xs
xsm
sm
md
lg

"New Road" ถนนใหม่สายแรกในกรุงเทพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
รถรางสายบางคอแหลมคันสุดท้าย
ถนนในกรุงเทพฯมีนับร้อยสาย แต่ยังไง้...ยังไงก็ไม่เพียงพอกับจำนวนรถที่มีมากกว่า ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนการจราจรในกรุงเทพฯถึงกับเป็นอัมพาต ไปซ้ายก็ไม่ได้ขวาก็ไม่ได้ ต้องติดแหง็กอยู่กับที่ ฉันเองเวลาที่รถติดมากๆก็มักนึกอยากจะลงเดินให้รู้แล้วรู้รอด

วันนี้ฉันมาเดินอยู่ที่ถนนสายหนึ่ง ไม่ใช่เดินเพราะรถติดแต่อย่างใด แต่เพราะจะมาเดินเท้าท่องเที่ยวกับ "ชมรมสยามทัศน์" ที่จะพาเรามา "ค้นหาความหมายจากปลายทางที่ถนนตก" สำหรับ "ถนนตก" นั้นเรียกไปเรียกมาบางคนอาจจะนึกว่าแถวนี้มีถนนที่ชื่อว่าถนนตก แต่แท้จริงแล้ว ถนนตกนั้นหมายถึง "ถนนเจริญกรุง" แต่เป็นถนนเจริญกรุงช่วงปลายที่ตัดมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านจึงเรียกถนนเส้นนี้ว่าถนนตก (แม่น้ำเจ้าพระยา) นั่นเอง
ไหว้หลวงพ่อแดงที่วัดราชสิงขร
ถนนที่ฉันยืนอยู่ในขณะนี้ก็คือถนนเจริญกรุง หรือ "New Road" ถนนใหม่ เพราะถนนเส้นนี้เป็นถนนสายแรกในเมืองไทยที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคแบบตะวันตก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นตามคำร้องเรียนของชาวตะวันตกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศสยามขณะนั้นว่า แต่เดิมชาวยุโรปเคยขี่รถขี่ม้าเที่ยวตากอากาศเป็นกิจวัตรขณะอยู่ประเทศของตน ซึ่งเป็นการพักผ่อนและออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพฯปรากฏว่าไม่มีถนนหนทางให้ขี่รถขี่ม้าได้ จึงเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยไปตามกัน ถนนใหม่จึงเกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

เมื่อเกิดถนนขึ้น ความเจริญต่างๆ จึงตามมา ส่งผลให้บริเวณถนนเจริญกรุงนั้นเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้เราจะไปดูว่าเมื่อก่อนนี้สองฟากฝั่งริมถนนนั้นมีร่องรอยอดีตอะไรหลงเหลืออยู่บ้าง

เริ่มต้นกันที่ "สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา" มาตามหารถรางคันสุดท้ายของถนนตกกัน โดยเมื่อมีถนนแล้ว ก็มีชาวเดนมาร์กมาขอพระราชทานดำเนินกิจการรถรางขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเส้นทางรถรางสายแรกนั้นก็คือรถรางสายบางคอแหลม มีเส้นทางวิ่งจากบริเวณศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง สุดทางที่อู่ฝรั่ง หรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock หรือบริษัทอู่กรุงเทพ ยานนาวา ในปัจจุบัน) และปีต่อมาได้ขยายเส้นทางมาจนถึงถนนตกนั่นเอง
ภายในสุสานโปรเตสแตนท์
รถรางสายนี้เริ่มวิ่งให้บริการเป็นสายแรก และเมื่อมียานพาหนะอื่นๆเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวลาต่อมา รถรางสายนี้ก็ได้ถูกยกเลิกไปเป็นสายแรกอีกเช่นกัน แต่สำหรับใครที่อยากสัมผัสรถรางของจริงที่เคยใช้งานจริง ก็สามารถมาชมกันได้ที่การไฟฟ้านครหลวง เขตยานนาวา ที่เขายังเก็บรักษารถรางพร้อมกับป้ายหยุดรถรางไว้ให้ได้ชมกัน

ดูรถรางสายแรกกันเสร็จแล้ว เราเดินกันต่อมาถึง "โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์"ซึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงฆ่าสัตว์มาก่อน มีการนำวัวควายส่งเข้ามาทั้งทางบกและทางน้ำ บริเวณหลังโรงพยาบาลมีชุมชนชาวมุสลิมสร้างบ้านเรือนอยู่ เนื่องจากเมื่อก่อนนี้พวกเขาเป็นคนที่เคยทำงานในโรงฆ่าสัตว์มาก่อน ภายหลังเมื่อปิดกิจการลงจึงพากันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่

เราเดินผ่านโรงพยาบาลลัดเลาะเข้าไปในชุมชนที่ว่านี้ เพื่อมุ่งหน้าไปยัง "อู่เรือวังเจ้า" อู่ซ่อมเรือแห่งใหญ่ในเขตบางคอแหลม เหตุที่ชื่อว่าอู่เรือวังเจ้าเพราะพื้นที่แห่งนี้เดินเป็นพื้นที่วังมาก่อน โดยท่านเจ้าของวังก็คือ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 ที่ชาวบ้านเรียกวังบางคอแหลม วังแห่งนี้ถือเป็นวังตากอากาศของพระองค์ เนื่องจากทรงมีวังลดาวัลย์หรือวังแดงเป็นที่พำนักประจำ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ทรงโปรดและสนับสนุนดนตรีไทย เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่วังบางคอแหลมแห่งนี้ก็ทรงอุปถัมภ์นักดนตรีมีฝีมือไว้ประจำวังเป็นจำนวนมาก และเป็นที่รู้จักกันในหมู่เจ้านายของวังต่างๆ
ชมจักรเย็บผ้าหลากหลายรุ่นในพิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า
ภายหลังเมื่อกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ทิวงคตลง ตัววังก็ทรุดโทรมลง ไม่มีผู้ดูแล ต่อมาจึงได้มีการรื้อถอนวัง และในปัจจุบันพื้นที่ของวังก็มีผู้มาประมูลเช่าพื้นที่ไปทำเป็นอู่เรือวังเจ้าในปัจจุบัน

จากจุดนี้เราเลือกนั่งรถประจำทางสาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน รถเมล์สายที่สั้นที่สุดในประเทศเพื่อไปยังจุดหมายต่อไป ที่ "วัดราชสิงขร" ปลายทางของเรือด่วนเจ้าพระยา วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่นี่มี "หลวงพ่อแดง" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากอยุธยาที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาไว้ที่พระนคร เมื่อคราวชะลอหลวงพ่อแดงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาต้องเจอกับกระแสน้ำเชี่ยว ทำให้แพแตก หลวงพ่อแดงจมลงในแม่น้ำไม่สามารถนำหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ จนกระทั่งฤดูน้ำลดจึงสามารถนำหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้ และเมื่อชำระตะไคร่น้ำแล้วเกิดสนิมแดงทั่วองค์พระ จึงเรียกกันว่าหลวงพ่อแดงมาจนปัจจุบัน ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาพระพุทธรูปองค์นี้มาก โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องการบนบานสานกล่าวแล้วมักได้สมปรารถนาเสมอ
เจดีย์สำเภาจีนในวัดยานนาวา
ถัดมาอีกไม่กี่ก้าวไม่ห่างจากวัดราชสิงขรนัก เป็นที่ตั้งของ "สุสานโปรเตสแตนท์" ที่รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานที่ดินให้แก่ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เพื่อให้เป็นสถานที่ฝังศพ ซึ่งที่นี่ก็มีร่างของฝรั่งต่างชาติที่มีคุณประโยชน์มากมายให้แก่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นหมอบรัดเลย์ ผู้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ เฮนรี่ อลาบาสเตอร์ ต้นสกุลเศวตศิลา ที่ปรึกษาของรัชกาลที่ 5 ผู้จัดตกแต่งสวนสราญรมย์ และวางแนวถนนเจริญกรุง หมอสมิธ เจ้าของโรงพิมพ์หมอสมิธ พิมพ์หนังสือและวรรณกรรมต่างๆ ให้คนไทยได้อ่านกัน เช่น สนามไสมย มีข่าวสารความรู้ต่างๆ และวรรณคดีพระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน นิราศของสุนทรภู่ ฯลฯ ตระกูลแมคฟาร์แลนด์ ผู้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดไทย และอาจารย์แพทย์รุ่นแรกๆของไทย เป็นต้น

คราวนี้เราไปต่อกันที่ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ" เพื่อมาชม "พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า" ของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมนั้นที่นี่เป็น "โรงเรียนการช่างสตรีบ้านทวาย" สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงของกุลสตรีในสมัยหนึ่ง และในการเรียนการสอนนั้นก็จะมีแผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย ดังนั้นจึงมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ อย่างจักรเย็บผ้า เตารีด เครื่องมือวัดชายกระโปรง ฯลฯ
ศาลเจ้าแม่พรหมเมศ
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือจักรเย็บผ้า ซึ่งก็มีทั้งจักรเย็บผ้าระบบมือหมุน อายุประมาณ 100 ปี เป็นจักรเย็บผ้าโบราณ จักรเย็บผ้าขาไม้สัก ตัวเดียวในประเทศไทย เพราะปกติแล้วขาของจักรเย็บผ้าจะทำด้วยโลหะ จักรเย็บผ้าขาใยแมงมุม ที่ลวดลายบริเวณขาจักรคล้ายใยแมงมุม มีใช้ตั้งแต่ปี 2482 ยังมีรูปภาพในพระที่นั่งวิมานเมฆที่แสดงให้เห็นจักรเย็บผ้ากับสตรีในสมัยรัชกาลที่ 5 จักรตัวนั้นก็เป็นจักรเย็บผ้าขาใยแมงมุมนั่นเอง

และที่พิเศษสุดก็คือจักรเย็บรองเท้า ที่เคยเย็บรองพระบาทของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรส โดยเย็บรองพระบาทเงิน รองพระบาททอง และรองพระบาทไหมอย่างละหนึ่งคู่ โดยเจ้าของจักรตัวนี้ได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ ถ้าบ้านใครมีเครื่องมือเย็บผ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆเกี่ยวกับการตัดเย็บในรุ่นก่อนๆ อยากจะบริจาค ก็สามารถติดต่อกับทางพิพิธภัณฑ์ได้

ออกจากมหาวิทยาลัยแล้วเราข้ามถนนเจริญกรุงมาอีกฝั่งหนึ่ง มายัง "วัดยานนาวา" วัดงามแปลกแตกต่างจากวัดอื่น ตรงที่มีองค์เจดีย์สร้างเป็นรูปเรือสำเภา ที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเนื่องจากทรงเห็นว่าพระองค์ทรงใช้เรือสำเภาในการติดต่อกับต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่มาตอนนี้มีการต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งใช้กันแล้ว ในอนาคตเรือสำเภาอาจจะถูกลืม จึงควรจะสร้างไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก และเพื่อทรงรำลึกถึงพระบารมีธรรมของพระเวสสันดร ซึ่งอุปมาเหมือนสำเภายานนาวา จึงทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเรือสำเภาแบบจีนขนาดเท่าของจริง และสร้างเจดีย์ขึ้นสององค์บนเรือสำเภาแทนที่เสากระโดงเรือขึ้นด้วย
มัสยิดบ้านอู่
ข้างๆ วัดยานนาวานั้น เดิมเป็นชุมชนชาวจีนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง นั้นก็คือชุมชนซอยหวั่งหลี ส่วนหนึ่งของย่านเศรษฐกิจการค้าตั้งแต่ยุคเรือสำเภามาจนถึงยุคเรือกลไฟ บริเวณนี้เดิมนั้นเต็มไปด้วยท่าเรือ ห้างร้านต่างๆ โรงสีข้าว และยังเป็นที่ตั้งของท่าเรือเมล์จีนที่รับเดินเรือขนส่งสินค้าและผู้โดยสารไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง ซัวเถา ไฮเค้า เป็นท่าเรือเมล์จีนที่เปิดแข่งกับบริษัทฝรั่งที่ผูกขาดธุรกิจการเดินเรือไว้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ไม่มีอีกต่อไป กลายเป็นอาคารที่พักในโครงการพัฒนาที่ดินของวัดยานนาวาไป

เดินถัดไปอีกนิดหน่อยก็จะถึง "ศาลเจ้าแม่พรหมเมศ"ศาลเจ้าของชาวแต้จิ๋วที่เป็นที่เคารพของผู้คนในแถบนี้ เวลาจะเดินทางไปไหนไกลๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลคนก็มักจะมาไหว้ขอพรให้เดินทางโดยปลอดภัย แต่เดิมศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ปากคลองพ่อยม หรือคลองสาทร แต่ภายหลังเมื่อมีการสร้างสะพานตากสินก็ได้ย้ายร่นเข้ามาที่ตั้งปัจจุบัน

มาถึงตอนนี้เราเดินลอดใต้สะพานตากสินและรางรถไฟฟ้า เดินเรื่อยมาจนถึงซอยเจริญกรุง 46 อันเป็นที่ตั้งของ "มัสยิดบ้านอู่" โดยประวัติของมัสยิดแห่งนี้กล่าวไว้ว่า รัชกาลที่ 5 ได้อพยพชาวมุสลิมจากปัตตานีจำนวนหนึ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ชุมชนบ้านอู่ก็ได้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยนั้น แต่คนทั่วไปเรียกบริเวณนี้ว่า "สุเหร่าแขก" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินแห่งนี้ให้เป็นที่ตั้งของมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน)
ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว
มาปิดท้ายการเดินทางกันที่ "ศาลเจ้าเจียวเอ็งเบี้ยว" ศาลเจ้าจีนที่อยู่ติดกับบริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้าสถานีสะพานตากสิน ศาลเจ้าจีนแห่งนี้เป็นศาลเจ้าไหหลำที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสร้างเอาไว้ เพื่อระลึกถึงพระสงฆ์ชาวไหหลำ 108 รูปที่อพยพมาทางเรือ แต่แล้วต้องถูกฆ่าตายที่เวียดนาม ที่ศาลเจ้าแห่งนี้มีการแสดงหุ่นไหหลำในช่วงหลังตรุษจีน และวันเกิดศาลเจ้า ซึ่งหุ่นไหหลำนั้นเป็นการแสดงขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของชาวจีน

เดินมายังไม่ทันถึงครึ่งถนน ก็พบกับแหล่งประวัติศาสตร์และสิ่งที่น่าสนใจมากมาย สมกับเป็น New Road ถนนใหม่ "ถนนเจริญกรุง" แหล่งความเจริญแรกๆในเมืองกรุงแห่งนี้

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

สอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับชมรมสยามทัศน์ได้ที่ โทร.08-1343-4261


กำลังโหลดความคิดเห็น