“1864”
นี่ไม่ใช่การใบ้หวย แต่เป็นตัวเลขแสดงจำนวนโค้งทั้งหมดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 จากเชียงใหม่ ผ่าน ฮอด แม่สะเรียง แล้วก็เข้าสู่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน รวมระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถประมาณ 6-8 ชั่วโมง
สมัยก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เส้นทาง 108 คือเส้นทางหลักจากเชียงใหม่สู่แม่ฮ่องสอน เป็นเส้นทางสายคลาสสิคที่นักขับรถเที่ยวทั้งยุคเก่าและยุคใหม่นิยมกันไม่น้อย เพราะมันทั้งตื่นเต้นท้าทายและโดดเด่นไปด้วยทัศนียภาพอันงดงาม 2 ข้างทาง
มาวันนี้บรรยากาศแบบดั้งเดิมในเส้นทางสู่แม่ฮ่องสอนดูเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคตามสมัยแต่ก็ไม่มากมายนัก เช่นเดียวกับตัวเมืองแม่ฮ่องสอนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากมาย ยังคงไว้ซึ่งวิถีอันเรียบง่ายสงบงาม ผิดกลับ“เมืองปาย”ที่วันนี้ดูเปลี่ยนแปลงไปมากมายจนหลายๆคนอดเป็นห่วงไม่ได้
พระธาตุดอยกองมู คู่เมืองแม่ฮ่องสอน
ในการมาแอ่วเมืองสามหมอกแทบทุกครั้ง “ตะลอนเที่ยว” มักจะไม่พลาดการขึ้นไปสักการะ “พระธาตุดอยกองมู” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน
พระธาตุดอยกองมู ตั้งโดดเด่นตระหง่านอยู่ใน“วัดพระธาตุดอยกองมู”(เดิมชื่อวัดปลายดอย)บน“ดอยกองมู”(กองมูแปลว่าพระธาตุหรือเจดีย์)
พระธาตุดอยกองมู เป็นศิลปะไทยใหญ่สีขาวเด่นสมส่วนสวยงาม ประกอบด้วยพระธาตุ 2 องค์ด้วยกัน องค์ใหญ่(องค์แรก) สร้างโดย“จองต่องสู่” ในปี พ.ศ.2403 ใช้เป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระที่นำมาจากพม่า ส่วนองค์เล็ก(องค์หลัง)สร้างในปี พ.ศ. 2417 โดยพระยาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก ตรงมุมทั้งสี่ของฐานพระธาตุประดับด้วยประติมากรรมรูปสิงห์ปูนปั้น ส่วนที่ฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิดในต่างๆ
บริเวณพระธาตุดอยกองมูฝั่งริมดอยเมื่อมองลงไป จะเห็นทิวทัศน์อันน่ายลของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ที่ตั้งอยู่อย่างสงบงามท่ามกลางขุนเขาโอบล้อม สำหรับช่วงหน้าหนาวอย่างนี้ถ้าใครขึ้นไปไหว้พระธาตุตั้งแต่เช้าตรู่ มีโอกาสสูงกว่า 80 % ที่จะมองเห็นทะเลหมอกอันสวยงามลอยอ้อยอิ่งปกคลุมตัวเมืองและรอบๆบริเวณ ถือเป็นภาพแห่งความงามที่สนับสนุนคำขึ้นต้นคำขวัญจังหวัดที่ว่า“กองมูสูงเสียดฟ้า”ได้เป็นอย่างดี
นอกจากวัดพระธาตุดอยกองมูแล้ว ในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนยังมีอีกสองวัดสำคัญ ที่ถูกยกให้เป็นวัดคู่แฝดประจำเมืองเพราะตั้งอยู่ติดกันแบบไร้กำแพงขวางกั้น ได้แก่ “วัดจองคำ” และ “วัดจองกลาง” วัดคู่แฝดทั้งสองตั้งอยู่บริเวณ“หนองจองคำ” หนองน้ำธรรมชาติที่ปัจจุบันเป็นสถานที่พักผ่อนสำคัญของชาวแม่ฮ่องสอน
วัดจองคำ มาจากชื่อเรียกเสาวัดที่ประดับด้วยทองคำเปลว สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2370 เป็นวัดแห่งแรกในเมืองแม่ฮ่องสอน หลังคาวัดสร้างเป็นทรงปราสาทซ้อน 9 ชั้น ฉลุสังกะสีประดับประดาอย่างสวยงาม ในวัดจองคำมี“หลวงพ่อโต” ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2477 ด้วยพุทธลักษณะงดงาม พระพักตร์หวานอมยิ้มเล็กน้อย ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงพ่อโตที่สร้างในรูปแบบศิลปะไทยผสมตะวันตก
ส่วนวัดจองกลาง มีเจดีย์องค์ใหญ่ฐานสีขาว ยอดสีทอง อันสวยงามสมส่วนตั้งอยู่ทางส่วนหน้าของวัด เจดีย์องค์นี้ตามประวัติของวัดระบุว่า เริ่มสร้างเมื่อพ.ศ.2456 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2458 จากศรัทธาของขุนเพียร (พ่อเลี้ยงจองนุ) พิรุญกิจและแม่จองเฮือนคหบดี โดยช่างชาวไทยใหญ่ เป็นรูปทรงจุฬามณี มีฐานเป็นสี่เหลี่ยมมีมุข 4 ด้าน มีสิงห์ด้านละ 1 ตัว ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มานมัสการ
วัดจองกลางยังมีพระพุทธสิหิงค์จำลองประดิษฐานอยู่ในวิหาร ที่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดแสดงศิลปวัตถุอันหลากหลาย อาทิ พระไม้ บุษบก ไม้แกะสลักรูปเทวทูตต่างๆ รวมถึงข้าวของเก่าแก่อีกหลากหลาย
สำหรับใครที่มาเที่ยววัดทั้งสองในเย็นวันเสาร์อาทิตย์ของช่วงไฮซีซั่น “ตะลอนเที่ยว” แนะนำว่าไม่ควรพลาดการเดินชมและช้อปบนถนนคนเดิน รวมถึงการหาอาหารพื้นเมืองหรือของกินอร่อยๆรอบหนองจองคำใส่ท้อง เพราะนี่ถือเป็นเสน่ห์แห่งเมืองสามหมอกแบบพองามกำลังดี ไม่มากเกินไปจนล้นเหมือนเมืองท่องเที่ยวหลายๆเมืองในบ้านเรา
หลงรักสายหมอก ทิวสน ที่“ปางอุ๋ง”
หลังการเที่ยวชมวัดในตัวเมืองแบบพอหอมปากหอมคอ เป้าหมายต่อไป(ในวันถัดไป)ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญของทริปนี้ในการเลาะเลี้ยวเที่ยวตามโค้งของเมืองสามหมอกก็คือ “ปางอุ๋ง” ดินแดนแห่งทะเลสาบ ทิวสน และสายหมอก
ปางอุ๋ง เป็นชื่อย่อของ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 ” โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านทรงเห็นว่า พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นพื้นที่อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่า มีกองกำลังต่างๆมีการขนส่งยาเสพติดอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ชาวบ้านที่นี่ก็ได้ปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยจนสภาพพื้นที่กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถจึงมีพระราชดำริให้พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืน จนกลายเป็นโครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือปางอุ๋ง ดังในปัจจุบัน
จากสภาพพื้นที่และผลสำเร็จของโครงการฯ ส่งผลให้ปางอุ๋งถูกพัฒนากลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งใหม่ในเมืองสามหมอกที่มาแรงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนใครและใครหลายคนยกให้ปางอุ๋งเป็นดัง “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย”อีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย ทั้งๆที่เดิมนั้น บ้านเรามีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้ชื่อว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยอยู่หลายแห่งแล้ว
สำหรับคำว่า“ปางอุ๋ง” เท่าที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้รอบรู้ที่ดูแลพื้นที่ที่นี่ พี่เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกกับเราว่า “ปาง”หมายถึงที่พัก ส่วน”อุ๋ง”ก็คืออ่างเก็บน้ำ ด้วยเหตุนี้ปางอุ๋งจึงหมายถึง“ที่พักริมอ่างเก็บน้ำ”(อันสุดสวย) อ้อ! สำหรับคำในวงเล็บนี้เราเติมเข้าไปเองเพราะปางอุ๋งหากไปถูกช่วงจังหวะเวลา บรรยากาศที่นี่นับว่าสุดสวยจริงๆ
ไหนๆก็พูดถึงเรื่องที่พักแล้ว ที่ปางอุ๋งมีที่พักให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งแบบบ้านพักอย่างดีพักได้เป็นสิบคน บ้านพักแบบกระท่อมธรรมชาติริมอ่างเก็บน้ำ หรือใครที่ชอบพักแบบโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านรวมไทยใกล้ๆโครงการก็มีโฮมสเตย์บรรยากาศดีในแบบวิถีชาวบ้านให้เลือกพักกันตามอัธยาศัย
แต่งานนี้ถ้าจะให้ใกล้ชิดธรรมชาติแบบสุดๆก็ต้องกางเต็นท์นอน อย่างที่เราทำในทริปนี้ โดยหลังจากมองหาทำเลเหมาะๆฮวงจุ้ยดีๆ ได้ที่กลางเต็นท์แจ่มๆใกล้อ่างเก็บน้ำในดงสนแล้ว(“ตะลอนเที่ยว”ไปวันธรรมดา จึงไม่มีปัญหาเรื่องการไปที่กางเต็นท์กับใคร) เรารีบออกเดินสำรวจพื้นที่ของปางอุ๋งในทิวสนริมอ่างเก็บน้ำในทันที
สายน้ำเพลาเย็นยามนี้ดูค่อนข้างนิ่งสงบ นานๆครั้งจะมีระลอกคลื่นน้อยๆพลิ้วไหวจากลมที่พัดมา และลมสายเดียวกันนี้ได้พัดพลิ้วให้กิ่งและใบของต้นสนเสียดสีกันดังซ่าๆ ฟังประหนึ่งเสียงดนตรีที่มีออร์เคสตร้า วง“ธรรมชาติ”มาขับขานบรรเลงฟังไพเราะเสนาะหู
นอกจากความงามตามธรรมชาติแล้ว อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังมีไฮไลท์เป็นหงส์พระราชทานจากสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นหงส์ดำและหงส์ขาว 4 ตัว ที่พระราชทานให้โครงการ มาปรากฏตัวอยู่บ่อยครั้ง
อย่างวันที่เราไปเที่ยวนั้น มีหงส์คู่ขาว-ดำ ปรากฏกายลงมาว่ายน้ำให้นักท่องเที่ยวชื่นชม สมดังคำว่า “งามสง่าดังหงส์“ยิ่งนัก
แหม... วิวอ่างเก็บน้ำก็สวยจะแย่อยู่แล้ว ยิ่งมีหงส์มาว่ายน้ำงามสง่าเสริมความงามให้ปางอุ๋งมากขึ้นไปอีก
หลังเดินชมปางอุ๋งในช่วงเย็นสมใจแล้ว ในเช้าวันรุ่งขึ้น“ตะลอนเที่ยว” รีบตื่นตั้งแต่เช้ามืดก่อนไก่โห่ เพื่อมารอชมบรรยากาศยามเช้าที่นี่ร่วมกับนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่ไม่ย่นระย่อต่อความหนาว ตื่นมาชมบรรยากาศยามเช้าพร้อมๆกัน
หน้าหนาวยามเช้าบนปางอุ๋งนี่หนาวจริงหนาวจัง เพราะเพียงแค่โผล่ออกมาจากเต็นท์ความหนาวก็พุ่งหมับเข้าจับทั่วสรรพางค์กายแล้ว แต่นั่นหาได้เป็นอุปสรรคใดๆไม่ เพราะภาพสายหมอกหนาขาวโพลนที่ลอยอ้อยอิ่งเนิบนาบปกคลุมอยู่ทุกตารางนิ้วเหนือทะเลสาบอ่างเก็บน้ำมันคือแม่เหล็กดึงดูดให้เราต้องตื่นเช้ามาโดยดุษฎี ยิ่งยามที่พระอาทิตย์โผล่พ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมาแล้วสาดแสงทะลุหมอกและทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสีทองนั้น สวยงามปานประหนึ่งภาพฝันเลยทีเดียว
ครั้นยามสายแสงแดดแรงขึ้นเป็นลำดับ เราคว้ากล้องเดินถ่ายบรรยากาศแสงเงาในทิวสนอีกพักใหญ่ ก่อนจะเก็บข้าวของล่ำลาปางอุ๋งเดินทางจากมา พร้อมกับภาวนาว่าขอให้ปางอุ๋งเติบโตแบบพอประมาณ อย่าได้ถูกกระแสธารการท่องเที่ยวแห่งทุนนิยมโหมกระหน่ำจนเสียศูนย์ เพราะนั่นเท่ากับว่าเสน่ห์ของปางอุ๋งจะเหือดหายไปชนิดที่ยากจะใช้วิธีใดๆกู้คืนกลับมา
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ตั้งอยู่ที่บ้านรวมไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ ประมาณ 44 กม. สำหรับผู้ที่สนใจเที่ยวปางอุ๋ง หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในแม่ฮ่องสอน สามารถสอบถามข้อมูลการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร เพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3