xs
xsm
sm
md
lg

“กินเหนียว ใต้เล” วิวาห์ใต้สมุทรเมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอกรักใต้สมุทร
เป็นธรรมดาของทุกปีที่พอถึงช่วงวันวาเลนไทน์ ในหลายพื้นที่หลายจังหวัดต่างจัดพิธีแต่งงาน วิวาห์รัก จดทะเบียนสมรสกันอย่างเอิกเกริก

และหากพูดถึงการจัดงานการแต่งงานที่แปลกแหวกแนวไม่ธรรมดา “ตรัง” ถือเป็นจังหวัดแรกๆที่บุกเบิกจัดงานประเพณี“วิวาห์ใต้สมุทร”ขึ้นมา ก่อนที่งานแต่งงานแบบแปลกๆจะได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน

ต้นกำเนิดของงานวิวาห์ใต้สมุทร เกิดขึ้นแบบเหนือความคาดหมาย โดยนักดำน้ำหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่มาร่วมกันดำน้ำเก็บขยะใต้ทะเลตรังในปี พ.ศ. 2538 เกิดมาปิ๊งรักกัน ก่อนที่ตกลงปลงใจแต่งงานกันใน ปี 2540 ด้วยการดำน้ำลงไปจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลตรัง สถานที่ที่ทำให้ทั้งสองมาทำกิจกรรมและพบรักกัน
กินเหนียวกับข้าวเหนียว-แกงไก่
หลังจากนั้นทางหอการค้าจังหวัดตรังก็สานต่อการจัดงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรเรื่อยมา จนปัจจุบันกลายเป็นประเพณีการแต่งงานที่โดดเด่นที่สุดงานหนึ่งของเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นงานแต่งงานที่โด่งดังไกลไปถึงเมืองนอกเมืองนา แต่ละปีสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมในงานนี้ได้ไม่น้อยเลย

สำหรับพิธีวิวาห์ใต้สมุทรปีนี้(ครั้งที่15) มีความพิเศษตรงที่ทางจังหวัดตรังได้ชูการ“กินเหนียว” ประเพณีท้องถิ่นที่ปฏิบัติควบคู่ในงานแต่งงานของชาวตรังมาอย่างช้านาน จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันเป็นเอกอุแตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ

โดยพิธีแต่งงานของชาวตรังตามประเพณีดั้งเดิม จะจัดเป็นเวลา 2 วัน วันแรกเรียกว่า “วันตั้งการ” วันที่สองเรียกว่า “วันแต่งงาน”

วันตั้งการ เป็นวันที่มีการจัดงานเลี้ยงก่อนส่งตัวกันอย่างสนุกสนานทั้งบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาว(แยกกันจัดงานบ้านใครบ้านมัน) พร้อมๆกับมีประเพณี “กินเหนียว”ควบคู่กันไป โดยอาหารที่ใช้ในการกินเหนียวมีสองอย่าง ได้แก่ “ข้าวเหนียวมูน”กับ“แกงไก่”
สลิล โตทับเที่ยง กับพ่อครัว สาธิตการทำแกงไก่ เพื่อกินกับข้าวเหนียว
สลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า คนสมัยก่อนมีความเชื่อว่า ข้าวเหนียวจะเป็นตัวประสานให้คู่บ่าวสาวและครอบครัวทั้งสองฝ่ายรักกันเหนียวแน่น

“คำว่า“กินเหนียว” คนตรังหมายถึงแต่งงาน ถ้าเป็นการแต่งงานใต้ทะเล(วิวาห์ใต้สมุทร) คนท้องถิ่นจะเรียกว่า กินเหนียว ใต้เล”

สลิล อธิบาย ก่อนเล่าเพิ่มเติมว่า ข้าวเหนียวที่ใช้กินเหนียวต้องเป็นขาวเหนียวมูนด้วยกะทิ ส่วนที่ไม่ใช้ข้าวเจ้า เพราะข้าวเจ้าร่วนไม่ติดกัน กินแล้วไม่เป็นไปตามความเชื่อเรื่องความรักใคร่กลมเกลียว”

ทั้งนี้เมื่อกินข้าวเหนียวมูนกับแกงไก่ น้ำแกงจะไปผสมกับข้าวเหนียวให้รสชาติออกมามีทั้ง หวาน มัน เค็ม เผ็ดเล็กน้อย เหมือนดังรสชาติของชีวิตที่มีหลากหลาย ซึ่งถ้าบ้านไหนทำข้าวเหนียวแกงไก่ได้อร่อยก็จะเป็นที่ร่ำลือกันว่าในอนาคตครอบครัวนั้นๆจะมีแต่ความสุข

นอกจากประเพณีกินเหนียวแล้ว สลิล ยังกล่าวว่า งานวิวาห์ใต้สมุทรปีนี้ทางจังหวัดตรัง จะเน้นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆของจังหวัดควบคู่ไปกับการจัดงานด้วย โดยพิธีวิวาห์ใต้สมุทรปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11-13 ก.พ. 54

ในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ ชมขบวนพาเหรดตั้งแต่หน้าเทศบาลนครตรังไปตามถนนพระรามหกถึงสถานีรถไฟตรัง ประเพณีกินเหนียว พิธีรดน้ำสังข์ ณ บริเวณใกล้บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พิธีรดน้ำสังข์ทราย ณ เกาะกระดาน พิธีจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลบริเวณเกาะกระดาน และพิธีจดทะเบียนสมรสที่ถ้ำมรกต(เกาะมุก)สำหรับผู้ไม่ดำน้ำ

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หอการค้าจังหวัดตรัง 0-7522-5353 หรือที่ 0-2863-3288 ต่อ 263,191
กำลังโหลดความคิดเห็น