“อาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา”
นอกจากจะเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นวันที่พี่น้องชาวพุทธในเมืองไทยได้แสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดีงาม ผ่านงานเทศกาลประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ตามศรัทธาและความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ
สำหรับงานประเพณีในช่วงเข้าพรรษาในบางจังหวัด บางพื้นที่ นอกจากจะเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาแล้ว ยังมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียว ดังเช่น 2 งานเด่นใน จ.พะเยาและน่าน ที่เพิ่งจัดผ่านพ้นไปในวันอาสาฬหบูชาและช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา
เวียนเทียนกลางน้ำ “พะเยา”
ปกติการเวียนเทียนทั่วๆไป พุทธศาสนิกชนจะเดินเวียนเทียนกันรอบพระอุโบสถ รอบองค์พระธาตุเจดีย์ หรือรอบองค์พระพุทธรูปสำคัญประจำวัด แต่สำหรับชาวเมืองพะเยาเขามีประเพณีการเวียนเทียนที่แตกต่างจากทั่วไป นั่นก็คือการ“เวียนเทียนกลางน้ำ” ในกว๊านพะเยา อ.เมือง บึงน้ำขนาดใหญ่อันสำคัญแห่งดินแดนล้านนา
ประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำเกี่ยวพันกับการสร้างกว๊านพะเยาในปี พ.ศ. 2482 โดยหลังจากกรมประมงได้กั้นประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำจนเกิดเป็นกว๊านพะเยาอันมีพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้นมา ทำให้ชุมชนและวัดจำนวนมากในพื้นที่กักเก็บน้ำต้องจมลงอยู่ใต้น้ำ
ครั้นวันเวลาผ่านพ้นมาถึงปี พ.ศ. 2526 ได้มีการค้นพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยอายุเก่าแก่กว่า 500 ปี ขึ้นในกว๊านพะเยาช่วงน้ำลด ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อศิลา”(กว๊านพะเยา) หรือ “พระเจ้ากว๊าน” พร้อมอัญเชิญมาประดิษฐานที่ “วัดศรีอุโมงค์คำ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 หลังการปรับแต่งบูรณะ”วัดติโลกอาราม”กลางกว๊านพะเยาเสร็จสิ้น ทางจังหวัดพะเยาได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานในกว๊านพะเยาตามเดิมที่วัดแห่งนี้ พร้อมจัดงานกิจกรรมเวียนเทียนกลางน้ำรอบองค์หลวงพ่อศิลาและวัดติโลกอารามขึ้นเป็นครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชาปีเดียวกัน และปฏิบัติเป็นประเพณีในวันพระใหญ่ ได้แก่ วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชาสืบต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
งานเวียนเทียนกลางน้ำวันอาสาฬหบูชาปีนี้(15 ก.ค.)มีกิจกรรมหลักๆได้แก่ การทำบุญตักบาตรข้าวเหนียวริมกว๊านพะเยาในภาคเช้า และการจัดแสดงนิทรรศการวันอาสาฬหบูชาและการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นในภาคกลางวัน
ครั้นช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.30-18.00 น. จะมีการนำเรือพื้นบ้าน(เรือพาย)ประมาณ 30 ลำ นำพุทธศาสนิกชนไปตั้งขบวนเรือในกว๊านพะเยา พร้อมกันนี้พระภิกษุ-สามเณรจะสวดมนต์เริ่มพิธีที่ลานกลางน้ำ วัดติโลกอาราม เสร็จแล้วจึงไปขึ้นเรือนำชาวพุทธออกเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดแห่งนี้ 3 รอบ ท่ามกลางความปีติอิ่มเอิบใจของชาวพุทธที่มาร่วมงานประเพณีหนึ่งเดียวนี้
จากนั้นก็จะเปิดรอบต่อๆไปให้ผู้สนใจได้ร่วมเวียนเทียนกลางน้ำกัน แต่ทว่าด้วยสภาพอากาศของปีนี้ที่มีฝนตั้งเค้าลมแรง ทำให้เรือไม่สามารถพายออกไปกลางกว๊านได้ เวียนเทียนกลางน้ำในวันอาสาฬหบูชาสามารถทำได้เพียงรอบแรกรอบเดียวเท่านั้น
สำหรับประเพณีเวียนเทียนกลางน้ำแม้จะเป็นประเพณีใหม่ แต่ด้วยความแตกต่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครทำให้ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) บรรจุเป็นหนึ่งโครงการ “12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน” พร้อมทั้งระบุว่านี่น่าจะเป็นประเพณีปฏิบัติเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่จัดขึ้นใน จ.พะเยาเท่านั้น
ใส่บาตรเทียน “น่าน”
ผ่านจากอาสาฬหบูชาเข้าสู่วันเข้าพรรษา(แรม 1 ค่ำ เดือน 8)ที่หลายจังหวัดต่างจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษากันอย่างคึกคัก แต่ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน เขากลับยึดเอา 1 วันหลังจากเข้าพรรษา จัดงานประเพณีทรงคุณค่าหนึ่งเดียวที่เรียกกันว่าประเพณี“ใส่บาตรเทียน”ขึ้น
ประเพณีใส่บาตรเทียนหรือที่หลายคนนิยมเรียกว่าตักบาตรเทียน ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเริ่มขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มในปี พ.ศ. 2344 หลังเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ สร้าง“วัดบุญยืน”ได้ 1 ปี
วัดบุญยืน(ต.กลางเวียง) เป็นวัดที่มีเจ้าคณะอำเภอและพระเถระที่มีอาวุโสอยู่จำพรรษามาตั้งแต่อดีต ในยุคโบราณที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ พระภิกษุสามเณรทุกรูปในเวียงสา ได้กำหนดวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 10 เหนือ)จัดพิธีสูมาคารวะหรือพิธีขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระชั้นผู้ใหญ่ขึ้น ในขณะที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างก็ถือเอาวันเดียวกันนี้นำเทียนและดอกไม้มาถวายแก่พระภิกษุ-สามเณร เพื่อให้ได้มีแสงสว่างไว้ปฏิบัติศาสนกิจและศึกษาพระธรรมวินัยในยามค่ำคืน
เมื่อปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาก็ได้เกิดเป็นประเพณีใส่บาตรเทียนขึ้น ซึ่งแม้วันนี้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป มีไฟฟ้าใช้ แต่ชาวบ้าน อ.เวียงสาก็มิได้ละทิ้งการใส่บาตรเทียน ยังคงสืบสานประเพณีอันดีงามจากอดีตมาจนถึงในทุกวันนี้
สำหรับประเพณีใส่บาตรเทียนในปีนี้(17 ก.ค.)พิธีภาคเช้าจะเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. พระภิกษุสามเณรในเวียงสาและพุทธศาสนิกชน จะนำเทียน ดอกไม้ น้ำส้มป่อยหรือน้ำอบน้ำหอมมาใส่ลงในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ในวัดบุญยืน โดยฆราวาสจะพร้อมใจกันนำอาหารมาถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุ-สามเณร
จากนั้นในช่วงบ่าย การใส่บาตรเทียนจะเริ่มขึ้นโดยพระภิกษุสามเณรจะเดินออกจากโบสถ์ นำเทียนมาใส่ในบาตรที่จัดเตรียมไว้ให้ที่มีทั้งหมด 69 จุด ซึ่งทั้ง 68 จุด แทนจำนวน 68 วัด ส่วนอีก 1 จุด นับรวมแทน 11 สำนักสงฆ์ในเวียงสา
เมื่อพระภิกษุสามเณรนำเทียนใส่บาตรเสร็จสิ้น เหล่าพุทธบริษัทก็จะนำเทียนและดอกไม้ที่เตรียมมาเดินตักบาตรเทียนกันเป็นแถวยาว ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบเปี่ยมศรัทธา ไม่หวั่นแม้ว่าอากาศจะร้อนเปรี้ยงหรือมีสายฝนพรำ โดยชาวเวียงสานิยมนำเทียนมาตักบาตรจำนวน 99 เล่ม ตามความเชื่อในเรื่องของเลขที่เป็นสิริมงคล
หลังเสร็จสิ้นจากการนำเทียนใส่บาตร พระภิกษุ-สามเณรจะเดินกลับเข้าในโบสถ์อีกครั้ง เพื่อทำพิธีสูมาคารวะแก่พระแก้ว 5 โกฐากส์ ได้แก่ พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ร่วมด้วย พระกรรมฐาน และพระอาจารย์ผู้สอนกรรมฐาน รวมถึงการขอขมาแก่เจ้าคณะอำเภอและพระเถระชั้นผู้ใหญ่ผู้มีอายุพรรษามากกาลตามลำดับ
จากนั้นพระภิกษุและสามเณรจะแบ่งเทียนและดอกไม้ นำห่อด้วยผ้าสบงนำกลับวัดของตนเอง เพื่อนำไปจุดบูชาพระรัตนตรัยหรือเก็บไว้เป็นมงคล ซึ่งก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นประเพณีตักบาตรเทียน ซึ่งชาวเวียงสา ต่างเชื่อว่าตักบาตรเทียนอาจจะเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกที่จัดขึ้นเฉพาะที่อำเภอเวียงสาเท่านั้น
………………………
และนั่นก็คือ 2 ประเพณีทรงคุณค่าวันอาสาฬหบูชาและช่วงเข้าพรรษา ในพะเยาและน่าน ที่ความเชื่อเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวในโลก ดูจะไม่สำคัญเท่ากับการที่ชาวชุมชนในพื้นที่ต่างร่วมกันอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน