xs
xsm
sm
md
lg

ไหว้พระ "วัดพระสิงห์-วัดมังกร" เสริมมงคลปีมะโรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์
ปีนี้ พ.ศ.2555 ถ้านับตามปีนักษัตรก็ถือว่าเป็นปีมะโรง หรือที่จะรู้จักกันในลักษณะของงูใหญ่ นาค ซึ่งก็มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตคนไทย วัฒนธรรมไทย ปรากฏทั้งในงานศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมไทย ปีมะโรงนับเป็นลำดับที่ 5 ของปีนักษัตร ซึ่งการนับปีโดยใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์นี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น ลาว พม่า ฯลฯ ก็มีการใช้วิธีนี้เช่นกัน เพียงแต่จะแตกต่างกันในเรื่องลำดับ หรือสัตว์ที่ใช้นับแทนปี อาทิ ปีมะโรงของไทย ก็คือปีมังกรของชาวจีน

และตามความเชื่อของชาวจีน มังกรเป็นสื่อสัญลักษณ์มงคล เป็นสิ่งพิเศษ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อปีมังกรมาถึงก็เชื่อว่าเป็นปีที่ดี จะนำความเจริญมาให้ และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลยิ่งขึ้นไป จึงขอชวนกันไปไหว้พระทำบุญตามวัดวาอารามต่างๆ

เริ่มที่ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ ตามความเชื่อเรื่องพระธาตุประจำปีเกิดของล้านนา ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เกิดในปีมะโรงจะต้องมาไหว้พระธาตุเจดีย์ที่วัดพระสิงห์แห่งนี้ โดยวัดพระสิงห์ หรือ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สร้างขึ้นในสมัยของพญาผายู กษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังราย ของเชียงใหม่ สร้างขึ้นพร้อมกับพระเจดีย์สูง 24 ศอก เพื่อใช้บรรจุอัฐิพระราชบิดาของพระองค์
ผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรที่วัดเล่งเน่ยยี่
ภายในวัดพระสิงห์ มีวิหารลายคำ เป็นวิหารที่มีลวดลายปูนปั้นสวยงามประณีตบรรจง สร้างตามแบบศิลปกรรมของล้านนา ภายในเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสิหิงค์ (องค์จำลอง ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พระราชวังบวรสถานมงคล) บนผนังด้านหลังพระประธาน เสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) มีภาพลายทองพื้นแดงเป็นลวดลายต่างๆ ด้านหลังพระประธาน ยังมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง ผนังวิหารด้านเหนือมีภาพจิตรกรรมเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เรื่องสุวรรณหงส์ นับเป็นภาพที่น่าสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบที่นี่เพียงแห่งเดียว

สำหรับพระบรมธาตุวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีมะโรง องค์พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง โดยรูปแบบของเจดีย์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากพระธาตุหริภุญชัย รอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) โดยจะมีเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่ที่ฐาน และยังมีที่มุมอีก 4 องค์ ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกกว่าพระธาตุเจดีย์องค์อื่น ๆ ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้ายบรรจุรวมกับพระเกศา
สถาปัตยกรรมงดงามที่วัดเล่งเน่ยยี่ 2
ทางด้านความเชื่อของชาวจีน หรือชาวไทยเชื้อสายจีน ก็นิยมไปไหว้พระขอพรจากวัดที่มีความหมายถึงมังกร โดยเริ่มที่ วัดเล่งเน่ยยี่ วัดดังในย่านเยาวราช ที่เชื่อกันว่าเป็นถนนสายมังกรด้วย วัดเล่งเน่ยยี่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชื่อเล่งเน่ยยี่นั้นมีความหมายตามตัวอักษรดังนี้ “เล่ง” คือ มังกร “เน่ย” คือ ดอกบัว ส่วน “ยี่” คือ วัด และในภายหลังนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อว่า “วัดมังกรกมลาวาส”

นอกจากชื่อที่เป็นมงคลแล้ว สถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ก็ยังโดดเด่นด้วยการวางผังแบบวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า การสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ โดยก่อนจะเข้าสู่วิหารท้าวจตุโลกบาลหน้าประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายคำโคลงคู่มีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา และ มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ ที่วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเปรียบดั่ง “ส่วนหัวของมังกร”
พระพุทธเจ้า3พระองค์วัดเล่งเน่ยยี่ 2
นอกจากที่เยาวราชแล้ว วัดเล่งเน่ยยี่ ยังมีอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี มีชื่อว่า วัดเล่งเน่ยยี่ 2 หรือ วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายมีปณิธานจะพัฒนาที่ส่วนนี้ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภายในพระอารามแห่งนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนตามแบบวัดหลวง โดยลักษณะตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น คือชั้นแรกเป็นหอฉันและกุฏิของสงฆ์ ชั้นที่ 2 ตรงกลางของชั้นนี้ มีวิหารจตุโลกบาล ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานผู้ปกปักษ์รักษาพระพุทธศาสนา อันได้แก่ พระศรีอริยะเมตไตรยโพธิสัตว์ และธรรมบาลทั้งหลายคือ ท้าววิรุฬหกมหาราช ท้าวธตรัฐมหาราช ท้าวกุเวรมหาราช (เวชสุวรรณ) ท้าววิรูปักษ์มหาราช และเทพต่างๆอีก 8 องค์

ด้านข้างของวิหารจตุโลกบาล มีหอเล็กๆ 2 หลัง ขนาบทั้งทางด้านซ้ายคือ หอกลอง และทางด้านขวาของวิหารคือ หอระฆัง ส่วนชั้นที่ 3 เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถ ภายในตรงกลางประดิษฐานพระประธานคือพระพุทธเจ้า 3 พระองค์ด้วยกัน ได้แก่ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า และด้านข้างทั้งสองพระองค์ได้แก่ พระอมิตาภพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า ถัดจากพระอุโบสถไปยังด้านหลังเป็น วิหารอวโลกิเตศวรมหาโพธิสัตว์ ภายในประดิษฐานพระอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ หรือพระกวนอิมมหาโพธิสัตว์ปางพันมือพันตา แกะสลักจากไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนชั้นที่ 4 มีวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ ที่ผนังรายล้อมด้วยพระพุทธรูปองค์เล็กๆ หนึ่งหมื่นพระองค์สีทองอร่าม
พระประธานเปเปอร์มาเช่ วัดเล่งฮกยี่
ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา ก็มีวัดจีนที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับมังกร นั่นคือ วัดเล่งฮกยี่ ซึ่งคำว่า ฮก แปลว่า โชคลาภ วาสนา ในสมัยก่อนจึงมีผู้คนขนานนามวัดนี้ว่า วัดมังกรแห่งวาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเสด็จพระพาสมณฑลปราจีนบุรี ก็ได้พระราชดำเนินทรงเยี่ยมวัดเล่งฮกยี่แห่งนี้ และทรงมีจิตศรัทธาพระราชทานเงินเพื่อบำรุงวัด พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “วัดจีนประชาสโมสร” อันมีความหมายถึงว่า วัดแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจีน

แบบแปลนของวัดนี้จะเป็นแบบเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ และได้ถูกวางตำแหน่งฮวงจุ้ยเป็น “ส่วนท้องของมังกร” ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่พระประธาน คือ พระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ นำเข้ามาจากเมืองจีนและสร้างขึ้นจากกระดาษทั้งสิ้น หรือที่เรียกว่า “เปเปอร์มาเช่” แล้วปิดทอง ทำให้มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อ 18 อรหันต์ ก็ยังทำด้วยกระดาษเช่นกัน

ภายในวัดยังมีรูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือ ไฉ่เซ่งเอี้ย องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผู้ที่มากราบไหว้ที่วัดเล่งฮกยี่แห่งนี้จึงนิยมขอโชคลาภ จะได้รับพลังส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณธัญญาหาร เจริญรุ่งเรืองมาสู่ตนเอง ตามความเชื่อที่ว่าวัดแห่งนี้เป็นดั่งส่วนท้องของมังกร
อุโบสถวัดเล่งฮัวยี่ ภายในประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์
ปิดท้ายที่ วัดเล่งฮัวยี่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “วัดมังกรบุปผาราม” จ.จันทบุรี ซึ่งมาจากคำว่า “ฮัว” ที่แปลว่าดอกไม้ โดยเมื่อเข้าไปภายในวัดก็จะเจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาล ตามแบบแผนผังวังหลวงแต้จิ๋วโบราณ จากนั้นจะเป็นพระอุโบสถสถาปัตยกรรมจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ยอดเป็นรูปเจดีย์ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระประธานพุทธเจ้า 3 พระองค์สีทองอร่าม พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปะ และพระอานนท์

ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต อันหมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ และพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ผู้เป็นเลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา หมายถึงบารมีหกที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ โดยรูปเคารพปิดทองคำเปลว ประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม ด้านบนยังมีรูปเคารพเทพเจ้าอีกหลายองค์ให้เคารพบูชา

การไหว้พระขอพรนั้นไม่ว่าจะเป็นปีมะโรง หรือปีมังกรทองอย่างในปีนี้ หรือจะเป็นปีอื่นๆก็ตาม ก็นับว่าเป็นมงคลอย่างแน่นอน แต่นอกจากนี้ ก็ต้องปฏิบัติตัวให้อยู่ในศีลในธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น จึงจะเป็นสิริมงคลกับตัวเองเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น