xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวบำเพ็ญประโยชน์ มิติใหม่การท่องเที่ยวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัสยิดชุมชนคลองตะเคียน 1 ใน 4 ชุมชนนำร่องโครงการท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์
...ทุกวันนี้เรามีชุมชนเล็กๆมากมายที่เปิดตัวเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนนี้กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของโลกแห่งการท่องเที่ยว เป็นทางเลือกใหม่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว...

จากบทความ “เที่ยวให้รู้เปิดประตูสมอง กับการท่องเที่ยวชุมชน” (คอลัมน์ “รอบรู้เรื่องเที่ยว” หน้าท่องเที่ยว นสพ.ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 1 ต.ค. 51) แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ “การท่องเที่ยวชุมชน” ที่เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้น

ผลพวงจากการท่องเที่ยวชุมชนที่ก้าวเดินไปข้างหน้า ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า “การท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์” (Voluntourism) ขึ้น

รู้จักการท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ว่า เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นไปในกลุ่มนักท่องเที่ยวเยาวชน ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงที่สุด เพราะอยู่ในวัยที่แสวงหาประสบการณ์ กระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งมีจิตสำนึกที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม ชุมชน มีแนวคิดที่จะจัดให้มีค่ายอาสาสมัครเดินทางเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อบำเพ็ญประโยชน์และช่วยพัฒนาชุมชนด้านการท่องเที่ยว อาทิ การถ่ายทอดความรู้ด้านการเป็นวิทยากรนำชมพื้นที่ การออกแบบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าที่ระลึก เป็นต้น ขณะเดียวกันกลุ่มอาสาสมัครดังกล่าว ก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น จากการได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ได้ใกล้ชิดกับชาวบ้านที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น
วันเสด็จ ถาวรสุข
นายวันเสด็จ ถาวรสุข รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดในประเทศ เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ในระยะแรกได้ตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่มนิสิตนักศึกษา และอาจจะขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆในระยะถัดไป ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเดินทางไปท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่างออกไป อาทิ วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ ความแตกต่างในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์ของนิสิตนักศึกษาจากการท่องเที่ยว และสุดท้าย คือ นิสิตนักศึกษาเหล่านั้นได้แบ่งปันความรู้ ความสามารถ ความคิด รวมไปถึงหยาดเหงื่อและแรงกายของตนเองในการสร้างสรรค์ประโยชน์ และสิ่งดีงามให้แก่ชุมชนด้วย ในที่นี้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านตลาดของชุมชน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความสมบูรณ์แบบของการเดินทางท่องเที่ยว

“ในสมัยก่อน นิสิตนักศึกษาชาวต่างประเทศนิยมเก็บออมเงิน โดยมีเป้าหมายเพื่อเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเหล่านั้น พวกเขาไม่เพียงแต่จะเดินทางมาท่องเที่ยวเท่านั้น รูปแบบการท่องเที่ยวของเขายังรวมไปถึงการแบ่งปันความรู้ให้แก่คนในชุมชนต่าง ๆ ที่เขาเหล่านั้นไปเยือน ด้วยการสอนภาษาอังกฤษให้แก่คนในชุมชน ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอิ่มเอมใจ นอกไปจากได้ชมทัศนียภาพความงดงามของแหล่งท่องเที่ยว ต่าง ๆ เท่านั้น”

นายวันเสด็จกล่าวถึงความคาดหวังของการท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ว่า จะสร้างประโยชน์ให้ทั้งชุมชนและกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยกลุ่มเยาวชนจะได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ และที่นอกเหนือไปกว่านั้น คือพวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าความรู้ของตนเองสามารถช่วยเสริมสร้างศักยภาพด้านการตลาดให้กับคนอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งเสริมสร้างมุมมองทางด้านตลาดท่องเที่ยวของตนเองในอนาคต หากเขาจะประกอบอาชีพในธุรกิจท่องเที่ยว

“โครงการดังกล่าวจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีความเข้าใจทางด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น มีมุมมองทางด้านตลาดท่องเที่ยวที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศในอนาคต ทางด้านชุมชนหรือหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับประโยชน์จากการเสริมสร้างศักยภาพทางด้านตลาดของสินค้าท่องเที่ยวของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว ภูมิทัศน์ สินค้า อาหาร รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชุมชนจะรู้จักตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น ถึงสินค้าท่องเที่ยวของเขาที่มีศักยภาพ ซึ่งเมื่อเขารู้จักตัวเองดีขึ้นแล้ว เขาจะสามารถเติบโตได้ถูกทาง และเป็นการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน” นายวันเสด็จกล่าว
อรุณศรี ศรีเมฆานนท์
ด้านนางอรุณศรี ศรีเมฆานนท์ ศาสตรานิติ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ททท.กล่าวถึงการดำเนินโครงการว่า การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่นั้น แตกต่างจากการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม ด้วยการเพิ่มมิติของการเรียนรู้ และมิติของการแบ่งปันเข้าไปในการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้การเดินทางท่องเที่ยวลงตัวไปด้วยมิติทั้งของ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” โดยกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะได้มีโอกาสท่องเที่ยว สนุกสนาน และอิ่มเอมใจจากสิ่งที่ตนเองได้เดินทางท่องเที่ยวในครั้งนี้

นางอรุณศรีกล่าวต่อท้ายว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระหว่าง ททท. ชุมชน และสถาบันการศึกษา(อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยราชธานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ) ซึ่งเป็นรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือที่ดี และหวังว่าจะสามารถขยายผลต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนั้น จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทางด้านการตลาด รวมทั้งสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบอาสาสมัครยังสามารถขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ผ้าทอย้อมคราม บ้านถ้ำเต่า
4 ชุมชนนำร่อง

โครงการการท่องเที่ยวเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ ในระยะเริ่มต้น ททท. ได้คัดเลือกชุมชนนำร่องเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง ได้แก่

ชุมชนบ้านถ้ำเต่า ต.สามัคคีพัฒนา อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นแหล่งปลูกต้นครามและผลิตน้ำครามมากที่สุดในประเทศ อีกทั้งยังมีโครงการที่จะจัดเทศกาลตีครามขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก สำหรับประเด็นที่ชาวชุนชนบ้านถ้ำเต่าต้องการให้นักศึกษาช่วยพัฒนาก็คือ การปรับปรุงที่ทำการกลุ่มเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน การออกแบบลายผ้าและบรรจุภัณฑ์ การตกแต่งตู้แสดงสินค้า การเตรียมงานและการจัดเทศกาลตีคราม
ธนาคารปู บ้านเกาะเตียบ(ภาพ : www.oknation.net)
ชุมชนคลองตะเคียน ต.คลองตะเคียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาลนาอิสลาม(ประมาณ 90%) เป็นชุมชนเก่าแก่อายุกว่า 400 ปีที่ชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีประวัติศาสตร์ชุมชนอันยาวนาน มีโบราณสถานและศาสนสถานต่างๆ สำหรับประเด็นที่ชุมชนคลองตะเคียนต้องการให้ช่วยพัฒนาคือ การอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวของชาวบ้าน การจัดอบรมมัคคุเทศก์น้อย การรณรงค์กำจัดขยะอย่างถูกวิธี การอบรมอาหารปลอดภัย

ชุมชนเกาะเตียบ บ้านปากคลอง หมู่ที่ 7 อ.ปะทิว จ.ชุมพร เป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน มีการจัดตั้งโครงการธนาคารปู เพื่อนำไข่ที่ชาวประมงจับได้มาฝากขังในกระชังกลางทะเล และมีเกาะเวียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง ซึ่งสามารถจัดกิจกรรมเดินป่า แคมป์ปิ้ง หรือกิจกรรมอื่นๆได้ สำหรับประเด็นที่ชุมชนเกาะเตียบ ต้องการให้พัฒนาได้แก่ พัฒนาด้านการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ พัฒนาด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงอนรักษ์ การประชาสัมพันธ์ชุมชนผ่านเว็บไซต์ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ การพัฒนาการบรหารจัดการโฮมสเตย์
วิถีชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้าที่บ้านาตาโพ
ชุมชนบ้านนาตาโพ ต.บ้านบึง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี เป็นชุมชนทอผ้ามีชื่อเสียง มีศูนย์การแสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมือง มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง อย่าง วัดถ้ำเขาวง หุบป่าตาด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำหรับประเด็นที่ชุมชนบ้านนาตาโพต้องการให้ช่วยพัฒนาคือ การออกแบบลวดลายการทอผ้าให้ดึงดูดใจตลาด พัฒนาผ้าทอให้เป็นของที่ระลึกที่ทันสมัย ทำป้ายชี้ทางแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ปรับภูมิทัศน์ของหมู่บ้าน การให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการโฮมสเตย์
คีตะพิชณ์  สิริภูบาล
นายคีตะพิชณ์ สิริภูบาล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองตะเคียน กล่าวถึงแนวทางการท่องเที่ยวของบ้านคลองตะเคียนว่า

“เดิมทีชาวบ้านคลองตะเคียนยังไม่เห็นคุณค่าและศักยภาพทางด้านแหล่งท่องเที่ยวที่แฝงเร้นในชุมชน ทั้งๆที่ชุมชนมีศักยภาพและความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การที่ชุมชนชาวพุทธและชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข อาหารการกินที่หลากหลาย การเดินทางท่องเที่ยวที่สะดวกมีคลองตัดผ่าน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนักสามารถเดินทางได้สะดวก สิ่งเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่บ้านคลองตะเคียนมี แต่ชาวบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่มานานเห็นเป็นความเคยชิน จนต้องปลุกจิตสำนึกให้ชาวชุมชนเห็นคุณค่าของตนเอง และพาศึกษาดูงานในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนหลายแห่ง เพื่อเปิดมุมมองการท่องเที่ยวชุมชนให้กว้างขึ้น ให้ชาวชุมชนภาคภูมิใจกับชุมชนตนเอง โดยสิ่งที่ชุมชนต้องการให้นักศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนา อาทิ เรื่องการยืดอายุอาหาร การอบรมภาษาอังกฤษ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ชาวชุมชนภูมิใจในท้องถิ่น ”
สมคิด พรมจักร์
ด้านนางสมคิด พรมจักร์ ผู้ใหญ่บ้านถ้ำเต่า จ.สกลนคร กล่าวถึงความโดดเด่นของชุมชนตัวเองว่า บ้านถ้ำเต่า มีผ้าย้อมคราม เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชนบ้านถ้ำเต่า เนื่องจากได้รับการสืบทอดเป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ชุมชนยังเป็นแหล่งที่ปลูกต้นครามมากที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่ 327 ไร่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านยังต้องการคำแนะนำด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงแนวโน้มแฟชั่นของตลาด ซึ่งเชื่อมั่นว่ากลุ่มนักศึกษาสามารถให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้าน เพื่อให้สินค้าของบ้านถ้ำเต่าได้รับความนิยมในสังคมวงกว้างอย่างแน่นอน รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่บ้านถ้ำเต่า ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตีคราม ซึ่งจะจัดขึ้นในปีนี้เป็นปีแรก เพื่อเป็นการเผยแพร่การท่องเที่ยวบ้าน ถ้ำเต่า ตลอดจนการสร้างความตระหนักด้านศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ในเรื่องของผ้าย้อมครามของบ้านถ้ำเต่าให้รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับโครงการฯ ซึ่งจัดขึ้นที่ บ้านถ้ำเต่า จ.สกลนคร มีสถาบันการศึกษา 2 แห่ง ส่งนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ. ขอนแก่น และมหาวิทยาลัยราชธานี จ.อุบลราชธานี

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการนี้ว่า “ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนักศึกษา จากคณะสถาปัตยกรรม เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีทักษะพิเศษตรงกับความต้องการของชุมชน สามารถเสริมจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนได้ โดยส่งนักศึกษาที่มีความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์มาช่วยพัฒนาผ้าย้อมคราม ซึ่งชุมชนบ้าน ถ้ำเต่า เป็นแหล่งผลิตผ้าย้อมครามที่มีชื่อเสียง รวมถึงการส่งนักศึกษาที่มีความรู้ด้านการออกแบบภูมิทัศน์ มาช่วยพัฒนาเรื่องการจัดการโฮมสเตย์ อีกด้วย

สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าว ที่มีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมนั้น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้ท่องเที่ยวและขณะเดียวกันยังได้มีโอกาสคืนสู่ท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความรู้รวมถึงซึมซับภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจท้องถิ่น ที่สำคัญการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ แต่การให้เด็กก้าวเข้าสู่ห้องเรียนในชีวิตจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สถาบันให้การสนับสนุน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญที่นักศึกษาได้สัมผัสการท่องเที่ยวในรูปแบบอาสาพัฒนา หรือ Voluntourism อีกด้วย ”

นายยุทธศักดิ์ รุ่งเรืองพลางกูร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงการส่งนักศึกษาเข้าร่วมโครงการในพื้นที่บ้านคลองตะเคียน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า

“สถาบันมีจุดแข็งด้านการวิจัยทาง วิทยาศาลตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับความต้องการของชุมชนที่ต้องการให้ช่วยพัฒนาด้านความสะอาดของอาหาร , การกำจัดขยะ , การถนอมอาหาร เพื่อพัฒนาสินค้า OTOP รวมถึงการนำผลผลิตชุมชนอย่าง อวน มาเพิ่มมูลค่า โดยให้นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมที่เรียนด้าน Industrial Design เข้ามาช่วยพัฒนาและเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชนอย่างครบทุกมิติ สถาบันจึงส่งนักศึกษา และอาจารย์ ร่วมโครงการ โดยมั่นใจว่านักศึกษาจะได้เติมเต็มประสบการณ์ด้านสังคมจากการร่วมโครงการนี้ ”
กำลังโหลดความคิดเห็น