xs
xsm
sm
md
lg

“งาช้างดำ”ของล้ำค่าเมืองน่าน (โชคดีที่ไม่กลายเป็นงาช้างทอง)/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี

“...โอ้ดวงจำปา....เวลาซมดอก นึกเห็นพันซ่อง....มองเห็นหัวใจ...เฮานึกขึ้นได้....ในกลิ่นเจ้าหอม”

ดวงจำปา : เพลงประจำชาติลาว

“ดวงจำปา” เป็นภาษาลาว หมายถึงดอก“ลั่นทม”หรือ“ลีลาวดี”ในภาษาไทย

เวลาเห็นต้นลั่นทมขึ้นเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวคราใด ใจผมมักจะอดนึกไปถึงเพลงดวงจำปาไม่ได้ และเหตุการณ์แบบนี้มันก็เกิดขึ้นกับผมอีกครั้งหนึ่ง ที่“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน”

ที่นี่มีต้นลั่นทมปลูกเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวบนเส้นทางเดินเล็กๆ บริเวณด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ ช่วงที่ผมไปเยือนลั่นทมไม่มีดอก แถมยังผลัดใบเกือบเหี้ยนเตียน แต่ว่าก็ดูสวยงามโรแมนติกไปอีกแบบ โดยเฉพาะยามเมื่อเดินอยู่ใต้ต้นลั่นทมที่แผ่สยายกิ่งก้านโค้งตัวเข้าหากัน มันให้ความรู้สึกว่ากำลังเดินอยู่ใต้ซุ้มลั่นทมยังไงยังงั้น

ส่วนใครที่กำลังอยู่ในช่วงอกหัก รักคุด หากพกหัวใจเปลี่ยวเหงาไปเดินลอดซุ้มลั่นทมคนเดี่ยวโด่ๆโดดเดี่ยว บางทีภาพบาดตาบาดใจใต้ซุ้มลั่นทมอาจจะทำให้เกิดความระทมก็เป็นได้

นี่เขาเรียกว่าบรรยากาศและสภาพการณ์พาไป ซึ่งผมขอแนะนำว่าควร“ปลง” เป็นดีที่สุด และหาความสงบใจด้วยการเดินไป“วัด”ที่อยู่ห่างกันเพียงไม่กี่ก้าว ในบริเวณสวนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์นั่นแหละ

หลายๆคนเมื่อไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ฯน่านแล้วอาจจะงงๆว่าในเขตพิพิธภัณฑ์นี้มีวัดด้วยหรือ?!?

คำตอบคือ“มีครับ” ชื่อ“วัดน้อย” ที่หลายๆคนเห็นแล้วไม่นึกว่าเป็นวัด เพราะตั้งอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ตัววัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีขนาดเล็กจิ๋ว กว้างเพียง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร และสูงแค่ 3.25 เมตรเท่านั้น

เชื่อกันว่านี่คือวัดที่เล็กที่สุดในเมืองไทย และบางทีอาจจะเป็นวัดที่เล็กที่สุดในโลกเสียด้วยซ้ำ

วัดน้อยนอกจากจะมีขนาดเล็กน้อยสมชื่อแล้ว ประวัติความเป็นมาก็ถือแปลกไม่เบา คือปกติเราจะพบแต่วัด“ตกสำรวจ” แต่วัดแห่งนี้กลับเป็นประเภท“เกินสำรวจ”เฉยเลย

เพราะจากป้ายบอกประวัติที่ตั้งไว้ข้างๆวัด ระบุว่า...จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา เชื่อว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูล ถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนวัดเกินไป 1 วัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมาให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป พระองค์เข้าเฝ้ารัชการที่ 5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416 วัดน้อยคงสร้างหลังจากนั้น...

และนั่นคือหนังตัวอย่างเล็กๆน้อยๆในบริเวณพิพิธภัณฑ์ฯน่าน พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมติด 1 ใน 10 ของประเทศ และมีผู้เข้าชมสูงสุดในภาคเหนือ

นั่นเป็นเพราะพิพิธภัณฑ์ฯน่านมีสิ่งดึงดูดระดับแม่เหล็กอย่าง“งาช้างดำ”หนึ่งเดียวในเมืองไทย เป็นไฮไลท์ให้คนตีตั๋วเข้าไปเที่ยวชม

งาช้างดำจะต่างจากงาช้าง(ขาว)ทั่วไปแค่ไหน เอาไว้เมื่อถึงห้องงาช้างดำที่ชั้น 2 คงได้รู้กัน ส่วนตอนนี้ผมขอชมรับรู้เรื่องราวความน่าสนใจของอาคารพิพิธภัณฑ์และสิ่งน่าสนใจในชั้น 1 ก่อน

วันนั้นบังเอิญว่ามีแขกคณะพิเศษเข้าชม ทางพิพิธภัณฑ์จึงจัด อ.สันติ เจ้าหน้าที่อาวุโสของพิพิธภัณฑ์มาบรรยาย นำชม และตอบข้อซักถามต่างๆ ผมจึงถือโอกาส(หรือที่บางคนเรียกว่าฉวยโอกาส)เดินตามคณะพิเศษ แอบฟังคำบรรยายของ อ.สันติไปห่างๆ

ที่ชั้น 1 เมื่อตีตั๋วเดินเข้าไป ก็จะพบกับโถงจัดแสดงเรื่องราวด้านชาติพันธุ์ วิถีชาวน่าน บ้านเรือน เครื่องมือเกษตร ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต การแต่งกาย อาวุธ ผ้าทอ รวมถึงประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ อาทิ พิธีสืบชะตา ทาน(ตาน)ก๋วยสลาก ทานสลากภัต และแข่งเรือ ซึ่งประเพณีแข่งเรือเมืองน่านนี่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ตรง เรือหัวนาค หางนาค ที่ในพิพิธภัณฑ์ได้นำหัวเรือ(หัวนาค)มาจัดแสดงให้ชม

จากนั้นต่อด้วยส่วนหลังของชั้น 1 ที่เป็นส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติ และห้องชนเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ในน่าน 5 เผ่า คือ ไท(ย)ลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และตองเหลือง

เผ่าหลังนี่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเมืองไทยมีเพียงแพร่และน่านเท่านั้นที่สำรวจพบว่ามีเผ่าตองเหลืองอาศัยอยู่ ส่วนที่หลายๆคนมักเรียกเขาว่า“ผีตองเหลือง”นั้น ก็น่าจะทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าจริงๆแล้วพวกเขาก็คือคนเหมือนเราๆท่านๆนั่นแหละ จึงไม่สมควรเรียกเขาว่าเป็นผีแต่อย่างใด

หลังปูพื้นด้วยการรับรู้เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับเมืองน่านแล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาขึ้นไปชมโบราณวัตถุเก่าแก่ หายากที่ชั้น 2 กันแล้ว

บนชั้น 2 จะจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปวัตถุเป็นส่วนใหญ่ บนนี้ผมได้พบกับพระพุทธรูปไม้มากเป็นพิเศษ สำหรับองค์ที่เด่นที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้น พระพุทธรูปไม้ทรงเครื่อง ลงรักปิดทอง ประทับยืน ที่ตั้งเด่นติดผนังกลางห้องโถง

พูดถึงพระพุทธรูปไม้แล้ว ในพิพิธภัณฑ์ฯน่านมีให้ชมกันหลายองค์ทีเดียว แต่ในจำนวนหลายองค์นั้น มีอยู่ 2 องค์ที่ผมเห็นแล้วอดหดหู่หัวใจไม่ได้ เพราะว่าท่านถูกโจรใจบาปมารศาสนาตัดสรีระท่อนบนตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไป นำไปขายให้กับพวกสะสมวัตถุโบราณ เหลือเพียงข้อเท้าหรือรองเท้า 2 ข้างให้ชมต่างหน้าเท่านั้น

“แล้วทำไมเขาถึงไม่ยกท่านไปทั้งองค์เลยล่ะ ตัดเท้าท่านทิ้งอย่างนี้ ท่านไม่เจ็บแย่หรือ” สาวสะคราญนางหนึ่งปรารภขึ้นมา

“ถ้ายกไปทั้งองค์ จะใส่ท้ายรถปิคอัพไม่ได้ เขาเลยต้องตัดเอาช่วงบนไป แล้วทิ้งรองเท้าไว้ให้เราดูกัน” อาจารย์สันติไขความกระจ่าง ก่อนจะพาเดินไปยัง ห้องจัดแสดง“งาช้างดำ” ไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนมาเที่ยวชมกันเป็นจำนวนมาก

งาช้างดำ ที่ผมเห็นในตู้กระจกในพิพิธภัณฑ์ฯน่าน เป็นงาช้าง 1 ข้าง ไม่ได้มีสีดำสนิทอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นงาช้างสีออกน้ำตาลมีครุฑตัวสีน้ำเงินปีกทองแบกงาช้างอยู่อีกที

อ.สันติ เล่าว่า งาช้างกิ่งนี้ไม่ระบุที่มาแน่ชัด แต่จากตำนานที่เล่าสืบต่อมาระบุว่า อดีตเจ้าผู้ครองนครน่านได้มาจากเมืองเชียงตุง ตอนนั้นเชียงตุงมีงาช้างดำ 1 คู่ เลยแบ่งให้นครน่านมา 1 กิ่งเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี เดิมเก็บไว้ใน “หอคำ”หรือวังของเจ้าผู้ครองนคร จนเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย(เสียชีวิต) ในปี พ.ศ. 2474 บุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครจึงมอบให้เป็นสมบัติของเมืองน่าน

ส่วนตัวครุฑที่ทำแบกรับงานั้น อ.สันติ เล่าว่า ทำจากไม้สักทั้งท่อน สร้างเมื่อปี 2469 ช่วงนั้นมีข่าวว่าเจ้าเมืองทางเหนือบางเมืองแข็งข้อก่อการกบฏ เจ้าเมืองน่านจึงให้ทำครุฑขึ้นมาแบกงาช้างดำวัตถุคู่บ้านคู่เมืองเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่า นครน่านในยุคนั้นยังจงรักภักดีต่อกรุงราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย

อ.สันติ ยังบอกอีกว่า งาช้างดำนี้มีความเชื่อว่า ถ้าใครไปเก็บไว้ในครอบครองแล้วจะเกิดอาเพศ แต่ถ้าเมืองไหนมีไว้เป็นของส่วนรวม จะถือเป็นวัตถุมงคลที่เกิดผลดีต่อบ้านเมืองนั้น

“จากข้อมูลของนักวิชาการที่ศึกษางาช้างดำกิ่งนี้พบว่าเป็นงาช้างตันที่ถูกดึงมาทั้งยวงจากตัวช้าง งาช้างมีอายุหลายร้อยปี ส่วนตัวช้างเจ้าของงาน่าจะมีอายุอยู่ประมาณ 60 ปี นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นงาข้างซ้ายเพราะดูจากลักษณะการเสียดสีของปลายงา” อ.สันติ อธิบาย

สำหรับงากิ่งนี้ จากข้อความที่เขียนไว้ข้างตู้เก็บงา ระบุว่า เป็นงาปลี ยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบตรงโคนได้ 47 เซนติเมตร และมีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยสลักไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" ซึ่งไม่ระบุหน่วยการชั่ง แต่จากการชั่งตามระบบปัจจุบันงากิ่งนี้หนัก 18 กิโลกรัม

“เดิมงาช้างกิ่งนี้ เก็บรักษาไว้ในศาลากลางจังหวัดน่าน ต่อมากรมศิลป์ได้รับมอบให้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ฯน่าน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2525” อ.สันติเล่า ก่อนพูดต่อว่า

“ช่วงมาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯน่านใหม่ๆ งากิ่งนี้จัดแสดงอยู่ที่ห้องโถง เราตั้งแสดงไว้ได้ประมาณ 4 ปีก็ต้องย้ายมาเก็บในห้องนี้ ในปี พ.ศ. 2529 เพราะขืนตั้งแสดงไว้ที่เดิม งาช้างดำกิ่งนี้เปลี่ยนสีแน่”

“มันโดนอากาศทำปฏิกิริยากับผิวงาหรือค่ะอาจารย์”สาวสะคราญขี้สงสัยคนเดิมถาม

“เปล่าหรอกครับ” อ.สันติตอบ แล้ววรรคนิดนึง ก่อนพูดด้วยรอยยิ้มว่า

“แต่มันมีคนไปปิดทอง ขอหวยงาช้างดำกันนะสิ แถมถูกซะด้วย นี่ถ้ายังตั้งไว้ที่เดิม สงสัยงาช้างดำจะต้องกลายเป็นงาช้างทองแน่ๆ”
*****************************************

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ตั้งอยู่ที่ ถ.ผากอง ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เปิด 9.00-16.00 น. ทุกวัน ค่าเข้าชม คนไทย 10 บาท ต่างชาติ 30 บาท โทร.0-5471-0561,0-5477-2777 ในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายภาพ ยกเว้นผู้ที่ทำเรื่องขอเป็นกรณีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น