xs
xsm
sm
md
lg

ท่องบางขุนเทียน ทะเลกรุงเทพฯ ก่อนจะจมบาดาลไปมากกว่านี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ป่าชายเลนบางขุนเทียน
ภูมิอากาศโลกเราในปัจุบันผันแปรอย่างมาก หน้าร้อนปีนี้ บางวันอากาศหนาว บางวันฝนตก บางวันร้อนระยับ ในขณะที่ภาคใต้นั้นหน้าร้อนกลายเป็นหน้าฝนที่มีพายุฝนฟ้าตกกระหน่ำจนน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่

เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการกระทำของมนุษย์ โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญของสภาพภูมิอากาศแปรปรวนก็มาจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำลายธรรมชาติที่ช่วยรักษาสมดุลให้กับโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยเราเพียงประเทศเดียวแต่มีปัญหากันไปทั่วโลก
ศาลเจ้าแม่กวนอิม
ตัวอย่างของการทำลายธรรมชาติจนเสียภาวะสมดุลก็คือ การกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นอย่างหนักในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยช่วงตอนบนรูปตัว ก.ไก่ ในพื้นที่ชายฝั่งของกรุงเทพมหานครกับอีก 3 สมุทรคือ สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนเกิดการกัดเซาะเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 30 เมตร

ดูแล้วช่างเป็นเรื่องที่น่ากลัวจริงๆ ขนาดไม่ต้องไปเป็นเมืองขึ้นหรือสู้รบกับใครเรายังเสียดินแดนให้กับน้ำทะเลทุกๆปีราว 30 เมตรต่อปีเลยทีเดียว หากใครอยากรู้ว่าขณะนี้เราสูญเสียแผ่นดินไปเยอะแค่ไหน ก็ต้องมาดูมาเห็นกันเอาเองที่ “ทะเลบางขุนเทียน”

ในครั้งนี้นอกจากฉันจะมาสำรวจพื้นที่กัดเซาะตามกระแสความแปรปรวนของโลกแล้ว ฉันก็เลยถือโอกาสมาเที่ยวท่องถนนชายทะเลกรุงเทพฯ และล่องเรือเที่ยวป่าชายเลนบางขุนเทียนไปในตัว โดยระหว่างที่ฉันมุ่งหน้ามายังถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ระหว่างทางที่ยาวตรงดิ่งประมาณ 12 กิโลเมตรจากถนนใหญ่ ฉันเจอกับ "ศาลเจ้าแม่กวนอิม" ที่ตั้งเด่นอยู่ริมถนนฝั่งขาออกบริเวณกิโลเมตรที่ 1
พระตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ
ศาลเจ้าแม่กวนอิมแห่งนี้ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2546 ตัวองค์พระแม่กวนอิมที่สูงเด่นนั้นเป็นเนื้อหินแกรนิตทั้งก้อน มีความสูงรวมฐาน 15 เมตร ถือได้ว่าเป็นหินแกะที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ภายในบริเวณศาล ยังประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนับเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้มีจิตศรัทธาในองค์พระแม่กวนอิม เป็นที่เคารพสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล

จากนั้นถัดไปไม่ไกลทางด้านฝั่งขาเขามี “ศาลพระพรหม” ตั้งเด่นอยู่ริมถนนบริเวณปากซอยเทียนทะเล 5 ตรงไปอีกทางฝั่งขวามือจะเจอกับเรือพระร่วง 19 เรือขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นนั้นก็คือ “พระตำหนักพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ก่อสร้างเป็นอาคารทรงจัตุรมุข มีระเบียงโดยรอบ จำลองแบบอาคารมาจากพระตำหนักของพระองค์ที่หาดทรายรี จ.ชุมพร ตั้งอยู่บนเรือรบหลวงพระร่วงจำลอง มีความยาว 79 เมตร ความกว้างหัวเรือ 19 เมตร บริเวณชั้นที่สองจัดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระประวัติ และผลงานของพระองค์ท่าน ส่วนชั้นที่สามเป็นที่ประดิษฐานพระรูปหล่อซึ่งมีขนาดเท่าองค์จริง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางขุนเทียน
จากนั้นฉันก็มุ่งหน้าต่อไปตามถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ซึ่งระหว่างทางในช่วงนี้เริ่มเป็นป่าโกงกางและร้านอาหารทะเลมากมายทั้ง 2 ฝั่งทาง ฉันเดินทางตรงไปเรื่อยๆจนมาถึงสุดท้ายจะมีทางแยกซ้ายและขวา ฉันเลือกเลี้ยวซ้ายเพื่อไปรู้จักกับชุมชนบางขุนเทียนกันที่ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางขุนเทียน” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์
ห้องแสดงประวัติศาสตร์บางขุนเทียน
ภายในพิพิธภัณฑ์ ฉันเจอกับคุณสุวิทย์ มหากลิ่น รปภ.ของโรงเรียน ได้พาฉันชมภายในพิพิธภัณฑ์พร้อมเล่าเรื่องราวว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งเป็น 2 ห้องจัดแสดง ห้องแรกเป็นสถานที่เก็บและรวบรวมของใช้ และเครื่องมือประกอบอาชีพของคนกรุงเทพฯ แถบป่าชายเลน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 สิ่งของที่จัดแสดงมีหลายประเภท เช่น แบบจำลองการทำนาเกลือ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้วยชาม เหรียญกษาปณ์ เงินพดด้วง เครื่องพิมพ์ พระ ครก โม่ เครื่องมือจับปลา ระหัดวิดน้ำ เครื่องสีข้าว ฯลฯ
เส้นทางศึกษาป่าชายเลน
ส่วนอีกห้องหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น จัดแสดงประวัติศาสตร์ของเขตบางขุนเทียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สวนบางขุนเทียน เรื่องราวพื้นที่ชายทะเลกรุงเทพฯที่มีระบบนิเวศแบบป่าชายเลนหรือนิเวศน้ำกร่อย อันเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนิเวศบกกับนิเวศทะเลที่พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์มีความหลากหลายและซับซ้อน
การสาธิตการดักปู
เมื่อชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว จากนั้นคุณสุวิทย์ พาฉันไปเดินชมบรรยากาศจริงของพื้นที่ศึกษาป่าชายเลน 16 ไร่ ที่ด้านหลังของโรงเรียน ในบริเวณนี้มีทั้งบ่อเลี้ยงเต่าตะนุ บ่อเลี้ยงกบ บ่อเลี้ยงปลา เช่น ปลาทับทิม ปลานิล ปลาตีน ปูแสม ปูทะเล และมีเส้นทางศึกษาต้นไม้ชายเลน เช่น ผักชะคราม ต้นโกงกางใบใหญ่ ต้นโกงกางใบเล็ก แสมขาว แสมดำ วังกุ้งธรรมชาติ หอยแครง ปูทะเล กุ้งกุลาดำ เป็นต้น
ชาวบ้านขะมักเขม้นกับการหาปลา
จากนั้นฉันไปต่ออารมณ์โดยการนั่งเรือเครื่องชมชายทะเลกรุงเทพฯ ระหว่างทางที่มุ่งหน้าสู่หลักเขตกรุงเทพมหานคร สองข้างทางเป็นบ้านเรือนสลับป่าโกงกาง ชาวบ้านในแถบนี้ยังคงสัญจรไปมาทางเรือ ยังมีวิถีชีวิตชาวประมงให้เห็นอยู่ทั้งตกปลา เหวียงแห แกะหอยตามหลัก ดักปู และยังมีนกนานาชนิดบินร่อนไปเกาะตามที่ต่างๆให้เห็นกันตลอดทาง และหากใครตาดีๆจะได้เห็นนกกินปลาที่ดำลงไปหาปลาใต้น้ำด้วย
ล่องเรือชมป่าชายเลนและนกน้ำ
เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 20 นาที ฉันก็มาถึงยัง “หลักเขตกรุงเทพมหานคร” หลักที่ 28 เขตบางขุนเทียน ซึ่งมีความแปลกตรงที่แต่เดิมก็ปักอยู่บนแผ่นดินแบ่งเขตกับสมุทรปราการ ปัจจุบันหลักเขตยังคงอยู่ที่เดิมแต่แผ่นดินนั้นกลับถูกน้ำทะเลกัดเซาะท่วมเข้ามาจนบริเวณรอบๆหลักเขตกลายเป็นทะเลที่กว้างใหญ่ไปเสียแล้ว
นกเล่นน้ำกันอย่างเพลิดเพลิน
นอกจากหลักเขตกรุงเทพฯแล้ว ยังสังเกตได้จากเสาไฟฟ้าที่เรียงรายอยู่ในน้ำก็เป็นอนุสรณ์เตือนใจชาวไทยได้เป็นอย่างดีถึงภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
หลักเขตกรุงเทพฯตั้งอยู่กลางทะเล
วันนี้เราคงต้องตระหนักและเตรียมกับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักๆของมันก็มาจากน้ำมือมนุษย์เรานี่เอง
เสาไฟฟ้าเรียงรายในน้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น