xs
xsm
sm
md
lg

“แม่กลางหลวง” ชื่นฤดีมณีไพร “หนึ่งใจเดียวกัน” ควบ “รักจัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทุ่งนาขั้นบันไดอันเขียวขจีกว้างไกลที่บ้านแม่กลางหลวง
ภาพยนตร์เรื่อง “หนึ่งใจเดียวกัน” ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่ทรงอำนวยการสร้าง ประพันธ์บทภาพยนตร์ และทรงแสดงนำ นอกจากจะสร้างความประทับใจจนทำให้ ”ผู้จัดการท่องเที่ยว” บ่อน้ำตาแตกอยู่บ่อยครั้งแล้ว เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือ ฉาก โลเกชั่น อันงดงาม โดยเฉพาะ “โรงเรียนเพียงหลวง” ฉากไฮไลท์สำคัญของเรื่องที่ตั้งโดดเด่นอยู่ท่ามกลางนาขั้นบันไดอันสวยงามซึ่งโดนใจเรานักหนา จนต้องสอบถามผู้รู้ว่าสถานที่ของจริงนั้นอยู่ที่ใด?

ในเรื่องหนึ่งใจเดียวกัน(สมมติ)ให้โรงเรียนเพียงหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านเพียงหลวง หมู่บ้านเล็กๆกลางป่าใหญ่ ในอำเภอห่างไกลของจังหวัดเชียงราย แต่กับสถานที่จริงโลเกชั่นถ่ายทำโรงเรียนบ้านเพียงหลวงนั้นตั้งอยู่ที่ บ้านแม่กลางหลวง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เชิงดอยอินทนนท์ ดินแดนสูงสุดแห่งสยาม

ซึ่งก่อนออกเดินทางเราสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ต พบว่านี่คือหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ อันสงบงามท่ามกลางป่าใหญ่ ที่ยังคงไว้ด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ แบบอดีต อีกทั้งชาวชุมชนยังผูกพันแนบแน่นกับธรรมชาติ ป่า ดิน น้ำ ต้นไม้ ที่บ้านเราในยุคทุนนิยม(สามานย์)รุมเร้า วิถีแบบนี้นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอกเสี้ยวลาดชันและลำบากในบางช่วง
ครั้นเมื่อได้ข้อมูลคร่าวๆบวกกับหัวใจที่ร่ำร้องโบยบินไปไกล เราก็ไม่รีรอรวบรวมสมัครพรรคพวกออกเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านแม่กลางหลวงโดยทันที

รักจัง รักจริง น้ำตกผาดอกเสี้ยว

บ่ายอ่อนๆ ณ จุดนัดพบ เชิงดอยอินทนนท์

พี่สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง (หรือชื่อ“สาทู”ในภาษาปกาเกอะญอ) และทีมงานเจ้าหน้าที่นำเที่ยวประจำหมู่บ้านอีก 2 คน ออกมาต้อนรับคณะเรา พร้อมพาเราออกเดินลุยถั่วสู่จุดหมายในทันที เนื่องจากเบื้องหน้าฝนฟ้าเริ่มตั้งเค้า

สำหรับเส้นทางเดินป่าเที่ยวบ้านแม่กลางหลวงนั้นมีอยู่ประมาณ 3-4 เส้นทาง ซึ่งในทริปนี้เราเลือกใช้เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอกเสี้ยว ที่มีระยะทางเดินป่าแบบไม่ยากลำบาก(เพราะเดินลงเป็นส่วนใหญ่) ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ กม.30 ริมถนนขึ้นดอยอินทนนท์

ช่วงแรกของเส้นทางเราเดินผ่านผืนป่าในเขตหมู่บ้านม้งเคียงคู่ไปตามลำน้ำแม่กลาง ที่รอบข้างร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยรวมถึงบรรดามอสเฟินที่ดูเขียวชอุ่มนุ่มตา ก่อนที่จะไปพบกับแปลงผักที่ชาวบ้านปลูกส่งโครงการหลวงอินทนนท์เป็นอีกหนึ่งจุดสนใจ จากนั้นอีกไม่กี่อึดใจเราก็พบกับสายน้ำตกผาดอกเสี้ยวชั้นบนไหลเป็นสายขาวฟูฟ่อง
เขียวชอุ่มนุ่มตากับมวลหมู่มอสบนก้อนหินริมทางเดิน
หน้าฝนอย่างนี้สายน้ำย่อมไหลบ่ามากเป็นธรรมดา สมใจคนในป่าคอนกรีตที่สังคมค่อนข้างขาดแคลนน้ำใจยิ่งนัก

พี่สมศักดิ์ยังนำคณะเราเดินลุยถั่วเคียงคู่สายน้ำไปแบบชิลล์ ชิลล์ ทางช่วงนี้ลาดชันนัก จนชาวบ้านต้องมาทำบันไดเอาไว้ให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นลง

เมื่อในห้างมี “บันไดเลื่อน” ฉันใดก็ฉันเพลที่ในป่าย่อมมี “บันไดลื่น” ให้ใครบางคนในคณะเราเดินลื่นล้มหัวทิ่มหัวตำ เรียกเสียงฮากันพอเหม็นปากเหม็นคอ

จากนั้นลำธารที่ไหลรี่ก็แปรเปลี่ยนเป็นสายน้ำตกชั้น 7 ไหลซู่เป็นสายขาวฟูฟ่องที่คะเนความสูงดูน่าจะราวๆ 20 เมตรเห็นจะได้

น้ำตกผาดอกเสี้ยวชั้นนี้ถือเป็นชั้นไฮไลท์ เนื่องจากมีความสวยงามสุด แถมยังดูเท่ด้วยสะพานไม้สร้างอย่างเรียบง่ายข้ามธารน้ำตก ช่วยเสริมองค์ประกอบให้น้ำตกชั้นนี้กลายเป็นจุดพักและจุดยืนแอ๊คท่าถ่ายรูปสำคัญของเหล่านักท่องเที่ยว
น้ำตกผาดอกเสี้ยวชั้นน้ำตกรักจัง
เท่านั้นยังไม่พอ หากใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง “รักจัง” (ที่มีโลเกชั่นหลักอยู่ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน) ก็จะคุ้นตากับสายน้ำตกแห่งนี้เป็นพิเศษ เพราะน้ำตกผาดอกเสี้ยวหรือที่บางคนเรียกว่า “น้ำตกรักจัง” ชั้นนี้มีโอกาสได้เข้าฉากอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะฉากที่คู่พระ-คู่นาง ระหว่าง พระเอกสุดหล่อ ฟิล์ม : รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ และสาวสวยเซ็กซี่ พอลล่า เทเลอร์ มานั่งจู๋จี๋กันบนสะพานนั้น ถือเป็นไอดอลให้กับคู่รัก คู่ปิ๊ง นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

สำหรับทริปนี้ คณะเราใช้กันแต่กล้องดิจิตอล ไม่มีใครใช้กล้องฟิล์มเลยสักคน จึงไม่สามารถหาฟิล์มได้ ส่วนสาวพอลล่านั้นก็ไม่มี

แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะแค่เราได้เห็นภาพน้ำตกกับองค์ประกอบอันลงตัวก็ถือว่าหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เพราะความงามของธรรมชาตินั้นได้หล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้มีกำลังวังชากระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ทิวทัศน์นาขั้นบันไดกับกระท่อมน้อยกลางนา
นาขั้นบันได งามจับใจ สวยตรึงตรา

หลังใช้เวลาถ่ายรูป พักเหนื่อย ล้างหน้าล้างตา เดินหามุมฟิล์ม+พอลล่า กันจนถึงเวลาอันสมควรแล้ว พี่สมศักดิ์ก็พา“ผู้จัดการท่องเที่ยว” เดินลุยถั่วต่อจากฉากหนังเรื่องรักจังสู่ฉากหนังหนึ่งใจเดียวกันที่เราเฝ้ารอคอย

ระหว่างทางช่วงนี้ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เดินคุย(เบาๆ)กับพี่สมศักดิ์ไปอย่างออกรสออกชาติ ซึ่งแกได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนของบ้านแม่กลางหลวงว่า

“เมื่อตอนยังเด็กประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้รับเสด็จในหลวงที่เสด็จมายังโครงการหลวงอินทนนท์ ตอนนั้นป่าแถบนี้ค่อนข้างเสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านถางป่า ปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ล่าสัตว์กันมาก แต่หลังจากในหลวงท่านเสด็จ มาให้ความรู้ในอาชีพแก่ชาวบ้านแถวนี้ สภาพป่าก็เริ่มดีขึ้นตามลำดับ”
พี่สมศักดิ์คั่วกาแฟเตาฟืนให้ดื่มกันสดๆ
หลังจากนั้นพอโตขึ้นมาได้มีโอกาสเป็นแกนนำชาวบ้าน พี่สมศักดิ์ก็ศึกษาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง ควบคู่ไปกับการศึกษาในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ

จากนั้นโครงการท่องเที่ยวชุมชนที่บ้านแม่กลางหลวงก็ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว แต่ประทานโทษ ช่วงแรกแป๊กสนิท นอกจากชาวบ้านจะไม่ร่วมมือแล้ว ยังมองพี่สมศักดิ์เป็นหนุ่มติงต๊องชอบทำอะไรประหลาดไม่เหมือนชาวบ้านเขา

แต่เมื่อใจมันรักและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ พี่สมศักดิ์แม้จะท้อบ้างแต่ก็ไม่ถอย เขากับทีมงานที่มี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ได้ค่อยๆปรับเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้านในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ ดินน้ำ และวิถีชีวิตวัฒนธรรม จนทำให้บ้านกลางหลวงมีวันนี้ กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งทางการท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย ที่มีกฎของชุมชนค่อนข้างเคร่งครัด
เฉลว อีกหนึ่งความเชื่อกลางท้องนา
“พวกเรายึดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ทำการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก แต่ปลูกเอาไว้กินนะ ไม่ได้ตั้งใจปลูกเอาไว้ขาย หากข้าวเหลือถึงจะขายบ้างเป็นบางคราว”

พี่สมศักดิ์บอกกับเราบนเส้นทางนาเดินเลียบขั้นบันไดที่ชาวบ้านปลูกข้าวลัดเลาะไปตามภูมิประเทศ ดูเป็นขั้น เป็นชั้น กว้างไกล โดยมีกระท่อมเฝ้านาสร้างขึ้นแบบเรียบง่ายในบางจุด ช่วยให้ภาพนาขั้นบันไดที่เห็นดูสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับช่วงกลางหน้าฝนอย่างนี้นาข้าวที่นี่ดูเขียวขจี สดใส ยามต้องลม ต้นข้าวจะพลิ้วไหว โบกสะบัด ประหนึ่งกำลังเริงระบำรับสายลม ในขณะที่ชาวบ้านที่นี่ต่างก็จูงวัวควายออกมาทำนา ตัดหญ้า อาบน้ำท่ากันริมลำธาร ดูมีชีวิตชีวายิ่งนัก
ผู้หญิงปกาเกอะญอเดินกลับบ้านหลังเลิกงาน
นอกจากการทำนาขั้นบันไดกลมกลืนไปกับผืนป่าและขุนเขาที่โอบล้อมแล้ว ที่นี่ยังมี “เฉลว” ไม้ไผ่ ปักไว้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อดั้งเดิมที่ยังแนบแน่นเคารพนบนอบต่อผืนดินและแม่โพสพ ที่เดี๋ยวนี้เฉลวกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับคนเมืองไม่แพ้กับหุ่นไล่กาเลยทีเดียว

แม้นาขั้นบันไดจะทำให้เราอิ่มตาจนลืมหิว แต่พี่สมศักดิ์ก็กระตุ้นเตือนว่า อย่าอิ่มตาเพลินจนลืมจิบกาแฟสดแบรนด์ “สมศักดิ์” จากสวนของแก ที่ปลูกเอง คั่วเอง-บดเอง(ด้วยแรงงานคน) เตรียมพร้อมไว้ในหมู่บ้านสำหรับผู้ไปเยือน ใครชอบรสเข้ม ขม อ่อน ก็สามารถเลือกชงกันได้ตามใจชอบ ซึ่งน้ำร้อนที่นี่ต้มในกากับฟืน ที่ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” เห็นภาพกาน้ำต้มไฟแบบนี้แล้ว ก็อดฮัมเพลง “คนเก็บฟืน” ของคาราบาวขึ้นมาประกอบกลิ่นกาแฟไม่ได้

งานนี้“ผู้จัดการท่องเที่ยว” จิบกาแฟแบบรสกลางกลมกล่อมให้ตาสว่างขึ้นเล็กน้อย แล้วจึงค่อยๆเดินชมบ้านเรือนในละแวกนั้น ที่มีบ้านหลายหลังจัดทำเป็นโฮมสเตย์ บางบ้านมีสาวนั่งทอผ้า บางบ้านเลี้ยงหมูดำไว้ที่ใต้ถุน รวมถึงมีบ้าน 1 หลังที่พี่สมศักดิ์จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชนเผ่ากันแบบเรียบง่ายตามอัตภาพ
บ้านพักชุมชน(Village Stay)
หลังชมหมู่บ้านแล้ว พี่สมศักดิ์พาเรามุ่งหน้าสู่นาขั้นบันไดช่วงสุดท้ายที่เป็นจุดถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจเดียวกัน ที่วันนี้ฉากที่ใช่ถ่ายทำโรงเรียนเพียงหลวงถูกรื้อถอนไปแล้ว เหลือแต่เพียงทุ่งนาขั้นบันได มองเห็นต้นข้าวเขียวขจีขึ้นลดหลั่นกันไปตามภูมิประเทศดูสวยงาม อิ่มใจดีแท้

ขณะที่ริมทุ่งนาฝั่งริมน้ำที่ไหลเอื่อยๆนั้นมีบ้านพักชุมชน(Village Stay)ปลูกสร้างเอาไว้รองรับนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือไปจากโฮมสเตย์ที่ช่วยเสริมองค์ประกอบแห่งท้องทุ่งนาขั้นบันไดแห่งนี้ให้น่าดูยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงเย็นที่แดดอ่อนแสง ลมเบาๆพัดโชยพลิ้ว ทุ่งนาที่นี่ดูโรแมนติกอย่าบอกใครเชียว(แต่ก็บอกไปแล้ว) จนหนุ่มบางคนในทริปบอกว่า

“โอกาสหน้าจะต้องพาสาวมาเที่ยวที่นี่แบบ 2 ต่อ 2 ให้ได้ เพราะมันช่างดูโรแมนติกแบบเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติดีแท้”
ทุ่งนาขั้นบันไดบริเวณที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใจเดียวกัน
อืม...เรื่องนี้เราเห็นดีเห็นงามด้วย แต่นอกเหนือจากความโรแมนติกแล้ว สิ่งที่ได้จากแม่กลางหลวงก็คือ เราได้เห็นถึงคุณค่าของนาข้าว คุณค่าของชาวนา และที่สำคัญก็คือ “ผู้จัดการท่องเที่ยว” ได้เห็นถึงคุณค่าของหมู่บ้านเล็กๆกลางป่าใหญ่ ที่หากเปิดหัวใจและใส่จินตนาการเข้าไป เราก็จะพบกับเสน่ห์ ความงาม และคุณค่าของบ้านแม่กลางหลวงได้อย่างไม่ยากเย็น

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

บ้านแม่กลางหลวง ตั้งอยู่ในหุบเขานาขั้นบันไดอันเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 เชิงดอยอินทนนท์ ในเขตการปกครองของหมู่ 17 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

การเดินทางสู่บ้านแม่กลางหลวง
สามารถเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 108 (เชียงใหม่ – ฮอด) ผ่านอำเภอหางดง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอจอมทอง เป็นระยะทาง 50 กิโลเมตรโดยประมาณ แล้วเดินทางต่อไปตามเส้นทางอำเภอจอมทอง – อุทยานแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ (ทางหลวงหมายเลข 1009) อีกประมาณ 26 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่บ้านแม่กลางหลวง

ชาวบ้านแม่กลางหลวงล้วนเป็นปกาเกอะญอ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับธรรมชาติ และมีความเชื่อ ประเพณีที่ยึดถือเป็นเอกลักษณ์ ในชุมชนได้มีการจัดการท่องเที่ยวโดยจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และศูนย์วัฒนธรรมปกาเกอะญอ พร้อมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เที่ยวชมและศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่า การทอผ้า การทำนาขั้นบันได แปลงปลูกสตรอว์เบอรี่ แปลงดอกไม้ การขับลำนำที่เรียกว่า อื่อทา ตลอดจนบริการที่พักแบบโฮมสเตย์และที่พักชุมชน (Village Stay) ริมนาขั้นบันได รวมถึงที่พักแบบเต็นท์

ทั้งนี้การเที่ยวชมนาขั้นบันไดนั้นจะเป็นไปตามฤดูกาล คือช่วงหน้าฝนจะเขียวขจี ช่วงหน้าหนาวก็จะเหลืองทองอร่าม ส่วนช่วงหน้าร้อนจะเก็บเกี่ยวเหลือเพียงร่องรอยของท้องนา

สำหรับสนนราคานั้นอยู่ที่ บ้านพัก Home Stay 200 บาท/หลัง/คืน บ้านพักแบบ Village Stay 300 - 2,000 บาท/หลัง (อัตราค่าที่พักมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลท่องเที่ยว) - ค่าอาหาร 50 บาท/คน/มื้อ - ค่ามัคคุเทศก์ท้องถิ่น/ลูกหาบ 200 บาท/คน/วัน ฯลฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บ้านแม่กลางหลวง โทร 08-1020-3615,08-9952-0983 , 08-1960-8856 และสามารถสอบถามสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างบ้านแม่กลางหลวงเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆในจังหวัดเชียงใหม่ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานเชียงใหม่ โทร.0-5324-8604, 0-5324-8607

กำลังโหลดความคิดเห็น