xs
xsm
sm
md
lg

อะไร...รุกราน "สามพันโบก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามพันโบกแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามด้วยแก่งหิน
หากมีใครหรือโพลล์ของสถาบันใด จัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มาแรงแซงทางโค้ง รายชื่ออันดับต้นๆที่เชื่อเหลือเกินว่า คงจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย พร้อมใจกันมอบตำแหน่งให้ ต้องมีชื่อของ "สามพันโบก" แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของ บ้านโป่งเป้า ต.เหล่างาม อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี รวมอยู่ด้วยอย่างไม่มีข้อกังขา

นับตั้งแต่การโปรโมตโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ใช้พรีเซนเตอร์ชื่อดังอย่าง "พี่เบิร์ด" ธงไชย แมคอินไตย ชื่อของ สามพันโบก ก็หอมฟุ้งทันที ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ สวยใสด้วยแก่งหิน หรือ "โบก" กลางมหานทีแห่งสายน้ำโขง ที่หาชมได้ในช่วงน้ำลดเพราะในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินดังกล่าวจะจมอยู่ใต้บาดาล และจะโผล่เหนือน้ำในช่วงหน้าแล้ง ทำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง บางโบกใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำได้สบาย บางโบกเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปเช่น รูปดาว วงรี รูปหัวสุนัขพุดเดิ้ล หรือแม้แต่หาดทรายที่มีลอนทรายอันงดงามก็จะโผล่พ้นน้ำให้เราได้เห็น
เลี้ยวซ้ายก็ทางเข้าสามพันโบก ขวาก็ทางเข้าสามพันโบก
ดังนั้นการเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดของ "สามพันโบก" ที่ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆไม่กี่ปี แน่นอนว่าย่อมนำพามาซึ่งผลลัพธ์ทั้งทางบวกและทางลบ หากเรามองในแง่ของธุรกิจ การกำเนิดของแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ย่อมเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้เพิ่มแก่ชุมชนและชาวบ้านที่จะเข้ามามีส่วนร่วมต่อแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้ พูดง่ายๆคือ ได้เงินมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน การเติบโตอย่างรวดเร็วแบบนี้ ก็อาจจะส่งผลกระทบทางลบในหลายด้านได้เช่นกัน เพราะเป็นการก้าวจากชุมชนแบบเกษตรกรรม การประมง เข้าสู่วังวนธุรกิจท่องเที่ยว โดยที่ชาวบ้านและชุมชุนยังอาจจะขาดความรู้และความเข้าใจในบางเรื่อง ทำให้กระทบต่อการจัดการในหลายๆด้าน อาทิ การแย่งนักท่องเที่ยวกันเองระหว่างชุมชนที่มีผลประโยชน์ต่อสามพันโบก ปัญหาการจัดการต่อแหล่งท่องเที่ยว เช่น เรื่องขยะ เป็นต้น
ขยะจากคนเที่ยวอย่างไร้จิตสำนึก
ความดัง พาปัญหาสู่ "สามพันโบก"

ความโด่งดังของสามพันโบกในวันนี้ จึงมีหลายเรื่องรุมเร้ารุกรานแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแห่งนี้ สมชาติ เบญจถาวรอนันต์ เว็บมาสเตอร์ไกด์อุบลด็อทคอม หนึ่งในทีมผู้บุกเบิกสามพันโบกจนโด่งดัง กล่าวถึงสามพันโบกจากวันแรกที่เห็นจวบจนปัจจุบันว่า ในอดีตเดิมสามพันโบกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่มีทางเข้าเป็นถนน เราจะต้องไปลงเรือที่บ้านสองคอน ล่องเรือไปถึงสามพันโบกแล้วก็ค่อยขึ้นไปชม แต่ในปัจจุบันนี้มีทางเข้าหลายทางมาก ซ้ำซ้อนกัน หลายหน่วยงานพยายามเปิดทางเข้าสามพันโบกหลายๆทาง การที่เราเปิดทางเข้าหลายๆทางจะทำให้นักท่องเที่ยวสับสน
 โบกขยะ
"เลี้ยวเข้าไปตรงนี้ แล้วนักท่องเที่ยวไม่เจอในสิ่งที่เขาเห็นตามสื่อโฆษณา เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นปัญหาว่าทำยังไง ถึงจะให้เส้นทางต่างๆมันครบวงจร เชื่อมต่อถึงกัน ความสับสนจะได้ไม่ตกอยู่ที่นักท่องเที่ยว ผมเข้าไปล่าสุดยังหลงทางเลย ตกใจเหมือนกันว่า สามพันโบกวันนี้กับสามพันโบกเมื่อสี่ปีที่แล้วไม่เหมือนเดิม เพราะทางเข้าเยอะมาก ผมไม่แน่ใจว่าทางเข้ามันอยู่ตรงไหน" สมชาติ กล่าวถึงข้อแตกต่างของสามพันโบกในอดีตและปัจจุบัน

เขายังเล่าต่อไปว่า ขณะนี้มีถนนที่เปิดเป็นทางเข้าสู่สามพันโบกถึง 4 เส้นทาง ตอนไม่ดังเรื่องทางเข้าไม่เคยเป็นปัญหา แต่ว่าพอสามพันโบกมันดังเข้ามามันเริ่มมีเรื่องของผลประโยชน์ ถ้าเกิดปล่อยให้มีทางเข้าอยู่ทางเดียวคนที่ได้ผลประโยชน์เต็มๆก็คือ ครอบครัวบางครอบครัว ซึ่งเป็นทางเข้าแรกอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้นหน่วยงานก็เลยพยายามจะเปิดเส้นทางอื่น เรื่องทางเข้าทางน้ำก็เช่นกับที่มี การล่องเรือทั้งที่บ้านสองคอน และบ้านโป่งเป้า ที่ยังไม่ค่อยจะลงตัว เป็นความเจริญที่น่ายินดีแล้วก็น่าตกใจ ไปพร้อมๆกัน
ลอนทรายบริเวณหาดหงส์ยังงดงามไร้ผู้เหยียบย่าง
ประการที่สอง คือว่าสามพันโบกเป็นที่สาธารณะ ที่ดินที่อยู่ริมตลิ่งถึงจะเป็นที่ของเอกชน ตอนนี้จึงมีชาวบ้านลงไปปลูกเพิงตรงส่วนที่เป็นที่สาธารณะ ปลูกเพิงขายลูกชิ้นปิ้ง ขายน้ำอัดลม ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่ไม่ดี แล้วไม่มีหน่วยงานที่จะจัดการหรือแม้แต่คนในชุมชนก็ไม่ได้จัดการว่าใครจะเป็นคนออกกฎว่า ห้ามนำสินค้าลงไปขายที่ข้างล่าง

"ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องขยะ ถึงแม้ว่าแม่ค้าจะบอกว่าเดี๋ยวกินแล้วมาทิ้งตรงนี้ก็ได้ แต่ว่ามันก็จะมีนักท่องเที่ยวบางคนที่ลงไปแล้วก็ซื้อน้ำอัดลมกระป๋องหนึ่งไปเดินโบกทิ้งที่โบก ไม่มีใครถือกระป๋องเปล่าหรือขวดเปล่ามาทิ้งขยะส่วนใหญ่เห็นตรงไหนมันเป็นรูก็ทิ้งลงไปเลย นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วทัศนียภาพก็ไม่ดี"สมชาติกล่าวตามที่เคยพบ

สิ่งที่กังวลต่อไป คือ ถ้าไม่มีกฎกติกาของชุมชน แม่ค้าหนึ่งรายอาจจะเพิ่มเพิงขายได้หลายๆเพิง ในที่สุดตัวสามพันโบกก็อาจจะประกอบไปด้วยเพิง หรือขายสินค้าเต็ม แล้วนึกถึงภาพเราไปยืนที่จุดชมวิวแล้วมองมาเห็นเพิงขายน้ำเครื่องดื่มสักห้าสิบเพิง ทัศนียภาพจะเป็นอย่างไร
จุดลงเรือไปชมสามพันโบกที่หาดสลึง บ้านสองคอน
แม่น้ำฟูมฟักได้ แต่คนเที่ยวยังไร้จิตสำนึก

ทางด้านความคิดเห็นของ อ.สุรสม กฤษณะจูฑะ อ.คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้ศึกษาทำการวิจัยเกี่ยวกับเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของฝั่งลาว ผู้คลุกคลีด้านภาคประชาชนและเคยลงสำรวจพื้นที่ของสามพันโบก มองปรากฏการณ์ในเรื่องนี้ว่า

การที่สามพันโบกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้ชุมชนขาดความพร้อมจึงเกิดภาวะโกลาหล ตั้งรับไม่ทัน หากเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงอย่าง "บ้านผาชัน" เราจะเห็นการจัดการที่แตกต่าง ซึ่งสามพันโบกควรนำโมเดลจากบ้านผาชันมาเป็นตัวอย่างที่ดีได้

"อาจเพราะสามพันโบกเกิดจากการผลักดันของภาคเอกชน คนกลุ่มนี้แม้ใจรักธรรมชาติ แต่เมื่อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโด่งดังแล้ว มันก็ยากที่จะดูแลสอดส่องได้อย่างทั่วถึง"อ.สุรสม กล่าว

ในส่วนเรื่องปัญหาการจัดการของแหล่งท่องเที่ยวนั้น อาทิ เช่น ปัญหาขยะ แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสภาพแวดล้อมของแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำมีการฟูมฟักตัวเอง แต่ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะกระทบในแง่ของชายฝั่ง ซึ่งในช่วงปีหลังๆมาจะเห็นชัดว่าที่สามพันโบกมีขยะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็คงมาจากนักท่องเที่ยวที่มากินแล้วทิ้งไว้
เพิงร้านค้าที่ลงมาตั้งบริเวณสามพันโบก
ปัญหาภาวะแม่น้ำโขงแล้ง เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สามพันโบกขาดความสมดุล แม้จะสวยสุดในหน้าแล้งที่เห็นแก่งหินชัด แต่เมื่อปริมาณน้ำน้อยคนมาเที่ยวก็ร้อน ก็ไม่ได้ความประทับใจกลับไป

"อันที่จริงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ควรจะเป็นผู้ทำหน้าที่จัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แต่ปัจจุบันกลับเน้นการขายโฆษณาเพียงอย่างเดียว จึงทำให้ท่องเที่ยวไทยไร้คุณภาพ ควรจะสอนให้คนไทยเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวที่ควรจะเป็น ในอนาคตหากต้องสูญเสียนักท่องเที่ยวก็ขอให้คิดเสียว่า เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส คนที่มีส่วนร่วมกับแหล่งท่องเที่ยวในสามพันโบกจะได้หันหน้าเข้ามาหากันแล้วปรึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมคนเที่ยวแล้วหนี"อ.สุรสมกล่าวแนะถึงวิธีการแก้ไขการจัดการการท่องเที่ยวไว้

สำหรับสามพันโบกแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทั้งผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่เกี่ยวข้องหรือนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ควรจะหอบหิ้วมาด้วยจึงควรเป็นจิตสำนึก และใจอนุรักษ์ ไม่ใช่ "อยู่" หรือ "เยือน" อย่างผู้รุกราน ทิ้งความช้ำซ้ำเติมให้ "สามพันโบก" ต้องมัวหม่น แบบแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งของเมืองไทยเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น