xs
xsm
sm
md
lg

พราวชมพูแพร้วเพริศ สุดบรรเจิด“ทะเลบัวแดง” แห่งหนองหาน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
โลกสีชมพูที่ทะเลบัวแดง หนองหาน อ.กุมภวาปี
อุดรธานีไม่มีทะเลน้ำเค็ม

แต่ในหนาวนี้ หนาวหน้า หรือหนาวไหนๆ จังหวัดอุดรเขามีทะเลแบบทูอินวัน(2 in 1) ให้เราๆท่านๆได้ไปตื่นตะลึงกับความอลังการเพริศแพร้วของธรรมชาติกัน ที่ “หนองหาน” อ.กุมภวาปี

ผาแดง นางไอ่

หนองหาน เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาวที่ไหลผ่าน อ.กุมภวาปี สู่ จ.กาฬสินธุ์ ผ่านไปลงยังลำน้ำชี ด้วยความเป็นเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีมาแต่โบร่ำโบราณ ทำให้ที่นี่มีความเชื่อว่าต้นกำเนิดของหนองหานมาจากนิทานพื้นบ้าน ตำนานรัก “ผาแดง นางไอ่” ที่เล่าขานกันสืบต่อๆมาว่า

...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เจ้าเมืองขอมมีธิดานางหนึ่งชื่อ“นางไอ่” ซึ่งมีสิริโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของเจ้าชายเมืองต่างๆ มีอยู่ปีหนึ่งเมืองขอมประสบปัญหาฝนแล้งหนัก เจ้าเมืองขอมจึงจัดการแข่งขันบั้งไฟเพื่อเสียงทายขอฝนขึ้น โดยมีกติกาว่า ใครที่ยิงบั้งไฟขึ้นสูงสุดจะได้ธิดาคือนางไอ่ไปเป็นภรรยา

การแข่งขันครั้งนี้มี 2 บุคคลสำคัญเข้าร่วมคือ “ท้าวผาแดง”แห่งเมืองผาโพง กับ“ท้าวภังคี” โอรสของพญานาคใต้บาดาลที่ปลอมตัวเป็นมนุษย์มาเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งผลปรากฏว่าท้าวผาแดงชนะ ในขณะที่ท้าวภังคีผู้แพ้หลังได้ยลโฉมความงามของนางไอ่แล้วก็เกิดความรักอันสุดจะหักห้ามใจได้ จึงได้ปลอมตัวเป็นกระรอกเผือกลอบเข้าไปอาศัยอยู่ในสวนดอกไม้ของนางไอ่เพื่อหวังจะได้ใกล้ชิดนาง
แสงแห่งวันใหม่ที่ท่าเรือบ้านเดียม
แต่ด้วยผลกรรมจากชาติปางก่อนทำให้นางไอ่เกิดความคิดวิปริตต้องการกินเนื้อกระรอกเผือก จึงให้นายพรานจับกระรอกเผือกนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารแจกจ่ายผู้คนไปทั้ง ขณะที่ท้าวภังคีก่อนตายก็ได้สาปแช่งเอาไว้ว่าผู้ใดที่กินเนื้อกระรอกของตนจะต้องล่มจมลงใต้บาดาลพร้อมกับบ้านเมือง นั่นจึงทำให้หลังจากชาวเมืองกินเนื้อกระรอกเผือกแล้ว ในคืนนั้นได้เกิดพายุใหญ่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ถล่มเมืองทั้งเมืองล่มจมลงไปในท้องบาดาลที่เชื่อกันว่าคือหนองหานในทุกวันนี้

ส่วนท้าวผาแดงกับนางไอ่ด้วยความรักทั้งคู่ได้ควบม้าหนีน้ำ และหนีจากการตามไล่ล่าของพญานาคราชบิดาของท้าวภังคีที่โกรธแค้นเนื่องจากลูกของตนถูกฆ่า ซึ่งพญาราคราชได้ไล่ล่าตามล้างแค้นท้าวผาแดงกับนางไอ่มาทุกๆชาติ แต่พญานาคราชก็ไม่สามารถเอาชนะในพลังแห่งรักของทั้งคู่ได้...

และนั่นก็คือตำนานความรักของผาแดงนางไอ่กับต้นกำเนิดหนองหาน ที่วันนี้ชาวบ้านแถบนี้ต่างเชื่อกันว่ายามลงเรือ ห้ามพูดเรื่องผาแดง-นางไอ่ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุเรือล่ม ดังนั้นใครที่สงสัยหรือคาใจในเรื่องนี้ ควรสอบถามกับชาวบ้านในช่วงก่อนหรือหลังลงเรือ เพราะหากสอบถามกับคนเรือหรือชาวชุมชนผู้นำเที่ยวในขณะที่ล่องเรือ

ถามไปเขาก็บ่ตอบเด้อ !?!
บัวพ้นน้ำ 2 รูปแบบ
ชีวิตบัวสาย

หนองหาน เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 22,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.กุมภวาปี ส่วนที่เหลืออยู่ใน อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.กู่แก้ว

หนองหาน เป็นหนึ่งในพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของภาคอีสานที่มีหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย พืชน้ำ นกนานาพันธุ์ และพันธุ์ปลาหลากหลายชนิด จนมีคำกล่าวในอดีตว่า ชาวบ้านที่นี่ “ทำนาบนหัวเรือ” ซึ่งหมายถึงการที่ชาวบ้านที่นี่ไปจับปลาในหนองหานมาแลกข้าวเอาไว้บริโภคในครัวเรือน ดังการปลูกข้าวบนหัวเรือ

ส่วนพืชพันธุ์ไม้น้ำอันโดดเด่นอย่าง “บัวสาย” หรือ “บัวแดง” เดิมนั้นมีบานเป็นท้องทุ่งในปริมาณหนึ่งที่ไม่ได้มากมายละลานตระการตาเหมือนทุกวันนี้ แต่ในช่วงราว 7-8 ปีที่ผ่านมา ธรรมชาติที่นี่ได้เนรมิตให้เกิดท้องทุ่งบัวแดงอันสุดอลังการขึ้น โดยพี่“ไพรสิทธิ์ สุขรมย์” ประธานสภาผู้ประสานงานกลุ่มเรือบริการท่องเที่ยว ได้เล่าถึงวงจรชีวิตของทุ่งบัวแดงในช่วงหลังให้ผมฟังว่า
เห็นบัวขาว พราวอยู่ในบึงใหญ่
“ในช่วงหน้าร้อนหลังผ่านช่วงดอกบัวบาน(ในช่วงหน้าหนาว) บัวจะเริ่มเน่าเหง้าบัวจะลอยขึ้นมา เป็นช่วงบัวเน่า(ราวเดือน เม.ย.-พ.ค.) แมลงจะมาวางไข่และอาศัยอยู่ในราก เหง้า ของบัวที่เน่าเหล่านี้ จากนั้นนกต่างๆจะบินมากินแมลง พวกมันจะจิกกินจนเหง้าบัวแตกกระจายเมล็ดบัวตกจมลงในน้ำ เกิดเป็นบัวต้นใหม่ขึ้นมาในช่วงหน้าฝน

“ช่วงที่บัวเน่าจะมีพืชน้ำจำพวก สนม ไหลมาอยู่กลางน้ำแทนที่ดอกบัวสายบาน พืชน้ำพวกนี้จะมีรากที่ยาวแผ่สยายถึงพื้นดินใต้น้ำ รากของพวกมันจะทำหน้าที่เป็นเหมือนไม้กวาด ช่วยกวาดศัตรูตัวสำคัญของบัวคือสาหร่าย วัชพืชใต้น้ำ และหน้าดินให้โล่ง ใต้น้ำจึงไม่มีสิ่งดักขวางยามเมล็ดบัวตกลงสู่พื้นดิน พวกมันจึงสามารถเกิดและเติบโตได้เป็นอย่างดีและเป็นจำนวนมากมายมหาศาล

“ถ้าปีไหนหนองหานมีสนมมาก ปีนั้นดอกบัวก็จะมีมากตาม”

พี่ไพรสิทธิ์บอกกับผมก่อนอธิบายต่อว่า จากนั้นในช่วงหน้าฝนที่บัวสายกำลังเติบโตใต้น้ำ ลมจะพัดพาพง สนม จอก แหน ผักตบ ให้ไหลลอยไปอยู่ริมชายฝั่ง เป็นดังการเปิดทางรอรับการเบ่งบานของทุ่งดอกบัวสาย พอถึงราวๆเดือนตุลาคมบัวจะแตกใบ เริ่มออกดอกตูม เดือนพฤศจิกายนดอกบัวสายจะทยอยกันเบ่งบาน และพร้อมใจกันบานอวดโฉมเต็มท้องน้ำมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยบัว 1 ต้นจะมีดอกประมาณ 10 กว่าดอก และบัวดอกหนึ่งจะผลิบานทุกวันต่อเนื่องไปราว 1 สัปดาห์
แซ่บหลาย ส้มตำสายบัว
นี่ถือเป็นการสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่เดิมทีชาวบ้านที่นี่ก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไหร่ มองทุ่งดอกบัวที่นี้เป็นเพียงแหล่งหากิน คอยเก็บผลผลิตจากบัว เช่น สายบัว รากบัว หนายบัว(ไหลบัว) ไปขาย ไปทำอาหารกิน ไม่ว่าจะเป็น สายบัวดิบจิ้มน้ำพริก แจ่วบอง แกงส้มสายบัว ผัดสายบัว รวมไปถึงเมนูเด็ดของชาวบ้านแถวนี้ก็คือส้มตำไหลบัว ส้มตำสายบัว ที่เขาใส่ปลาร้าลงไปช่วยเพิ่มรสชาติด้วย ซึ่งผมกินแล้วบอกได้คำเดียวว่า

“แซ่บหลายเว้ยเฮ้ย”
รับตะวันเหนือทะเลบัวแดง
ทะเลบัวแดง

หลังความเปลี่ยนแปลงของหนองหานจนให้กำเนิดทุ่งดอกบัวสายจำนวนมากขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้นายรักเกียรติ ศรีลาวงศ์ ผอ.โรงเรียนบ้านเดียม โรงเรียนที่ตั้งอยู่ริมหนองหาน มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชมทุ่งดอกบัวที่ “ทะเลน้อย” จ.พัทลุง เขาพบว่าที่หนองหานบ้านเขาก็มีของดีเช่นกัน แถมมีบัวบานมากกว่าด้วย ผอ.รักเกียรติ จึงนำสิ่งที่เห็นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกับชาวบ้าน ก่อนพัฒนามาสู่กิจกรรมล่องเรือชมทุ่งดอกบัวสายดังในปัจจุบัน

และด้วยความที่ทุ่งดอกบัวที่นี่พร้อมใจกันออกดอกเป็นจำนวนมหาศาลกินพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของหนองหาน(หมื่นกว่าไร่) เกิดเป็นแหล่งชมทุ่งดอกไม้ตามธรรมชาติ(แห่งใหม่)ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จึงมีคำเรียกขานท้องทุ่งดอกบัวสายแห่งนี้ตามมาว่า “ทะเลบัวแดง” ขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 และก็ใช้เรียกติดปากติดหูกันเรื่อยมาจนทุกวันนี้
เก็บภาพประทับใจ
สำหรับกิจกรรมล่องเรือชมทะเลบัวแดง ผมเดินทางมาถึงยังหนองหานตั้งแต่เช้ามืดที่แสงค่อยๆเรื่อเรืองโผล่พ้นขอบฟ้า มองเห็นเรือนำเที่ยว(ท้องแบน)จอดเรียงราย ถามชาวบ้านคนขับเรือได้ความว่ามีอยู่ประมาณ 60 ลำ แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของการท่องเที่ยวที่นี่ โดยปีนี้ที่มีบูมมากเพราะมีการเปิดตัวทะเลบัวแดงในระดับจังหวัดอย่างเป็นทางการ จนในวันงานมีคนมาร่วมต่อแถวล่องเรือกันยาวเหยียดจนถึงขนาดเกิดปรากฏการณ์ออกเรือไม่ทันกันเลยทีเดียว

ครั้นเมื่อถึงเวลาฤกษ์งามยามปลอดก็ได้เวลาลงเรือลอยลำนาวาทัศนาความงามของทะเลบัวแดง โดยมีหนุ่ม“อ๊อด”หรือ“บักฮวก”(ลูกอ๊อด)ในชื่อภาษาถิ่น วัยรุ่นที่ใช้เวลาในวันหยุดมารับจ็อบหาเงินด้วยการขับเรือพานักท่องเที่ยวชมทะเลบัว ซึ่งอ๊อดบอกกับผมว่าในช่วงเทศกาลที่มีเรือวิ่งเข้าวิ่งออกนับสิบๆเที่ยว เขาสามารถทำเงิน(หักค่าใช้จ่ายทั้งหมด)ได้กว่า 1,500 บาทเลยทีเดียว
เตรียมพร้อม
อ๊อดค่อยๆพาเรือท้องแบนมีหลังคา จุคนเต็มที่ 10 คน ล่องไปตามเส้นทางน้ำชมบัวที่ทางชุมชนกำหนดไว้ ช่วงแรกของเส้นทางทะเลสาบหนองหานต้อนรับผมด้วยภาพดวงตะวันเบิกฟ้าลูกกลมโตเป็นไข่แดงที่ค่อยลอยโผล่พ้นขึ้นมาเหนือพื้นน้ำ

จากนั้นแสงแห่งตะวันได้เผยให้เห็นถึงความงามแห่งทะเลบัวแดงที่บานดารดาษให้สีชมพูเข้มสดเต็มท้องน้ำนับล้านๆดอก ดูปานประหนึ่งเหนือท้องน้ำหนองหานถูกปูด้วยพรมสีชมพูอันพราวพรั่งสดใส
ล่องเรือชมบัวไปตามเส้นทางที่กำหนด
ในดอกบัวที่เห็นออกดอกเบ่งบานสุดลูกหูลูกตาเหมือนๆกันนั้น หากสังเกตให้ดีดอกบัวแต่ละดอกจะมีความเป็นปัจเจกของตัวมันเอง บองดอกชูช่อตรง บางดอกชูช่อเอน บ้างดอกชูช่อโดดเดี่ยว บ้างชูช่อเป็นกลุ่ม บางดอกชูช่อสูง บ้างชูช่อต่ำ ส่วนดอกบัวบางดอกก็ดูแตกต่างเพราะเป็นดอกบัวสีขาวนวลขึ้นแซมอยู่ในดวงบัวสีชมพูสด ในขณะที่บางดอกที่มีน้อยมากอาจดูเหมือนว่ายังไม่บรรลุในธรรมจึงลอยโผล่พ้นเพียงปริ่มๆน้ำ เรียกว่าตรงข้ามกับคนที่มีน้อยมากที่จะเป็นเหมือนดังบัวพ้นน้ำ

ในเส้นทางสายนี้อ๊อดบอกกับผมว่า ถ้าวันไหนโชคดี จะมีชาวบ้านต้อนฝูงวัวควายลงมาไล่เดินกินสายบัว แต่จะเป็นในเขตพื้นที่ที่ชุมชนกำหนด เพราะมิเช่นนั้นวัวควายจะรุกล้ำเข้ามาทำลายท้องทุ่งดอกบัวในเขตท่องเที่ยวได้
นกน้อยรอคอยเหยื่อ
อย่างไรก็ดีวันนั้นจะไม่มีโอกาสเห็นวัวควายลงน้ำแม้สักเขาเดียว แต่ผมก็ได้เห็นวิวทิวทัศน์รอบข้างอันงดงาม ท่ามกลางการประดับประดาแวดล้อมของเหล่าดอกบัวพ้นน้ำในแทบทุกจุดของเส้นทาง ภาพของนกตัวใหญ่น้อยออกบินหากินทั้งบินเดี่ยว และบินเป็นฝูง หลายๆตัวยึดคาคบจากราวหลักปักเบ็ด ปักข่ายของชาวบ้าน ปักหลักพักคอยสอดส่องสายตาหาเหยื่อ
ทำนาบนหัวเรือกันอย่างพร้อมเพรียง
อีกทั้งได้เห็นภาพชีวิตกลางน้ำสอดแทรกเสริมส่งเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นภาพของชาวบ้านที่พายเรือออกทำประมงพื้นบ้าน โดยมีเรือ 2 ลำ กำลังใช้ไม้ฟาดน้ำกระจายเพื่อล่อปลาให้ว่ายไปยังข่ายดักของตน ภาพของเรือนำเที่ยวที่มีทั้งเรือท้องแบนมีหลังคา และเรือหางยาวนั่งได้ 2-3 คน ค่อยๆแล่นนำและตามกันไปในเส้นทางที่กำหนด นักท่องเที่ยวบางคนด้วยความอยากถ่ายรูปกับดอกบัวอย่างใกล้ชิดจึงพยายามยืดตัวออกจากเรือมาให้ไกลที่สุด ดูเป็นที่น่าหวาดเสียวไม่น้อย

สำหรับเส้นทางล่องเรือในวันนั้น เป็นเส้นทางวงรอบ(รอบยาว)ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันช่างเร็วเหลือเกิน เผลอแผล็บเดียวเรือได้แล่นมาเทียบท่าส่งผมขึ้นฝั่งแบบที่หัวใจยังอบอวลไปด้วยกลิ่นอายพราวชมพูสะพรั่งของทะเลบัวแดงแห่งนี้อยู่เลย
ปลาเผา หอยเชื่อรี่ปิ้ง ฝีมือคุณยาย รสแซบหลายเด้อ
หลังขึ้นฝั่ง ท้องเริ่มหิว ผมเดินหาอาหารกินจากร้านค้าที่มีอยู่มากหลายในแถวข้างทางริมหนองหานที่มีของกินชวนน้ำลายไหลหลายอย่าง ทั้งผลผลิตจากบัว ปลาจากหนองหาน หอยเชอรี่เสียบไม้ปิ้ง ลูกกระบกคั่ว ขนม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ซึ่งหลังจากอิ่มหนำสำราญ ผมปิดท้ายทริปด้วยการเข้าไปสักการะองค์ “พระธาตุบ้านเดียม” ในวัดพระธาตุบ้านเดียม ที่อยู่ใกล้ๆกัน ชนิดเดินเหงื่อไม่ทันซึมก็ถึงแล้ว
พระธาตุบ้านเดียม
พระธาตุบ้านเดียม

พระธาตุบ้านเดียม เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 11-13 องค์พระธาตุปัจจุบันสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509-10 ตามแบบพระธาตุพนม ด้านหน้าองค์พระธาตุประดิษฐานองค์พระพุทธรูปองค์หลวงปู่ที่ชาวบ้านแถบนี้ให้ความเคารพนับถือมาก ซึ่งทางชุมชนได้จัดสร้างหอสวรรค์ เป็นอาคารไม้โครงเหล็กไว้ให้ขึ้นไปไหว้พระปิดทององค์หลวงปู่ โดยมีข้อแม้ว่าห้ามผู้หญิงเข้าไปปิดทององค์หลวงปู่ด้วยตนเอง แต่ต้องให้คุณลุงที่เฝ้าองค์หลวงปู่มาเป็นตัวแทนปิดให้ ส่วนธูปเทียนทองเปลวที่ใช้สำหรับสักการะองค์หลวงปู่ก็ให้ไหว้เป็นเลขคู่(สอง)หมด
องค์หลวงปู่ห้ามผู้หญิงปิดทอง ต้องให้คุณลุงผู้ดูแลองค์พระปิดแทน
คุณลุงที่เฝ้าองค์หลวงปู่บอกกับผมว่า เหตุที่คนที่นี่ถวายธูป เทียน ทอง เป็นเลขคู่ เพราะมีความเชื่อของชุมชนมาแต่โบราณกาลแล้วว่า การไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แทนด้วย ทองคำเปลว เทียน และธูป(ตามลำดับ) เป็นเลขคู่ เพราะสิ่งของเหล่านั้นเป็นสิ่งของที่คู่ควรกับพระพุทธเจ้า
ปลาน้อยรอคอยเป็นปลาร้า
ครั้นเสร็จสรรพอิ่มบุญจากการไหว้องค์หลวงปู่และองค์พระธาตุบ้านเดียมแล้ว ผมเดินทอดน่องดูสีสันบรรยากาศแผงขายของในลานวัด และบริเวณนอกวัด เห็นได้ชัดถึงอิทธิพลของทะเลบัวแดงแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุดรฯ ที่ช่วยสร้างเสริมรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านชุมชนแถบนี้ ซึ่งน่าจับตาดูกันต่อไปว่าทิศทางการขับเคลื่อนทางการท่องเที่ยวของทะเลบัวแดงแห่งหนองหานในอนาคตจะเป็นเช่นไร

เพราะจากสภาพการณ์ที่เห็นและพฤติกรรมของใครบางคนที่ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า พวกเขาคิด(อยาก)จะนำโครงการใหญ่โตมาลงแบบไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม มันก็ช่วยย้ำเตือนให้นึกถึงคำพระที่ว่า “บัวมีสี่เหล่า” ได้เป็นอย่างดี

*****************************************
ปีนี้เป็นแรกของการจัดงานวิวาห์ล้านบัว(ภาพ : ททท.)
ช่วงเวลาที่ทะเลบัวแดงที่บานเต็มที่คือประมาณเดือน ธ.ค.-ก.พ. ในเวลาเช้าไม่เกิน 11 โมง จุดลงเรืออยู่ที่ท่าเรือบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ค่าบริการเรือพร้อมเสื้อชูชีพ เรือเล็ก(หางยาว)นั่งได้ 2-3 คน 100 บาท/เที่ยว เรือท้องแบนมีหลังคา นั่งได้ 10 คน รอบสั้น 45 - 1 ชม. ราคา 300 บาท/เที่ยว รอบยาว 1.30 - 2 ชม. ราคา 500 บาท นอกจากนี้ที่บ้านเดียมยังมีโฮมสเตย์ไว้บริการ

ด้วยความสวยงามของพื้นที่ ทำให้ในปีนี้ทาง จ.อุดรธานี ได้จัดงาน“วิวาห์ล้านบัว” ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ทะเลบัวแดง หนองหาน อ.กุมภวาปี ในวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. 55 ภาพในงานมีไฮไลท์อยู่ที่การจดทะเบียนสมรสกลางทะเลบัวแดงนับล้านดอก และพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกพันมั่นรัก ตามประเพณีพื้นบ้านแบบอีสาน

ผู้สนใจเที่ยวหนองหานหรือเที่ยวงานวิวาห์ล้านบัวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สนง.เทศบาล ต.เชียงแหว โทร. 0-4223-6022 และสามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับหนองหานในจังหวัดอุดรฯ ได้ที่ ททท.อุดรธานี 0-4232-5406-7
กำลังโหลดความคิดเห็น