xs
xsm
sm
md
lg

เก่าๆใหม่ๆใน"บางแค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
อุโบสถวัดนิมมานรดี
เทรนด์ของตลาดน้ำยังคงแรงดีไม่มีตก ตลาดน้ำหลายๆ แห่งในเมืองไทยยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทั้งตลาดน้ำอัมพวา ตลาดน้ำดำเนินสะดวก หรือตลาดริมน้ำสามชุก เป็นต้น

ส่วนในกรุงเทพฯเองก็มีตลาดน้ำหลายแห่งเช่นเดียวกัน ทั้งตลาดน้ำตลิ่งชันที่ฮอตฮิตติดลมบน ตลาดน้ำคลองลัดมะยมที่เป็นตลาดน้ำเล็กๆ แต่น่ารักเป็นกันเอง และในตอนนี้ในแถบย่านบางแคก็มีตลาดน้ำแห่งใหม่เกิดขึ้นแล้วด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ "ตลาดน้ำวัดนิมมานรดี"
หลวงพ่อเกศจำปาศรี
ตลาดน้ำวัดนิมมานรดีนี้ถือว่าเป็นตลาด 5 แผ่นดิน เพราะมีอายุมาตั้งแต่สมัย รศ.102 เป็นตลาดโบราณมีการค้าขายทางน้ำริมคลองภาษีเจริญมากว่า 110 ปี ในตอนนี้ ชาวชุมชนริมน้ำก็ได้ร่วมกันจัดตั้งประชาคมตลาดน้ำวัดนิมมานรดี เพื่อฟื้นฟูบรรยากาศของตลาดน้ำขึ้นมาใหม่ โดยทางตลาดได้ดำเนินกิจกรรมการค้าให้เป็นไปตามสภาพวิถีถิ่นดั้งเดิม โดยมีทั้งการค้าขายอาหารการกิน การทำบุญไหว้พระ การพายเรือล่องคลอง

วันนี้ที่ฉันได้มาเที่ยวตลาดน้ำวัดนิมมานฯ ฉันเริ่มต้นเส้นทางจาก "ตลาดบางแค" ริมถนนเพชรเกษมซึ่งอยู่ติดกับจากศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆว่า "บ้านบางแค" นั่นเอง จากตลาดบางแค เราเดินเลียบไปตามริมคลองราชมนตรี คลองเล็กๆ ที่ยังมีกลิ่นอายของตลาดการค้าในยุคอดีต สองฟากฝั่งของคลองราชมนตรีเป็นห้องแถวไม้ริมน้ำ มีเรือพายขายของและเรือพาหนะสัญจรไปมา และในห้องแถวนี้หลายๆร้านก็เปิดเป็นร้านอาหาร ร้านขายของเล่น ร้านขายยา ร้านตัดผมและร้านตัดเสื้อ เดินชมกันได้เพลินๆ
เจ้าแม่กวนอิมและพระสังกัจจายน์ที่วัดนิมมานฯ
ยังไม่ทันจะเหนื่อย เราก็เดินเลียบคลองมาถึง "วัดนิมมานรดี" กันจนได้ มารู้จักกับวัดนิมมานรดีกันก่อนดีกว่า วัดแห่งนี้เดิมชื่อว่า "วัดบางแค" สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ โดยผู้ที่เป็นกำลังสำคัญสนับสนุนทุนทรัพย์ในการบูรณะก็คือ ขุนตาลวโนชากร (นิ่ม) และภรรยาชื่อดี ดังนั้นเมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้วทางวัดจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบไป และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดนิมมานรดี" อันหมายถึงสวรรค์ชั้นที่ 5 และยังมีชื่อของผู้สร้างวัดอยู่ในนั้นด้วย
เรือพายขายขนมถังแตกในคลองภาษีเจริญ
ฉันเข้าไปกราบพระภายในพระอุโบสถ ที่ภายในประดิษฐาน "หลวงพ่อเกศจำปาศรี"พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างด้วยโลหะทองเหลืองผสมลงรักปิดทอง พระพุทธรูปองค์นี้มีชื่อเลื่องลือในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ โดยเมื่อปี 2508 ได้เกิดเหตุการณ์โบสถ์พังทลายลงมา แต่ปรากฏว่าองค์หลวงพ่อไม่ได้รับความเสียหายใดๆ อีกทั้งผู้คนยังนิยมมาบนบานศาลกล่าวต่อท่านให้ได้สิ่งที่หวัง และนิยมนำประทัดมาจุดถวายแก้บนด้วย นอกจากนั้นภายในวัดยังมีองค์เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ และพระสังกัจจายน์ อยู่บริเวณด้านตรงข้ามกับอุโบสถ มีผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรท่านเช่นกัน
ผู้คนมาเดินเลือกซื้อของกินอร่อยๆ และชมบรรยากาศในตลาดริมน้ำวัดนิมมานฯ
และบริเวณด้านหลังศาลเจ้าแม่กวนอิมนี่เอง เป็นที่ตั้งของตลาดน้ำวัดนิมมานรดี โดยจะมีคลองภาษีเจริญคั่นกลางระหว่างวัดและตลาด คลองสายนี้ก็เป็นคลองสำคัญคลองหนึ่งที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกัน ไปเชื่อมกับแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร มีความยาวถึง 28 กิโลเมตร คลองสายนี้พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม พิศลยบุตร) เจ้าภาษีฝิ่นเป็นแม่กองขุด และใช้เงินภาษีฝิ่นพระราชทานเป็นเงิน 112,000 บาท เมื่อขุดคลองเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระราชทานนามให้ว่า "คลองภาษีเจริญ"
เลือกซื้อเลือกชิมได้ตามชอบใจ
เราต้องเดินข้ามสะพานปูนที่ชื่อสะพานราษฎร์ร่วมมิตรเจริญสุข ข้ามไปเที่ยวยังตลาดน้ำฝั่งตรงข้าม ลักษณะของตลาดน้ำวัดนิมมานรดีนี้ฉันขอเรียกว่าเป็นตลาดริมน้ำจะดีกว่า เพราะมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้ริมน้ำ เชื่อมกันด้วยทางเดินหน้าบ้าน ซึ่งทางเดินนี้เองที่จะเต็มไปด้วยอาหารทั้งคาวหวาน ขนมของกินเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นขนมเบื้องญวนน่าอร่อย ห่อหมกมะพร้าวอ่อนรสชาติถึงเครื่อง ข้าวหมูแดงเจ้าเก่าแก่ กาแฟโบราณรสเข้ม บัวลอยหวานหอม และอีกสารพัดของกินที่มีให้เลือกสรรมากมายตามความชอบใจ นั่งกินไปชมบรรยากาศริมลำคลองไป เฮ้อ...แสนสบายใจ
หลากหลายอาหารน่ากินในตลาดริมน้ำ
เมื่อท้องอิ่มแล้วก็ได้เวลาเดินสำรวจตลาดกันแล้ว แม้จะมีอายุนับร้อยปี แต่ก็ได้รับการปรับปรุงมาโดยตลอดจนเป็นชุมชนที่น่าอยู่ไม่น้อย บ้านเรือนแถบนี้บ้างก็เปิดเป็นร้านตัดผม ร้านขายของชำ หรือร้านขายของเล่น บางหลังก็เป็นบ้านที่อยู่อาศัย และในอนาคตก็จะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่เล่าเรื่องราวของคนในแถบวัดนิมมานรดีคลองภาษีเจริญนี้ด้วย ต้องรอชมกันต่อไป

ส่วนบรรยากาศในลำคลอง แม้น้ำจะไม่ใสแจ๋วแต่ก็ไม่มีขยะลอยฟ่องให้รำคาญตา และในคลองแถบนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาสวายตัวใหญ่ๆ นับร้อยตัวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาทำทานให้อาหารปลากันด้วย และในคลองแห่งนี้ก็มีชาวบ้านที่รับพายเรือท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้นั่งชมทิวทัศน์สองฟากฝั่งคลอง หรือใครจะนั่งไปไกลกว่านั้น เช่นไปไหว้พระที่วัดต่างๆ ในละแวกใกล้เคียงก็สามารถติดต่อกับนายท้ายเรือได้
มีการจัดแสดงภาพถ่ายเก่าๆของคลองภาษีเจริญให้ชม
ตลาดน้ำวัดนิมมานรดีนี้เริ่มเปิดตัวเป็นที่รู้จักกันมาได้สักเดือนหนึ่งแล้ว และเริ่มมีผู้คนรู้จักตลาดน้ำแห่งนี้มากขึ้น โดยในวันเสาร์อาทิตย์ก็จะมีคนมาเที่ยวมาหาของกินอร่อยๆ กันหนาตา ซึ่งก็ถือว่าที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในกรุงเทพฯที่น่าสนใจไม่น้อย ถ้ามีเวลาฉันก็อยากให้แวะมาเที่ยวมาชมกัน

ขากลับฉันแวะที่บ้านบางแค เพื่อจองที่พักสำหรับตัวเองในบั้นปลายชีวิต เอ้ย!!! ไม่ใช่... แต่มาเพื่อแวะเยี่ยมเยียนผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านพักคนชรา และยังได้ซื้อสินค้าหัตถกรรมฝีมือผู้สูงอายุบ้านบางแค ที่ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการประดิษฐ์งานฝีมือเล็กๆน้อยๆ มาวางขาย ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ กระเป๋าผ้าใบเล็กๆ ลวดลายสวยๆ ถุงมือจับของร้อนหลากสีสัน ฯลฯ เลือกซื้อเพื่อช่วยอุดหนุนสินค้าของคุณตาคุณยาย หรือใครจะบริจาคเป็นตัวเงินก็สามารถทำได้เช่นกัน
แวะบ้านบางแคเลือกซื้อสินค้าฝีมือคุณตาคุณยายกันก่อน
*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

"วัดนิมมานรดี" ตั้งอยู่เลขที่ 38 ถนนเพชรเกษม หมู่ 15 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร การเดินทาง จากถนนจรัญสนิทวงศ์ให้วิ่งมุ่งหน้ามายังแยกท่าพระ จากนั้นเลี้ยวขวาที่แยกท่าพระเพื่อเข้าสู่ถนนเพชรเกษม วิ่งตรงมาจนเลยซอยเพชรเกษม 39 ก็จะเจอกับบ้านบางแค และตลาดบางแค หากจะขับรถเข้ามาจอดที่วัดให้วิ่งเลยตลาดบางแคมาจนถึงสามแยกไฟแดงแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางแค แล้ววิ่งตามป้ายมาจนถึงตัววัด หรือหากนั่งรถประจำทางก็มีสาย 7, 80, 81, 84, 91, 157, 101, ปอ.9, ปอ.91 ลงที่ป้ายตลาดบางแค แล้วเดินเลียบคลองราชมนตรีมาจนถึงตัววัด ส่วน "ตลาดน้ำวัดนิมมานรดี" จะอยู่บริเวณด้านตรงข้ามกับวัด ริมคลองภาษีเจริญ สามารถมาท่องเที่ยวได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612 ถึง 4 ต่อ 213-216 หรือที่เขตภาษีเจริญ โทร.0-2413-0565
กำลังโหลดความคิดเห็น