xs
xsm
sm
md
lg

Slow Travel เที่ยวแบบเนิบช้าดีอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถีอันแนบแน่นในศาสนาหนึ่งในสิ่งที่น่าเก็บเกี่ยวจากการท่องเที่ยว
เก็บเงิน เก็บกระเป๋า แล้วออกเดินทาง

นั่นคือกิจกรรมยอดนิยมหลังจากที่หลายคนต้องตรากตรำเหน็ดเหนื่อยกับหน้าที่การงานมาเป็นเวลานาน ยิ่งในปัจจุบัน สภาพสังคมของไทยนั้นเปลี่ยนแปลงจากเดิม กลายมาเป็นสังคมที่รีบเร่ง ต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเป็นธรรมดาที่การท่องเที่ยวย่อมได้รับอิทธิพลจากสิ่งนี้ไปด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากรู้สึกว่า การท่องเที่ยวเป็นการพักผ่อน การใช้ชีวิตที่ไม่ควรเร่งรีบ ไม่ควรถูกกดดัน นั่นจึงทำให้เกิดนิยามการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ขึ้นในชื่อ “Slow travel”

สำหรับความเป็น Slow travel หรือที่กูรูบ้านเราหลายๆคนเรียกว่า“การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า”นั้น จากเวปไซต์ www.slowtrav.com เวปไซต์จากฝั่งยุโรปได้ให้ความหมาย และแนะนำ ตลอดจนเปิดให้ผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในแนวนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆ พร้อมทั้งได้อธิบายความหมายของ Slow travel ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ว่า

การท่องเที่ยวแบบ Slow travel เป็นอีกประเภทหนึ่งของการท่องเที่ยว ที่เรานั้นต้องให้เวลากับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งๆให้มากขึ้น เพื่อที่เรานั้นจะได้มองเห็นสิ่งสวยงามของสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น โดยมีคำแนะนำง่ายๆ คือ เลือกพักในสถานที่เดียวสักหนึ่งสัปดาห์ และเริ่มวางแผนท่องเที่ยวไปยังสถานที่รอบๆ ที่พัก เรียนรู้กับวิถีชีวิต อาหาร ทำความรู้จักกับผู้คน ซึ่งเชื่อว่าภายในหนึ่งสัปดาห์นั้น เราจะสามารถพบเจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งน้อยคนจะได้มีโอกาสสัมผัสอย่างแน่นอน
วิถีชีวิตชาวบ้าน งามน่าชม
ในเมืองไทยเรา Slow travel เคยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ออกมาเป็นพ็อคเกตบุ้คชื่อ “เที่ยวทีละก้าว Slow Travel” นำเสนอเรื่องราวของการเที่ยวแบบเนิบช้าในภาคเหนือ หลากหลายสไตล์ แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งนั้นเกิดมาจากข้อมูลที่หลายคนสงสัยกันว่าอะไรคือ Slow Travel แต่เมื่อเปิดหนังสือดูกลับไม่พบคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องราวไลฟ์สไตล์ของเหล้าเซเลบและข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ทำออกมาในลักษณะไกด์บุ๊ค เพียงแต่ว่าดูฉาบฉวยกว่า

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ Slow travel ยังไม่เป็นที่นิยมของคนไทยในช่วงเวลานี้ ก็เนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างวิถีชีวิต การทำงาน และวิถีการท่องเที่ยว ของชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยปัจจัยแรกก็คือระยะเวลาของการเดินทางท่องเที่ยว ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือต่างชาตินั้นมีช่วงเวลาในการท่องเที่ยวในแต่ละครั้งนานกว่าคนไทย ตั้งแต่หนึ่งสัปดาห์จนถึงกับหลายๆเดือน สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มฝรั่งแบ็คแพ็คที่เป็นพวกกลุ่มคนใหม่ ทำงานสัก 1-2 ปี เก็บเงินได้สักก้อนก็ออกเดินทางท่องเที่ยวไปตามประเทศต่างๆทีละเป็นนานๆ(เนื่องจากค่าเงินของพวกเขาสูงกว่าหลายๆประเทศ)

หรือสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติวัยเกษียณที่มีเงินเก็บเหลือพอจะใช้ชีวิตในช่วงที่เหลือได้อย่างไม่กังวล และไม่ต้องห่วงเรื่องการหาเงินเพิ่ม เนื่องจากนักท่องเที่ยวเกษียณกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการที่ดีมากจากประเทศถิ่นเกิดของพวกเขา
นั่งช้าง ถึงไม่เร็วแต่ได้อารมณ์
แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยทั่วๆไป ด้วยไม่มีวันหยุดยาวนานขนาดนั้น ไม่สามารถทำงาน 1-2 ปี แล้วลากออกไปเที่ยวได้ อีกทั้งไม่มีเงินมากพอ และรัฐไม่มีสวัสดิการที่ดีสำหรับคนวันหลังเกษียณ ส่งผลให้เมื่อเก็บกระเป๋าออกเดินทางในแต่ละครั้ง จึงเลือกเดินทางไปยังหลายๆสถานที่เท่าที่จะทำได้ (แต่กระนั้นก็ยังมีนักท่องเที่ยวไทยจำนวนหนึ่งที่มีเงินพอหรือตั้งใจเก็บเงินโดยเฉพาะ เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะ Slow travel เพียงแต่ว่ายังเป็นในจำนวนน้อยอยู่)

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Slow travel ยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ก็คือการเลือกที่จะเรียนรู้และความสนใจในวิถีชีวิตแบบท้องถิ่น ประเทศไทยเราเองนั้นเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยวัฒนธรรมที่หลายหลาย ไม่แปลกใจเลยที่จะกลายมาเป็นสวรรค์ของชาวต่างชาติ บ่อยครั้งที่เราเห็นฝรั่งแบกกระเป๋ามานั่งกินข้าวตามร้านขายข้าวแกง ทั้งที่ไม่ทราบเลยว่าอาหารที่สั่งมารสชาติเป็นอย่างไร เพียงเพราะว่าพวกเขาต้องการอยากที่จะสัมผัสกับความเป็นอยู่แบบเราๆ แต่สำหรับคนไทยเองนั้นอาจมองว่าเงินสามารถแลกมาด้วยสิ่งอื่น มากกว่าข้าวแกงข้างถนน

ศรัณยู นกแก้ว นักเขียนจาก นิตยสาร Secret ผู้ซึ่งเคยเขียนถึงวิธีการท่องเที่ยวแบบ Slow travel ที่ประยุกต์ ให้เข้ากับสังคมไทยเอาไว้ กล่าวว่า
ภาพแบบนี้ ไม่มีในเมืองกรุง
...การท่องเที่ยวประเภท(Slow Travel)นี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก อาจเป็นเพราะว่ายังมีหลายๆ บริษัทอาศัยช่องว่างทางกฏหมายทำให้พนักงานไม่สามารถลาพักร้อนในช่วงที่ติดกับวันหยุดยาวได้ ซึ่งระยะเวลาการท่องเที่ยวของคนไทยจึงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น...

สำหรับแนวทางท่องเที่ยวแบบ Slow travel ของศรัณยูนั้นเข้าใจง่าย และสามารถลองทำดูได้ไม่ยาก โดยจะเปลี่ยนชื่อจาก Slow travel มาเป็น Charity tour คือการท่องเที่ยวแบบเนิบช้าที่สามารถแบ่งปันความสุขออกไปสู่คนรอบข้าง สิ่งแวดล้อม และสังคมได้อีกด้วย

โดยอันดับแรกคือการหาคอนเซ็ปต์ให้กับชีวิต ถ้าจะเที่ยวให้สนุกและไม่จำเจ แนะนำให้ตั้งคอนเซ็ปต์ว่าเราจะไปเที่ยวแบบไหนดี จะไปทะเล ภูเขา เทศกาลงานวัฒนธรรม เรียนรู้วิถีชีวิตผู้คน หรือเที่ยวแบบอนุรักษ์นิยม พอชีวิตมีคอนเซ็ปต์แล้ว เราจะได้เตรียมตัว เตรียมข้อมูล พร้อมทั้งทำความเข้าใจเพื่อที่จะปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการวางแผนการเดินทาง เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่หลงทางจนเสียเวลาแล้ว ยังเป็นการช่วยกันประหยัดพลังงาน และลดการก่อมลภาวะอีกด้วย
ตลาดเช้าแบบท้องถิ่น
ต่อมาคือการ ลด ละ เลิก ในขั้นตอนการเก็บกระเป๋า สิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ ลด ละ เลิกการนำพาขยะเข้าไปเพิ่มให้แก่ชุมชน อาจด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น พกขวดน้ำส่วนตัวก่อนออกจากบ้านเพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปซื้อขวดน้ำพลาสติกตามรายทาง หรือบางคนอาจพับถุงผ้าติดกระเป๋าไปด้วย เผื่อเวลาชอปปิ้งของฝากจะได้ไม่ต้องหิ้วถุงพลาสติกกลับมาเป็นของแถม และการเลือกเข้าพักในโรงแรม Green Hotel ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดมลภาวะ ซึ่งโรงแรมประเภทนี้จะมีระบบรีไซเคิลที่ให้แขกได้เข้าร่วมอย่างชัดเจน มีการลดพลาสติกโดยนำภาชนะที่ทำจากแก้วเข้ามาใช้ บางโรงแรมถึงขั้นปลูกผักไว้ใช้เองโดยนำขยะเปียกจากการแยกนั่นแหละมาหมักเป็นปุ๋ย แต่ถ้าที่ไหนไม่มี Green Hotel เราก็ยังช่วยลดมลภาวะได้อีกทางด้วยการใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดิมให้นานที่สุดไม่ใช่เปลี่ยนซักทุกวัน หรืออย่างผ้าปูเตียงก็ใช้ผืนเดิมจนกว่าเราจะเช็คเอาท์ แต่ Green Hotel ในไทยอาจหายาก แต่ก็มีหลายๆ ที่พักที่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว

เลือกที่จะท่องเที่ยวแบบเข้าใจ ก่อนที่เราจะให้สิ่งดีๆ แก่สังคมและเพื่อนรอบข้างได้อย่างเต็มหัวใจนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การก้าวพ้นความเป็นตัวเอง และฝึกการเข้าใจผู้อื่นด้วยการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ โดยโฮมเสตย์ที่แท้จริงไม่ใช่เพียงการไปพักกับชาวบ้านเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ต่างไปจากเรา อยู่บ้านเดียวกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เช่น เช้าขึ้นมาทำอาหาร ช่วงสายหน่อยก็ออกไปทำไร่ทำนา ปลูกผัก หาปลา เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติตัวเฉกเช่นชาวบ้านแบบนี้จะทำให้ใจเราเปิดกว้างเพื่อรับความแตกต่างได้อย่างไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
อาหารพื้นเมืองน่าลิ้มลอง
ฝึกที่จะรักด้วยการฟัง ใครก็ตามที่รักเสียงดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ แนะนำว่าให้ลองเก็บหูฟัง พร้อมอุปกรณ์สร้างเสียงดนตรีอย่างเครื่องเล่น mp3 ต่างๆ ไว้ในลิ้นชักที่บ้านดูเสียบ้าง จากนั้นระหว่างทางก็ให้ลองเปิดใจฟังเสียงของธรรมชาติที่อยู่รอบกาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก เสียงจากขุนเขา หรือแม้แต่เสียงลมที่พัดผ่าน หยุดฟังเพียงสักนาทีก็จะทำให้คุณรักและรู้จักธรรมชาติได้มากขึ้นแล้ว

ลดจังหวะชีวิตให้ช้าลง ใครที่ชอบเดินทางด้วยความเร็วจี๋ ลองเปลี่ยนมาเที่ยวในแบบช้าๆ กันบ้าง ซึ่งการเที่ยวแบบช้าๆ นี้นอกจากจะหมายถึงการใช้เวลาต่อหนึ่งทริปให้นานขึ้นแล้ว ยังหมายถึงเปลี่ยนจากเดินทางโดยเครื่องบินมาเป็นรถไฟ เรือ จักรยาน หรือแม้แต่การเดิน ระหว่างนั้นก็ให้แวะไปตลาดกลางหมู่บ้านบ้าง ค่อยๆ แวะทักทายผู้คนสองข้างทาง รวมทั้งฝึกมองสิ่งที่อยู่รอบตัวแทนที่จะรีบไปชะโงกทัวร์ดูสิ่งที่เป็น Unseen และการเดินทางโดยเครื่องบินนอกจากจะทำให้ชีวิตรวดเร็วจนมองไม่เห็นความสวยงามสองข้างทางแล้ว เครื่องบินยังเป็นตัวการสำคัญในการก่อปัญหาโลกร้อนอีกด้วย

สุดท้ายให้ลองคิดว่าจุดหมายนั้นไม่ใช่ที่หนึ่งเสมอไป อย่าบอกตัวเองว่าจะต้องไปให้ถึง ต้องไม่พลาด ต้องไปดูให้ได้ เพราะการที่เรามองไกลไปถึงจุดหมายจะทำให้เรามองข้ามสิ่งสวยงามข้างทางที่อยู่ใกล้ตัวไปเสียหมด บางครั้งการที่เราไปไม่ถึงจุดหมาย แต่เราได้มิตรภาพ ได้ความเข้าอกเข้าใจ และได้เพื่อนเพิ่มขึ้นมาอีกสักคน เหล่านี้เสียอีกที่เรียกว่า “ความสุข” ที่แท้จริงจากการเดินทาง

ไกด์ไลน์ง่ายๆ แบบนี้อาจเป็นแรงจูงใจเล็กๆ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยหันมาเปลี่ยนกระแสการท่องเที่ยว มาสู่ Slow Travel กันมากขึ้น ไม่เพียงแต่เฉพาะภาคเหนือ แต่ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของแต่ละภาคในประเทศไทยนั้นมีความน่าสนใจที่แตกต่างกันไป แม้กระแสนี้อาจยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายแต่ก็มีหลายกลุ่มที่เริ่มสนใจ ไม่ต้องทำตามทุกขั้นตอนที่กล่าวมา แต่ควรเลือกข้อคิดและแนวทางที่ดีๆ ไปประยุกต์ให้เข้ากับตนเอง เพราะการท่องเที่ยวแบบ Slow Travel นี้จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไม่น่าเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น