยม ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทุเรียนแต่ละสายพันธ์นั้นก็จะมีความโดนเด่นและมีเอกลักษณ์ของผลและรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ขณะที่พื้นที่ที่ใช้ในการปลูกนั้นก็ยังเป็นอีกปัจจัย ที่จะทำให้ทุเรียนนั้นมีความโดนเด่นเฉพาะในพื้นที่ปลูกนั้นๆ
สำหรับทุเรียนศรีสะเกษจะมีความโดดเด่นในด้านไหน ผู้ที่จะอธิบายได้ดีคงเป็นคนที่คลุกคลีกับการปลูกทุเรียน
นายทศพล สุวะจันทร์ เจ้าของ"สวนคุณทศพล" ประธานชมรมผลไม้ ต.ตระกาล ที่ตั้งอยู่ที่ ต.ตระกาล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ริเริ่มการปลูกทุเรียนเป็นเจ้าแรกๆ ที่จังหวัดศรีสะเกษ นายทศพล กล่าวว่าก่อนที่จะริเริ่มการปลูกไม้ผลนั้นได้ทำการเพราะปลูกพืชไร่มาก่อน แต่ผลผลิตก็ได้ไม่ดีเท่าทีควรเพราะเป็นพืชล้มลุก จึงได้หันมาเริ่มปลูกพืชสวนเริ่มแรกเป็นทุเรียนและเงาะทีได้พันธ์มาจาก การไปศึกษาดูงานที่ปราจีนและจันทบุรี หลังจากที่เฝ้าประคบประหงมมานานตั้งแต่ปี 2534 ทั้งเงาะและทุเรียนก็เริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาด แต่ผลผลิตก็ยังไม่เป็นที่น่าเชื่อถือเท่าใดนัก
เพื่อเป็นการยืนยันปี 2536 ทางจังหวัดจึงได้จัด “เทศกาลผลไม้เงาะทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ” ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ จากนั้นมาจนถึงวันนี้ นับรวมเป็นเวลา 19 ปีแล้ว ที่จังหวัดศรีสะเกษมีเงาะและทุเรียนที่ปลูกเองออกมาจำหน่าย รวมถึงผลไม้อื่นๆ อาทิ ลองกอง มังคุด นับแต่นั้นมาความขึ้นชื่อของทุเรียนศรีสะเกษ ก็เป็นที่บอกกล่าวต่อต่อกันมา จนได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
นายทศพล กล่าวต่อว่า การเป็นที่ขึ้นชื่อนั้นก็มาจากความชอบของผู้ที่ได้มาลิ้มลองกินทุเรียนของศรีสะเกษ และพอติดใจก็เป็นการบอกกล่าวปากต่อปาก จนกลายมาเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่ด้วย เพราะถึงจะเป็นสายพันธ์ที่ได้มาจากจังหวัดจันทบุรี แต่เนื่องจากพื้นที่ในการปลูก ด้วยสภาพแวดล้อมของจังหวัดศรีสะเกษนี้ เป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟเก่า มีภูมิอากาศแห้งของที่ราบสูง ไม่เหมือนทางจันทบุรีที่มีฝนตกชุก ถึงจะเป็นพันธ์เดียวกันแต่ผลผลิตที่ได้ก็จะแตกต่างกัน ตามแต่ละพื้นที่ที่ปลูก เพราะสภาพดินฟ้าอากาศเป็นปัจจัยในการออกดอกออกผล
นายทศพล กล่าวเสริมว่า “ความเป็น เอกลักษณ์จนเป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวางของทุเรียนศรีสะเกษ นั้นมาจาก การมีเนื้อที่นุ่ม กรอบ รสชาติดี ไม่แฉะติดมือ และมีพูที่สวยงาม” และยังมีเคล็ดลับเสริมว่า “หากใครกินทุเรียนแล้วกลัวกลิ่นติดปาก โบราณว่าให้เอาน้ำเปล่า ใส่เปลือกทุเรียนแล้วกินตาม จะทำให้ดับกลิ่นได้ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่บอกต่อกันมา”
สำหรับผลผลิตของทางจังหวัดศรีสะเกษนั้น ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นจะเป็นพันธ์หมอนทอง เพราะเป็นที่ได้รับความนิยม จากทางประเทศจีน ไต้หวัน ซึ่งได้กลายเป็นผลไม้ส่งออก ส่วนรองลงมาจะเป็นพันธ์ ชะนีและก้านยาว ทุเรียนศรีสะเกษจะมีผลผลิต ที่ไม่ตรงกับทางจังหวัดทางภาคตะวันออก โดยผลผลิตของทางจังหวัดศรีสะเกษจะออกสู่ตลาดประมาณกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งส่วนใหญ่ผลผลิตของจังหวัดอื่นๆ จะออกตั้งแต่เดือนเมษายนและหมดประมาณเดือนพฤษภาคม แต่ผลผลิตในแต่ละปีก็จะออกแตกต่างกัน ซึ่งในปีนี้ผลผลิตมีน้อยเพราะอากาศแล้ง ผลผลิตน้อย ในช่วงนี้ก็จะมีเหลือบ้างประปราย หากใครคิดจะลองลิ้มชิมรสแล้ว ก็คงต้องรีบกันหน่อย แต่ถ้าหากพลาดจากปีนี้ ปีหน้าก็ยังมีให้ได้ลิ้มลองกันอีก