xs
xsm
sm
md
lg

“ฝาย” ตามแนวพระราชดำริ จากต้นแบบสู่มิติแห่งการเรียนรู้คู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝายชะลอน้ำต้นแบบที่ห้วยฮ่องไคร้
คำว่า “ฝาย” ในความคิดของใครหลายคนนั้นคงเป็นภาพบางสิ่งที่กั้นน้ำไว้ แต่นั้นไม่ใช่นิยามที่แท้จริงเลย เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของฝายนั้นคือเป็นตัวชะลอน้ำไม่ให้น้ำนั้นไหลเร็วเกินไป เพื่อที่น้ำจะได้ซึมลงไปในชั้นดิน และกลายเป็นต้นน้ำได้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ประสงค์ที่จะพลิกพื้นจากความแห้งแล้งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการดูแลป่าต้นน้ำ

สำหรับหนึ่งในฝายต้นแบบตามแนวพระราชดำริที่ประสบผลสำเร็จและเห็นผลชัดเจนนั้นก็คือที่ “ศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้” ที่เป็นต้นแบบของการทำฝายชุมชน และเป็นต้นแบบของการพัฒนา จนหลายๆพื้นที่นำไปประยุกต์ใช้ ทำให้ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์มีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่สำคัญของภาคเหนือ
อาสาสมัครร่วมกันทำฝาย
นายธนิต ธนูธรรม นักวิชาการป่าไม้ ฝ่ายศึกษาและพัฒนาป่าไม้ ผู้ดูแลศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยห้องไคร้ กล่าวว่า การทำฝาย คือการสร้างสิ่งชะลอน้ำ ตามแนวทางน้ำไหนซึ่งมีวัตถุประสงค์ทำให้น้ำไหลช้าลง ไม่ได้สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำตามที่หลายคนเข้าใจ การสร้างฝายนั้นต้องสร้างที่ต้นน้ำ และค่อยชะลอการไหลของน้ำ ที่ตามธรรมชาติไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำหาไปสร้างที่ปลายน้ำก็ไม่เกิดผลอะไร เพราะน้ำที่ไหลแรงจากที่สูงลงไปก็ไปทำให้ฝายพัง จะเห็นได้ว่าการที่น้ำไหลช้าและได้ซึมลงสู่ชั้นดินทำให้ดินชุ่มชื้น ก็ทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ งอกงามขึ้นและกลับมาเป็นป่า และสิ่งที่อยู่ในป่าเช่นสัตว์ป่าต่างๆกลับมา

“พอป่ากลับมาชุมชนโดยรอบก็ได้ผลประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการได้ใช้น้ำ หรือการเข้ามาหาของป่า การพัฒนาพื้นที่นี่เป็นการให้ชุมชนมีส่วนร่วมและให้พวกเค้าเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน ฝายจึงเป็นจุดเริ่มต้น ของอะไรหลายๆสิ่งห้วยฮ่องไคร้จึงได้กลายมาเป็น โครงการต้นแบบ”นายธนิตกล่าว
ฝายที่เสร็จแล้ว
จากต้นแบบที่ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ ในปี พ.ศ. 2540 หลังเกิดวิกฤติฟองสบู่แตก ที่ชุมชนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ที่ประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ได้ร่วมมือกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(SCG) ที่มีแนวความคิดอนุรักษ์ธรรมชาติให้อยู่เคียงข้างอุตสาหกรรมภายใต้ มูลนิธิ “ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” ได้นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ พร้อมกับคำว่า “ระเบิดจากภายใน” เพื่อให้ชาวบ้านเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมภายในชุมชน โดยกำหนดเป็นแนวทางร่วมกันพิจารณาสภาพปัญหาและกำหนดพื้นที่ในการพัฒนา
คณะอาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรม 3 หมื่นฝายถวายพระเจ้าอยู่หัว
และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฝายตามแนวทางพระราชดำริ ซึ่งการสร้างฝายได้ทำให้น้ำผืนป่าและที่เคยเหือดแห้งกลับมา เมื่อป่ากลับ ก็สามารถต่อยอดด้วยการหารประโยชน์จากป่า ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตจากป่า อาทิ หน่อไม้ เห็ดต่างๆ น้ำผึ้ง ไข่มดแดง เป็นต้น

ปัจจุบันชุมชนบ้านสามขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในชุมชนต้นแบบของการนำความรู้เรื่องการทำฝายมาพัฒนาพื้นที่ป่าไม้โดยรอบ ให้มีความอุดมสมบูรณ์จนกลายมาเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่หลายต่อหลายพื้นที่ ที่มีความคิดริเริ่มที่ในการทำฝาย จะต้องเดินทางขอเรียนรู้ขั้นตอนการจัดการต่างๆ ที่หมู่บ้านแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น