xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเอกชนเช่าอุทยานฯ : คนเล็กรักษ์ป่า คนโตขายป่า/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
พิทักษ์ป่าคนเล็กๆกับภารกิจปกปักรักษาป่าอันยิ่งใหญ่
ไม่ใช่เพราะ “คนใหญ่คนโต”ประเภทคับบ้านคับเมือง(จำนวนหนึ่ง)หรอกหรือ? ที่ทำให้บ้านนี้เมืองนี้ลุ่มๆดอนๆ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ไม่ไปถึงไหนสักที

ไอ้คนใหญ่คนโตประเภทนี้มันก็ดีแต่หลอกประชาชนให้เลือกมันเข้ามาเป็น ส.ส. เป็นรัฐบาล แล้วเข้ามาทำริยำตำบอน โกงบ้านกินเมือง ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เผด็จการ กดขี่ข่มเหง จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ขายชาติขายแผ่นดิน ขายกินแม๋งทุกอย่าง

และดูเหมือนว่าไอ้สันดานแบบนี้มันยังไม่เคยหมดไปจากคนใหญ่คนโตในบ้านเรา เพราะเมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวออกมาว่า คนโตบางคนในวงการป่าไม้บ้านเรางานเข้า กระฉูดไอเดีย กระเหี้ยนกระหือรือ ต้องการเปิด 10 อุทยานแห่งชาติชื่อดังให้เอกชนเข้ามาสัมปทาน พร้อมกับยกเรื่องของการท่องเที่ยวขึ้นมากล่าวอ้าง

โหย...ไม่รู้ใครหนอมันช่างคิดและเอาส่วนไหนคิด เพราะกรมอุทยานฯนั้นมีหน้าที่ดูแลรักษาป่า ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ สมบัติของคนไทย และสมบัติของมนุษยชาติ แต่นี่กลับกระทำการที่เข้าข่ายการ“ขายป่า”เฉยเลย

เมื่อสภาพการณ์เป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ทำให้ผมอดนึกถึงบรรดาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คนเล็กๆที่ลำบากลำบน ทุ่มเทกายใจ ทำหน้าที่คอยดูแลปกปักรักษาป่าในบ้านนี้เมืองนี้ไม่ได้

1...

กลางวงเหล้าขาว ค่ำคืนแรกแห่งอุทยานแห่งชาติศรีพังงา จ.พังงา เมื่อหลายปีที่แล้ว

ผมร่วมร่ำสุรากับพี่พิทักษ์ป่าหลายคน หลังจากที่ช่วงบ่ายพวกพี่เขาพาผมกับเพื่อนเดินป่าแล้ว สนิทสนมคุ้นเคยกัน

พี่ อ. (ขอสงวนชื่อจริงเพื่อไม่ให้เกิดความยากลำยากในการทำงานของพี่แก) คือคนที่ผมคุ้นเคยที่สุด แกเป็นมือกีตาร์และปิศาจสุราประเภทกินถึงไหนถึงกัน ซึ่งไม่ว่าวงสุราจะเลิกดึกแค่ไหนแกก็สามารถตื่นแต่เช้าเดินเข้าป่าได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวและไม่สะทกสะท้าน

“กินเหล้าอย่างนี้แล้วตื่นมาเดินป่านะไม่เท่าไหร่หรอก ขอเพียงกินเหล้าให้เป็นเท่านั้น แต่ที่พี่เคย “น็อก”นะ ไม่ใช่เพราะเหล้าหรืออดนอน แต่เราน็อกเพราะถูกไข้ป่าเล่นงาน”

จากคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ดูเหมือนว่างานนั้นพี่ อ. โดนพิษไข้ป่าเล่นงานจนหมดสภาพ นอนหนาวสั่น เหงื่อแตกโชก แถมยังเพ้ออย่างคนเสียสติ

แต่กระนั้นพี่ อ.บอกกับผมว่า “ไข้ป่า” ยังไงก็ไม่น่ากลัวเท่า“ไข้โป้ง” เพราะไอ้โรคนี้มันเป็นได้แค่หนเดียวเท่านั้น

2...

พิทักษ์ป่าส่วนใหญ่แม้จะเข้มแข็ง แข็งแกร่ง แต่ใครบ้างล่ะไม่กลัวไข้โป้ง ยิ่งในยุคก้าวล้ำทางเทคโนโลยีที่บรรดาโจรร้ายผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ฆ่าสัตว์ มีอาวุธทันสมัยเพียบพร้อม ทั้งไรเฟิล อาก้า แต่พิทักษ์ป่าล่ะมีอะไร?

“พวกเราก็มีลูกซองเก่าๆเอาไว้ตีงูไง”

นี่คือตลกร้ายจากพิทักษ์ป่าคนหนึ่ง ก่อนที่แกจะเล่าต่อว่า

“ไอ้ลูกซองเก๋ากึ๊กที่เรามีเนี่ย บางวันก็ยิงได้ บางวันก็ขัดลำกล้อง แถมมันมักขัดลำกล้องตอนที่เจอกับคนร้ายเสียอีก นี่เว้ากันซื่อๆ ไม่ต้องถึงขนาดคนร้ายมีปืนหรอก เอาแค่มีมีดเล่มใหญ่ๆ นี่แหละ ถ้าเกิดเขาสู้ขึ้นมา บางทีเราที่มีปืนก็สู้เขาไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าปืนมันยิงไม่ได้ ที่พกไปนี่แค่เอาไว้ขู่ให้พวกคนร้ายกลัวเท่านั้น”

และด้วยความไร้ด้อยของอาวุธรวมถึงความไร้สมรรถภาพของคนโตแห่งวงการป่าไม้(ที่ไม่อนุมัติงบประมาณในด้านนี้)ได้ทำให้พิทักษ์ป่าบาดเจ็บ ล้มตาย จากการปะทะกับคนร้ายไปเป็นจำนวนมาก

นับว่าโรคไข้โป้งเป็นความเสี่ยงที่ไม่มีใครอยากเจอ แต่ว่าบางครั้งมันก็มักจะมาเยี่ยมเยือนแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวอยู่บ่อยครั้ง

3...

คนเล็กๆอย่างพิทักษ์ป่า นอกจากจะเผชิญความสุ่มเสี่ยงต่างๆแล้ว สิ่งหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมากก็คือ การทำความเข้าใจกับชุมชน ชาวบ้าน ที่มีพฤติกรรมเข้าป่าล่าสัตว์ ตัดไม้ และพึ่งพาอาศัยหากินกับผืนป่ามาอย่างยาวนาน

จริงอยู่ในอดีตผืนป่ามีมากและอุดมสมบูรณ์ พวกเขาอาจมองไม่เห็นถึงผลกระทบต่อการทำลายป่า แต่วันนี้เมื่อป่าหดหาย ผลกระทบย่อมหายใจรดต้นคอเรามากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ตามอุทยานฯส่วนใหญ่ จึงตั้ง“ทีมสื่อความหมายธรรมชาติ”ขึ้นมา เพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้านและปลูกฝังแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ผืนป่าและทรัพยาการธรรมชาติให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งหนึ่งในจนท.สื่อความหมายที่ผมคุ้นเคยดีก็คือ พี่ อ. แห่งอุทยานฯเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ที่อุทิศชีวิตส่วนใหญ่ให้กับผืนป่าในเมืองไทย

พี่ อ. เป็นเด็กหนุ่มจากเมืองกรุงฯ แต่ออกเดินทางด้วยหัวใจแสวงหาหนีความวุ่นวายในเมืองใหญ่สู่ป่าเขาคิชฌกูฏ ในปี พ.ศ. 2529 เพื่อรับหน้าที่เป็นพิทักษ์ป่า ทั้งๆที่แกมีโอกาสทำงานนั่งโต๊ะสบายๆ กินเงินเดือนสูงๆ แต่ไม่ทำ กลับเลือกเดินหน้าเข้าป่ามาลำบากลำบนและเสี่ยงภัยต่างๆนานา

"สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้ "ไม่เข้าใจ"ว่าพวกเรามาทำอะไรกัน อยู่ดีๆ พวกเราก็มาบอกให้พวกเขาหยุดล่าสัตว์ หยุดตัดต้นไม้ ทั้งที่หลายๆคนมีอาชีพเป็นพรานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แม้กระทั่งการไปสอนลูกหลานเขาให้มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ แรกๆพวกเขาก็ยังงงๆ คิดว่าพวกเราทีมสื่อความหมายจะมาปลุกระดมลูกหลานเขาหรือเปล่า" พี่ อ.เล่าความหลัง

ไอ้ความ"ไม่เข้าใจ"นี่แหละ ถือเป็นปัญหาระดับคลาสสิคของทีมสื่อความหมายฯที่มีมาช้านาน ซึ่งมันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแต่กับชาวบ้านเท่านั้น แต่ว่าความไม่เข้าใจนั้นยังเกิดขึ้นกับในส่วนของคนในภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ในเมืองไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคนในกรมป่าไม้หรือคนในกรมอุทยานฯ โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มองว่า ผืนป่าเมืองไทยนั้นเป็นของพวกตน ชาวบ้านนั้นไม่มีสิทธิแต่ประการใดทั้งๆที่ในอุทยานแห่งชาติหลายๆแห่งชาวบ้านอยู่กันมานับร้อยปีก่อนที่จะมีการประกาศเป็นอุทยานฯด้วยซ้ำ

นั่นจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุทยานฯกับชาวบ้านไปด้วยกันไม่ได้ ถึงขนาดในบางพื้นที่ต้องแก้กันด้วยปืนเลยทีเดียว และนั่นก็ทำให้งานสื่อความหมายฯที่คนเล็กๆเหล่านี้ พยายามสร้างขึ้นมาในสมัยก่อน ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะว่าคนใหญ่คนโตหลายๆคนในวงการป่าไม้ไม่ให้การสนับสนุน

เมื่อไม่ให้การสนับสนุนงบประมาณตรงส่วนนี้ก็ไม่มี ทำให้เจ้าหน้าที่สื่อความหมายและพิทักษ์ป่าทั่วไทย จำเป็นต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคต่างๆนานาๆ กว่าจะมาถึงวันนี้ ที่สถานการณ์การอนุรักษ์ป่าและธรรมชาติในบ้านเราดูดีขึ้นบ้าง ซึ่งนั่นก็คือเรื่องจริงที่คนเล็กๆอย่างพิทักษ์ป่าต้องประสบพบเจอ

แต่...อนิจจาในขณะที่ “คนเล็กๆ” อย่างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ทำงานได้เงินไม่กี่พันบาทต่อเดือน ได้ทำหน้าที่ยืนหยัดต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณ เพื่อคอยปกปักรักษาผืนป่าในเมืองไทยเอาไว้ไม่ให้ถูกทำลายไปมากกว่านี้ แต่ทว่า"คนใหญ่คนโต"ในแวดวงป่าไม้บ้านเรากลับกระทำการในสิ่งตรงกันข้าม ด้วยการพยายามยกป่า ขายป่า ให้เอกชนมาเช่าในระยะยาวเฉยเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น