xs
xsm
sm
md
lg

สุขใจ ไหว้หลวงพ่อโต(อมยิ้ม) ที่ "วัดกัลยาณมิตร"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

หากกล่าวถึง "หลวงพ่อโต" หรือ "ซำปอกง" ฉันเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี แม้ว่าซำปอกงองค์ใหญ่ที่เด่นๆจะมีเพียง 3 วัดในประเทศไทย ก็คือ วัดพนัญเชิง อยุธยา, วัดอุภัยภาติการาม ฉะเชิงเทรา และแห่งสุดท้ายในกรุงเทพมหานคร ที่วัดกัลยาณมิตร นั่นเอง

จากฝั่งพระนครข้ามสะพานพุทธฯไปสู่ฝั่งธนไม่ไกลเป็นที่ตั้งของ "วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร" หรือที่นิยมเรียกสั้นๆกันว่า "วัดกัลยาณมิตร"หรือ"วัดกัลยาณ์" เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ที่วัดกัลยาณมิตร ฉันได้พบกับ หลวงตาเล็ก ซึ่งได้เล่าเรื่องราวของวัดนี้ให้ฟังว่า

"แต่เดิม เจ้าพระยานิกรบดินทร์ เดิมชื่อ โต แซ่อึ่ง ต้นสกุลกัลยาณมิตร เคยทำมาค้าขายกับรัชกาลที่ 3 อย่างซื่อสัตย์มานานจนสนิทเป็นมิตรกัน ในเวลาต่อมา เจ้าพระยานิกรบดินทร์จึงได้อุทิศบ้านและที่ดินบริเวณใกล้เคียงสร้างวัดขึ้นมา แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2368 และถวายเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ.2370 และเนื่องจากเจ้าพระยานิกรบดินทร์ กับรัชกาลที่ 3 มีความสัมพันธ์เป็นมิตรที่ดีต่อกัน รัชกาลที่ 3 จึงได้พระราชทานนามให้วัดแห่งนี้ว่า "วัดกัลยาณมิตร" ตั้งแต่นั้นมา"

หลังจากนั้นฉันจึงตามหลวงตาเล็กสู่ภายในพระวิหารหลวง อันเป็นที่ประดิษฐานของ"พระพุทธไตรรัตนนายก" อันเป็นนามที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้ ในขณะที่ชาวบ้านจะนิยมเรียกท่านว่า"หลวงพ่อโต"ส่วนคนจีนก็จะเรียกว่า "ซำปอกง"

พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ สีทองสุกใสอร่ามตา องค์สูงใหญ่ขนาดที่ฉันต้องเงยหน้าจนสุดจึงจะมองเห็นลักษณะใบหน้าของพระพุทธรูป

"หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า พระพุทธรูปแต่ละยุคแต่ละสมัยจะไม่เหมือนกัน อย่างหลวงพ่อโตเหมือนกันแต่คนละที่ก็ยังมีใบหน้าที่ไม่เหมือนกัน เช่นหลวงพ่อโตที่วัดพนัญเชิง อยุธยา จะมีใบหน้าที่ค่อนข้างบึ้ง เนื่องจากอิทธิพลของบ้านเมืองที่มีความวุ่นวายและศึกสงคราม แต่มาในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 เป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก ดังนั้นหลวงพ่อโตที่วัดแห่งนี้จึงมีใบหน้าที่อมยิ้ม สะท้อนถึงลักษณะสังคมอันสงบสุขร่มเย็นในยุคนั้นๆ" หลวงตาเล็กอธิบาย

ฉันได้ฟังดังนั้น พลันเงยหน้าจนสุดเพื่อมองดูใบหน้าขององค์หลวงพ่อโตอีกครั้ง แล้วก็จริงดังที่หลวงตาเล็กเล่า ใบหน้าขององค์หลวงพ่อโตที่ฉันเห็นมีลักษณะอมยิ้มนิดๆ ดูมีความสุขจนทำให้ฉันเผลอยิ้มตอบท่านไปโดยไม่รู้ตัว คนอื่นๆที่เห็นฉันยิ้มอยู่คนเดียว คงไม่คิดว่าฉันบ้าหรอกนะ เพราะคนส่วนใหญ่ก็มาที่วัดไหว้พระทำบุญเพื่อให้จิตใจสุขสงบกันทั้งนั้น

หลังจากที่ฉันนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กับองค์หลวงพ่อโตสักพัก ก็ทำให้ฉันนึกขึ้นมาได้ว่าสำหรับหลวงพ่อโตองค์ใหญ่เช่นนี้มักจะมีพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตอยู่เสมอๆวันละหลายรอบ แต่วันนี้ฉันยังไม่เห็นพิธีห่มผ้าเลย แม้ผู้คนจะแวะเวียนเข้ามากราบไหว้อยู่ตลอดก็ตาม

หลวงตาเล็กจึงได้บอกให้ฉันหายข้องใจว่า "พิธีห่มผ้าหลวงพ่อโตนั้น ทางวัดได้ยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากว่ามันดูไม่เหมาะสม ไม่น่าดู เวลาฝรั่งมาเห็นมาถ่ายรูปไปเห็นคนขึ้นไปยืนอยู่บนพระพุทธรูปก็ดูไม่เหมาะไม่ควร อะไรๆมันอยู่ที่จิตใจ อยู่ที่การอธิฐาน ดังนั้นมันอยู่ที่จิตใจเรา มันไม่ได้อยู่ที่ผ้า ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ เพียงแต่ยกมือไหว้นับถือท่านก็ดีแล้ว อย่างเช่นเราเอาอะไรต่อมิอะไรมาถวาย เช่น พวกส้ม พวกผลไม้ ถามว่าท่านฉันได้ไหม..ท่านก็ฉันไม่ได้ จริงไหมโยม"

แต่ถึงอย่างนั้นผู้คนก็นิยมถวายสิ่งของต่างๆ เพื่อความสบายใจ ซึ่งสำหรับหลวงพ่อโตองค์นี้ ผู้คนที่มาบนบานสารกล่าวมักจะขอกับองค์หลวงพ่อโตในทุกๆเรื่อง ทั้งเรื่องการค้าขาย ความเจ็บป่วย และความไม่สบายใจทั้งปวง และยังมีเรื่องที่เล่ากันมาว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดลงตรงวัดกัลยาณมิตรแห่งนี้พอดี แต่ไม่เป็นอันตราย ชาวบ้านในละแวกเชื่อกันว่าเพราะองค์หลวงพ่อโตได้เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงไปที่สะพานพุทธฯ จึงทำให้คนที่มาหลบในวิหารปลอดภัย

เรื่องนั้นจะจริงหรือไม่ฉันก็ไม่อาจจะรู้ได้ แต่ที่แน่ๆที่ฉันเห็นก็คือปัจจุบันนี้มีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้หลวงพ่อโตกันอย่างต่อเนื่อง แม้วันนั้นจะไม่ใช่วันทางศาสนาหรือวันพิเศษใดๆ นั่นทำให้ฉันนึกภูมิใจว่าแม้สังคมจะเจริญไปมากเพียงใด แต่คนไทยก็ยังคงยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

สำหรับ "พระวิหารหลวง" แห่งนี้ รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นมาในปี พ.ศ.2380 วางรากฐานโดยไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้วิธีขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันสลักลายดอกไม้ปูนปั้นประดับกระจก ประตูหน้าต่างเป็นไม้สักแผ่นเดียวเขียนลายรดน้ำลายทองรูปธรรมบาล ด้านในพระวิหารหลวงมีผนังเป็นลายดอกไม้

หน้าของพระวิหารมีซุ้มประตูหินและตุ๊กตาหินศิลปะแบบจีน ด้านข้างมี "หอระฆัง" ที่สร้างขึ้นโดย พระสุนทรสมาจาร (พรหม) เมื่อปี พ.ศ.2476 ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง 9 เมตร สูง 30 เมตร ด้านล่างใช้แขวน"ระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย" โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 192 เซนติเมตร หนักถึง 13 ตัน เลยทีเดียว ส่วนด้านบนประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ

หอระฆังแห่งนี้เป็นอีกที่หนึ่งที่ผู้คนที่มาเยือนวัดกัลยาณมิตรมักจะแวะมาตีระฆังยักษ์ใบนี้กันรวมถึงฉันด้วย ด้านข้างของพระวิหารด้านหนึ่งขนาบด้วย "พระอุโบสถ" ที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีพระพุทธรูปหล่อปางปาลิไลยก์(ป่าเลไลย์)ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งถือเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์

พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุหรือเข่า พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มักนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

อีกด้านหนึ่งของพระวิหารหลวงคือ "พระวิหารน้อย" ซึ่งมีลักษณะเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีภาพเขียนพุทธประวัติ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี "หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ" รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2408 แทนหอไตรหลังเดิม เพื่อเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ เป็นอาคารสองชั้นก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ด้านหน้าของวัดมี "ศาลาท่าน้ำ" ผู้คนที่มาทำบุญที่วัดมักจะนิยมมาให้อาหารปลาและนกพิราบที่มีอยู่มากมายบริเวณศาลาท่าน้ำ นอกจากนี้บริเวณนี้ยังสามารชมวิวทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างกว้างขวางสวยงามอีกด้วย

หลังจากที่ฉันนั่งตากลมชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้สักพัก พระอาทิตย์ก็เริ่มคล้อยต่ำลง คงได้เวลาที่ฉันจะลาจากวัดกัลยาณมิตรแห่งนี้กลับเสียที ซึ่งแม้จะเย็นย่ำแต่ฉันก็ยังคงเห็นผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้หลวงพ่อโตกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยชรา นี่ก็เป็นภาพความประทับใจอีกอย่างของฉันนอกจากความอิ่มบุญอิ่มใจที่ฉันได้กลับมาจากการมาวัดในครั้งนี้

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร" ตั้งอยู่ที่ 371 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ พระวิหารหลวงเปิดให้ชมเวลา 07.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-2466-4643, 08-1983-8754

กำลังโหลดความคิดเห็น