อพท. เดินหน้าพัฒนาเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เตรียมเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ภายใต้นิยาม “เมืองท่องเที่ยวแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” (The World Class Greenovative Tourism City) หลังครม.อนุมัติหลักการให้เดินหน้าแผนแม่บทฯ วงเงิน 1.5 หมื่นล้าน พร้อมเชื่อมั่น 10 ปีข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากปีละประมาณ 5 ล้านคนเป็น 10 ล้านคนและมีรายได้เพิ่มจากปีละ 6.8หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3 แสนล้านบาท
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ให้ความเห็นชอบในหลักการขณะนี้โครงการได้มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงที่มีรายละเอียดของกิจกรรมโครงการ และงบประมาณรายโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จราวกลางเดือนกันยายน 2554 เป็นอย่างช้า
รวมทั้งเตรียมเปิดตัวแผนแม่บทการบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงตลอดจนเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของเมืองพัทยา สู่การเป็นเมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยวระดับโลก ในวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรม เดอะ ซายน์ (The Zign) เมืองพัทยา ซึ่งในงานดังกล่าวเปิดโอกาสให้ “องค์กรภาคีเครือข่าย” อาทิ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเมืองพัทยา ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรีและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี สามารถวิพากย์และแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา อพท. ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยกำหนดกรอบแนวคิด และจัดให้มีการประชุมชี้แจง แนะนำรับฟังความคิดเห็น จัดประชุมกลุ่มย่อย ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่าง สม่ำเสมอเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำร่างแผนแม่บทฯ ตอบสนองการแก้ไขปัญหาหลักของเมืองพัทยา ได้แก่ ปัญหาการจราจร น้ำท่วมในถนนสุขุมวิท การขาดแคลนน้ำดิบ ระบบประปาเข้าไม่ถึงชุมชนขนาดใหญ่ การจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการน้ำเสีย เป็นต้น
ด้านอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผยถึง กรอบดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงด้วยว่าประกอบด้วยแผนงาน/โครงการ จำนวน 132 โครงการวงเงินรวม 15,007.36 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ( 2555-2565) ซึ่งที่ผ่านมา อพท. ได้ประสานกับเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำงบประมาณพัฒนาตามแผนแม่บทฯ ในปี 2555 จำนวน 34 โครงการ วงเงิน 646.7 ล้านบาทแบ่งเป็นเมืองพัทยา 13 โครงการ วงเงิน 253.7 ล้านบาทและพื้นที่เชื่อมโยง 21 โครงการ วงเงิน 393 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่ปฏิบัติการ และงบประมาณที่เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงปรับแก้ไขในระยะเวลาช่วงแรกของการเปิดประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ในแผนแม่บทฯ มีแนวทางปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา และสิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้นิยาม เมืองท่องเที่ยวแห่งนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (The World Class Greenovative Tourism City) ด้วย
สำหรับแผนดำเนินโครงการฯ ทั้งหมดประกอบด้วย 1. การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการจราจร ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางลอดทางแยกถนนสุขุมวิท ถนนเชื่อมมอเตอร์เวย์ รถโดยสารประจำทางขนาดเล็ก (Shuttle Bus) เชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายสุวรรณภูมิ-พัทยา-มาบตาพุด และท่าเทียบเรือเมืองพัทยา-เกาะล้าน รวมโครงการพัฒนา 12 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 4,793.5 ล้านบาท 2. การฟื้นฟูและสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการท่องเที่ยว ได้แก่ การขยายระบบน้ำประปา ระบบการระบายน้ำป้องกันน้ำท่วม ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างโรงคัดแยกและศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวที่มีนวัตกรรมสีเขียว อาทิ โครงการศึกษาการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือการผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเลด้วยระบบ Reverse Osmosis และโครงการศึกษาการใช้พลังงานทดแทน รวมโครงการพัฒนา 14โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 3,398.348 ล้านบาท
3. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เมืองพัทยาและถนนเชื่อมโยง ประกอบด้วยโครงการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูชายหาดเมืองพัทยา โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตลาดเก่านาเกลือโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 4 เส้นทาง คือ 1) เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชน เริ่มต้นที่วัดหนองเกตุใหญ่มุ่งสู่ทิศใต้ไปสิ้นสุดที่บ้านอำเภอ 2) เส้นทางวิถีชุมชนและศาสนา เริ่มจากวัดท่ากระดาน ไปทางทิศตะวันออกไปสิ้นสุดที่อ่างเก็บน้ำห้วยลึก 3) เส้นทางวิถีชุมชนและวัฒนธรรม เริ่มจากหมู่บ้านชาวประมง นาเกลือลงไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดที่ชุมชนชากแง้วและบ้านอำเภอ 4) เป็นเส้นทางเพื่อการศึกษาธรรมชาติ ดำน้ำดูปะการัง เกาะล้าน เกาะไผ่ ซึ่งแต่ละเส้นทางจะผ่านทั้งพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เป็นการกระจายนักท่องเที่ยวไปในพื้นที่เชื่อมโยง สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ศาสนา ศึกษากิจกรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการใช้จ่ายซื้อผลิตภัณฑ์ของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาการปรับปรุงกฎหมายเขตสถานบริการ รวมโครงการต่างๆ จำนวน 16 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 2,733 ล้านบาท
และ 4.การพัฒนาในพื้นที่เชื่อมโยงทั้ง 9 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่พื้นที่เชื่อมโยง โดยจัดทำโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เชื่อมโยง ทั้ง 9 แห่ง รวมถึงเกาะล้าน และเกาะไผ่ ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การปรับปรุงสภาพถนน เส้นทางจักรยาน ไฟส่องสว่าง ป้ายบอกทางการจราจร ป้ายแสดงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาจุดชมวิว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพของเมืองพัทยา สำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงมีโครงการต่างๆ จำนวน 90 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 4,082.512 ล้านบาท
“ตามแผนแม่บทนี้คาดว่าอนาคตอีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 5 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน เพิ่มระยะพำนักจาก 3.57 วัน เป็น 4.57 วัน นักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคน เป็น 4.2 ล้านคน เพิ่มเวลาพำนักจาก 2.48 วัน เป็น 4.03 วัน รวมแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 68,000 ล้านบาท เป็น 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน และรายได้ให้แก่ชาวเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง” พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กล่าว
ทั้งนี้ความเป็นมาของโครงการฯ ดังกล่าว สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 เมืองพัทยาได้มีหนังสือแสดงความจำนงมายังองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เรื่องขอให้ประกาศพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อเป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการเพื่อการพัฒนา แก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การดูแลอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว การยกระดับคุณภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การสร้างกิจกรรมและพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้มีมาตรฐานระดับสากล เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ให้ความเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 71 ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 ทั้งนี้เขตพื้นที่พิเศษดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 928.47 ตารางกิโลเมตร หรือ 850,293.75 ไร่ ประกอบไปด้วย 1. เมืองพัทยา (ครอบคลุมพื้นที่เกาะล้านและเกาะไผ่) 2. เทศบาลเมืองหนองปรือ 3.เทศบาลตำบลบางละมุง 4.เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย 5.เทศบาลตำบลโป่ง 6.เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ 7.เทศบาลตำบลนาจอมเทียน 8.องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล และ 9.องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว และประกาศพื้นที่พิเศษเพิ่มเติมในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาจอมเทียน หรืออาจเปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ในอนาคต รวมเป็นพื้นที่ 949.47 ตารางกิโลเมตร หรือ 593,418.75 ไร่