xs
xsm
sm
md
lg

สามโคกชวนร่วมงาน “ตักบาตรพระร้อย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ชวนร่วมงานตักบาตรพระร้อย ในวันที่ 19 ต.ค. นี้ เพื่อสืบสานประเพณีของชาวไทยเชื้อสายรามัญ

สภาวัฒนธรรมอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรมตักบาตรพระร้อยขึ้นโดยใช้ชื่องาน “พระร้อย ร้อยใจ สายใย วัฒนธรรม” ในวันที่ 19 ตุลาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 06.30 เป็นต้นไป ณ บริเวณลำน้ำเจ้าพระยาหน้าที่ว่าการอำเภอสามโคกหลังเก่า ปากคลองบางเตย ตำบลบางเตย ถึงบริเวณหน้าวัดสามัคคิยาราม ตำบลคลองควาย อำเภอสามโคก เพื่อสืบสานประเพณีการตักบาตรพระร้อยของชาวไทยเชื้อสายรามัญ ซึ่งมาตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองสามโคก ที่ได้ถือปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล

โดยประเพณีตักบาตรพระร้อยนี้ เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากเสด็จสิ้นพุทธกิจการโปรดพระพุทธมารดาเป็นเวลาสามเดือนถ้วนพรรษาครั้งนั้น ทรงแสดงพุทธาภินิหาริย์เปิดโลกให้ชาวสวรรค์ มนุษย์ และนรกได้เห็นพระองค์โดยทั่วกัน บรรดาพุทะสาสนิกชนจึงพร้อมใจแต่งบุบผามาลามาทำการบูชาและถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพุทธสาวก เรียกกันทั่วไปว่าการตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งก็จะมีประเพณีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

ชาวไทยเชื้อสายรามัญสามโคกก็เช่นกัน เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป ในแต่ละวัดก็จะจัดให้มีงานประเพณีตักบาตรพระร้อยขึ้น ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา บรรดาวัดต่างๆก็จะนิยมจัดให้มีการใส่บาตรทางเรือ โดยพุทธสาสนิกชนจะลอยเรือรอใส่บาตรเป็นสาย ร้อยเรียงกันเป็นทิวแถวเมื่อขบวนเรือพระภิกษุ นำโดยเรือพระพุทธ อุปมาประหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จกลับจากดาวดึงส์นำบรรดาพระสาวกทั้งปวงออกบิณฑบาต โปรดบรรดาพุทธศาสนิกชนที่นำภัตตาหารมาถวายด้วยความศรัทธาและเชื่อกันว่ามีอานิสงส์มาก เมื่อเสด็จสิ้นการทำบุญตักบาตรพระร้อยแล้วบรรดาวัดวาต่างๆ ก็จะจัดงานปิดทองพระ มีมหรสพสมโภชต่างๆ นานา และเข้าสู่เทศกาลถวายผ้ากฐินต่อไป

ซึ่งในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย การทำบุญตักบาตรพระร้อยทางเรือร้อยเรียงเป็นสายตลอดลำน้ำเจ้าพระยากว่าร้อยรูป สาธิตการแสดงรำพาข้าวสาร เพลงเรือโบราณเพื่อเชื้อเชิญการทำบุญและแตรวงประยุกต์บรรเลงเฉลิมฉลองต้อนรับสมเด็จพระบรมศาสดาและบรรดาพุทธสาวกที่ออกบิณฑบาตทางน้ำ ร่วมสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสามัคคิยาราม ชมการละเล่นอนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้านไทยรามัญ และเพลิดเพลินกับการแข่งขันต่างๆ โดยลูกหลานชาวไทยเชื้อสายรามัญให้ดำรงอยู่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น