xs
xsm
sm
md
lg

'เกาะซาโมซีร์' แดนนี้มีมนุษย์กินคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย :มะเมี้ยะ
หมู่บ้านอัมบาริต้าบนเกาะซาโมซีร์
เคยได้ยินตำนานมนุษย์กินคนแห่งหมู่เกาะโซโลมอน เกาะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นหมู่เกาะที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ จึงได้ชื่อว่าไข่มุกแห่งแปซิฟิค ฉันก็ยังเฉยๆ เพราะคิดว่าคงหาโอกาสไปที่นั้นได้ยากยิ่ง คงไม่มีวาสนาจะได้ไปยลโฉมเหล่ามนุษย์กินคนยังดินแดนแห่งนั้น

แต่ไม่นึกไม่ฝันว่ามาวันหนึ่งจะได้มายืนอยู่บน "เกาะซาโมซีร์" ( Samosir ) เกาะกลางทะเลสาบโทบา แห่งเมืองเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เกาะที่มีประวัติศาสตร์เลื่องลือเรื่องมนุษย์กินคน แถมยังอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภูมิภาคเดียวกับเราเสียด้วย
บ้านเก่าแก่ที่หมู่บ้านโดกัน
ฉันขอบอกเล่าเก้าสิบสักนิดว่า ชาวเกาะซาโมซีร์เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีชื่อเรียกขานว่า "บาตัก" (Batak) ซึ่งในหมู่ชาวบาตักนั้นยังแยกย่อยลงมาได้อีกเป็น 5 กลุ่มใหญ่และอีกหลายกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ก็คือ โทบา (Toba) ปัก ปัก (Pak Pak) สิมาลุงกัน (Simalungun) คาโร (Karo) และ เมนดาลิง (Mandailing) ซึ่งจะมีอาณาเขตที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ในแต่ละกลุ่มจะมีราชาหรือผู้นำเผ่าของตน ชาวบาตักนั้นมีความเชื่อที่เข้มแข็งในเรื่องเวทมนต์ ภูตผี ปีศาจ คาถา แม่มด หมอผี วิญญาณ รวมไปถึงการกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร
 คุณยายชาวบาตักเก็บผักไปเป็นอาหารที่หมู่บ้านโดกัน
จวบจนกระทั่งชาวดัทซ์ล่าอาณานิคมมาจนถึงที่นี่ มิชชันนารีจึงได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้หลังจากนั้นชาวบาตัก จึงได้เปลี่ยนความเชื่อมานับถือศาสนาคริสต์ รับมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมและเลิกกินมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบันอาชีพที่ชาวบาตักยึดเป็นอาชีพหลักคือ การประมง งานหัตถกรรมที่มีฝีมือดีเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร และเมื่อเกาะซาโมซีร์เริ่มมีชื่อเสียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็มีชาวบาตักจำนวนไม่น้อยที่หันมาทำอาชีพค้าขายกับนักท่องเที่ยว
คุณป้าคุณลุงชาวบาตักเจ้าของบ้านเก่าแก่ที่หมู่บ้านโดกัน
อันนี้จริงแล้วตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเกาะ ฉันก็ได้แวะไปชิมลางสัมผัสวิถีแห่งมนุษย์กินคนมาบ้าง ที่เมือง "บราสตากี้" (Berastagi) เมื่อเดินทางไปที่หมู่บ้าน "โดกัน" (Dokan) ซึ่งเป็นบ้านเมืองของชนเผ่า "บาตัก คาโร" (Batak Karo) อีกหนึ่งเผ่าอดีตมนุษย์กินคนมาก่อน

กล่าวกันว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ในหมู่บ้านมีบ้านโบราณอายุ 200 ปีอยู่ 7 หลัง ลักษณะพิเศษอันโดดเด่น คือ หลังคารูปทรงคล้ายเรือที่จะพบเห็นได้ทั่วไป ทั้งที่นี่และที่เกาะซาโมซีร์ ในบ้านหนึ่งหลังอาศัยกันอยู่เป็นแบบครอบครัวใหญ่ หลายสิบคน ในบ้านแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งห้องครัวและห้องนอน
วังกษัตริย์ที่ลองเฮ้าส์
นอกจากนี้ยังแวะไปเที่ยวที่ "บ้านลองเฮ้าท์" (Simalangun Batak Long House) ที่อยู่ห่างออกไป อันเป็นที่อยู่ของชาว "บาตัก สิมาลุงกัน" (Batak Simalungun) ที่นี่มีวังเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี สืบทอดแบบรุ่นสู่รุ่น ปกครองผ่านกระแสกาลเวลาด้วยกษัตริย์ 14 องค์ที่สืบทอดกันมา จนกระทั่งกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกชาวบ้านสังหารเพราะฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ลักษณะบ้านเป็นเรือนไม้ทรงหลังคาสูงรูปร่างคล้ายเรือจั่วแหลมๆ อีกเช่นกัน บ้านรูปทรงแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของชาวบาตักที่เห็นได้ทั่วไปนั่นก็คือ การออกแบบหลังคามีลักษณะสูง มีสีดั้งเดิมจะเป็นสีแดง ดำ ขาว ในการสร้างลวดลายแก่บ้าน

ในวัง (ที่ฉันอยากจะเรียกว่ากระท่อมหลังใหญ่เสียมากกว่า) ประกอบด้วย ที่นอน ห้องโถงใหญ่ที่ใช้ทำครัวและเลี้ยงลูก บัลลังก์กษัตริย์หรือที่เรียกว่า Pattangan Raja ตั้งติดอยู่กับห้องประชุมขุนนาง มีห้องแยกต่างหากให้บรรดาสนมท้าวนาง
ท่าเรือที่จะพาไปยังเกาะซาโมซีร์
แต่มันก็ไม่ระทึกใจเท่ากับ การที่ได้มาเจอบรรดาลูกหลานของมนุษย์กินคนบนเกาะซาโมซีร์ สำหรับเผ่าที่อยู่บนเกาะซาโมซีร์ที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เรียกชื่อตามชื่อของทะเลสาบว่า "บาตัก โทบา" (Batak Toba)

บนเกาะซาโมซีร์ เกาะที่อยากจะย้ำอีกสักครั้งว่าใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ ฉันแวะขึ้นเยี่ยมชมที่ที่หมู่บ้าน "อัมบาริต้า" (Ambarita) หรือ "อาณาจักรไวลากัน" ในอดีต และเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบโทบา ชื่อหมู่บ้านนี้แปลว่า ความมีชื่อเสียง ฉันมาที่นี่เพื่อมาดู Stone Chairs ที่มีเรื่องราวเล่าว่าเป็นโต๊ะสำหรับใช้ในการกินคน โดยจะมีโต๊ะหินทั้งหมด 2 ชุด คนที่นั่งกินที่โต๊ะจะเป็นหัวหน้าเผ่าและบรรดาบุคคลสำคัญในเผ่า
 เกาะซาโมซีร์ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในทะเลสาบโทบา
แล้วเอาคนจากไหนมากินล่ะ...

สมัยก่อนบนเกาะเองก็มีการรบพุ่งกันระหว่างเผ่าอยู่เนืองๆ ดังนั้น จึงมีเชลยศึกหรือบรรดานักโทษถูกนำตัวมาให้เป็นอาการอันโอชะอยู่เสมอ ที่ Stone Chairs จะมีการสาธิตวิธีการฆ่า (ฆ่าปลอมไม่ได้ฆ่าจริง) ให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย
 ลีลาซุกซนของเด็กๆ ชาวบาตัก โทบา บนเกาะซาโมซีร์
โดยจะมัดผู้ถูกสำเร็จโทษแล้ววางไว้บนหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง พร้อมทั้งปิดตาใช้มีดปัดแขนขานักโทษเพื่อดูดพลังชีวิตให้ออกจากร่างกายไป จากนั้นพาไปผ่าท้องเพื่อเอาเครื่องในไปให้คนในหมู่บ้านกินกันสดๆ ตัดหัวเพื่อเอาเลือดไปให้กษัตริย์ดื่มกิน คนเป็นกษัตริย์จะถือไม้เท้าอาญาสิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ ส่วนหัวที่ถูกตัดจะนำไปแช่ในทะเลสาบ 7 วัน ไม่รู้กี่ชีวิตที่ต้องสังเวย คิดแล้วฉันอดขนลุกไม่ได้

หมู่บ้านนี้อยู่ภายใต้การปกครองของตระกูล Sailagan บ้านของกษัตริย์ชายมี "หน้าต่างบานเล็ก" อยู่หน้าบ้าน ส่วนบ้านเจ้าหญิงมี "นม" อยู่หน้าบ้านหลายเต้าเชียว "นม" คือค่านิยมเฉพาะของที่นี่ จะเกี่ยวข้องต่อการเลือกผู้หญิงมาเป็นภรรยาหรือลูกสะใภ้ เพราะเชื่อว่าต้องดูนมเป็นหลัก ยิ่งใหญ่ยิ่งดีเนื่องจากสมัยโบราณจะต้องใช้นมเลี้ยงลูกหลายคน จึงเป็นที่มาของความนิยมหญิงที่หน้าอกใหญ่
 จิ้กจกและนมสัญลักษณ์ของซาโมซีร์
ส่วนคุกและที่ทรมานนักโทษอยู่ใต้ถุนบ้าน ตรงกลางหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของศาลตัดสินคดีความ ถัดไปเป็นลานประหารและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่หมู่บ้านอัมบาริต้านี้เหมาะสำหรับคนชอบซื้อของที่ระลึก โดยเฉพาะของที่ผลิตกับมือ เช่น ตุ๊กตาสลักจากไม้ พิณไม้ รองเท้าสาน ราคาถูกฝีมือดี

อ้อ...บนเกาะซาโมซีร์มีสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปด้วย คือ "จิ้งจก" ไม่ได้มีไว้ธรรมดา แต่มีความหมายด้วย หมายถึง การปรับตัวและมิตรภาพของชาวเกาะ
 ที่พักสไตล์บ้านบาตักบนเกาะซาโมซีร์
บนเกาะเดียวกันฉันมุ่งหน้าต่อเพื่อไปหมู่บ้าน "โตโม๊ะ" (Tomok) ชื่อหมู่บ้านแปลว่า หมู่บ้านคนอ้วน เพื่อชมสุสาน "กษัตริย์ซีดาบุตรา" (Raja Sidabutar) สุสานเก่าแก่ 200 กว่าปี สุสานแห่งตระกูลราชาจอมขมังเวทย์ ที่กล่าวกันว่าสามารถเรียกลมเรียกฝนได้ มีคาถาแกร่งกล้า

หมู่บ้านนี้ดูใหญ่และเจริญตา มีสินค้าของที่ระลึกเรียงรายเต็มตลอดสองข้างทาง ตัวหมู่บ้านมีอายุกว่า 460 ปี ส่วนตัวสุสานที่ฉันเดินทางมาเยี่ยมชมนั้น ก่อนเข้าชมต้องเข้าซุ้มรับผ้าสไบจากผู้ดูแลสุสานมาพาดบ่า แล้วเดินขึ้นบันไดไปบนเนินเล็กๆ การรับผ้ามาพาดบ่านี้เป็นธรรมเนียมที่ผู้มาสุสานนี้ต้องปฏิบัติตามทุกคน เพราะหมายถึงการเข้าเฝ้าฯ ต่อหน้ากษัตริย์
การสาธิตวิธีฆ่าคนก่อนกิน
ในสุสานมีโลงศพหินเรียงรายตั้งอยู่หลายขนาด แต่โลงที่สำคัญคือโลงของกษัตริย์สามองค์ คือ 1.Oppu Ratu Sidabutar 2.Oppu Solompuan Sidabutar องค์ที่สองนี้มีคู่หมั้นที่งดงามเป็นที่หมายปองของผู้นำชนเผ่าอื่นชื่อ อันติงมาไลลา (Anting Malela By Sinaga) คงเพราะความงามเป็นเหตุทำให้ถูกเวทย์มนต์จนเป็นบ้า หนีหายเข้าป่าไปตามหาไม่เจอ เมื่อกษัตริย์องค์ที่สองสิ้น จึงปั้นรูปนางไว้บนฝาโลงศพ รูปปั้นของกษัตริย์องค์ที่สองนี้มักจะมีผู้คนไปอธิษฐานขอพรอยู่เสมอ ส่วนวิธีอธิษฐานนั้นก็ให้กระซิบริมหูของรูปปั้นกษัตริย์ ส่วนองค์ที่สาม Ompu Sor: Buntu Sidabutar เป็นกษัตริย์ที่เปลี่ยนการนับถือภูต ผี มานับถือศาสนาคริสต์
สุสานตระกูลซีดาบุตรา
นอกจากสองหมู่บ้านนี้แล้ว บนเกาะซาโมซีร์ยังมีที่พักมากมายไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อน ที่พักส่วนใหญ่จะอยู่ที่หมู่บ้าน "ตุ๊ก ตุ๊ก" (Tuk Tuk) คาดคะเนด้วยสายตา ฉันยังคิดว่าที่พักที่นี่ดูจะมากกว่าคนมาเที่ยวเสียด้วยซ้ำ ที่เป็นแบบนี้คงเพราะเหตุการณ์ภายในของอินโดนีเซีย ทั้งเรื่องการเมืองและภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทำให้นักท่องเที่ยวค่อยๆ ห่างหายไปเรื่อยๆ ทั้งที่เมื่อราว 10 กว่าปีก่อนที่นี่เคยขึ้นชื่อเรื่อง Full Moon Party กว่าที่บ้านเราเสียอีก
งานหัตถกรรมที่ชาวบาตักทำไว้ขายนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวที่มีเวลามากหน่อย โดยมากแล้วจะนิยมพักที่ ตุ๊ก ตุ๊ก ก่อนจะเช่าจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ขี่วนรอบเกาะ บนถนนที่ตัดเรียบไปตามทะเลสาบ ก่อนที่จะแวะไปหมู่บ้านอัมบาริต้าและหมู่บ้านโตโม๊ะ ส่วนฉันเป็นพวกเวลาน้อยได้มารู้มาเห็น เหยียบแดนมุนุษย์กินคนก็แสนจะคุ้มค่าเกินพอ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"เกาะซาโมซีร์" ตั้งอยู่ในทะเลสาบโทบา ในเมืองเมดานบนเกาะสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งล่าสุดสายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้เปิดบินตรงจากภูเก็ตสู่เมดาน สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน ในวันอาทิตย์/พุธ/ศุกร์ ใช้เวลาบินจากภูเก็ตประมาณ 1 ชั่วโมง ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 0-2515-9999 หรือที่ www.airasia.com

กำลังโหลดความคิดเห็น