xs
xsm
sm
md
lg

จัดระเบียบ “เชียงคาน” ก่อนเสน่ห์แห่งวันวานจะหายไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงคานเมืองท่องเที่ยวริมโขงที่มาเร็วและแรงจนหลายๆคนอดเป็นห่วงไม่ได้
ถ้าพูดถึงเชียงคาน(จ.เลย) ภาพที่นึกถึงขึ้นมาในทันทีคงจะเป็นบ้านไม้เก่าริมฝั่งโขง การตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้า และวิถีชาวบ้านที่ดูอบอุ่นจริงใจ แต่เชียงคานในวันนี้กลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

แรกเริ่มเดิมที เชียงคานเป็นเมืองเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่สงบงาม และดำเนินไปอย่างเนิบช้า จนเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติของชุมชน แต่เมื่อมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ เชียงคานจึงกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบแฟชั่น ที่ใครๆ ก็ต้องการป่าวประกาศว่า “ไปมาแล้วนะ…เชียงคาน”

บ้านเรือนและร้านรวงต่างๆ ถูกสร้าง ปรับ และเปลี่ยนเพื่อต้อนรับคนจากภายนอก จนทำให้เอกลักษณ์ความเป็นเชียงคานแท้ๆ หายไปจนเกือบหมดสิ้น คนเชียงคานเองก็ต้องมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ จนเป็นตัวกระตุ้นให้ต้องเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐออกมาควบคุมดูแลบ้าง
การจัดระเบียบเมือง เป็นหนึ่งในช่องทางป้องกันไม่ให้เกิดทัศนอุจาดขึ้นในเชียงคาน
พิทักษ์ชัย สิงห์บุญ เลขานุการชมรมคนรักษ์เชียงคาน เปิดเผยว่า ทางเทศบาลตำบลเชียงคานมีโครงการจัดทำเทศบัญญัติที่มาดูแลเมืองเชียงคานตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว(2553) จนกระทั่ง ณ ขณะนี้ ก็ยังดูจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ

“เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้ลองโทรไปสอบถามทางเทศบาลว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว ก็ได้รับคำตอบมาว่ากำลังส่งเข้ากระทรวงมหาดไทย เพื่อไปลงราชกิจจานุเบกษา แต่ผมคิดว่าจะรอให้ผ่านราชกิจจานุเบกษามันคงช้าไป เคยถามท่านปลัดเทศบาล ถามฝ่ายกฎหมายว่ามีมาตรการอะไรที่เร่งด่วน ก่อนที่จะมีเทศบัญญัติเราจะใช้วิธีอะไรได้บ้าง ท่านก็บอกว่าต้องมาคุยกับประชาชน ขอความเห็นใจ แต่ว่าเมื่อไหร่จะได้เริ่มทำ เทศบัญญัติก็ทำตั้งแต่มิถุนายนแล้ว ท่านนายกเทศมนตรีก็พูดอย่างเดียวว่ารอให้ผ่านราชกิจจานุเบกษา นี่เดือนมกราคมแล้ว ยังไม่มีอะไรออกมาเลย ชาวบ้านก็สร้างบ้านขายของ ขายบ้านกันโครมๆ ตอนนี้เชียงคานก็ไม่ต่างอะไรกับปายแล้ว มันกำลังเดินตามเส้นทางนั้นไปติดๆ”
ตักบาตรข้าวเหนียววิถีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวเคียงคาน
ทางฝ่าย กมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน กล่าวว่า ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเชียงคานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเมืองเชียงคานเองก็ไม่สามารถที่จะรองรับได้ เพราะเมืองก็มีพื้นที่จำกัด ร้านค้า ร้านอาหาร หรือที่พักก็ไม่พอที่จะมารองรับนักท่องเที่ยวได้ จนต้องมีการสร้างสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อเปิดกิจการมารองรับ

“ในส่วนของเทศบาลที่ดำเนินการจัดระเบียบได้ก็คือเรื่องของการจราจรที่จะดูแลให้เรียบร้อย ไม่ติดขัดหรือกีดขวาง ส่วนเรื่องของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทางเทศบาลก็กำลังจะออกเทศบัญญัติมาบังคับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คิดว่าน่าจะใช้เวลาอีกไม่เกินหนึ่งเดือนก็น่าจะประกาศเรียบร้อย และออกมาบังคับใช้ได้”

“ในเทศบัญญัติก็จะมีการควบคุมในการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ อย่างในเมืองเชียงคานจะแบ่งออกเป็นโซนที่อยู่เขตอนุรักษ์อาคารไม้เก่าๆ ก็จะมีข้อกำหนดไม่ให้สร้างอาคารที่สูงเกิน 10 เมตร มีการกำหนดสีของหลังคา สีทาอาคาร ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าที่มีอยู่ หรือส่วนที่อยู่นอกเขตอนุรักษ์ ก็มีการกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้าง และมีข้อกำหนดอื่นๆ อีกหลายข้อ ซึ่งก็น่าจะควบคุมดูแลไม่ให้เชียงคานขยายตัวมากเกินไปได้”
บ้านเก่าหลายหลังถูกปรับแต่งเป็นร้านรวงรองรับนักท่องเที่ยว
ด้าน เลขานุการชมรมคนรักษ์เชียงคาน ให้ความเห็นกับร่างเทศบัญญัติฉบับนี้ว่าจริงๆ แล้วตัวเทศบัญญัติอันนี้ก็ไม่ได้ดูแลครอบคลุมการจัดระเบียบเมืองเชียงคานทั้งหมด ดูแลได้เฉพาะบางส่วนเท่านั้น เช่นเรื่องการควบคุมการสร้างอาคาร ดูแลเรื่องการพัฒนาพื้นที่ และการอนุรักษ์บ้านไม้เก่า แต่อีกหลายๆ เรื่องที่มีปัญหากันอยู่ก็เป็นสิ่งที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเช่นกัน อาทิ เรื่องการขายที่ดิน วิถีชีวิตของคนเชียงคานที่เริ่มเปลี่ยนไป ในส่วนนี้ก็ต้องการการดูแลเหมือนกัน

“ในส่วนของชมรมคนรักษ์เชียงคาน ตอนนี้เราก็มุ่งไปในเรื่องการให้ความรู้ การเข้าไปสู่ชุมชน ในการรักษาวิถีความเป็นเชียงคานเอาไว้ แต่สมัยนี้เรื่องปากเรื่องท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ ชาวบ้านก็ต้องสนใจเรื่องปากเรื่องท้องก่อนเป็นธรรมดา คนที่เข้ามาเที่ยวเยอะๆ ก็เป็นส่วนช่วยเรื่องเศรษฐกิจของพวกเขา อันนี้เราก็ต้องเข้าใจด้วย และอีกส่วนหนึ่ง ทางชมรมก็ดูในเรื่องของการสร้างศูนย์ข้อมูลของเมืองเชียงคาน ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ข้อมูลต่างๆ เอามาไว้ให้คนที่มาเที่ยวที่นี่สามารถเข้ามาดูได้”

ด้านคนที่อาศัยอยู่ในเชียงคานก็ได้แสดงความคิดเห็นไว้ด้วยเช่นกัน โดยผู้ประกอบการรายหนึ่งบอกว่า “จริงๆ กฎหมายท้องถิ่นมันต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่ก็ยังไม่คลอดออกมาเสียที ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงยังไม่ออกมา พูดตรงๆ ว่าเรายังไม่เห็นร่างเทศบัญญัติเลย ทางเทศบาลยังไม่ได้ปล่อยออกมาให้ได้เห็น จริงๆ ก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะต้องได้เห็นว่าฝ่ายการเมืองทำงานแบบไหน น่าจะติดประกาศร่างหรือว่าเดินแจกให้มาอ่านกัน จะได้รู้เนื้อหาเทศบัญญัติอันนั้นบ้าง”
วิถีร้านดั้งเดิมในเชียงคานที่ยังยืนหยัดโต้กับวิถีร้านแบบใหม่ที่รุกคืบเข้ามาอย่างหนัก
“คือที่นั่นมันยังไม่มีประชาพิจารณ์ คือเหมือนขีดๆ เขียนๆ กันเอง พูดจริงๆ ว่าบางทีเราก็ยังไม่รู้เลยว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในชุมชนบ้าง จริงๆ การจะทำเทศบัญญัติมันคือเรื่องของการประชาพิจารณ์ ถ้ามันเกิดขึ้นได้ก็จะดี จะได้ช่วยกำหนดทิศทางได้ในหลายๆ เรื่อง”

“การขยายตัวของเชียงคานมันก็เป็นผลดีกับธุรกิจ แต่ปัญหาคือคนที่ต้องขยับตัวมากๆ คือนายกเทศมนตรี ฝ่ายการเมืองต้องขยับตัวมาดูแล ส่วนของผู้ประกอบการเองก็ต้องทำตามนโยบายของฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว แต่ว่าผู้ประกอบการก็ต้องร่วมมือกัน คือตอนนี้มันขาดผู้นำในการพูดคุย จริงก็ต้องมีทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายประชาชน ฝ่ายการเมือง ฝ่ายนักวิชาการ ต้องมานั่งพูดคุยกันหาข้อสรุป จะได้มีทางออกที่ชัดเจนในการดูแลเมืองเชียงคาน”
ภาพชีวิตริมฝั่งโขง วันนี้ยังคงมีให้พบเห็นได้ทั่วไปในเชียงคาน
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เชียงคานต้องได้รับการการดูแลและควบคุมอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองแตก ที่แยกกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งนั่นก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในเชียงคาน ทั้งภาครัฐ และชาวบ้านทั่ว ที่ต้องดูแลบ้านให้น่าอยู่เหมือนเดิม

ในขณะที่ส่วนของผู้ประกอบการเองก็ต้องมีจิตสำนึกในการทำกิจการ ไม่ใช่คอยแต่จะนึกถึงผลประโยชน์ กอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋า โดยไม่สนใจท้องถิ่นว่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน

และที่สำคัญคือ ความร่วมมือจากนักท่องเที่ยว ที่ต้องมีจิตสำนึกในการเที่ยวด้วยเช่นกัน การที่จะเข้าไปสู่บ้านหรือชุมชนของคนอื่นนั้น ก็ต้องเคารพวิถีของเขาด้วย ไม่ใช่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อความสะดวกสบายของตนเอง ไม่เช่นนั้น ความเป็นตัวตน ความเป็นเอกลักษณ์ของเชียงคานก็จะเลือนหายไปแบบยากที่จะมีวันหวนคืน
กำลังโหลดความคิดเห็น