“อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ”
ช่วงนี้หลายคนคงจะคุ้นหูกับท่อนฮุกของเพลง “อาเซียนรวมใจ” ที่ทางภาครัฐโหมโฆษณาผ่านสื่อกันอย่างถี่ยิบเป็นอย่างดี
ต้องบอกว่าการที่ไทยกลับมาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน หรือ “อาเซียนซัมมิต” (ASEAN SUMMIT) ครั้งที่ 14 อีกครั้งในวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค. 52 นับเป็นนิมิตหมายอันดีในการประกาศศักยภาพในหลายๆ ด้านของเมืองไทย (แต่ไม่รวมศักยภาพด้านลบอย่างการประท้วงของคนกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้างผิดกาละเทศะ มาประท้วงในจังหวะเวลานี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไม?? ทำไปเพื่อใคร?? รู้แต่ว่าเมื่อทำแล้วไม่ได้ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในช่วงจัดประชุมอาเซียนซัมมิตเลย)
สำหรับหนึ่งในศักยภาพที่ “ตะลอนเที่ยว” มองว่า เมืองไทยสามารถประชาสัมพันธ์ให้โลกรับรู้ได้อย่างไม่ยากเย็นก็คือ ศักยภาพทางการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ “ชะอำ-หัวหิน” 2 เมืองหลักที่ใช้ในการประชุมอาเซียนซัมมิต ครั้งนี้
ชะอำ...เมืองเพชร
อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งหัวเมืองอันเป็นที่พักตากอากาศสุดคลาสสิคของกลุ่มชนชั้นสูงในอดีต และเป็นเมืองตากอากาศที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
ชะอำ เริ่มมีความเจริญทางด้านการท่องเที่ยวตั้งแต่ทางรถไฟสายใต้สร้างมาถึง กระทั่งในปี พ.ศ. 2464 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารในสมัยนั้นได้ออกสำรวจพื้นที่ชายทะเลที่ชะอำ ได้ทรงมาจับจองที่ดินชายทะเลตำบลชะอำ
จากชุมชนเล็กๆได้ขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ให้ชื่อว่าหมู่บ้าน “สหคามชะอำ” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
ปัจจุบันชะอำเป็นอีกเมืองชายทะเลใกล้กรุงที่มีน่าสนใจไม่น้อยเลย ซึ่งหากมาชะอำหลายคนต้องเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องไป“หาดชะอำ” หาดทรายที่มีชื่อเสียงและมีกิจกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุดของเมืองเพชรบุรี เนื่องจากมีหาดทรายขาดเด่นเป็นระยะทางยาวกว่า 7 กิโลเมตร จะมาเล่นน้ำทะเลให้คลายร้อน จะมานอนอาบแดด กินอาหารทะเลริมหาด หรือ ขี่ม้า เจ็ตสกี ปั่นจักรยาน ที่หาดชะอำมีพร้อมสรรพให้เลือก
นอกจากหาดทรายชายทะเลแล้ว ชะอำยังมี ”พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ พระราชวังแห่งนี้ในวันที่ 28 ก.พ. 52 จะถูกใช้เป็นสถานที่รับประทานอาหารค่ำของเหล่าผู้นำอาเซียนและคณะภริยา
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นพระราชวังแห่งความรักและความหวังของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ต.ห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นพระราชวังที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป เป็นหมู่พระที่นั่งไม้สักทองรองรับด้วยเสาคอนกรีต หลังคาทรงปั้นหยา มีระเบียงเป็นทางเดินเชื่อมต่อกันตลอด ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์ คือ
พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ ที่สร้างไว้เพื่อเป็นที่ประชุมและจัดงานเลี้ยงรวมถึงการแสดงละคร พระที่นั่งพิศาลสาคร ใช้เป็นที่ประทับในรัชกาลที่ 6 และ พระที่นั่งสมุทรพิมาน ที่จะเรียกว่าเป็นกลุ่มอาคารสำหรับฝ่ายในก็ว่าได้ ใครอยากชมความวิจิตรของพระราชวังมฤคทายวันให้เห็นเหมือนเหล่าผู้นำอาเซียนก็แวะไปได้
อีกที่หนึ่งที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังมฤคทายวัน คือ “อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร”เป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ และการฝึกอบรมระดับสากลด้านการอนุรักษ์พลังงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร ตั้งอยู่ภายในบริเวณค่ายพระรามหกเช่นกัน
นอกจากสถานที่ที่กล่าวมาแล้ว ใน อ.ชะอำ ยังมี ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และวนอุทยานเขานางพันธุรัต เป็นอีก 2 จุดน่าสนใจที่รอคอยให้ผู้สนใจเข้าไปเที่ยวชมกัน
หัวหิน...ประจวบ
แม้วันเวลาจะผันผ่านมาร่วม 100 ปีแล้ว แต่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ยังคงความเป็นเมืองตากอากาศคลาสสิคอยู่ไม่เสื่อมคลาย
หัวหิน เดิมที ชื่อ“บ้านสมอเรียง” (หรือบ้านแหลมหิน) เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่มีทัศนียภาพอันงดงาม
กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีโครงการขยายรางรถไฟทั่วประเทศ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน หรือ “กรมหลวงรถไฟ” ได้นำคณะสำรวจการวางรางรถไฟที่เดิมนั้นวิ่งลงมาใต้สุดที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี มาพบกับหมู่บ้านสมอเรียงในปี พ.ศ. 2454
หมู่บ้านสมอเรียง ยุคนั้นเพียบพร้อมไปด้วยทิวทัศน์อันงดงาม ธรรมชาติอันพิสุทธิ์ อากาศอันสดชื่น และบรรยากาศอันสงบเงียบ ซึ่งหลังจากสร้างทางรถไฟชะอำ-หัวหิน เสร็จสิ้น หมู่บ้านนี้ได้ถูกบรรดา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า และผู้มีอันจะกินจับจองซื้อที่กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บ้านสมอเรียงกลายเป็นสถานตากอากาศแห่งแรกของเมืองไทย
จากนั้นต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ได้ทรงสร้างตำหนักขึ้นในพื้นที่นี้ ณ บริเวณมุมโค้งของหาดทรายอันขาดเนียน ซึ่งยามน้ำลงจะมองเห็นแนวโขดหินขึ้นอยู่ทั่วไป โดยทรงขนานนามชายหาดบริเวณตำหนักตามสภาพภูมิประเทศว่า“หัวหิน”
นับแต่นั้นมาชื่อของหัวหินก็ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นชื่อของแหล่งท่องเที่ยวสุดคลาสสิคที่โด่งดังไปไกลมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับสถานที่คลาสสิคแห่งหัวหินนั้นก็มีหลายสิ่งด้วยกัน ซึ่ง “ตะลอนเที่ยว” ขอเริ่มด้วยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่าง “วังไกลกังวล” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์โปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
ปัจจุบัน วังไกลกังวลเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากเป็นสถานที่เหมาะสมกับการฟื้นฟูพระพลานามัยให้ทรงแข็งแรง เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปตลอดกาล
ความคลาสสิคอีกอย่างหนึ่งของหัวหินซึ่งเป็นดังเอกลักษณ์แห่งหัวหินก็คือ สถานีรถไฟหัวหิน อันเก่าแก่แต่สวยงามสุดคลาสิคยิ่งนัก
สถานีรถไฟหัวหิน ยังคงรูปแบบอาคารไม้อันสวยงามอ่อนช้อยเอาไว้ แถมเป็นสถานีรถไฟที่สะอาดสะอ้าน มีระฆังใบเขื่องขัดเงามันวับ ในขณะที่ป้ายสถานีรถไฟหัวหินนั้นเล่าก็ดูสวยงามมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ จนรัฐบาลเลือกที่จะหยิบเอาป้ายสถานีรถไฟหัวหินไปย่อขนาดจำลองทำเป็นของที่ระลึกในการประชุมอาเซียน ซัมมิทในครั้งนี้
ใกล้ๆกับตัวสถานีเป็นพลับพลาหลวง หรือพลับพลาสนามจันทร์ เป็นพลับพลาจัตุรมุขที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เดิมอยู่ในพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ใช้เป็นที่เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศที่ฝึกซ้อมยุทธวิธีเป็นประจำทุกปี
หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รื้อถอนนำมาสร้างใหม่ที่สถานีรถไฟหัวหิน และเรียกชื่อใหม่ว่า “พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ”
สำหรับผู้ไปเยือนหัวหิน สิ่งหนึ่งที่มักไม่พลาดกันก็คือการไปสัมผัสกับชายหาดหัวหิน ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ชายหาดที่นี่วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จะพลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมายทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีทั้งมาเล่นน้ำ เดินทอดน่อง ขี่ม้าแกลบ อาบแดด นั่งพักผ่อน จิบเครื่องดื่มเบาๆ และอีกหลากหลายกิจกรรม ท่ามกลางสายลม ชาดหาย เกลียวคลื่นขาวฟูฟ่อง และโรงแรม ที่พัก อาคารริมหาด หลากรูปแบบ หลายสไตล์ ที่แวดล้อมอยู่ข้างๆ
นอกจากชายหาดหัวหินแล้ว เมืองนี้ยังมีชายทะเลน่าเที่ยวชมอย่าง ชายหาดตะเกียบ ชายหาดสวนสน ชายหาดเขาเต่า เกาะสิงโต เป็นต้น
ขณะที่ใครอยากขึ้นเขาชมวิว สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในหัวหินก็มีเขาตะเกียบ เขาไกรลาศ เขาสนามชัย และเขาหินเหล็กไฟ จุดชมวิวที่สวยที่สุดในหัวหิน ซึ่งเหมาะแก่การชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น และวิวยามเย็นที่สามารถมองเห็นตัวเมืองหัวหินและทิวทัศน์ท้องทะเลได้อย่างชัดเจน
เสน่ห์หัวหินยังไม่หมดเท่านี้ ที่นี่ยังมีสีสันยามราตรีทั้งร้านรวง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวกระจายรายได้กันมากมาย โดยเฉพาะที่ตลาดโต้รุ่งหัวหินนี่มีทั้งอาหาร ขนม และสินค้าสารพัดสารให้เลือกจับจ่ายใช้สอยกันอย่างจุใจ
ด้านใครที่ชอบบรรยากาศความเป็นธรรมชาติ ออกจากตัวเมืองหัวหินไปไม่ไกลก็มี น้ำตกป่าละอู อันสวยงามให้ชมกัน โดยใกล้ๆกันนั้นมีชุมชนห้วยสัตว์ใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนแห่งใหม่ที่เน้นในการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรม เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักท่องเที่ยว
ส่วนใครที่ชอบทัวร์ธรรมะ หัวหินก็มี หลวงพ่อนาค-วัดหัวหิน หลวงปู่คำ-วัดหนองแก ศาลเจ้าเขาด่าง ศาลเจ้าพ่อต้นหว้า ศาลเจ้าพ่อช่องตาหงส์ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ ศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าเกตุ และวัดห้วยมงคล(ต.ทับใต้) วัดที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทวดองค์ใหญ่ที่สุดในโลกให้สักการะบูชากัน
นอกจากนี้หัวหินยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางการท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หัวหินแจ๊สเฟสติวัล, หัวหินมิวสิคอินซัมเมอร์, การแข่งขันเรือใบรายการหัวหินรีกัตต้าร์ฯ,งานแข่งขันโปโลช้าง, เทศกาลว่าวไทยและว่าวนานาชาติ, กิจกรรมย้อนยุคนิทรรศการรถโบราณ,เทศกาลอาหารทะเล เป็นต้น
..................
สำหรับสิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของเมืองชะอำและหัวหิน เมืองชายทะเลตากอากาศคลาสสิคที่ชื่อเสียงของทั้ง 2 เมือง จะถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก เพื่อให้รู้ว่า เมืองไทยมีดี คนไทยมีดี ที่แม้ว่าบางครั้งความเลวร้ายของนักการเมืองบางคนจะทำให้บ้านนี้เมืองนี้ลุ่มๆ ดอนๆ ไปบ้าง แต่สุดท้ายเมืองไทยก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้นให้ผ่านพ้นไปจนได้
*****************************************
การเดินทางไปยัง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ทางที่สะดวกและใกล้ที่สุด คือ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 (สายธนบุรี-ปากท่อ) ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และอำเภอปากท่อ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4 ไปจังหวัดเพชรบุรี รวมระยะทางประมาณ 123 กิโลเมตร หรือจากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านนครปฐม ราชบุรี ไปยังเพชรบุรี เป็นระยะทาง 166 กิโลเมตร และมีรถไฟจากกรุงเทพฯ มีบริการรถไฟไปเพชรบุรีและอำเภอชะอำทุกวัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในชะอำและในเพชรบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร.0-3247-1005-6
ส่วนการเดินทางไปยัง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านจังหวัดเพชรบุรี เข้าสู่ตัวเมืองหัวหินรวมระยะทางประมาณ 280 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง
เส้นทางที่สอง ใช้เส้นทางสายเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านพุทธมณฑล นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เข้าสู่ตัวเมืองหัวหินรวมระยะทางประมาณ 320 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง หรือสามารถเดินทางได้โดยรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ ถ.บรมราชชนนี และมีรถไฟจากสถานีรถไฟหัวลำโพงมีบริการขบวนรถไฟสายใต้ผ่านหัวหิน ปราณบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ทุกวัน และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในหัวหินและในประจวบฯได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ โทร.0-3251-3885, 0-3251-3871, 0-3251-3854