"กินรี" สัตว์เพศเมีย อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เชิงเขาไกรลาศ ท่อนบนเป็นมนุษย์(มักจะเป็นสาวสวย) ท่อนล่างเป็นนก มีปีกบินได้
จากอดีตที่มักปรากฏในเทพนิยาย นิทาน วรรณกรรม ในงานจิตรกรรมฝาผนัง และงานพุทธศิลป์ทั่วไป มาปัจจุบันกินรีไปปรากฏกายกว้างขวางมากขึ้น ทั้งในจอแก้ว จอเงิน ในโฆษณา ในวงการแฟชั่น ในเนื้อเพลง ใช้เป็นชื่อหนังสือ ฯลฯ รวมถึงถูกการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)หยิบไปเป็นรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(Thailand Tourism Awards) หรือที่เรียกสั้นๆว่า"รางวัลกินรี" ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่กวาดรางวัลกินรีไปเป็นจำนวนมากติดอันดับต้นๆของเมืองไทย
ด้วยเหตุนี้ ทริปนี้"ตะลอนเที่ยว" จึงขอไปตะลอน ย้อนรอยรางวัลกินรีกันที่ "เมืองคอน" เมืองแห่งพุทธศาสน์ แดนธรรมชาติแห่งขุนเขาและท้องทะเล
ว่าแล้วเราก็เปิดประเดิมรางวัลกินรีรางวัลแรก ด้วยการขอให้ อ.นริศ น้อยทับทิม มัคคุเทศก์ฝีมือชั้นครู เจ้าของรางวัลกินรีมัคคุเทศก์ดีเด่น ปี 2551 ผู้รอบรู้เรื่องราวเมืองนครชนิดหาตัวจับได้ แต่ทริปนี้เราตามตัวได้ จึงเชิญ อ.นริศ มาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ ซึ่งว่าแล้วเราก็ไปเปิดประเดิมตามรอยกินรีในสถานที่แรกกันดีกว่า
"หมู่บ้านคีรีวง" ชุมชนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
หมู่บ้านคีรีวง ต. กำโลน อ. ลานสกา คือสถานที่แรกในทริปนี้ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาเขียวขจี มีสายน้ำไหลผ่าน อากาศก็บริสุทธิ์สดชื่น แถมยังมีการจัดการการท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมจน ได้รับการการันตีในคุณภาพด้วยรางวัลกินรี ในประเภทเมืองและชุมชน ในปี 2541 ทำให้ทันทีที่ "ตะลอนเที่ยว"มาถึงจึงต้องรีบสูดหายใจเฮือกใหญ่ๆรับอากาศของที่นี่ให้เต็มปอด เพราะมันช่างเป็นอากาศที่ต่างจากกรุงเทพฯเหลือเกิน
หมู่บ้านคีรีวง มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี ชาวบ้านที่นี่ดำรงวิถีชีวิตแบบเครือญาติ ทำกินอยู่กับการทำสวนผลไม้แบบผสมผสานหรือที่คนปักษ์ใต้เขาเรียกกันว่า "สวนสมรม" ซึ่งผลไม้ที่มีมากในชุมชนนี้ก็คือ มังคุด เงาะ ทุเรียน และสะตอ
ชาวชุมชนคีรีวงส่วนใหญ่ดำเนินวิถีตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านหัวก้าวหน้าหลายคน คิดค้นหาแนวทางนำวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ที่นี่จึงมีผลผลิตชุมชน(OTOP)ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ผ้าบาติก สบู่เปลือกมังคุด ทุเกียนกวนย่างรสเด็ด เป็นต้น
นอกจากขายผลผลิตแล้ว หมู่บ้านคีรีวงยังมีการสาธิตการทำผลผลิตต่างๆให้นักท่องเที่ยวชมกันแบบจะจะ เริ่มจากการทำผ้ามัดย้อมที่มี ป้านิด ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมผ้าของหมู่บ้านมาสาธิตให้ชม
ป้านิด เล่าว่า ก่อนที่จะนำผ้ามาย้อมนั้น เราต้องนำน้ำมาต้มพร้อมใส่เปลือกมังคุด หรือใบมังคุด ใบมังคุดอ่อนและแก่จะให้สีต่างกัน ต้มไว้ 3 ชั่วโมง ก่อนนำผ้าป่านอินเดียมาย้อม ต้องใช้ไม้ไผ่มามัดตามจุดต่างๆ และนำมาย้อมกับน้ำที่ต้มไว้ และนำมาตากแดด แล้วเราก็จะได้ผ้ามัดย้อมที่ต้องการ
ส่วนสบู่เปลือกมังคุดนั้นก็ได้ มิสเตอร์มังคุด(สนธยา ชำนะ) มาสาธิตขั้นตอนการทำ พร้อมเล่าถึงความล้มลุกคลุกคลานในชีวิต ก่อนที่จะมีวันนี้ เป็นสบู่มังคุดที่มีออร์เดอร์จากหลายประเทศสั่งเข้ามาตลอด เมื่อฟอกตัวแล้วให้กลิ่นหอม ผิวพรรณสดชื่น แถมยังช่วยรักษาโรคผิวหนังได้อีกด้วย
เสน่ห์ของบ้านคีรีวงยังมีอีกหลายหลายให้เที่ยวกัน ไม่ว่าจะเป็น เที่ยวหมู่บ้าน วัด ตลาดนัด เที่ยวน้ำตก เที่ยวสวนสมรม ดูนกในสวนสมรม ศึกษาธรรมชาติบนเขาหลวง เป็นต้น เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลามาพักค้าง ทำกิจกรรม เรียนรู้วิถีที่นี้เกิน 1 คืน ขึ้นไป ซึ่งเราแต่ติดไว้ว่าโอกาสหน้าจะกลับมาเที่ยวคีรีวงแบบอยู่ยาวให้หนำใจกันไปเลย
ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ "ศูนย์ส่งเสริมเกษตรท่องเที่ยวช้างกลาง"
หลังจากได้ขึ้นเขาชมวิถีของชาวคีรีวงแล้ว อ.นริศ พาเราไปเที่ยวกันต่อที่ "ศูนย์ส่งเสริมเกษตรท่องเที่ยวช้างกลาง" ต.ช้างกลาง กิ่ง อ.ช้างกลาง ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2542 จากการคัดเลือกของสำนักงานเกษตรจังหวัดให้เป็นโครงการนำร่องในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เนื่องจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ ดำรงชีพด้วยการทำการเกษตรมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็น "ชมรมท่องเที่ยวเกษตรช้างกลาง"
ศูนย์ฯช้างกลาง ได้รับรางวัลกินรี ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในปี 2545 ซึ่งคุณกิตติ เจริญพานิช ได้พา"ตะลอนเที่ยว" และชาวคณะทัวร์ไปชมที่พักที่ดูแปลกตากิ๊บเก๋ไม่เหมือนใคร อาทิ ที่พักแบบ "โบกี้รถไฟ"(ราคา 400 บาท) ที่พักบ้านล้อเกวียน ที่นำล้อเกวียนมาประดับและประยุกต์ทำเป็นเสาบ้าน(300 บาท)
ความโดดเด่นอีกอย่างของที่นี่ก็คือโครงการปุ๋ยบ่อขยะที่เริ่มจากการนำเศษอาหาร เศษพืชผัก เปลือกกุ้ง ไส้ปลา เอามาเทลงในบ่อขยะ หมักทิ้งประมาณ1-2 เดือน ก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมักแห้งนำไปปลูกต้นไม้
นอกจากนี้ยังมีการสอนกระบวนการทำสบู่ล้างมือโดยใช้เปลือกมะนาว มาทำเป็นน้ำยาล้างจานได้ด้วย ซึ่ง "ตะลอนเที่ยว" ก็ได้แอบจดกระบวนการทำเอาไว้ทำเองที่บ้าน ประหยัดแบบนี้ จะพลาดได้ไง
"บ้านหนังตะลุง" แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน
จุดต่อมา พวกเราออกเดินทางเคลื่อนตัวเข้ามาในเมือง เพื่อชม "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนังตะลุง" ที่ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง โดยหนังตะลุงถือเป็นสุดยอดศิลป์แห่งการแสดงของภาคใต้ โดย อ.สุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ และเจ้าของรางวัลกินรี ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและโบราณคดี ปี 2539
อ. สุชาติ เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในภาคใต้ นอกเหนือจากการเล่นหนังตะลุงแล้วอ.สุชาติยังเป็นช่างแกะตัวหนังด้วย
การเป็นช่างแกะหนังถือเป็นจุดเริ่มของการสะสมตัวหนังตะลุง เพราะความจำเป็นในการสะสมตัวหนังเพื่อให้ง่ายต่อการออกแบบรูปภาพหนังตะลุง
กระทั่งในปี พ.ศ. 2528 เมื่อ อ.สุชาติได้มีโอกาสถวายการแสดงหนังตะลุงต่อหน้าพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ท่านตรัสกับ อ.สุชาติว่าขอบใจมากที่รักษาศิลปะการแสดงแขนงนี้ไว้
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าว กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ อ.สุชาติ เปิดบ้านของตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมุ่งหวังที่จะไม่ให้ศิลปะการแสดงหนังตะลุงสูญหายไป
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงบ้าน อ.สุชาติ เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สิ่งแรกที่เห็นแล้วตะลึงคือ ตัวหนังตะลุงที่เก่าแก่ มีอายุถึง 200 ปี ซึ่งตัวหนังนั้นเป็นหนังมุสลิม และตัวหนังตะลุงอีสาน นอกจากจะมีหนังตะลุงไทยแล้ว ที่นี่ยังได้เก็บหนังตะลุงจากประเทศอื่นๆ ไว้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตุรกี ซึ่ง อ.สุชาติบอกว่า กว่าจะได้หนังตะลุงจากต่างประเทศ เราต้องเอาหนังตะลุงไทยไปแลกเป็นสิบ
นอกเหนือไปจากตัวหนังตะลุงแล้วอ.สุชาติยังสะสมเครื่องเหล็ก มีดพร้า และเครื่องดนตรีที่ใช้แสดงหนังตะลุง หลังจากที่เราชมในตัวอาคารแล้ว ยังมีการแสดงหนังตะลุงให้เราได้ชมกัน ซึ่ง "ตะลอนเที่ยว" ได้แกะรอยไปจนถึงหลังเวที เพื่อดู อ.สุชาติทั้งพากษ์ทั้งแสดงฝีมือลีลาเชิดหนังตะลุงอย่างสนุกสนาน
"พิพิธภัณฑ์เมืองนครฯ" แหล่งเรียนรู้ถิ่นบ้านเกิด
หลังจากได้สัมผัสเรียนรู้กับหนังตะลุงกันแล้ว ที่สุดท้ายที่เราจะได้รู้ข้อมูลของชาวเมืองนครอย่างลึกซึ้ง คือ "พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ที่ได้รางวัลกินรี ประเภทองค์กรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ในปี 2551 ที่ผ่านมานี้เอง
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์84 (ทุ่งท่าลาด) ต.นาเคียน อ.เมือง ภายในพิพิธภัณฑ์มีอาคารอยู่ 4 หลังด้วยกัน ซึ่งแต่ละหลังก็มีชื่อที่สละสลวยคล้องจองกันว่า เทิดไท้ราชินี, วีรไทย, รวมใจภักดิ์ และนานัครรส
อาคารเทิดไท้ราชินีและวีรไทยเป็นอาคารอำนวยการฝ่ายต้อนรับและห้องประชุม ส่วนนานัครรสเป็นอาคารจำหน่ายอาหารและสินค้าที่ระลึก
ด้านอาคารวีรไทยนั้นจัดแสดงแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยชั้นแรกแสดงเกี่ยวกับภูมิประเทศเมืองนครศรีธรรมราช และประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดแสดงตามหลักฐานที่ค้นพบในที่ต่างๆ ตั้งแต่สมัยยุคหิน แสดงแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ใน จ.นครศรีธรรมราช นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑ์เมืองนครฯนี้มาก เพราะที่นี่เหมือนยกเมืองนครขนาดย่อมมาให้เราได้เรียนรู้กัน ส่วนชั้นบนนั้น เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับศาสนาโดยเน้นวัดต่างๆเป็นสำคัญ
ทางด้านอาคารเทิดไทราชินี จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง คือเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช และเหตุการณ์วาตภัยแหลมตะลุมพุก และสิ่งที่ "ตะลอนเที่ยว" ชอบใจเป็นพิเศษคือ การได้นั่งเรือจำลอง ที่สามารถเคลื่อนตัวได้ โยกตัวไปมา เสมือนเราได้อยู่ในเหตุการณ์คลื่นพายุนั้นจริงๆ ต่อจากได้ทดลองนั่งกันแล้ว ยังได้แวะชมเหตุการณ์แหลมตะลุมพุกจำลอง ซึ่งเป็นแหล่งที่เรียนรู้ได้ดีมาก
ถึงแม้ฤดูกาลนี้ อากาศจะร้อนมากนักแต่ก็ชื่นฉ่ำหัวใจ เพราะการเดินทางในครั้งนี้นอกจาก "ตะลอนเที่ยว" จะได้ลุยลัดเลาะตามรอยกินรีกันแล้ว ยังได้สัมผัสกับธรรมชาติวิถีชีวิตของชาวนคร อีกทั้งยังได้ความรู้ และความสนุกควบคู่กันไปอีกด้วย
*****************************************
“รางวัลกินรี” หรือ Thailand Tourism Awards เป็นโครงการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวไทยในมิติที่ยั่งยืน โดยนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน
ททท.ได้เริ่มจัดประกวดรางวัลกินรีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับวันท่องเที่ยวโลก หรือ World Tourism Day และก็ได้จัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก 2 ปี จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นครั้งที่ 7 แล้ว โดยรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่ยกย่องเชิดชูและให้กำลังใจแก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
ผู้สนใจเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยกินรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.นครศรีธรรมราช โทร. 0-7534-6515