xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดลาดชะโด ตลาดเก่าเล่าอดีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิถีริมฝั่งน้ำชุมชนลาดชะโด
“ลาดชะโดแดนทำหรีด อดีตแหล่งรวมปลา เสาศาลาวัดต้นใหญ่ ภาพยนตร์ไทยมาถ่ายทำ งามล้ำด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”

นี่คือคำขวัญประจำชุมชนลาดชะโด ในเขตอำเภอผักไห่ เมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ ก่อตั้งราวปี พ.ศ. 2310 สมัยหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดยชาวกรุงเก่าที่อพยพหนีศึกสงครามมาในครั้งนั้น

เดิมชุมชนนี้เรียกว่า “บ้านจักราช” แต่เนื่องจากในชุมชนมีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดริมน้ำ มีคูคลองจำนวนมาก ในแม่น้ำลำคลองอุดมไปด้วยปลานานาชนิด โดยเฉพาะปลาชะโด ถือเป็นปลาเจ้าถิ่นที่เยอะเป็นพิเศษ จนมีคำเตือนแก่ผู้ที่พายเรือไป-มาแถวนั้นว่า ให้ระวังไม้พายไว้ให้ดี เพราะอาจจะไปโดนปลาชะโดได้
ตลาดลาดชะโด
นั่นจึงทำให้ต่อมาชาวบ้านแถวนั้นเรียกขานชุมชนนี้ใหม่ว่า “ลาดชะโด” ซึ่งชาวบ้านที่นี่แต่เดิมมีการตั้งบ้านเรือนริมน้ำ มีอาชีพหลักคือ การจับปลา ทำนา เพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้ทุ่งลาดชะโดที่เป็นพื้นที่ดินตะกอนปากแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ มีคลองลาดชะโดเชื่อมต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเส้นทางน้ำที่สำคัญ

นับว่าชุมชนลาดชะโดในอดีตเป็นหมู่บ้านอู่ข้าว อู่น้ำ ที่สำคัญ ปัจจุบันแม้บ้านลาดชะโดจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ชุมชนนี้ยังคงมีลักษณะของชุมชนเก่าแก่ และชาวชุมชนก็ได้ร่วมแรงร่วมใจร่วมกันอนุรักษ์อาคารบ้านเรือนในชุมชนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี จนได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2549

นอกจากนี้ชุมชนลาดชะโด ยังมี“ตลาดลาดชะโด” สถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งสิ่งชูโรง
บรรยากาศร้านเก่า
ตลาดลาดชะโด ก่อตั้งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว พัฒนามาจากเรือนแพค้าขายของชาวชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งคลอง ต่อมาได้สร้างเป็นตลาดไม้ริมฝั่งคลองสำหรับทำการค้าขาย แล้วขยายเข้าไปสู่ฝั่งเรื่อยๆ จนเกือบร้อยคูหา ในอดีตตลาดลาดชะโด เป็นตลาดที่คึกคักรุ่งเรืองมาก

มาวันนี้เมื่อรอยอดีตแห่งความรุ่งโรจน์ และเสน่ห์ความงามของตลาดลาดชะโดยังคงเปี่ยมล้น ทางเทศบาลตำบลลาดชะโดจึงร่วมมือกับชุมชน ปรับปรุงตลาดลาดชะโดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน โดยกำหนดให้ตลาดแห่งนี้เน้นขายสินค้าพื้นเมืองและของดีของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่ทำจากวัสดุในท้องถิ่น กระเป๋าที่ทำจากผักตบชวา รวมไปถึงอาหารการกินต่างๆ อาทิ ก๋วยเตี๋ยวเรือ ข้าวแกง ขนมจีนน้ำยา น้ำพริก อาหารประเภทปลา ปลาแห้ง ขนมไทย ปลาย่าง ของหวาน ฯลฯ
ศาลเจ้าลาดชะโด
ในขณะที่อาคารตัวตลาดเป็นเรือนแถวขนาดใหญ่หันหน้าเข้าหากันทางเดินกว้างขวางนั้น นับว่าดูดีมีเสน่ห์แบบคลาสสิคอยู่ไม่น้อย จนได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง อาทิเช่น “บุญชู” “รักข้ามคลอง” “สตางค์” “ชื่อชอบชวนหาเรื่อง” “ดงดอกเหมย” “ความสุขของกะทิ” เป็นต้น

นอกจากนี้ตลาดลาดชะโดและบริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่น่าสนใจให้เที่ยวชมอีกหลายจุด อาทิ

ห้องฉายภาพยนตร์ ที่นำเอาภาพยนตร์และละครที่มาถ่ายทำที่ตลาดลาดชะโดมาฉายให้ชาวบ้าน หรือนักท่องเที่ยวได้ชมกัน เพื่อเป็นการถ่ายทอดความสวยงามของสถานที่และบรรยากาศในตลาดลาดชะโดแก่คนรุ่นหลัง

วัดลาดชะโด เป็นวัดเก่าแก่ ที่มีมานานกว่า100ปี พื้นที่วัดล้อมรอบด้วยลำคลอง มีลักษณะคล้ายเกาะ มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ศาลาวัดสร้างด้วยท่อนซุงขนาดใหญ่ อายุกว่า100ปี สร้างประมาณ พ.ศ.2456 มีความสวยงามมาก

ศาลเจ้าลาดชะโด ศาลเจ้าเก่าแก่ สร้างจากความเชื่อในสมัยที่มีการขุดคลองลาดชะโด หลังจากขุดเสร็จสิ้น มักเกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอๆ ชาวชุมชนจึงได้เชิญซินแสชาวจีน มาดูเพื่อหาสาเหตุ ได้ความว่า จะต้องสร้างศาลเจ้าขึ้นริมน้ำเพื่อไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอีก
อาคารโรงเรียนลาดชะโด
โรงเรียนลาดชะโด เป็นโรงเรียนประจำชุมชนขนาดใหญ่ สะอาดสะอ้าน แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน มีอาคารเรียนสร้างด้วยไม้ ใต้ถุนสูง เป็นรูปตัวอี (E) สร้างเมื่อปีพ.ศ.2503 เป็นอาคารไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย บริเวณหน้าโรงเรียนมีปลาธรรมชาติมากมาย อาทิ ปลาชะโด ปลากราย ปลาหางแพน ปลาสวาย ปลาสลาด และปลาแสลด เป็นต้น

บ้านขุนพิทักษ์บริหาร เป็นบ้านไม้ทรงโบราณ 2 ชั้น ติดกับแม่น้ำน้อย เป็นที่อยู่อาศัยของคหบดีซึ่งทำการขนส่งทางเรือในอดีต

สำหรับการท่องเที่ยวในตลาดลาดชะโดนั้น นอกจากการเดิน ชม ชิม ช้อป ในตลาดแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถล่องเรือชมวิถีชีวิตริมคลองลาดชะโด อาทิ การยกยอ ทอดแห บ้านเรือนไทย ได้อีกด้วย

*****************************************

การเดินทางสู่ตลาดลาดชะโด จาก อำเภอผักไห่ ใช้เส้นทาง 3454 เลยตัวอำเภอไปประมาณ 500 เมตร มีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปตลาดลาดชะโดเป็นระยะทางอีกประมาณ 2 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถยนต์ มาจอดที่บริเวณลานวัดลาดชะโด ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ เทศบาลตำบลลาดชะโด โทร. 0-3574-0263 - 4
กำลังโหลดความคิดเห็น