xs
xsm
sm
md
lg

“ฉงชิ่ง” เมืองเนรมิต เริ่ด! วิจิตรมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ตะลอนเที่ยว(travel_astvmgr@hotmail.com)
แสงสีเมืองฉงชิ่งยามราตรี
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันทันด่วน บรรดาเมืองใหญ่-น้อยต่างๆ ในประเทศจีน ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา “ฉงชิ่ง” นับเป็นหนึ่งในเมืองที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วฉับไว

รวดเร็วชนิดที่หากใครเว้นว่างจากการไปเยือนเมืองนี้ 7-8 ปี กลับไปอีกที อาจจะจำหลายๆ ย่าน หลายๆ มุมในเมืองนี้ไม่ได้ เพราะมันเปลี่ยนไปชนิดที่แทบจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินกันเลยทีเดียว
แยงซีเกียง แม่น้ำสายสำคัญแห่งฉงชิ่ง
ฉงชิ่ง 1 ใน 4 มหานคร

ฉงชิ่ง”(Chongqing) เดิมเป็นเมืองเอกที่ขึ้นกับมณฑลเสฉวน แต่ด้วยชัยภูมิที่ตั้งที่เหมาะสม และเป็นเมืองที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก (ปัจจุบันมีกว่า 30 ล้านคน) ในปี ค.ศ.1997 รัฐบาลจีนได้ประกาศยกฐานะฉงชิ่งเป็น 1 ใน 4 มหานครของเมืองจีน ที่นอกจากฉงชิ่งแล้ว ก็มี เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และ เทียนสิน ขึ้นต่อรัฐบาลกลางจีนโดยตรง นั่นจึงทำให้ฉงชิ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นมหานครใหญ่อันดับต้นๆ ที่มีฐานะและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นฮับสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และเมืองใหญ่ๆ ของจีนตอนล่าง โดยล่าสุด ทางสายการบินแอร์เอเชีย ได้เปิดเส้นทางบิน “กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง” ขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า และด้านอื่นๆ ระหว่างไทยกับเมืองๆ นี้
รู้เมืองฉงชิ่งผ่านโมเดลที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง
สำหรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของฉงชิ่งนั้น นอกจากจะดูได้ทั่วไปในเมืองใหญ่เมืองนี้แล้ว สิ่งที่เมืองฉงชิ่งเขาภูมิใจนำเสนอ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวล้ำของเมืองนี้ ก็คือ ที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมืองที่อยู่ติดใกล้ๆ กับท่าเรือเฉาเทียนเหมินแห่งแม่น้ำแยงซีเกียง โดยงานนี้ “ตะลอนเที่ยว” มี “จิง ซือ หง” หรือ “อาหง” หรือที่คนไทยตั้งชื่อให้ว่า “สมชาย” มาเป็นไกด์นำเที่ยว

สมชาย พาไปดูไฮไลต์สำคัญของเมืองนี้ นั่นก็คือ โมเดลการวางผังเมือง ที่ย่อส่วนลงมาให้เราเห็นเมืองฉงชิ่งได้ถนัดตาขึ้น ว่า เมืองนี้ภายหลังจากการสร้างเมืองเป็นมหานครทางรัฐบาลจีนได้เนรมิตสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้วิธีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบมีการสร้างโมเดลประกอบ เพื่อกำหนดย่าน-โซนต่างๆ ของเมืองไว้อย่างชัดเจน
กิจกรรมล่องเรือชมแม่น้ำและแสงสียามราตรี
ในผังเมืองจำลองนี้ “ตะลอนเที่ยว” ยังได้เห็นถึงกายภาพของเมืองฉงชิ่ง ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะในหุบเขา มีแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือ “แม่น้ำเจียหลิง” หรือ เจียหลิงเจียง (สายรอง) ที่ไหลมาจากจิ่วไจ้โกวมารวมกับ “แม่น้ำแยงซีเกียง” ที่เมืองนี้

พูดถึงแม่น้ำแยงซีเกียงแล้ว ฉงชิ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการล่องเรือสำราญท่องเที่ยวสัมผัสทัศนียภาพ 2 ฟากฝั่งของลำน้ำสายนี้โดยไปสิ้นสุดตามเมืองต่างๆ ตามระยะล่องใกล้ไกล ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในจุดขายทางการท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนี้
อาคารสำคัญของสมาคมหูกว่าง
ขณะที่ใครที่ไม่ได้ล่องเรือ ในยามค่ำคืนที่นี่ก็มีกิจกรรมล่องเรือชมทัศนียภาพของแสงสีไฟยามราตรีในแม่น้ำประจำเมือง 2 สาย โดยสิ่งที่เขาภูมิใจนำเสนอ ก็คือ แสงสีแห่งความทันสมัยจากสิ่งก่อสร้างของเมืองนี้ ซึ่งหากใครอยากจะออกทัศนาเมืองนี้ ฉงชิ่งก็มีจุดสนใจชวนชม ชิม ช้อป อาทิ “สมาคมหูกว่าง” เป็นสถานที่เก่าแก่ที่บอกเล่าความมาเป็นไปต้นกำเนิดเมืองนี้ในยุคโบราณ ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในลักษณะพิพิธภัณฑ์, “ศาลามหาประชาคม” (ต้าหลี่ถัง) หนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเมือง
หงหยาต้ง คอมเพล็กซ์ในอาคารแบบจีนโบราณ
เมืองโบราณ” เมืองเก่าในราชวงศ์ซ่ง ที่อนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ยล, “หงหยาต้ง” คอมเพล็กซ์ในรูปทรงอาคารโบราณขนาดใหญ่ ภายในมีร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ร้านขายสินค้าที่ระลึก ฯลฯ ที่นี่ย่ามค่ำคืนถือเป็นจุดนัดพบพักผ่อนของชาวเมือง และจุดชมวิวชั้นดี อีกทั้งยังเป็นจุดถ่ายรูปที่สำคัญของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
มะหมา ดาราบนถนนคนเดิน
นอกจากนี้ ฉงชิ่ง ยังมี ถนนคนเดิน “เจี่ยฟังเป่ย” แหล่งชอปปิ้งสินค้าหลากหลายทั้งของที่ระลึก สินค้าแบรนด์เนม และของกินสารพัดอย่าง เหมาะกับพฤติกรรมนักช้อปของคนไทยไม่น้อย

ต้าจู๋ ผาหินแกะสลัก

นอกจากสิ่งน่าสนใจในตัวเมืองแล้ว ออกนอกเมืองไป ฉงชิ่งยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับมรดกโลกในสัมผัสกัน เริ่มด้วย “ต้าจู๋” หน้าผาหินแกะสลัก ที่ตั้งอยู่ ณ อ.ต้าจู๋
ภาพผาหินแกะสลักหลากสีสันอันอลังการที่ต้าจู๋
ผาหินแกะสลักในต้าจู๋มีจุดที่เป็นไฮไลท์ที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่อลังการที่สุดและสวยที่สุดนั้นอยู่ที่ “เป๋าติ่ง”

ผาแกะสลักเป๋าติ่ง เริ่มสร้างตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งไปจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง โดยผู้สร้างคนแรกเป็นพระชื่อ “เจ้า ซื่อ เฟิ่ง” ที่เริ่มออกบวชตั้งแต่ 5 ขวบ
งานแกะสลักตามคติความเชื่อในพุทธศาสนา
ภาพแกะสลักที่นี่ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมนูนสูง ที่แกะกว้านลูกลงไปจนเห็นรูปลักษณะชัดเจน อุดมไปด้วยชีวิตชีวา และลีลาความสวยงาม อีกทั้งยังมีการลงสีสันหลากหลาย แถมบางจุดยังมีประติมากรรมลอยตัวให้ยลกันอีกต่างหาก

ทั้งนี้ คนโบราณเชื่อว่า เป๋าติ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จึงมีการแกะสลักขึ้นที่นี่ เพื่อให้เป็นศาสนสถาน ซึ่งมีทั้งความเชื่อของพุทธแบบมหายานและของลัทธิเต๋า โดยมีภาพเด่นๆ อาทิ ถ้ำปฏิบัติธรรม ที่แกะเป็นภาพพระตัวแทนพระพุทธเจ้ากับสาวกอีก 12 รูป แสดงธรรม ภาพสลักเทพเจ้าต่างๆ พระนอนองค์โตยาว 32 เมตร สูง 7 เมตร ภาพคำสอนขงจื้อ ภาพนิทานพื้นบ้าน ภาพวิถีชีวิตยุคโบราณ ภาพความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ภาพการตัดสินของคณะกรรมการตัดสินความดีความชั่วว่าเมื่อตายแล้วคนๆ นั้น ควรขึ้นนรกหรือสวรรค์ ซึ่งมีภาพประกอบเป็นนรกสวรรค์อย่างน่ายล
ผลงานแกะสลักภายในถ้ำปฏิบัติธรรม
และภาพไฮไลต์ที่รูปเจ้าแม่กวนอิมพันมือที่แกะสลักได้อย่างวิจิตรน่าทึ่ง เพียงแต่ว่าช่วงนี้อยู่ในระหว่างปรับปรุง จึงทำให้ให้ไม่ถนัดและยากต่อการหามุมบันทึกภาพ
ภาพสลักกวนอิมพันมือ(ก่อนการบูรณะ)
ด้วยความวิจิตอลังการ และความเพียรพยามอันเป็นเลิศของคนโบราณในการเนรมิตผาหินแห่งนี้ให้กลายมาเป็นแดนธรรมอันน่าทึ่ง ทางองค์การยูเนสโกจึงประกาศให้ที่นี่เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.1999 เรียกว่าเหมาะสมกับสถานที่อันทรงคุณค่าแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ลิฟต์แก้วสัญจรขึ้น-ลง หุบเหว
สะพานฟ้า อู่หลง

ฉงชิ่ง มี “อู่หลง” (Wulong) เป็นเมืองตากอากาศ ที่แวดล้อมไปด้วยขุนเขา ทัศนียภาพสวยงาม อากาศดี และมากไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางการจีนเขากำลังสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ สำหรับคนไทยที่ไม่สันทัดกับวิถีแบบจีนโดยเฉพาะเรื่องห้องน้ำปราบเซียน สมชายก็ได้พาเราไปแวะกินข้าวในร้านอาหารบ้านทุ่ง ที่มีกับข้าวอร่อยๆทำสดรสมือชาวบ้านให้เลือกกิน พร้อมตบท้ายกันด้วยสุราพื้นบ้านให้ร้อนท้องวูบวาบเป็นการอุ่นเครื่องก่อนมุ่งสู่ “สะพานฟ้า” หนึ่งในดินแดนมหัศจรรย์ธรรมชาติของเมืองนี้ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกในปี ค.ศ.2007

การไปชมสะพานฟ้า ทางเมืองจีนมีเส้นทางอันน่าทึ่งให้ “ตะลอนเที่ยว” ได้ตื่นเต้นกับลิฟต์แก้วที่ให้เราดิ่งลึกลงไปในหุบเหวสูงกว่า 80 เมตร จากนั้นก็เป็นเส้นทางเดินเท้าชมทัศนียภาพอันสุดอลังการ
หลุมยุบ สะพานฟ้า
สะพานฟ้า หรือที่บ้างก็เรียกว่า “หลุมฟ้า สะพานสวรรค์” เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกจนกลายเป็นหลุมธรรมชาติขนาดยักษ์ที่เบื้องล่าง โดยมีไฮไลต์อยู่ที่ โรงเตี๊ยมโบราณ และ 3 สะพานฟ้า

โรงเตี๊ยมโบราณ เป็นจุดพักระหว่างทางสมัยโบราณ ซึ่งในหลุมหุบเขาแห่งนี้สมัยโบราณถือเป็นเส้นทางลัดจากเสฉวนไปเหอหนาน เมื่อคณะต่างๆ เดินทางมาถึงที่นี่ก็จะมาแวะพักค้างแรมที่โรงเตี๊ยมแห่งนี้ เพราะหากเดินทางต่อไปยามค่ำคืนอาจถูกโจรปล้นดักชิงสินค้า สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทอง
โรงเตี๊ยมโบราณแห่งสะพานฟ้า
โรงเตี๊ยมโบราณปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ในรูปแบบเดิม แถมยังโด่งดังขึ้นมาแบบก้าวกระโดดหลังได้รับเลือกเป็นฉากสำคัญทั้งฉากดราม่าและฉากต่อสู้บู๊เลือดสาด ในภาพยนตร์เรื่อง “ศึกโค่นบัลลังก์วังทอง” (Curse of the Golden Flower) ของยอดผู้กำกับ “จาง อี้ โหมว” ที่มี 3 ดาราชั้นนำมาหักเหลี่ยมเฉือนคมความตายกันนำโดย โจว เหวิน ฟะ, เจย์ โชว์ และดาราสาวสวยในดวงใจของ “ตะลอนเที่ยว” คือ “กง ลี่”

ใกล้กับโรงเตี๊ยมโบราณเป็น สะพานฟ้าสะพานแรก คือ “สะพานมังกรฟ้า” ที่มีลักษณะเป็นโพรงทะลุมองคล้ายสะพานขนาดยักษ์เชื่อมสวรรค์กับโลกมนุษย์
สระมรกตในเส้นทางสะพานฟ้า
เมื่อเดินต่อไปก็ได้พบกับ “สะพานมังกรเขียว” ที่มีหน้าผาแหลมทิ่มแงฟ้า และมีเงาสะท้อนน้ำ ซึ่งคนจีนจินตนาการว่าดูคล้ายดาบของกวนอู จากนั้นเมื่อเดินต่อไปก็จะเป็น ไฮไลท์ลำดับสุดท้าย คือ “สะพานมังกรดำ” ที่เป็นตรอกผาในส่วนที่แคบที่สุดจึงมีความมืดทึบดำตามชื่อสะพาน
นอกจากไฮไลต์ทั้ง 4 แล้ว ที่นี่ยังมีน้ำตกสายเล็กไหลลงมา สายน้ำที่ไหลคู่ขนานไป บึงมรกต ละอองน้ำที่เป็นฝอยสวยงามกระเซ็นสายลงมา และทัศนียภาพอันสวยงามแปลกตาของหลุมยุบ ที่มุมมองจะเปลี่ยนไปตามเส้นทาง ชวนให้จินตนาการตามไม่น้อยเลย

และนี่ก็คือ เสน่ห์ของ ฉงชิ่ง เมืองที่นอกจากจะมีภาพอันโดดเด่นโฉบเฉี่ยวของมหานครเนรมิตอันทันสมัยในอันดับต้นๆ แห่งแดนมังกรแล้ว ยังเป็นเมืองที่มีสิ่งน่าสนใจทางการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม อันทรงคุณค่าในระดับมรดกโลกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย

*****************************************
การเดินทางสู่ฉงชิ่ง ปัจจุบันมีสายการบินแอร์เอเชีย บินตรง “กรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง” ไป-กลับ วันละ 1 เที่ยวบิน เที่ยวไป 06.20-10.20 น.เที่ยวกลับ 11.10-13.10 น.ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2515-9999 หรือดูที่ www.airasia.com
****************************************

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!!
กำลังโหลดความคิดเห็น