"กล้วย" อาจเป็นผลไม้พื้นๆ ราคาถูก หากินได้ง่ายในสายตาของหลายๆคน เรากินกล้วยกันมาตั้งแต่เด็กจนโต กินจนชินในรสชาติ จนคุ้นเคยกับผลไม้ที่ชื่อว่ากล้วย แต่มีน้อยคนที่จะรู้จักกล้วยอย่างแท้จริง
หากอยากรู้จักกล้วยให้มากขึ้น ก็ต้องเดินทางมาที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "เมืองกล้วยไข่" เพราะเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าปลูกกล้วยไข่ได้รสชาติดีที่สุดในประเทศ
และด้วยชื่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเช่นนี้ จึงได้เกิด "ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย เฉลิมพระเกียรติ" ขึ้น ซึ่งตั้งอยู่ในรั้วเดียวกับ "พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ" นั่นเอง
ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ นี้ เกิดขึ้นมาเมื่อเริ่มมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ โดยเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ พระองค์ก็ได้พระราชทานหน่อกล้วยไข่และกล้วยน้ำว้าให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีแนวพระราชดำริที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มากมายนี้ไว้ และภายหลังก็ได้มีการนำหน่อกล้วยทั้งสองหน่อนั้นมาปลูกไว้ในพื้นที่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์
จากต้นกล้วยสองต้น ในวันนี้กลายมาเป็นศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยที่มีพันธุ์กล้วยกว่า 150 สายพันธุ์ สืบเนื่องจากมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยของไทยเกิดขึ้น และได้เริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ดังนั้น ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งคนที่สนใจเรื่องกล้วยรวมไปถึงคนที่ชอบกินกล้วย ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาชม เพราะจะมีกล้วยกว่า 150 สายพันธุ์ให้ชม และหากโชคดีก็จะได้ชิมอีกต่างหาก
ความน่าสนใจภายในศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ นี้ อยู่ที่การได้พบว่านอกจากกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอม กล้วยตานี กล้วยเล็บมือนาง ที่เราคุ้นชื่อและคุ้นลิ้นกันดีแล้ว ยังมีกล้วยชื่อแปลก หน้าตาแปลก บางพันธุ์กินได้ บางพันธุ์กินไม่ได้ บางพันธุ์ก็ไม่มีในเมืองไทย และอีกหลายร้อยสายพันธุ์กล้วยที่เรายังไม่รู้จัก ว่าแล้วก็ไปลุยดงกล้วยกันเลยดีกว่า
พื้นที่ส่วนแรกที่เราจะได้ชมกันใกล้ๆ นั้นก็คือกล้วยประเภทกล้วยประดับ ซึ่งก็เป็นต้นกล้วยประเภทหนึ่งที่มีมีรูปทรงแปลก มีดอกสวย แต่ผลกล้วยมักรสชาติไม่ดี คนจึงไม่นิยมกินกัน แต่นิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแทน เช่น "กล้วยบัวชมพู" ที่ปลีกล้วยเป็นสีชมพูสวยเหมือนดอกบัว ทั้งยังชูปลีขึ้นสูงเหมือนดอกไม้ แทนที่จะห้อยลงพื้นเหมือนปลีกล้วยชนิดอื่นๆ
หรือจะเป็น "กล้วยหมูสัง" ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งที่ดูจากลักษณะของต้นแล้วไม่มีส่วนใดเหมือนกล้วยเลยสักนิด ดอกของต้นกล้วยหมูสังนั้นก็คล้ายดอกนมควายมีสีสันสวยงาม แต่เหตุที่เรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่ากล้วยนั้นก็คงเพราะผลของมันเหมือนผลกล้วยไม่มีผิด แต่รสชาตินั้นคนละเรื่องกันเลย
ส่วน "กล้วยร้อยหวี" ก็เป็นกล้วยประดับอีกชนิดหนึ่งหน้าตาแปลกเสียจนคนที่ไม่เคยเห็นถึงกับจุดธูปไหว้ขอหวยกันเลยทีเดียว แท้จริงแล้วกล้วยร้อยหวีก็เป็นกล้วยอีกสายพันธุ์หนึ่ง บางคนก็เรียกกล้วยงวงช้าง เพราะผลของกล้วยชนิดนี้จะออกผลเป็นหวีกล้วยขนาดเล็กราวร้อยหวี แต่ละหวีมีผลประมาณ 10-15 ผล เมื่อรวมทั้งเครือก็จะมีผลเป็นพันผลเลยทีเดียว แต่ผลกล้วยชนิดนี้เล็กและมีเมล็ดมากเสียจนไม่นิยมกิน จึงนำมาเป็นกล้วยประดับแทน
จากบริเวณที่ปลูกกล้วยประดับ เดินลึกเข้ามาด้านในมาดูดงกล้วยกันบ้าง ในดงกล้วยนี้มีบรรยากาศร่มรื่น มีต้นกล้วยปลูกเป็นแถวเป็นแนวยาวเป็นระเบียบ โดยต้นกล้วยเหล่านี้ก็เป็นกล้วยร้อยกว่าสายพันธุ์ที่สามารถกินได้เกือบทั้งหมด โดยพันธุ์กล้วยที่น่าสนใจก็เช่น กล้วยนาคค่อม ที่จะมีผลเป็นสีแดงอมม่วง กล้วยกล้าย กล้วยผลยาวรูปทรงโค้งงอ ผลเรียงไม่เป็นระเบียบ กล้วยหลอกลิง ที่มักจะหลอกให้ลิงงุนงง เพราะกล้วยชนิดนี้เวลาออกผลจะมีกลีบใบยาวเป็นชั้นปิดเครือกล้วยไว้ จะมองเห็นก็ต่อเมื่อมองจากด้านล่างเท่านั้น พอลิงมองจากพื้นข้างล่างก็จะเห็นผลกล้วย แต่พอปีนขึ้นไปบนต้นจะไปเก็บกล้วยมากินก็กลับมองหาไม่เจอเสียนี่
นอกจากนั้นแล้วก็จะมีกล้วยชนิดอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันนัก เช่น กล้วยเทพนม ที่กล้วยทั้งหวีนั้นจะประกบติดกัน มีลักษณะเหมือนฝ่ามือทั้งสองข้างมาประกบกันพนมมืออยู่ จึงเรียกกล้วยเทพนม กล้วยหอมพันธุ์ซูเปอร์แคระ เพราะต้นเล็กเตี้ยสมชื่อ อีกทั้งยังมีกล้วยพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มี เช่น กล้วยทิ้งปลี กล้วยตานีดำ ที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ใกล้บ้านเรานี่เอง
กล้วยบางต้นกำลังออกปลี บางต้นมีแต่ใบ และบางต้นก็กำลังมีลูกสุกเหลืองพร้อมกิน ถ้าใครไปเยี่ยมชมช่วงกล้วยสุกก็จะได้ลิ้มรสกล้วยประเภทต่างๆกันด้วย ดังนั้นศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ แห่งนี้จึงเป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากของจริง ได้ทั้งดู ทั้งสัมผัส และลิ้มรสชาติ โดยเนื้อหาในห้องเรียนนั้นก็มีเนื้อหาเป็นเรื่อง "กล้วย" ล้วนๆ อ้อ...และหากใครอยากได้หน่อกล้วยพันธุ์ต่างๆไปปลูกที่บ้าน ก็ลองติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูได้
และหากเดินชมสวนกล้วยจนทั่วแล้ว ก็อย่าลืมมาเดินเล่นเย็นๆ บนเรือนไทย อันเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ" ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นไปแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นเรื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย. 2539 โดยตัวพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ด้วยกัน
ในเรือนไทยหลังนี้แบ่งห้องจัดแสดงออกเป็นสามห้องด้วยกัน คือ "ห้องประวัติศาสตร์เมือง" ที่กล่าวถึงความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมไปถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะธรรมชาติวิทยาในท้องถิ่น
ห้อง "ชาติพันธุ์วิทยา" จัดแสดงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกำแพงเพชร อีกทั้งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานจังหวัดกำแพงเพชร ไม่ว่าจะเป็นม้ง เย้า กะเหรี่ยง ลีซู โดยจัดแสดงในรูปของหุ่นจำลองการแต่งกาย และสภาพความเป็นอยู่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น และห้อง "มรดกดีเด่นของกำแพงเพชร" มรดกดีเด่นเมืองกำแพงเพชร จัดแสดงของดีของจังหวัดกำแพงเพชรอย่างพระซุ้มกอ หนึ่งในพระเบญจภาคีอันมีชื่อเสียง และกล้วยไข่ พืชเศรษฐกิจของเมืองกำแพงเพชรอีกด้วย
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ และศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่ที่ 104/5 ถนนปิ่นดำริห์ อำเภอเมือง จ.กำแพงเพชร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 09.00-16.30 น. สำหรับพิพิธภัณฑ์ฯ เสียค่าบัตรผ่านประตู 10 บาท/คน ค่าธรรมเนียมการเข้าชมมัลติมีเดีย 250 บาท/คณะ ส่วนบริเวณศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย ไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-5572-2342