“มุกดาหาร” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคอีสานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เหตุที่ได้ชื่อว่ามุกดาหารเพราะมีผู้พบเห็นดวงแก้วสดใสเปล่งปลั่งในขณะที่ กำลังสร้างเมืองในปี 2331 เมืองมุกดาหารในปัจจุบันถือเป็น “ประตูสู่อินโดจีน” เพราะเป็นที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ของไทยที่เชื่อมระหว่างมุกดาหารและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว และยังสามารถเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวไปถึงเวียดนามสู่เมืองดงฮา กวางตรี และเชื่อมต่อไปยังเมืองเว้ ดานัง และเมืองฮอยอันได้อีกด้วย
มุกดาหารมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า “หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบแก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน” ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของเมืองมุกคือ เป็นเมืองที่มีชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ ถึง 8 เผ่า คือ เผ่าไทยอีสาน ภูไท ไทยข่า ไทยกะโซ่ ไทยย้อ ไทยแสก ไทยกะเลิง และไทยกุลา แต่ละเผ่าก็จะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่และเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าอยากรู้จักแต่ละเผ่าให้มากขึ้น แนะนำว่าควรจะไปที่หอแก้วมุกดาหาร ที่ตั้งอยู่บนถนนมุกดาหาร-ดอนตาล ห่างจากอำเภอเมืองเพียง 2 กม.
สำหรับ “หอแก้วมุกดาหาร” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมุกดาหาร และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชม หอแก้วมุกดาหารสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ลักษณะของหอแก้วมุกดาหารบริเวณส่วนฐานเป็นอาคารทรงเก้าเหลี่ยม 2 ชั้น จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ ชั้น 1 จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ชั้น 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติเมืองมุกดาหาร วัตถุโบราณล้ำค่าของแผ่นดิน ภาพถ่ายเก่า ตลอดจนเครื่องแต่งกายชาวไทยมุกดาหารทั้ง 8 เผ่า ส่วนชั้น 6 เป็นหอชมทัศนียภาพรอบเมืองมุกดาหารและแขวงสะหวันเขต สปป.ลาว ส่วนชั้น 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นโดมทรงกลม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนวมิ่งมงคลมุกดาหารและพระประจำวันเกิดให้ประชาชนได้ มาสักการะกัน เสียค่าเข้าชมเพียง 20 บาท เท่านั้น
หรือหากอยากชมวิวเมืองมุกดาหารในมุมสูงยิ่งกว่านั้น ต้องขึ้นมาที่ “ภูมโนรมย์” ซึ่งเป็นภูเขาที่อยู่ไม่ไกลจากหอแก้วมุกดาหารมากนัก บนยอดภูมีศาลาพักผ่อนและจุดชมวิวที่สวยงามซึ่งสามารถมองเห็นตัวเมือง มุกดาหารตั้งอยู่อย่างสงบริมแม่น้ำโขง เห็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่สองของไทยและเห็นเมืองสะหวันเขตของลาวอยู่ ลิบๆ นอกจากนั้น บนภูมโนรมย์ยังเป็นที่ตั้งของวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ซึ่งประดิษฐานรอยพระพุทธบาทและพระธาตุอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมือง มุกดาหาร
บริเวณริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองมุกดาหารยังมีสถานที่ให้นักท่องเที่ยวได้ช้อป ปิ้งซื้อของกินฝากและของที่ระลึก คือที่ “ตลาดอินโดจีน” บนถนนสำราญชายโขง ซึ่งมีร้านค้าขายของเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร สินค้าที่วางขายอยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้า อาหารการกิน ของที่ระลึกต่างๆ
คราวนี้ไปเที่ยวนอกเมืองกันบ้าง ที่อำเภอหว้านใหญ่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอันซีนไทยแลนด์ คือที่ “วัดสองคอน” หรือชื่อเต็มว่า “สถานพระมารดาแห่งมรณสักขี วัดสองคอน” ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ในนิกายโรมันคาทอลิกตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่คริสตชน 7 ท่าน ที่พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า โดยในช่วงที่ประเทศไทยเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสในปี 2483 มีความตึงเครียดเกิดขึ้นแทบทุกจังหวัดบริเวณชายแดนไทย-ลาว ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกทางการเพ่งเล็งเนื่องจากบาทหลวงส่วนใหญ่ในประเทศ ไทยเป็นชาวฝรั่งเศส ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาของฝรั่งเศส ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์จึงถูกมองว่าฝักใฝ่ฝรั่งเศสและทรยศต่อชาติ ดังนั้นทางการจึงข่มขู่ชาวบ้านให้ละทิ้งศาสนาคริสต์ โดยกล่าวคาดโทษถึงชีวิตแก่ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูสอนศาสนาและผู้ดูแลวัด รวมถึงคณะซิสเตอร์อีก 6 คน ยังคงยืนยันความเชื่อในพระเจ้า ในที่สุดจึงถูกยิงเสียชีวิตทั้ง 7 คน ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 วาติกันโดยพระสันตะปาปาจอห์นปอล ที่ 2 ได้ประกาศให้ทั้งเจ็ดคนเป็น "บุญราศีมรณสักขี" ที่หมายถึงคริสตชนผู้ประกอบกรรมดีและพลีชีพเพื่อประกาศยืนยันความเชื่อในพระ เจ้าไม่ยอมละทิ้งศาสนา
วัดสองคอนมีชื่อเสียงในเรื่องความงามแปลกตาของตัวอาคารภายนอก ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุคนได้กว่า 20,000 คน ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯในปี 2539 ภายในแบ่งเป็นส่วนประกอบพิธีและส่วนเก็บอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 ท่าน ซึ่งทำเป็นหุ่นขี้ผึ้งนอนอยู่ในโลงแก้ว และนอกจากตัวโบสถ์แล้ว พื้นที่ของวัดยังรวมถึงป่าศักดิ์สิทธิ์ หรือป่าช้า ซึ่งเป็นที่ฝังอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 รวมถึงคริสต์ศาสนิกชนในบริเวณนี้อีกด้วย
มาต่อกันที่ “วัดมโนภิรมย์” วัดริมแม่น้ำโขงในอำเภอหว้านใหญ่เช่นเดิม วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ จากบันทึกวัดระบุว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2230 โดยท้าวคำสิงห์ ญาติพี่น้อง และบริวาร ผู้อพยพจากฝั่งลาวข้ามแม่น้ำโขงมาสร้างหมู่บ้านชะโนดและสร้างวัดขึ้น เดิมวัดใช้ชื่อเดียวกับชื่อหมู่บ้านและชื่อลำห้วยที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นวัดมโนภิรมย์ในภายหลัง
วัดแห่งนี้มีของดีอยู่ที่วิหารเก่าแก่แต่งดงามด้วยงานช่างสกุลล้านช้าง ตามบันทึกวัดระบุว่าสร้างราวปี 2296 โดยจารย์โชติ จารย์ขะ และจารย์โมข ช่างฝีมือเยี่ยมจากเวียงจันทน์ หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องดินเผา หน้าจั่วมีลักษณะโค้งนิดๆ ช่อฟ้า ปั้นลม เป็นไม้แกะสลักอ่อนช้อย ส่วนที่โดดเด่นคืองานปูนปั้นตรงซุ้มประตูทางเข้าวิหารซึ่งปั้นเป็นลวดลาย ละเอียดอ่อนช้อยเป็นรูปนาคหลายเศียรและหน้ากาล และบริเวณบันไดทางเข้าวิหารก็มีปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ในจินตนาการ ที่ช่างปั้นผสมเอามังกร ปลา สิงห์ และยักษ์มาไว้ในตัวเดียวกัน
สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจากวัดสองคอนและวัดมโนภิรมย์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนมุกดาหารก็คือ “แก่งกะเบา” ในอำเภอหว้านใหญ่ มีลักษณะเป็นแก่งหินยาวเหยียดริมลำน้ำโขง บนฝั่งมีลานหินกว้างขนาดใหญ่ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูแล้งที่น้ำโขงลดลงจนมองเห็นเกาะแก่งกลางน้ำและมี หาดทรายกว้างจะสวยงามกว่าฤดูอื่นๆ หากใครได้มาเที่ยวอย่าลืมแวะกินหมูหันซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมที่แก่งกะเบา มีให้เลือกหลายร้านริมฝั่งโขง
ที่เมืองมุกดาหารยังมีวัดป่าซึ่งมีความเป็นมาเกี่ยวพันกับพระอริยสงฆ์ในถิ่นอีสาน คือ “วัดถ้ำจำปากันตสีลาวาส” ในอำเภอหนองสูง วัดแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด ซึ่งเป็นลานโล่งมีหลืบถ้ำอยู่ใต้ชะง่อนเพิงผา ป่าโดยรอบเป็นป่าโปร่ง ด้านล่างมีลำธารไหลผ่าน ท่านเลือกพำนักอยู่บริเวณนี้นานถึง 5 ปี ต่อมาพระอาจารย์เสาร์ทราบถึงวาระจิตหลวงปู่มั่นว่าได้เดินทางติดตามมาหาท่าน เมื่อหลวงปู่มั่นเดินทางมาถึงได้กราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์และพำนักจำพรรษา อยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน และทั้งสององค์ได้ปรึกษาสนทนาธรรมจนในที่สุดได้บรรลุธรรมชั้นสูง จึงถือได้ว่าวัดถ้ำจำปาแห่งนี้เป็นสถานที่ควรแก่การเคารพ เป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจแก่นักปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานสืบไป ภายในวัดมีรูปหล่อหลวงปู่เสาร์ให้กราบไหว้กันด้วย
หากใครอยากลองมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านเมืองมุกดาหารอย่างแท้จริง ต้องลองมาพักที่ "บ้านภูโฮมสเตย์" ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประเภทแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการเรียนรู้ ปี 2553 มีความโดดเด่นตรงที่เป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของชาวภูไทและภูมิปัญญาท้องถิ่น และที่นี่ยังมีผ้าไหมทอมือเป็นของขึ้นชื่ออีกด้วย
ในคำขวัญจังหวัดมุกดาหารพูดถึง “กลองโบราณล้ำเลิศ” หลายคนอาจสงสัยว่าเป็นกลองอะไรและอยู่ที่ไหน กลองที่ว่านั้นไม่ใช่กลองยาว ไม่ใช่กลองเพล แต่เป็นกลองมโหระทึก ซึ่งเป็นกลองสำริดที่ใช้ในพิธีขอฝนของชาวอุษาคเณย์ สำหรับกลองที่พบในจังหวัดมุกดาหารนี้ นับเป็นกลองมโหระทึกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เส้นผ่าศูนย์กลาง 86 ซม. สูง 66 ซม. หน้ากล้องมีลายนูนเป็นรูปคล้ายดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ มีรัศมี 14 แฉก มีกบประดับทั้ง 4 มุม มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 5-6 ถูกพบเมื่อปี 2481 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง ในอำเภอดอนตาล
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมแล้ว มุกดาหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าสนใจหลายแห่งด้วยกัน ที่หลายๆ คนรู้จักกันดีก็คือ “อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ” ที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล มีเนื้อที่ 48.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขาชันหลายลูกติดต่อกัน สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ที่ภูผาเทิบมีสิ่งที่น่าสนใจคือประติมากรรมหินที่มีรูปร่างแปลกตา เรียกว่า "กลุ่มหินเทิบ" ซึ่งเป็นหินทรายอายุนับร้อยล้านปีวางทับซ้อนกันอยู่เป็นรูปร่างต่างๆ สามารถจินตนาการไปได้ตามที่ตาเห็น เช่น รูปจานบิน เห็ด เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้ หอยสังข์ ฯลฯ ที่เกิดเป็นประติมากรรมธรรมชาติได้อย่างนี้ก็เพราะเมื่อก่อนบริเวณนี้เคยจม อยู่ใต้น้ำมาก่อน เมื่อโลกโก่งตัวขึ้นมาหินเหล่านี้จึงโดดแดดแผดเผา สายน้ำและสายลมช่วยกันกัดเซาะทำให้หินแต่ละก้อนกลายเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน
บนภูผาเทิบยังมีร่องรอยของไดโนเสาร์ให้เราได้เห็นกันด้วย โดยพบกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นเล็กๆ บนลานมุจลินท์ (ลานหินเรียบที่ทอดยาวไปไกลกว่า 1,200 เมตร) ซากกระดูกที่พบนี้สันนิษฐานว่าจะเป็นไดโนเสาร์กินพืช พบอยู่ 2 จุดด้วยกัน และในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม บนลานมุจลินท์ยังละลานตาไปด้วยดอกไม้ป่า ซึ่งเป็นพืชขนาดเล็กจำพวกดอกหญ้า เช่น ดอกสร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง ดุสิตา ฯลฯ ออกดอกบานสะพรั่งงดงามมากอีกด้วย
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของมุกดาหาร คือ เป็นเมืองต้นกำเนิดของ “ลำผญา” หรือ “คำผญา” ซึ่งมีความหมายว่าปัญญา หรือปรัชญา ลำผญามีลักษณะเป็นคำกลอน คำสุภาษิต และคำพูดที่เป็นปริศนาของชาวอีสาน ผู้ฟังต้องนำมาคิด วิเคราะห์ ค้นหาคำตอบว่าผู้พูดคำผญานั้นหมายถึงอะไร ดังนั้นผู้พูดและผู้ฟังจึงต้องมีไหวพริบและสติปัญญาที่จะทำความเข้าใจลำผญา นั้น ซึ่งส่วนมากแล้วลำผญาจะมีเนื้อหาเป็นคำสอนลูกหลาน เป็นภาษิตปริศนา และเป็นการเกี้ยวพาราสีกันด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * *
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวในจังหวัดมุกดาหารได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม (พื้นที่รับผิดชอบ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร) โทร. 0 4251 3490-1