คงไม่น่าแปลกใจหากว่าเดินทางไปในภาคอีสานแล้วจะพบเจอการทอผ้าไหม การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำเอาเส้นใยมาทอเป็นผืนผ้า โดยผ้าไหมที่มีชื่อเสียงของภาคอีสานก็มีอยู่หลายแห่งด้วยกัน เช่น ผ้าไหมแพรวาของจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าไหมบ้านเขว้าของจังหวัดชัยภูมิ หรือผ้าไหมมัดหมี่ของสุรินทร์ เป็นต้น
แต่เมื่อเดินทางมาในภาคใต้ แล้วกลับได้เจอผ้าไหมผืนงามที่ยังใช้แรงคนในการทอมือ ไม่ได้ใช้แรงงานเครื่องจักรอย่างที่ "บ้านพุมเรียง" ในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ให้แปลกใจยิ่งนัก
สำหรับการทอผ้าไหมบ้านพุมเรียงนี้ เป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้ของกลุ่มคนไทยมุสลิมที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านหัวเลน หมู่ที่ 2 บริเวณริมคลองพุมเรียง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ชาวไทยมุสลิมบ้านพุมเรียงส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากแขกเมืองสงขลา เป็นพวกมลายูอพยพมาจากหมู่เกาะของอินโดนีเซีย บางส่วนมีเชื้อสายแขกปัตตานีและไทรบุรีที่อพยพเข้ามาอยู่พุมเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับชาวไทย แต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าไหมยกดิ้นเงิน ดิ้นทอง หรือยกไหม อันเป็นเอกลักษณ์ต่างไปจากผ้าทอของคนไทยในสมัยนั้น
สำหรับเครื่องมือที่ชาวพุมเรียงใช้ทอผ้าเมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็คือ "หูก" ดังนั้นจึงเรียกการทอผ้าว่า "ทอหูก" ซึ่งศิลปะการทอหูกนี้ได้ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหญิงสาวมุสลิมที่จะออกเรือนต้องเตรียมผ้าที่จำเป็นทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เช่นผ้านุ่ง ผ้าห่ม และเครื่องใช้ต่างๆที่ทำด้วยผ้า การมีฝีมือในการทอผ้าจึงเป็นการแสดงถึงความเป็นกุลสตรีอีกด้วย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้สามารถรักษาศิลปะการทอผ้าอันโดดเด่นนี้ไว้ได้
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าผ้าไหมพุมเรียงเป็นผ้าไหมที่มีลวดลายสวยงาม และมีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากผ้าไหมในภาคอื่นๆ โดยผ้าทอยกดอกที่มีชื่อเสียงได้แก่ ผ้ายกชุดหน้านาง ผ้ายกดอกถมเกสร และผ้ายกดอกลายเชิง เป็นต้น
วัฒนธรรมการทอผ้าไหมพุมเรียงจะแตกต่างจากการทอผ้าไหมของชาวอีสาน ทางภาคอีสานจะมีการปลูกหม่อนเพื่อนำใบไปเลี้ยงตัวไหม แล้วจึงนำรังไหมมาสาวเป็นเส้นไหม แต่ที่พุมเรียงจะไม่มีการเลี้ยงไหม จึงต้องสั่งซื้อเส้นไหมแล้วนำมาฟอกย้อมและทอเป็นผืนผ้า
แต่ความโดดเด่นของผ้าไหมพุมเรียงนั้นก็อยู่ที่ลวดลาย โดยจะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายยกเบ็ด ลายดอกพิกุล และลายนพเก้า สำหรับลายยกเบ็ดหาดูได้ยากมากในปัจจุบัน เพราะคนเฒ่าคนแก่ ที่ทอได้โดยใช้เครื่องทอมือมีอยู่น้อยมาก และส่วนใหญ่เลิกทำไปแล้ว ส่วนลวดลายที่นิยมทอกันในปัจจุบัน ได้แก่ ลายราชวัตร ลายก้านต่อดอก ลายผ้ายกเชิงครุฑ ลายดอกพิกุล และลายนพเก้า ลายดอกจันทร์ ลายกระดุมทอง ลายดอกมะลิ เป็นต้น
"ผ้าไหมพุมเรียง" จึงถือเป็นอีกหนึ่งศิลปหัตถกรรมของทางภาคใต้ ที่หากผ่านมาเยือนเมืองไชยาเมื่อไร นอกจากจะซื้อไข่เค็มติดไม้ติดมือกันไปแล้ว ก็ไม่ควรพลาดชมผ้าไหมผืนงามๆ และเลือกซื้อหากันได้ตามชอบใจ