ในวันที่ 15 เดือน 8 ของทุกๆ ปี ตามปฏิทินจีน ถือกันว่าเป็นวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งชาวจีน และผู้ที่มีเชื้อสายจีนทุกครอบครัวก็จะมารวมตัวกันเพื่อบูชาพระจันทร์ ซึ่งก็มีตำนานที่กล่าวถึงต้นกำเนิดเทศกาลไหว้พระจันทร์อยู่หลายตำนานด้วยกัน ตำนานหนึ่งว่า จักรพรรดิวูแห่งราชวงศ์ฮั่นเป็นผู้ริเริ่มการฉลองนี้เพื่อกราบไหว้ดวงจันทร์เป็นเวลา 3 วันในฤดูใบไม้ร่วง อีกตำนานบอกว่าเกิดขึ้นในช่วงที่มองโกลยึดครองจีน โดยใช้ขนมไหว้พระจันทร์เป็นที่ซุกซ่อนข้อความลับของพวกกบฏที่มีถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศให้มาชุมนุมครั้งใหญ่ในเดือน 8 เพื่อช่วยกันปราบทหารมองโกล
และอีกตำนานหนึ่งก็ว่า มีหญิงงามชื่อว่าฉางอี้ หรือฉางเอ๋อ ภรรยาของขุนนางจีน เกิดไปกินยาวิเศษที่กินเข้าไปแล้วสามารถเหาะขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ได้ แถมยังได้ดื่มน้ำอมฤตจากนางฟ้าบนสวรรค์จนเป็นอมตะ กลายเป็นเทพธิดาอยู่บนดวงจันทร์ เป็นผู้ให้น้ำฝนแก่ชาวไร่ชาวนาเพื่อเพาะปลูก ชาวจีนจึงทำเพื่อบูชานางในคืนวันเพ็ญเดือน 8 เป็นการตอบแทน นั่นก็คือ “ขนมไหว้พระจันทร์” หรือที่คนจีนเรียกขนมเอี้ยปิ่งนั่นเอง
สำหรับการบูชาพระจันทร์นั้น ตามปกติพิธีจะเริ่มหลังจากที่ดวงจันทร์ขึ้นแล้ว สิ่งที่นำมาบูชาดวงจันทร์ได้แก่ขนมไหว้พระจันทร์ ผลไม้ ถั่ว ดอกหงอนไก่ หัวไชเท้า รากบัว เป็นต้น หลังจากไหว้พระจันทร์เสร็จแล้ว คนในครอบครัวก็จะร่วมกันดื่มสุราแห่งความกลมเกลียว และกินข้าวชมจันทร์
และในฐานะที่ขนมไหว้พระจันทร์เป็นสิ่งของสำคัญในการบูชาดวงจันทร์ หลังจากการบูชาจบลง คนทั้งบ้านก็จะแบ่งกันกิน เนื่องจากขนมไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความกลมเกลียว สะท้อนให้เห็นความหวังอันงดงามของผู้คนที่มีต่อชีวิตในอนาคตของพวกตน ดังนั้นบางที่ก็จะเรียก ขนมไหว้พระจันทร์ว่า " ขนมแห่งความกลมเกลียว "