xs
xsm
sm
md
lg

“ประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพ” ความศรัทธาบนปัญหาร่วมสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : ธรรม ณ คุณ
พระธาตุดอยสุเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองล้านนาที่ก่อให้เกิดประเพณีเดินขึ้นดอย
ภาพผู้คนนับหมื่นแสน พร้อมใจกันเดินตามถนนศรีวิชัยขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพในคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 หนึ่งคืนก่อนวันวิสาขบูชา นับเป็นภาพอันชวนตื่นตาตื่นใจ คืนวันนั้นแทบทุกตารางเมตรของพื้นผิวถนนตั้งแต่เชิงดอยสุเทพไปจนถึงลานกว้างทางขึ้นบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ เต็มไปด้วยผู้คนแทบจะทุกวัยที่หลั่งไหลมาจากทุกสารทิศทั้งใกล้และไกลจากเมืองเชียงใหม่

ศรัทธาจากสาธุชนที่มาร่วมงานบุญ “ประเพณีเดินขึ้นดอย” หรือ “ป๋าเวณีเตวขึ้นดอย” ด้วยจิตใจตั้งมั่นที่จะมาเดินเพื่อปฏิบัติบูชามีจำนวนมากมาย ซึ่งมีทั้งผู้ที่มาด้วยความรู้และไม่รู้ในที่มาของประเพณีอันงดงาม

สำหรับความเป็นมาของป๋าเวณีเตวขึ้นดอย ต้องย้อนไปราวๆ 600 กว่าปีมาแล้ว เมื่อพระเจ้ากือนา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์เม็งราย ได้ทรงสถาปนาพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ พระสถูปเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ ในปีชวด อัฐศก จุลศักราช 748 วิสาขมาส คืนเพ็ญวันพุธ จันทร์เสวยฤกษ์ 16
แรงศรัทธาจากผู้ร่วมประเพณีเดินขึ้นดอย
นับแต่นั้นมาดอยสุเทพก็นับได้ว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดแห่งหนึ่งของล้านนา และก่อให้เกิดประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพเพื่อไปสักการะพระบรมธาตุในค่ำคืนก่อนวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมและถวายเป็นพุทธบูชาและยังเป็นการน้อมรำลึกถึงครูบาศรีวิชัยผู้นำชาวบ้านสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพอีกด้วย(สมัยก่อนปี พ.ศ.2477 ยังไม่มีถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุเป็นแค่เพียงทางเดินเท้าเท่านั้น)

ค่ำคืนวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่ถนนศรีวิชัย เพื่อร่วมงานบุญประเพณีเดินขึ้นดอย ประเพณีอันสวยงามและศักดิ์สิทธิ์นี้ยังคงมีอยู่ แต่...อีกด้านหนึ่งก็มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นในงานนี้ นับเป็นปัญหาร่วมสมัยที่เกิดขึ้นกับงานบุญอีกหลากหลายงานทั่วฟ้าเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเสียงอึกทึกครึกโครมเจี๊ยวจ๊าวรบกวนผู้อื่นที่ตั้งใจมาเดินขึ้นดอยเพื่อทำบุญปฏิบัติบูชา ขยะจำนวนมหาศาลจากโรงทานร้านค้าที่ยังคงมีอยู่และมีมากขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งแม้จะมีการรณรงค์อย่างแข็งขันของหลายๆ หน่วยงานที่จับมือร่วมกันทำงานในนาม เครือข่าย “อักษาฮีตฮอย ย้อนรอยวิถีป๋าเวณีเตวขึ้นดอย”

ป้ายรณรงค์เพื่อให้งานนี้ปราศจากขยะและเหล้ายา มีให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ตามถนนห้วยแก้วก่อนงานประเพณี ในคืนวันงานเตวขึ้นดอย ก็มีการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทั้งป้ายประชาสัมพันธ์และอาสาสมัครจำนวนมากต่างก็ทำงานอย่างเข้มแข็ง ด้วยหวังว่าประเพณีศักดิ์สิทธิ์นี้จะยังคงสวยงามอยู่ตลอดไป แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ ทั้งจากโรงทาน ร้านค้าที่ทั้งแจกทั้งขายอาหารด้วยถ้วยจานที่ทำจากโฟม ขวดน้ำ แก้วน้ำพลาสติก ที่มีแจกกันอย่างไม่อั้นได้กลายเป็นขยะกลาดเกลื่อนในตอนเช้าวันต่อมา ทำอย่างไรดีกับปัญหาขยะนี้ ปีต่อไปควรมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้จะดีไหม? ร้านค้าจะมีไปทำไม (บางร้านฉวยโอกาสแอบขายเหล้าเบียร์ด้วย??) ในเมื่อเรามีโรงทานจากผู้มีจิตศรัทธามาแจกอาหารกันอย่างล้นเหลืออยู่แล้ว
ป้ายรณรงค์ไม่ดื่มสุรา ไม่ทิ้งขยะ ที่ใครหลายๆคนไม่แยแสสนใจ
อย่าลืมว่า งานนี้เป็นงานบุญ ไม่ใช่งานมหกรรมอาหารที่ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย ในเมื่อรู้ว่าปัญหาทั้งเหล้า-เบียร์และขยะ ส่วนหนึ่งมีมาจากร้านค้า ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเลย ก็ควรที่จะต้องพิจารณากันได้แล้ว

ส่วนปัญหาขยะจากโรงทาน ซึ่งน่าจะดูแลกันได้ง่ายกว่า ด้วยการขอความร่วมมือในการใช้ภาชนะที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ใบตอง หรือ ภาชนะชานอ้อย (ดังเช่นถนนคนเดินที่กำลังจะเป็นถนนคนเดินแห่งแรกในประเทศไทย ที่ไม่มีการใช้โฟมมาบรรจุอาหารหาร ภายในเดือนมิถุนายนนี้) ถ้าหยุดร้านค้าและขอความร่วมมือจากโรงทานต่างๆได้ ปัญหาขยะจะลดปริมาณลงไปในทันที ส่วนเรื่องน้ำดื่ม ที่มีการแจกกันอย่างเป็นจริงเป็นจังจากศรัทธาสาธุชนต่างๆนั้น ก็ทำให้เกิดขยะขึ้นในปริมาณมาก

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เคยร่วมงานประเพณีเดินขึ้นดอย ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในสมัยก่อนต่างคนต่างต้องเตรียมอาหารน้ำดื่มไปกันเอง เตรียมไปเพียงน้อยแต่พอประทังหิวเท่านั้น เพราะใช้เวลาเดินขึ้นแค่สามสี่ชั่วโมง ไม่ได้มากินดื่มกันอย่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์อย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งมีอาหารให้รับประทานกันอย่างล้นเหลือถึงขั้นกินทิ้งกินขว้างตามรายทางไป
นักเรียน อาสาสมัคร ร่วมกันเก็บขยะจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังจากงาน
ดังนั้นถ้าจะมีการแจกน้ำจึงควรแจกเป็นขวดน้ำพร้อมสายคล้องคอเพื่อความสะดวกในการพกพา หรือจัดเป็นถังน้ำดื่มสะอาดตั้งไว้เป็นจุดๆตามซุ้มต่างๆให้เติมได้ หรือไม่ก็รณรงค์ให้ทุกคนมีขวดน้ำกระบอกน้ำส่วนตัวขึ้นไป

อาจารย์สวาท จันทร์ทะเล จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ซึ่งได้จัดกิจกรรมนำเด็กจากชุมนุมรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นมาเก็บขยะเป็นประจำทุกปี ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

“ขยะมีมากขึ้นทุกปี เป็นขยะที่เกิดจากการกินทั้งนั้น ทั้งเศษอาหาร ถ้วยจานโฟม และแก้วน้ำขวดน้ำพลาสติก ซึ่งบางขวดยังไม่ได้เปิดฝาดื่มเลยด้วยซ้ำ คงจะแจกกันมากเกินไปจริงๆ ส่วนเรื่องร้านค้าที่ขายอาหารเครื่องดื่มต่างๆก็ไม่ควรมีเลย เพราะไม่จำเป็น เด็กๆลูกศิษย์ที่มาร่วมเก็บขยะถึงกับถามว่า อาจารย์ขา...พวกเขามาเดินทำอะไรกันคะนี่ ทำไมสร้างขยะกันเยอะแบบนี้???”
โรงทานแจกอาหาร ความศรัทธาที่จำเป็นต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อป้องกันปัญหาขยะที่ตามมา
นอกจากปัญหาเรื่องขยะ สิ่งหนึ่งที่มีการรณรงค์กันอย่างเอาจริงเอาจังก็คือปัญหาเรื่องการดื่มเหล้า-เบียร์ซึ่งไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในงานประเพณีทางพุทธศาสนาอย่างนี้ การเอาจริงเอาจังกวดขันในการตรวจจับร้านค้าที่แอบขายเหล้า-เบียร์ของเจ้าหน้าที่จากทางอุทยาน และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ต.ภูพิงค์ ทำให้ปัญหาเรื่องนี้ลดน้อยลงไปมาก การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยากขึ้นเพราะร้านค้าไม่ขาย ทำให้การดื่มของวัยรุ่นที่มาร่วมเดินขึ้นดอยลดน้อยลง ปัญหาการทะเลาะวิวาทจึงไม่เกิดขึ้นในปีนี้

แต่ปัญหาเรื่องการดื่มเหล้า-เบียร์ ใช่ว่าจะหมดลงไปเสียเลยทีเดียว ยังมีการดื่มกินอย่างดุเดือดและโจ๋งครึ่มจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชน เป็นอนาคตของชาติ ที่ช่างไม่รู้กาลเทศะเลยว่า ในงานบุญประเพณีศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ อะไรควร อะไรไม่ควร
ผู้ว่าฯเชียงใหม่ นำประชาชนร่วมเดินขึ้นดอย
ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งกำลังทำงานเต็มที่กับการรณรงค์ไม่ให้มีการดื่มสูบเสพย์ในงานนี้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งในสถาบันเดียวกัน กลับตั้งหน้าตั้งตาทำลายความดีงามของประเพณีงานบุญอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการจัดกิจกรรมรับน้องขึ้นดอยกันอย่างเอิกเกริก ปัญหานี้จะแก้ไขอย่างไร วานท่านอธิการบดี ท่านผู้บริหารสถาบัน ช่วยตอบด้วย?

นายโรจพันธ์ ไชยงาม นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ ได้ร่วมมือกับองค์การต่างๆ และนักศึกษาส่วนหนึ่ง ซึ่งทำงานกันอย่างขยันขันแข็งเต็มที่เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้ให้ความเห็นว่า “ทางสโมสรนักศึกษาก็ร่วมมือกับงานบุญใหญ่นี้เต็มที่ ทั้งเรื่องการจัดทีมขึ้นไปเก็บขยะในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น และในวันงานก็มีกิจกรรมตั้งด่านตรวจสกัดแอลกอฮอล์ร่วมกับพี่ๆ ทหารจาก กอรมน. และเจ้าหน้าที่ตำรวจจากโรงพักภูพิงค์ ปีนี้เราได้ร่วมเข้าไปทำงานในเครือข่ายฮักษาฮีตฮอย ย้อนรอยวิถี ป๋าเวณีเตวขึ้นดอย ด้วย ในฐานะที่มหาวิทยาลัยของเราอยู่ตีนดอย ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องดูแลดอยสุเทพแห่งนี้ และช่วยกันรักษาประเพณีดีงามนี้ให้มีอยู่ต่อไปอย่างศักดิ์สิทธิ์”
ป้ายรณรงค์ไม่ให้ดื่มเหล้าและสร้างขยะบนดอยสุเทพ
ด้าน พ.ต.ต.ภูวดิษฐ์ ไชยพรม สารวัตรป้องกันและปราบปราม สภ.ภูพิงค์ ได้แสดงความเห็นว่า “ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนดูแลความปลอดภัย ดูแลเรื่องร้านค้าที่จะละเมิดกฏหมายด้วยการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปีนี้นับว่าน้อยลงมาก ส่วนปัญหาที่เห็นอยู่ก็คือการดื่มของกลุ่มนักศึกษาที่มารับน้อง ซึ่งมาจากสถาบันใกล้ๆ นี่เอง ที่จริงไม่ควรให้มีการรับน้องในงานประเพณีอย่างนี้ มันไม่ถูกกาลเทศะ ควรยกเลิกไปเลย เพราะนอกจากปัญหาเรื่องของการดื่มสุราแล้ว กิจกรรมของขบวนการรับน้องยังเป็นการรบกวนผู้ที่ตั้งใจมาร่วมงานกันอย่างสงบด้วย”

แล้วประเพณีเดินขึ้นดอยปีนี้ก็ได้ผ่านไปอีกปี พร้อมกับปัญหาและบทเรียนต่างๆ ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ร่วมกันว่า จะทำอย่างไรให้ประเพณีอันดีงามนี้ ยังคงความขลังความศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่เมืองเชียงใหม่ตลอดไป สมเป็นเมืองนครที่มีความสง่างามทางวัฒนธรรมดังที่มีผู้คนกล่าวขานถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น