โดย : ปิ่น บุตรี

นี่ไม่ใช่การไปแอ่วน่านครั้งแรก ไม่ใช่การไปเยือนหอศิลป์ริมน่านครั้งแรก และก็ไม่ใช่การได้พบ อ. วินัย ปราบริปู ครั้งแรก
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นอิทธิพลของภาพ“กระซิบ”ในเวอร์ชั่นฝรั่ง
เรื่องนี้คงต้องขยายความกันสักหน่อยเพื่อความเข้าใจให้มากขึ้น
1...
หอศิลป์ริมน่าน เป็นหอศิลป์เอกชน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.บ่อ อ.เมือง จ.น่าน วัตถุประสงค์การสร้างหอศิลป์แห่งนี้ ทางผู้สร้างต้องการให้เป็นแหล่งเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะในจังหวัดน่าน
หอศิลป์ริมน่านตั้งอยู่อย่างสงบร่มรื่นท่ามกลางขุนเขา ริมน้ำน่าน บนเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ในนั้นมีแกลลอรี่ขนาดย่อมสร้างไว้รองรับผลงานศิลปินที่จัดแสดงงาน

สำหรับเจ้าของผู้สร้างผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่านนั้นก็คือ อ.วินัย ปราบริปู จิตรกร(ศิลปิน) ผู้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับวงการศิลปะมากว่า 25 ปี ซึ่งในแวดวงศิลปะต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดี ส่วนกับนักท่องเที่ยวที่เคยไปเยือนหอศิลป์แห่งนี้ บางคนแม้จะไม่รู้จักเขาแต่ว่าอาจจะคุ้นเคยกับภาพของเขามาก่อนก็ได้ เพราะ อ.วินัยได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเรื่องราวท้องทะเลได้ยอดเยี่ยมมากคนหนึ่งของเมืองไทย
แต่ อ.วินัย ไม่ใช่ลูกน้ำเค็ม ไม่ใช่ชาวทะเล หากแต่เป็นชาวน่านที่ไปหลงใหลใน หาดทราย สายลม แสงแดด เกลียวคลื่น เปลือกหอย เรือประมง อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
“แต่ก่อนผมเขียนภาพทะเลเป็นหลัก เขียนเม็ดทรายเป็นคนแรกๆ เขียนก้อนหิน เขียนเปลือกหอย เขียนเรือประมง เรียกว่าเป็นคนเหนือแต่ไปตื่นเต้นทะเล เพราะแถวบ้านผมมันไม่มีอย่างนี้” อ.วินัย รำลึกความหลัง
ในมุมมองของผม อ.วินัยเขียนภาพทะเลได้ถึงอารมณ์ถึงบรรยากาศมากๆ ชนิดที่แค่ผมไปยืนมองก็ได้ยินเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่นล่องลอยในจินตนาการผ่านรูปภาพออกมา ส่วนหาดทรายก็เขียนได้สะอาดหมดจด เม็ดทรายเขียนได้ละเอียด(ยิบ)กว่าเม็ดทรายที่ใช้ถมสนามบินสุวรรณภูมิเป็นไหนๆ ด้านเปลือกหอยนั้นเล่าก็ถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้ง ถึงเส้นสายลายริ้วรอย ชนิดที่หากปูเสฉวนเดินผ่านมา มันอาจเข้าใจผิดคิดว่านี่คือเปลือกหอยจริงถึงขนาดสลัดเปลือก(หุ้ม)ขวดแก้ว(แตก)ทิ้งเพื่อไปซุกตัวอยู่ในภาพวาดเปลือกหอยของ อ.วินัย

นอกจากนี้ อ.วินัย ยังเขียนภาพท้องทะเลได้สะอาด สงบ เป็นดังทะเลในฝันของผม เพราะทะเลในยุคนี้ พ.ศ.นี้ หาสะอาด สงบ แบบนี้แทบไม่ได้แล้ว มีแต่ทะเลพลุกพล่าน ขยะเกลื่อน ซึ่งผมไม่รู้ว่าการที่ทะเลไทยเปลี่ยนไปอย่างมากมายหรือเปล่า แกจึงบ่ายหน้ากลับสู่น่านไปเขียนภาพป่าไม้ไพรเขา พร้อมลงมือศึกษาจิตรกรรมฝาผนังโบราณเมืองน่านอย่างจริงจัง ก่อนที่จะทำการสร้างหอศิลป์ริมน่านขึ้นมาและเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในเดือนเมษายน 2547
อ.วินัยยกย่องว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ วัดหนองบัว เป็นภาพจิตรกรรมเอกลักษณ์แบบเมืองน่านแท้ๆ
อ.วินัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าและเปรียบเทียบภาพที่วัดหนองบัวกับวัดภูมินทร์ ว่ามีลักษณะเด่นๆที่เหมือนกันหลายประการ อาทิ การใช้สีโครงสร้างเดียวกัน ใช้วิธีการเขียนภาพเล่าเรื่องจากซ้ายไปขวา ภาพเขียนทั้ง 2 วัดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่า 40 แห่ง ทั้งคน ใบหน้า การแต่งตัว เนื้อหา และองค์ประกอบอื่นๆ เป็นต้น
ทำให้ อ.วินัยได้ข้อสรุปว่า ศิลปิน(จิตรกร)ผู้รังสรรค์ภาพกระซิบและภาพทั้งหมดในวัดภูมินทร์ น่าจะเป็นคนๆเดียวกับผู้วาดภาพที่วัดหนองบัว โดยผู้วาดนั้นก็คือ“หนานบัวผัน”หรือ “ทิดบัวผัน” ศิลปินชาวไทลื้อ ผู้ซึ่งรังสรรค์ภาพจิตรกรรมสุดคลาสิคที่ส่งอิทธิพลมาถึงศิลปิน จิตกร ช่าง และนักลอกเลียนแบบในปัจจุบันไม่น้อย
โดยเฉพาะภาพที่ อ.วินัยเรียกว่า“กระซิบ”หรือ“The Whispering” นั้นถือเป็นความคลาสสิคสุดยอดจน อ.วินัยยกให้เป็น ภาพ“กระซิบบันลือโลก” เลยทีเดียว

2...
ภาพ“กระซิบ” หรือ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” มีขนาดประมาณคนจริง เป็นภาพผู้ชายใช้ 2 มือจับบ่าผู้หญิงทำท่าทางลักษณะกระซิบกระซาบกับหญิงสาวที่ชม้ายชายตามองอย่างแช่มช้อย ซึ่งจากลักษณะท่าทาง การแต่งกาย ทรงผม ใบหน้า นับว่าสื่อสะท้อนถึงวิถีชาวน่านในยุคนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม
จากภาพที่ปรากฏ ผมเดาว่า หญิง-ชายในภาพ น่าจะเป็นคู่รักกัน และผมมักจะเรียกภาพนี้ว่า “ภาพกระซิบรัก”
ในขณะที่ผู้เกจิสันทัดกรณีต่างให้ความเห็นว่าหญิงสาวในภาพเป็นชาวไทลื้อ เพราะเห็นเด่นชัดจากการเกล้ามวยผม การสวมเสื้อ นุ่งผ้า ส่วนชายในภาพน่าจะเป็นตัวของช่างผู้เขียนภาพ(หนานบัวผัน) ที่ดูจากการแต่งกาย ลวดลายสัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาว“ไทลื้อ”หรือชาวม่าน(พม่า)
“ภาพนี้(กระซิบ) เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่สุดของศิลปะสมัยใหม่ ทุกวันนี้ศิลปินร่วมสมัยของไทย ได้แรงบันดาลใจจากภาพๆนี้ อิทธิพลของภาพนี้ถ้าเราสังเกต จะเห็นอยู่ในหลายที่ ตามโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร หรือไม้อย่างห้องน้ำ แยกหญิง-ชาย หลายที่ก็นำลักษณะหญิง-ชาย จากภาพกระซิบจิตรกรรมจากวัดภูมินทร์มาเป็นสัญลักษณ์” อ.วินัยอธิบาย
แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่รับอิทธิพลอย่างแรงกล้าจากจิตรกรรมวัดภูมินทร์โดยเฉพาะภาพ“กระซิบ” ย่อมหนีไม่พ้น อ.วินัย ปราบริปู ศิลปินเลือดชาวน่านคนนี้

3...
ปลายปี 51 ผมไปแอ่วหอศิลป์ริมน่าน
ครั้งนั้น อ.วินัย ภูมิใจนำเสนอผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากจิตกรรมวัดภูมินทร์ โดยมีภาพจากอิทธิพลภาพกระซิบเป็นไฮไลท์ เป็นภาพที่เขียนคล้ายคลึงกับภาพต้นฉบับแต่อยู่คู่กับบานประตูไม้ ซึ่งเป็นงานที่ อ.วินัยคลี่คลายพัฒนาต่อยอดทางความคิดมาจากภาพต้นฉบับ
นอกจากนี้ก็มีภาพที่ได้รับอิทธิพลจากภาพกระซิบอย่าง ภาพชายหนุ่ม-หญิงสาว หันมองหน้ากันโดยมีพื้นที่สีขาวปิดแผ่นทองคำเปลวคั่นกลาง หรือภาพชาย-หญิงต่อบุหรี่(ยาสูบ)กัน
คราครั้งนั้น อ.วินัย เล่าให้ผมฟังว่า จะเขียนงานจากอิทธิพลจิตรกรรมวัดภูมินทร์ให้มากขึ้น เพราะต้องการให้คนรุ่นหลังรู้ว่าจิตรกรรมเมืองน่านมีดีไม่แพ้ที่ไหนๆ อีกทั้งยังต้องการให้คนยุคนี้รู้ซึ้งถึงคุณค่าในงานศิลปะของจิตรกรหรือช่างในอดีต
นั่นจึงทำให้การกลับมาหอศิลป์ริมน่านหนล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้เห็นการพัฒนาต่อยอดจากภาพกระซิบไปอีกระดับหนึ่งของ อ.วินัย เป็นภาพกระซิบเวอร์ชั่นฝรั่ง ในชื่อภาพ“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง” (สะกดตัวอักษรตามชื่อภาพ)
ภาพแรก(“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง”หมายเลข 1)เป็นคู่หนุ่ม-สาวชาวฝรั่งในชุดนักท่องเที่ยวร่วมสมัยยืนอยู่หน้าโบสถ์วัดภูมินทร์ สาวสะพายกล้อง ชายหนุ่มยืนเกาะบ่า หันทองไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั้งคู่สวมกางเกงที่ผมเดาว่าน่าจะซื้อมาจากถนนข้าวสารแหงมๆ

อีกภาพ(“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง”หมายเลข 2)เป็นคู่หนุ่ม-สาวนุ่งยีนส์ยืนอยู่หน้าวัดภูมินทร์เหมือนกัน แต่สาวนั้นแต่งตัวเอ็กซ์กว่าภาพแรก แถมโนบราซะด้วย เธอเกล้ามวยผม ทัดดอกลั่นทม ส่วนชายหนุ่มพี่แกก็เล่นถอดเสื้อเห็นรอยสักชัดเจนกำลังทำท่ายืนป้องปาก กระซิบกระซาบบอกบางสิ่งบางอย่างกับหญิงสาว
ทั้ง 2 ภาพ อ.วินัย อธิบายว่าได้แรงบันดาลใจมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองน่าน แล้วตีความออกมาเป็นคอนเซ็ปต์คล้ายๆกัน
“ผมต้องการสะท้อนสังคมว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป ฝรั่งมังค่าเข้ามาเมืองน่าน แต่งตัวนุ่งกางเกงยีนส์ เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ มีการสักคล้ายสมัยก่อน แต่รูปแบบการสักอาจเปลี่ยนไป เป็นการสักเพื่อความงาม ความเท่ ไม่ใช่สักเพื่อเป็นเรื่องของความขลังเหมือนสมัยก่อน เหมือนงานศิลปะที่ต้องปรับเปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่ง เมื่อก่อนศิลปะไทยเป็นภาพเล่าเรื่อง เป็นชาดก แต่เดี๋ยวนี้งานศิลปะเปลี่ยนไป มีทั้งงานที่ดูรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง เป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน”
นับเป็นการให้เกียรติแก่ศิลปินเจ้าของภาพอย่างน่ายกย่อง และเป็นการต่อยอดในแนวคิดของงานศิลปะคลาสิคชั้นครูออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างสวยงามน่ายล อีกทั้งยังช่วยขับเน้นเสริมส่งให้งานต้นฉบับอย่าง“ภาพกระซิบ”ให้ดูทรงคุณค่ามากขึ้น ดูเป็นอมตะร่วมสมัยไม่มีเสื่อมคลาย สมดังวาจาอมตะของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า
"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"
นี่ไม่ใช่การไปแอ่วน่านครั้งแรก ไม่ใช่การไปเยือนหอศิลป์ริมน่านครั้งแรก และก็ไม่ใช่การได้พบ อ. วินัย ปราบริปู ครั้งแรก
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นอิทธิพลของภาพ“กระซิบ”ในเวอร์ชั่นฝรั่ง
เรื่องนี้คงต้องขยายความกันสักหน่อยเพื่อความเข้าใจให้มากขึ้น
1...
หอศิลป์ริมน่าน เป็นหอศิลป์เอกชน ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ต.บ่อ อ.เมือง จ.น่าน วัตถุประสงค์การสร้างหอศิลป์แห่งนี้ ทางผู้สร้างต้องการให้เป็นแหล่งเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยและแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะในจังหวัดน่าน
หอศิลป์ริมน่านตั้งอยู่อย่างสงบร่มรื่นท่ามกลางขุนเขา ริมน้ำน่าน บนเนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ ในนั้นมีแกลลอรี่ขนาดย่อมสร้างไว้รองรับผลงานศิลปินที่จัดแสดงงาน
สำหรับเจ้าของผู้สร้างผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่านนั้นก็คือ อ.วินัย ปราบริปู จิตรกร(ศิลปิน) ผู้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับวงการศิลปะมากว่า 25 ปี ซึ่งในแวดวงศิลปะต่างรู้จักเขาเป็นอย่างดี ส่วนกับนักท่องเที่ยวที่เคยไปเยือนหอศิลป์แห่งนี้ บางคนแม้จะไม่รู้จักเขาแต่ว่าอาจจะคุ้นเคยกับภาพของเขามาก่อนก็ได้ เพราะ อ.วินัยได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเรื่องราวท้องทะเลได้ยอดเยี่ยมมากคนหนึ่งของเมืองไทย
แต่ อ.วินัย ไม่ใช่ลูกน้ำเค็ม ไม่ใช่ชาวทะเล หากแต่เป็นชาวน่านที่ไปหลงใหลใน หาดทราย สายลม แสงแดด เกลียวคลื่น เปลือกหอย เรือประมง อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง
“แต่ก่อนผมเขียนภาพทะเลเป็นหลัก เขียนเม็ดทรายเป็นคนแรกๆ เขียนก้อนหิน เขียนเปลือกหอย เขียนเรือประมง เรียกว่าเป็นคนเหนือแต่ไปตื่นเต้นทะเล เพราะแถวบ้านผมมันไม่มีอย่างนี้” อ.วินัย รำลึกความหลัง
ในมุมมองของผม อ.วินัยเขียนภาพทะเลได้ถึงอารมณ์ถึงบรรยากาศมากๆ ชนิดที่แค่ผมไปยืนมองก็ได้ยินเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่นล่องลอยในจินตนาการผ่านรูปภาพออกมา ส่วนหาดทรายก็เขียนได้สะอาดหมดจด เม็ดทรายเขียนได้ละเอียด(ยิบ)กว่าเม็ดทรายที่ใช้ถมสนามบินสุวรรณภูมิเป็นไหนๆ ด้านเปลือกหอยนั้นเล่าก็ถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้ง ถึงเส้นสายลายริ้วรอย ชนิดที่หากปูเสฉวนเดินผ่านมา มันอาจเข้าใจผิดคิดว่านี่คือเปลือกหอยจริงถึงขนาดสลัดเปลือก(หุ้ม)ขวดแก้ว(แตก)ทิ้งเพื่อไปซุกตัวอยู่ในภาพวาดเปลือกหอยของ อ.วินัย
นอกจากนี้ อ.วินัย ยังเขียนภาพท้องทะเลได้สะอาด สงบ เป็นดังทะเลในฝันของผม เพราะทะเลในยุคนี้ พ.ศ.นี้ หาสะอาด สงบ แบบนี้แทบไม่ได้แล้ว มีแต่ทะเลพลุกพล่าน ขยะเกลื่อน ซึ่งผมไม่รู้ว่าการที่ทะเลไทยเปลี่ยนไปอย่างมากมายหรือเปล่า แกจึงบ่ายหน้ากลับสู่น่านไปเขียนภาพป่าไม้ไพรเขา พร้อมลงมือศึกษาจิตรกรรมฝาผนังโบราณเมืองน่านอย่างจริงจัง ก่อนที่จะทำการสร้างหอศิลป์ริมน่านขึ้นมาและเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในเดือนเมษายน 2547
อ.วินัยยกย่องว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ วัดหนองบัว เป็นภาพจิตรกรรมเอกลักษณ์แบบเมืองน่านแท้ๆ
อ.วินัยได้ทำการศึกษาค้นคว้าและเปรียบเทียบภาพที่วัดหนองบัวกับวัดภูมินทร์ ว่ามีลักษณะเด่นๆที่เหมือนกันหลายประการ อาทิ การใช้สีโครงสร้างเดียวกัน ใช้วิธีการเขียนภาพเล่าเรื่องจากซ้ายไปขวา ภาพเขียนทั้ง 2 วัดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากกว่า 40 แห่ง ทั้งคน ใบหน้า การแต่งตัว เนื้อหา และองค์ประกอบอื่นๆ เป็นต้น
ทำให้ อ.วินัยได้ข้อสรุปว่า ศิลปิน(จิตรกร)ผู้รังสรรค์ภาพกระซิบและภาพทั้งหมดในวัดภูมินทร์ น่าจะเป็นคนๆเดียวกับผู้วาดภาพที่วัดหนองบัว โดยผู้วาดนั้นก็คือ“หนานบัวผัน”หรือ “ทิดบัวผัน” ศิลปินชาวไทลื้อ ผู้ซึ่งรังสรรค์ภาพจิตรกรรมสุดคลาสิคที่ส่งอิทธิพลมาถึงศิลปิน จิตกร ช่าง และนักลอกเลียนแบบในปัจจุบันไม่น้อย
โดยเฉพาะภาพที่ อ.วินัยเรียกว่า“กระซิบ”หรือ“The Whispering” นั้นถือเป็นความคลาสสิคสุดยอดจน อ.วินัยยกให้เป็น ภาพ“กระซิบบันลือโลก” เลยทีเดียว
2...
ภาพ“กระซิบ” หรือ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” มีขนาดประมาณคนจริง เป็นภาพผู้ชายใช้ 2 มือจับบ่าผู้หญิงทำท่าทางลักษณะกระซิบกระซาบกับหญิงสาวที่ชม้ายชายตามองอย่างแช่มช้อย ซึ่งจากลักษณะท่าทาง การแต่งกาย ทรงผม ใบหน้า นับว่าสื่อสะท้อนถึงวิถีชาวน่านในยุคนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม
จากภาพที่ปรากฏ ผมเดาว่า หญิง-ชายในภาพ น่าจะเป็นคู่รักกัน และผมมักจะเรียกภาพนี้ว่า “ภาพกระซิบรัก”
ในขณะที่ผู้เกจิสันทัดกรณีต่างให้ความเห็นว่าหญิงสาวในภาพเป็นชาวไทลื้อ เพราะเห็นเด่นชัดจากการเกล้ามวยผม การสวมเสื้อ นุ่งผ้า ส่วนชายในภาพน่าจะเป็นตัวของช่างผู้เขียนภาพ(หนานบัวผัน) ที่ดูจากการแต่งกาย ลวดลายสัก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาว“ไทลื้อ”หรือชาวม่าน(พม่า)
“ภาพนี้(กระซิบ) เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่สุดของศิลปะสมัยใหม่ ทุกวันนี้ศิลปินร่วมสมัยของไทย ได้แรงบันดาลใจจากภาพๆนี้ อิทธิพลของภาพนี้ถ้าเราสังเกต จะเห็นอยู่ในหลายที่ ตามโรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร หรือไม้อย่างห้องน้ำ แยกหญิง-ชาย หลายที่ก็นำลักษณะหญิง-ชาย จากภาพกระซิบจิตรกรรมจากวัดภูมินทร์มาเป็นสัญลักษณ์” อ.วินัยอธิบาย
แน่นอนว่าหนึ่งในผู้ที่รับอิทธิพลอย่างแรงกล้าจากจิตรกรรมวัดภูมินทร์โดยเฉพาะภาพ“กระซิบ” ย่อมหนีไม่พ้น อ.วินัย ปราบริปู ศิลปินเลือดชาวน่านคนนี้
3...
ปลายปี 51 ผมไปแอ่วหอศิลป์ริมน่าน
ครั้งนั้น อ.วินัย ภูมิใจนำเสนอผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากจิตกรรมวัดภูมินทร์ โดยมีภาพจากอิทธิพลภาพกระซิบเป็นไฮไลท์ เป็นภาพที่เขียนคล้ายคลึงกับภาพต้นฉบับแต่อยู่คู่กับบานประตูไม้ ซึ่งเป็นงานที่ อ.วินัยคลี่คลายพัฒนาต่อยอดทางความคิดมาจากภาพต้นฉบับ
นอกจากนี้ก็มีภาพที่ได้รับอิทธิพลจากภาพกระซิบอย่าง ภาพชายหนุ่ม-หญิงสาว หันมองหน้ากันโดยมีพื้นที่สีขาวปิดแผ่นทองคำเปลวคั่นกลาง หรือภาพชาย-หญิงต่อบุหรี่(ยาสูบ)กัน
คราครั้งนั้น อ.วินัย เล่าให้ผมฟังว่า จะเขียนงานจากอิทธิพลจิตรกรรมวัดภูมินทร์ให้มากขึ้น เพราะต้องการให้คนรุ่นหลังรู้ว่าจิตรกรรมเมืองน่านมีดีไม่แพ้ที่ไหนๆ อีกทั้งยังต้องการให้คนยุคนี้รู้ซึ้งถึงคุณค่าในงานศิลปะของจิตรกรหรือช่างในอดีต
นั่นจึงทำให้การกลับมาหอศิลป์ริมน่านหนล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ผมได้เห็นการพัฒนาต่อยอดจากภาพกระซิบไปอีกระดับหนึ่งของ อ.วินัย เป็นภาพกระซิบเวอร์ชั่นฝรั่ง ในชื่อภาพ“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง” (สะกดตัวอักษรตามชื่อภาพ)
ภาพแรก(“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง”หมายเลข 1)เป็นคู่หนุ่ม-สาวชาวฝรั่งในชุดนักท่องเที่ยวร่วมสมัยยืนอยู่หน้าโบสถ์วัดภูมินทร์ สาวสะพายกล้อง ชายหนุ่มยืนเกาะบ่า หันทองไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั้งคู่สวมกางเกงที่ผมเดาว่าน่าจะซื้อมาจากถนนข้าวสารแหงมๆ
อีกภาพ(“ปู่ฝรั่ง-หญ่าฝรั่ง”หมายเลข 2)เป็นคู่หนุ่ม-สาวนุ่งยีนส์ยืนอยู่หน้าวัดภูมินทร์เหมือนกัน แต่สาวนั้นแต่งตัวเอ็กซ์กว่าภาพแรก แถมโนบราซะด้วย เธอเกล้ามวยผม ทัดดอกลั่นทม ส่วนชายหนุ่มพี่แกก็เล่นถอดเสื้อเห็นรอยสักชัดเจนกำลังทำท่ายืนป้องปาก กระซิบกระซาบบอกบางสิ่งบางอย่างกับหญิงสาว
ทั้ง 2 ภาพ อ.วินัย อธิบายว่าได้แรงบันดาลใจมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองน่าน แล้วตีความออกมาเป็นคอนเซ็ปต์คล้ายๆกัน
“ผมต้องการสะท้อนสังคมว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป ฝรั่งมังค่าเข้ามาเมืองน่าน แต่งตัวนุ่งกางเกงยีนส์ เป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ มีการสักคล้ายสมัยก่อน แต่รูปแบบการสักอาจเปลี่ยนไป เป็นการสักเพื่อความงาม ความเท่ ไม่ใช่สักเพื่อเป็นเรื่องของความขลังเหมือนสมัยก่อน เหมือนงานศิลปะที่ต้องปรับเปลี่ยนไปไม่หยุดนิ่ง เมื่อก่อนศิลปะไทยเป็นภาพเล่าเรื่อง เป็นชาดก แต่เดี๋ยวนี้งานศิลปะเปลี่ยนไป มีทั้งงานที่ดูรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง เป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน”
นับเป็นการให้เกียรติแก่ศิลปินเจ้าของภาพอย่างน่ายกย่อง และเป็นการต่อยอดในแนวคิดของงานศิลปะคลาสิคชั้นครูออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างสวยงามน่ายล อีกทั้งยังช่วยขับเน้นเสริมส่งให้งานต้นฉบับอย่าง“ภาพกระซิบ”ให้ดูทรงคุณค่ามากขึ้น ดูเป็นอมตะร่วมสมัยไม่มีเสื่อมคลาย สมดังวาจาอมตะของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ว่า
"ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น"