xs
xsm
sm
md
lg

ทานอาหาร ชิมขนม ชมอดีต ที่"สามแพร่ง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
ซุ้มประตูวังบริเวณแพร่งสรรพศาสตร์
ชุมชนหลายแห่งในกรุงเทพฯนั้นมีอยู่หลายแห่งที่เป็นชุมชนเก่าแก่ มีความเป็นมายาวนานและยังคงมีชีวิตชีวาอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่ย่านเก่าหลายๆแห่งมักจะถูกลืม หรือถูกละเลยความสำคัญ ทั้งที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ชุมชนได้เป็นอย่างดี หลายๆคนที่ไม่อยากให้ย่านเก่าแก่เหล่านี้ต้องถูกลืม จึงได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้ามาเยี่ยมชมและได้ทราบประวัติความเป็นมาของย่านนั้นๆ

เหมือนอย่างที่ทางกรุงเทพมหานครเขากำลังจะจัดงาน "ถนนคนเดิน ทานอาหาร ชิมขนม ชมอดีต สามแพร่ง" ขึ้นในวันที่ 18-20 กันยายนนี้ ที่นอกจากจะได้ชิมอาหารอร่อยอย่างชื่องานแล้ว ก็ยังจะได้ไปชมย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อย่างสามแพร่ง ที่ยังมีเสน่ห์จนถึงปัจจุบัน
โรงละครปรีดาลัยในอดีต
"สามแพร่ง" ที่ฉันพูดถึงนี้ ไม่ได้หมายถึงทางสามแพร่งอันเป็นทางผีผ่านตามความเชื่อของหลายๆคน และก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ "สี่แพร่ง" หรือ "ห้าแพร่ง" หนังผีที่กำลังฉายอยู่นี้อีกด้วย แต่สามแพร่งที่ว่านี้หมายถึง "แพร่งสรรพศาสตร์" "แพร่งนรา" และ "แพร่งภูธร" หรือพื้นที่บริเวณระหว่างศาลเจ้าพ่อเสือกับกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง

ที่มาของชื่อแพร่งทั้งสามนี้ ก็มาจากชื่อเจ้านายสามพระองค์ที่มีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณนี้ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการตัดถนนเป็นทางเชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์ กับถนนตะนาว ทำให้พื้นที่บริเวณวังของทั้งสามพระองค์ถูกถนนตัดผ่ากลางจนเป็นทางสามแพร่ง ต่อมาจึงตั้งชื่อถนนตามนามของทั้งสามพระองค์คือถนนแพร่งสรรพศาสตร์ ถนนแพร่งนรา และถนนแพร่งภูธร
สุขุมาลอนามัย สถานีอนามัยแห่งแรกของกรุงเทพฯ
ชุมชนสามแพร่งนี้ถือเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาถึงรัชกาลที่ 6 โดยความเจริญนั้นเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเสาชิงช้าก่อนเพราะมีการตัดถนนสายแรกๆ คือถนนบำรุงเมืองและถนนเฟื่องนครขึ้น อีกทั้งยังมีการสร้างตึกแถวสไตล์ตะวันตกให้คนมาเช่าทำการค้าขาย ซึ่งก็มีทั้งชาวจีน ชาวเปอร์เซีย และชาวตะวันตกเข้ามาค้าขายกัน ทำให้ย่านเสาชิงช้าในขณะนั้นกลายเป็นย่านการค้าอันทันสมัย และความเจริญนี้ก็ได้ขยายไปถึงย่านสามแพร่งที่อยู่ใกล้เคียงต่อมา

นอกจากนั้นแล้วที่สามแพร่งนี้มีความน่าสนใจหลายๆอย่างด้วยกัน เช่นการเปลี่ยนแปลงของชุมชนจากตลาดน้ำมาเป็นตลาดบก โดยแต่เดิมนั้นคนจะทำมาค้าขายกันทางเรือในคลองคูเมืองเดิม แต่เมื่อมีถนนตัดผ่าน การค้าเริ่มเปลี่ยนจากในคลองมาเป็นริมถนน บริเวณชุมชนสามแพร่งนี้จึงเป็นชุมชนแรกๆที่เปลี่ยนจากชุมชนตลาดน้ำมาเป็นชุมชนตลาดบก กลายเป็นย่านการค้า มีข้าวของจากต่างประเทศมาขาย
รถโบราณหน้าอู่วิเชียรซ่อมรถ
นอกจากนั้นบริเวณนี้ก็ยังมีตลาดสดแห่งแรกอีกด้วย คือตลาดศาลเจ้าพ่อเสือ ตั้งอยู่บริเวณใกล้ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่ปัจจุบันไม่มีร่องรอยเหลือแล้ว

คราวนี้เราไปดูกันทีละแพร่งเลยดีกว่าว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เริ่มจากแพร่งแรก "แพร่งสรรพศาสตร์" ที่อดีตเคยเป็นวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาสตรศุภกิจ เจ้ากรมช่างมหาดเล็ก หรือช่างทองหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณแพร่งสรรพศาสตร์นี้ปัจจุบันเหลือให้ชมเพียงแค่ซุ้มประตูหน้าวัง เพราะได้เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2510 อาคารบ้านเรือนแถบนี้ถูกไฟผลาญไปจนหมด รวมทั้งตัววังด้วย
ตึกแถวที่ยังคงสภาพดีในแพร่งภูธร
และบริเวณใกล้กับซุ้มประตูวังนี้มีร้าน "วิวิธภูษาคาร" ร้านค้าเก่าแก่ที่ขายเครื่องแบบนักเรียน เครื่องแบบข้าราชการ และเครื่องหมายประดับยศต่างๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

ถัดจากแพร่งสรรพศาสตร์ ไปต่อกันที่ "แพร่งนรา" ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตัวตำหนักของวังเป็นตึกผสมไม้สองชั้น ประดับลวดลายฉลุไม้สวยงาม กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงมีความสนใจในเรื่องของการนิพนธ์และศิลปะการละคร โดยได้ทรงแต่งบทละครร้อง “สาวเครือฟ้า” ขึ้นโดยใช้เค้าโครงจากละครโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย
ตึกแถวสไตล์ตะวันตกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5
อีกทั้งได้ทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในบริเวณตำหนักที่ประทับ ชื่อว่า "โรงละครปรีดาลัย" ขึ้นเป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยาม ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรละครร้องที่โรงละครแห่งนี้ด้วย

ต่อมาได้มีการสร้างถนนขึ้นตัดผ่านวัง จึงเหลือเพียงตำหนักไม้ที่ใช้เป็นโรงละครปรีดาลัยเท่านั้นที่ยังเหลือให้เห็นเป็นร่องรอยของวัง และต่อมาโรงละครนี้ก็ถูกเช่าไปเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา สอนนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล-ม.6 แต่ได้ปิดทำการไปเมื่อ พ.ศ.2538 ปัจจุบันเป็นสำนักงานกฎหมาย แต่ตัวตำหนักก็ยังคงตั้งตระหง่านให้เราได้ชมความงามกันจนทุกวันนี้
ความเงียบสงบน่าอยู่บริเวณแพร่งภูธร
คราวนี้เดินมาจนถึงแพร่งสุดท้าย "แพร่งภูธร" ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ ที่แพร่งภูธรนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอย่าง "สุขุมาลอนามัย" สถานีอนามัยแห่งแรกของกรุงเทพฯ และเป็นสถานีกาชาดที่ 2 ของสภากาชาดไทย เริ่มเปิดทำการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2466 ตัวอาคารสร้างด้วยเงินทุนซึ่งมีผู้บริจาคทำบุญอุทิศถวายสมเด็จพระปิตุฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี อัคราชเทวี และยังเปิดให้บริการรักษาชาวชุมชนและคนทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

บริเวณด้านหลังสุขุมาลอนามัยนี้เป็นสวนหย่อมเล็กๆให้คนในชุมชนได้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ และสำหรับคนที่ชื่นชอบรถโบราณ ที่แพร่งภูธรนี้มี "อู่วิเชียรซ่อมรถ" อู่เก่าแก่กว่า 70 ปี ที่มีลูกค้านำรถโบราณมาให้ช่างช่วยซ่อมและตกแต่งดัดแปลงอยู่เสมอ แค่เดินผ่านหน้าอู่ก็ได้เห็นรถสวยๆหลายคันจอดให้ชมกัน
บริเวณสามแพร่งนี้เคยเป็นแหล่งการค้าขายทันสมัยมาก่อน
และนอกจากอู่รถแล้ว บริเวณแพร่งภูธรนี้ก็ยังเป็นแหล่งของกินหลากหลายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นขนมเบื้องโบราณ ข้าวเหนียวมะม่วง ก. พานิชย์เจ้าดัง และอื่นๆอีกมากมาย

สำหรับคนที่อยากจะมาเดินชมสามแพร่งด้วยตัวเองในวันงาน ก็เชื่อแน่ว่าต้องสนุกแน่นอน เพราะมีกิจกรรมหลากหลายอย่างที่จะจัดขึ้นในงาน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเดินเท้าก้าวตามรอยอดีต การแสดงละครย้อนยุค การแสดงศิลปวัฒนธรรม การออกร้านจำหน่ายอาหาร จำหน่ายของที่ระลึกกลางสวนสาธารณะ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในสตูดิโอย้อนยุค ซุ้มไปรษณีย์ที่ระลึก ของสะสม ประทับตราไปรษณีย์พิเศษ ชมตู้ไปรษณีย์โบราณ และถ่ายภาพส่วนบุคคลลงดวงตราไปรษณีย์ ชวนมาอ่านหนังสือหายาก หนังสือโบราณ รวมถึงรับซ่อมหนังสือเก่าโดยผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์กว่า 50 ปี จัดแสดงหนังสือเก่าหายาก
มาอร่อยกับร้านอาหารมากมายในสามแพร่ง
อีกทั้งยังมีถนนสายดนตรี แสดงดนตรีจากศิลปินอิสระ ถนนสายศิลปะ มีการแสดงศิลปะในแขนงต่างๆในรูปแบบ Street Artist เช่น การวาดภาพ การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แฮนด์เมด การแสดงละครย้อนยุคโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์ แสดงนิทรรศการสามแพร่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาตลอดจนวิถีชีวิตชุมชน จัดเป็นบอร์ดนิทรรศการและ Display จัดฉายหนังกลางแปลงบริเวณด้านข้างโรงเรียนตะละภัฎ ณ แพร่งนรา โดยจะเป็นภาพยนตร์ย้อนยุคที่มีคนพากย์ซึ่งหาชมได้ยาก

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 กันยายน ในเวลา 11.00-23.00 น. ใครที่อยากมารำลึกอดีตที่ "สามแพร่ง" ก็ไม่ควรพลาดงานนี้เป็นอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น