กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมนักหารือ กพร. และ ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หวังอุดช่องโหว่ เร่งสร้างกิจกรรมและทำงานเชิงรุก รั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มวันพัก เผยตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยว จาก สพท. ระบุชัด แหล่งท่องเที่ยวฮอทฮิต ยังเป็นจังหวัดที่มีเกาะ และทะเลทางภาคใต้
ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้เตรียมแผนการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับ คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ(กพร.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บสถิตินักท่องเที่ยวของสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) มาใช้เป็นข้อมูล เสนอแก่ กพร. โดยจะแสดงให้เห็นว่า แหล่งท่องเที่ยวใดมีจำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างคืนนานที่สุด และแหล่งท่องเที่ยวใด ยังมีจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่คืน
ทั้งนี้จากการเก็บสถิติของ สพท. พบว่า แหล่งท่องเที่ยวประเภทเกาะ และทะเล เช่น ภูเก็ต สมุย ลันตา มี จำนวนวันพักเฉลี่ยนานถึง 7 วัน ขณะที่กรุงเทพมหานคร และ เชียงใหม่ จำนวนวันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวจะประมาณ 1.5 วัน นครศรีธรรมราช และ จังหวัดในภาคอีสานมีวันพักเฉลี่ยไม่เกิน 1-1.5 วัน เป็นต้น
จากข้อมูลดังกล่าว เมื่อนำมาหารือร่วมกับ กพร. และ ผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำให้เกิดการประมวลผลถึงสาเหตุว่าเพราะอะไร นักท่องเที่ยวจึงพักน้อยคืน และควรทำอย่างไรให้ยืดวันพักของนักท่องเที่ยวออกไปได้นานขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การนำเสนอสินค้าทางการท่องเที่ยวที่หลากหลาย รวมถึงต้องประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมีกิจกรรมได้ทำมากขึ้นก็จะช่วยให้มีวันพักนานขึ้น เป็นต้น
“ปัจจุบัน ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะได้รับจัดสรรงบประมาณ ไม่เพียงพอที่จะสามารถจัดสรรมาเพื่อใช้ทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อหารายได้ให้กับประชากรในจังหวัด เป็นการช่วยเศรษฐกิจของคนในจังหวัดให้ดีขึ้น ซึ่งแผนงานด้านยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวก็บรรจุไว้ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณไปยังจังหวัดนั้นๆด้วย และรายได้จากการท่องเที่ยวก็จะนำไปประกอบการประเมินผลงาน หรือการวัดค่าKPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด”
อย่างไรก็ตามการจัดเก็บข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย ล่าสุด สพท. สามารถรายงานตัวเลขเฉพาะที่ด่านสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ถึงเดือนมิถุนายน 2551 รวม 6 เดือน ขณะที่ตัวเลขจากทุกด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้งประเทศ รายงานได้ถึงเดือนมีนาคม 2551 รวม 3 เดือน ซึ่งมีความว่องไวเทียบเท่ากับสมัยที่ ททท.เป็นผู้จัดเก็บแล้ว โดยตัวเลขเฉลี่ย 6 เดือน มีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านคนต่อเดือน ดังนั้น จึงค่อนข้างมั่นใจว่า สถานการณ์นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ยังเติบโตต่อเนื่อง ถึงสิ้นปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะ 80% ของนักท่องเที่ยวที่มาประเทศไทย จะเดินทางมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ