xs
xsm
sm
md
lg

งดงามวิจิตร ชม “พระบรมมหาราชวัง” ยลพระที่นั่งจักรีฯ ยามราตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บรรยากาศท้องสนามหลวงคราคร่ำไปด้วยประชาชน
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ที่ทางสำนักพระราชวังร่วมกับรัฐบาลจัดงานพระราชพิธี ณ ท้องสนามหลวง และพระบรมหาราชวัง ฉันซึ่งทำงานอยู่ใกล้ๆ วัดพระแก้วย่อมไม่ขอพลาดด้วยประการทั้งปวง

โดยจุดมุ่งหมายของฉันนอกจากจะไปเที่ยวชมงานที่ท้องสนามหลวงแล้ว ยังมุ่งที่จะเข้าชม “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ใน “พระบรมมหาราชวัง” ในยามค่ำคืนอีกด้วย โดยกิจกรรมการเข้าชมพระบรมมหาราชวังและพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในตอนกลางคืนนี้ ทางสำนักพระราชวังได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและถ่ายภาพบรรยากาศอันงดงามของพระบรมมหาราชวังในยามราตรีเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่เสียค่าเข้าชมใดๆ
ผ่านประตูพิมานไชยศรีเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นกลาง
ฉันตื่นเต้นกับกิจกรรมการเข้าชมพระบรมมหาราชวังยามค่ำคืนนี้ เพราะปกติแล้วจะไม่เปิดให้เข้าชมบริเวณพระบรมมหาราชวังถึงเขตพระราชฐานชั้นกลางในช่วงกลางคืน โดยการเข้าชมจะเปิดให้เข้าที่ประตูวิเศษไชยศรี ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น. ในวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2554 นี้เท่านั้น และผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพด้วย

เมื่อผ่านประตูประตูวิเศษไชยศรีเข้าไปแล้ว สิ่งที่ฉันเห็นด้านซ้ายมือเป็นภาพของวัดพระแก้วที่อยู่หลังกำแพงพระบรมมหาราชวัง ทั้งพระศรีรัตนเจดีย์ พระปรางค์ พระอุโบสถ ปราสาทพระเทพบิดร พระสุวรรณเจดีย์ พระเศวตกุฏาคารวิหารยอด ในยามค่ำคืนช่างงดงามขรึมขลังตัดกับท้องฟ้าสีดำมืด และแสงจากโคมลอยระยิบระยับคล้ายดวงดาวเห็นแล้วช่างน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ทั้งฉันและผู้คนมากมายต่างพากันตั้งกล้องเก็บภาพความประทับใจนี้อย่างไม่หยุดหย่อน บ้างก็นั่งล้อมวงกันบนสนามหญ้าสีเขียวขจีเพื่อชมความสวยงามของวัดพระแก้วเบื้องหลังกำแพงพระบรมมหาราชวังกันเลยทีเดียว

เมื่อเก็บภาพจนจุใจแล้ว ฉันเดินตรงผ่านประตูพิมานไชยศรี ระหว่างที่ก้าวผ่านนั้นภาพเบื้องหน้าที่ฉันเห็นคือ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” ที่ดูสวยงามอ่อนช้อยแต่ขรึมขลัง ราวกับย้อนตัวเองไปอยู่ในอดีต พระที่นั่งหลังนี้คือพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกมุขเด็จในตอนเช้าของวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ต้องขอบอกเลยว่าบรรยากาศในยามค่ำคืนของพระที่นั่งทำให้ฉันตรึงตาตรึงใจเป็นอย่างมาก
มุขเด็จพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
สำหรับ “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” หลังนี้ เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 ภายหลังเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา โปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ สถาปนิกจากสิงคโปร์ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่ง นายเฮนรี คลูนิช โรส เป็นนายช่างผู้ช่วย โดยมีเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กอง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419

เดิมมีพระที่นั่งต่างๆ เรียงต่อเนื่องกันรวม 11 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 องค์ คือ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และ พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ กับ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ที่กล่าวถึงนั้นได้รื้อลงแล้วสร้างใหม่ในรัชกาลปัจจุบัน โดยทอดตัวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสันโดยตลอด ทั้งนี้ ใน พ.ศ. 2542 ได้มีโครงการสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทส่วนต่อเติมในพื้นด้านหลัง เพื่อใช้ในการพระราชทานเลี้ยงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2549
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทงามสง่ายามค่ำคืน
ส่วนของหลังคาเป็นหลังคายอดปราสาท 3 ยอดเรียงกันตามสถาปัตยกรรมไทย พระองค์เสด็จยกยอดปราสาทใน พ.ศ. 2421 มีการเฉลิมพระราชมนเฑียรใน พ.ศ. 2425 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท”
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯในหมู่พระมหามณเฑียร
พระที่นั่งองค์นี้ชั้นบนสุด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ และพระมเหสีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา เป็นที่เสด็จฯออกให้คณะทูตานุทูต ข้าราชการชั้นสูงเข้าเฝ้า หรือรับรองแขกผู้มีเกียรติ ภายในพระที่นั่งเป็นที่ประดิษฐาน พระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งเป็นพระราชอาสน์ราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์พระที่นั่งทำด้วยไม้หุ้มเงินถมลงยาทาทองซึ่งเรียกว่า ถมตะทอง นับได้ว่าเป็นเครื่องถมทองชิ้นใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในหมู่พระมหาปราสาท
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังเป็นสถานที่แห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย ด้วยเหตุที่ว่ากรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ได้ทอดพระเนตรเห็นแสงไฟฟ้านั้นที่ประเทศทางตะวันตก และมีพระราชประสงค์ที่จะมาใช้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
หลังกำแพงพระบรมมหาราชวังเป็นบรรยากาศวัดพระแก้ว
หากหันหน้าเข้าหาพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ด้านซ้ายมือจะเป็นหมู่พระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งที่สำคัญได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน
การฉายภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง
ทางด้านขวามือเป็นหมู่พระมหาปราสาท ก่อสร้างลักษณะสถาปัตยกรรมไทยแท้ สิ่งก่อสร้างในหมู่พระมหาปราสาทที่สำคัญ ได้แก่ พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งราชกรัณยสภา และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยพระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียวในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาทมีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
บรรยากาศภายในงานบริเวณท้องสนามหลวง
นอกจากการเข้าชมพระบรมมหาราชวังในยามราตรีแล้ว ไฮไลท์ของกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติยังมีการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม เรื่องวัฒนธรรมทองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 84 พรรษา มหาราช และการฉายภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติ ชุด 84 ปีแห่งความเรืองรองของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ฉายภาพโดยใช้เทคนิค 3D Illusion Live Wall ตลอดความยาว 200 เมตร บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านถนนหน้าพระลานพร้อมการแสดงประกอบ แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่ทางรัฐบาลได้สั่งยกเลิกการแสดงใน 2 ส่วนนี้อย่างกะทันหัน ทั้งที่มีกำหนดการแสดงถึงวันที่ 9 ธันวาคม นี้ ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลได้ยกเหตุผลเรื่องน้ำท่วม ความพอเพียง ความประหยัดมาเป็นข้ออ้าง แถไถไปเรื่อยเปื่อยชนิดสีข้างเหวอะหวะหมอไม่รับรักษา
มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
อย่างไรก็ตาม แม้การแสดงแสง เสียง และสื่อผสม และการฉายภาพยนตร์พาโนรามาสื่อผสมเฉลิมพระเกียรติจะถูกยกเลิกไป แต่ทางสำนักพระราชวังแจ้งว่ายังคงเปิดพระบรมมหาราชวังให้ประชาชนเข้าชมความสวยงามของวัดพระแก้ว และเขตพระราชฐานชั้นกลางในยามค่ำคืนตามกำหนดการเดิมคือ ให้เข้าชมในเวลา 18.00-24.00 น. ตั้งแต่วันนี้ - 9 ธันวาคม 2554
ภายในงานมีการออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าของแต่ละจังหวัด
และเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ภายในงานมีการออกร้านและประดับไฟสวยงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น