xs
xsm
sm
md
lg

"หมู่บ้านลำไทร" ชุมชนพอเพียงกลางป่าคอนกรีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"...คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง….สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่ามีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้แต่ว่าพอ..."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

นี่คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งหลายๆ คนต่างก็น้อมรับเอาพระราชดำริของพระองค์มาเป็นแนวทางปฏิบัติ และมีอยู่ในพื้นที่หนึ่งในกรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกให้เป็น"พื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีในการปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรินี้

พอเพียงในกรุงเทพฯ

ในแขวงโคกแฝด เขตหนองจอก แถบชานเมืองของกรุงเทพมหานคร มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า "ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา" หรือ "หมู่บ้านลำไทร" เป็นชุมชนชาวมุสลิมที่ยังคงประกอบอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ภายในชุมชนยังมีทุ่งนาเขียวขจี มีต้นไม้ร่มครึ้ม มีลำคลองใสสะอาด มีบ่อเลี้ยงปลา มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงแพะ บรรยากาศราวกับอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ที่ไหนสักแห่ง

ที่หมู่บ้านแห่งนี้เอง ได้ชื่อว่าเป็น "พื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งถือว่าเป็นแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นพื้นที่กรณีศึกษาฯ โดยหลังจากที่สังคมกำลังตื่นตัวกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ยังคงขาดแนวทางในการปฏิบัติ และยังมีคำถามว่าจะดูตัวอย่างจากที่ไหน อย่างไร ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้คัดเลือกหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่มีความเป็นอยู่สอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และกำลังมีการปฏิบัติหรือดำเนินการตามทฤษฎีนี้อยู่ ในตอนแรกชุมชนที่ได้รับคัดเลือกมาก็มีทั้งหมด 4 แห่งจากทั่วของประเทศ ได้แก่ บ้านร่องกาศใต้ จังหวัดแพร่ บ้านม่วงหวาน-โคกเจริญ จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านหนองกลางดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบ้านวังลุ่ม จังหวัดระนอง

ทั้ง 4 ชุมชนนี้ก็เป็นพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง จากทั้งสี่ภาคของประเทศ แต่มีผู้เสนอเพิ่มเติมว่า น่าจะให้มีพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงในกรุงเทพฯ ด้วย และในที่สุด หมู่บ้านลำไทร ในเขตหนองจอก ก็ได้รับการเสนอขึ้นไป เป็นแห่งเดียวของกรุงเทพฯ ที่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยเหตุนี้

อาจารย์สมชาย สมานตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ประจำแขวงโคกแฝด และเกษตรกรดีเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ปี 2549 กล่าวให้ฟังถึงความพอเพียงภายในหมู่บ้านลำไทรที่ปฏิบัติกันมายาวนานว่า

"ความพอเพียงเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งเป็นวิถีเกษตรมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนตอนนี้ก็ยังเป็นเกษตรอยู่ เพราะฉะนั้นวิถีเกษตรมันคือพื้นฐานของชีวิตของชาวชุมชนที่นี่ มันทำให้เรามีทุนชีวิต ทุนชีวิตในปัจจัยเบื้องต้นของชีวิต และรายได้อื่นที่เข้ามาก็ทำให้เหลืออยู่ เพราะไม่ต้องมาจ่ายในเรื่องของอาหารซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต มันก็ทำให้เกิดความพอ พอเพียงในชีวิต"

"และอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องทรัพยากรในท้องถิ่น เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตจริงๆ ได้ เช่น แทบทุกครอบครัวจะมีบ่อน้ำเป็นของตัวเอง บ่อของตัวเองนี้ก็เป็นปัจจัยต้นในเรื่องของการมีน้ำใช้ มีปลาไว้กิน ส่วนคลองในหมู่บ้านที่เราช่วยกันรักษาความสะอาดมันก็มีปลาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพื้นที่น้ำนี่ก็เป็นทรัพยากรของท้องถิ่น เราสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้ และสามารถทำให้เราพึ่งตัวเองได้ และนำไปสู่วิถีความพอเพียงที่เกิดขึ้น ในเรื่องของพื้นที่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องพึ่งตนเองด้วย เพราะความที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญทางด้านวัตถุ เมื่อห่างไกลก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวของตัวเองที่จะพึ่งตนเองได้ ก็เลยเป็นอุปนิสัยของคนในหมู่บ้านนี้ที่ต้องพึ่งตนเองมาโดยตลอด" อาจารย์สมชายกล่าว

ประชากรในหมู่บ้านลำไทรมากกว่า 90% เป็นชาวมุสลิมนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในจุดนี้ อาจารย์สมชายกล่าวว่า เป็นพื้นฐานความพอเพียงที่สำคัญ เนื่องจากการพึ่งตนเองนั้นถือเป็นหลักอย่างหนึ่งของศาสนาอิสลามเลยทีเดียว

"พื้นฐานอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องของหลักการในศาสนาอิสลามที่ชาวบ้านใช้ในวิถีชีวิตของเขามาตลอด วิถีของอิสลามมันเป็นวิถีของการพึ่งตนเองเป็นอันดับต้นๆ เลย คำสอนของศาสนาอิสลามมีตอนหนึ่งกล่าวว่า ‘มนุษย์ที่ดียิ่งก็คือมนุษย์ที่ช่วยเหลือตนเองได้ และช่วยเหลือผู้อื่น’ เพราะฉะนั้นพึ่งตนเองได้ไม่พอ ต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ตรงนี้ทำให้เกิดการช่วยเหลือทางสังคมขึ้นมา การช่วยเหลือนี่เองที่เป็นเป้าประสงค์ของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นความเอื้ออาทร ความพอประมาณ ก็เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่เราใช้ในการดำรงชีวิตมาตลอด"

"ในหลักการของศาสนาอิสลาม ความพอประมาณก็คือการใช้คุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเอง พอประมาณกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ เช่นพอประมาณกับพื้นที่ พอประมาณกับแรงกาย แรงงาน พอประมาณกับทรัพยากร พอประมาณกับค่าใช้จ่าย มันเป็นเรื่องที่เป็นชีวิตมาโดยตลอด" อาจารย์สมชาย กล่าว

"ทีนี้พอมีหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเน้นในเรื่องของการใช้ชีวิตแบบพอเพียง มันเป็นชีวิตจริง มันเป็นสิ่งที่ใช้ได้ในความเป็นจริงที่เราได้ใช้กันมาแล้ว เราก็มาปรับจากปรัชญาของศาสนาและปรัชญาของพระองค์ท่านให้สอดคล้องกัน ซึ่งก็ไม่ต้องมาเริ่มใหม่ แต่เป็นการสานต่อจากชีวิตที่เราเคยเป็นมา ปรับเอาปรัชญาของความพอเพียงมาใช้ และเราก็ได้หลักการทางวิชาการที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาด้วย เป้าหมายของศาสนาอิสลามก็คือเป้าหมายที่จะนำไปสู่ความสุข เช่นเดียวกับเป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียงก็เพื่อสร้างความสุขนั่นเอง จึงเป็นเป้าประสงค์เดียวกัน ถ้าถามว่าเราเริ่มความเป็นชุมชนพอเพียงกันมาเมื่อไหร่ ก็ตอบไม่ได้ เพราะเราเริ่มกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว" อาจารย์สมชาย กล่าวต่อ

9 ฐาน 9 การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

เมื่อได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง ภายในชุมชนจึงต้องมาปรับปรุงและเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้มาศึกษาดูงานได้ทราบแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนหมู่บ้านคลองลำไทรแห่งนี้ โดยอาจารย์สมชายกล่าวว่า

"เดิมเราก็ใช้ชีวิตอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อมาเป็นพื้นที่กรณีศึกษาฯ ทีนี้เราก็มาเสริมเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อให้เกิดการศึกษาที่ง่ายและเป็นรูปธรรมขึ้น และนำชีวิตความเป็นจริงของคนในชุมชนนั้นมาร้อยเรียง ว่าบ้านใครทำอะไรที่เป็นเรื่องเด่นๆ เราก็เอาเรื่องนั้นมาเป็นเรื่องที่เกิดการเรียนรู้ ทีนี้คนต้องการจะดูให้เป็นรูปธรรม ก็จึงทำเป็น 9 ฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แต่ละฐานก็จะนำไปสู่ความพอเพียงในแต่ละด้าน"

สำหรับฐานการเรียนรู้ทั้ง 9 ฐานนี้ ก็ได้แก่ "ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวงโคกแฝด" ซึ่งเป็นพื้นที่รวบรวมข้อมูลทางวิชาการ การประชุม อบรม และสัมมนา อีกทั้งบริเวณศูนย์บริการฯ นี้ยังมีเครื่องผลิตไบโอดีเซลชุมชนขนาด 100 ลิตร/วัน อีกด้วย "แปรรูปอาหาร" เป็นส่วนที่นำเอาผลิตภัณฑ์เกษตรในชุมชนมาแปรรูปเพื่อการถนอมอาหาร เช่น นำกล้วยมาทำกล้วยฉาบ เป็นต้น "บ้านพอเพียง" ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตที่ใช้การเกษตรแบบผสมผสาน ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพอย่างเหมาะสม

"ลำไทรฟาร์ม" บ้านที่เน้นการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยสัตว์ที่โดดเด่นก็คือหงส์ดำ นอกจากนั้นก็ยังมีหงส์ขาว เป็ดแมนดาริน นกสวยงาม และไก่ต่างๆ "ต้นไม้กับบ้าน" ซึ่งเป็นการศึกษาต้นไม้ที่มีความสัมพันธ์กับบ้าน "บ้านปลายนา" กิจกรรมที่เน้นการพึ่งตนเองและพึ่งพิงธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง "พิพิธภัณฑ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชุมชน" ซึ่งสะท้อนความเป็นอยู่ของชาวชุมชนที่ใช้ประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในครอบครัวมาตั้งแต่อดีต

"ฟาร์มแพะนม" ที่มีการเลี้ยงแพะนมสีขาวสะอาดหน้าตาน่ารักที่ให้นมเพื่อการบริโภคและจำหน่ายได้ด้วย และ "สวนเกษตรโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ (ตามแนวพระราชดำริ)" ซึ่งได้จัดสรรพื้นที่ 14ไร่ 81 ตารางวา ออกเป็นสัดส่วนตามแนวพระราชดำริคือ 30:30:30:10 คือเป็นส่วนของนาข้าว สวนผสม และสระน้ำที่ขุดไว้ใช้อย่างละ 30% ที่เหลืออีก 10% เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย

"ในตอนนี้ก็จะมีคนเข้ามาดูงานอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ถือเป็นพื้นที่กรณีศึกษาที่ฯ สมบูรณ์หรือยัง ก็ยังไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว แต่เราทำได้ในระดับหนึ่ง และจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ โดยใช้ภูมิปัญญาของเราเพิ่มเติมขึ้น เช่น แต่ละฐานการเรียนรู้ก็อยากจะทำเอกสารทางวิชาการเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมก็กำลังถอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญาทั้ง 9 ฐานออกมาเป็นรูปเล่ม เผื่อว่าในกรณีที่ฐานตรงนี้เจ้าของเขาไม่อยู่ คนอื่นก็จะสามารถศึกษาได้จากเอกสาร หรือคนที่ไม่ได้เข้ามาดูในพื้นที่ เขาก็จะได้ศึกษาเอาจากเอกสาร จะเรียกเอกสารนี้ว่าองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับวิถีชีวิตแบบพอเพียง" อาจารย์สมชาย กล่าว

โฮมสเตย์ในหมู่บ้านพอเพียง

นอกจากจะเป็นแหล่งศึกษาดูงานแล้ว ที่หมู่บ้านลำไทรก็ยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้ผู้ที่สนใจเข้าพักกันด้วย โดยในส่วนของโฮมสเตย์นี้ก็มีทั้งหมด 10 หลังคาเรือนด้วยกัน โฮมสเตย์ที่นี่ส่วนมากก็จะเป็นส่วนเดียวกับบ้านของเจ้าของบ้านเลย แต่ก็จะมีบางหลังที่สร้างแยกออกมาให้อยู่กันเป็นสัดเป็นส่วน และโฮมสเตย์ทั้งสิบหลังนี้ก็มีชื่อไพเราะต่างๆ กันไป ทั้งบ้านชมเดือน บ้านเก็บตะวัน บ้านพฤกษา บ้านดาหลา บ้านปลายนา บ้านฟ้าใส ฯลฯ

เนื่องจากบริเวณนี้ถือเป็นศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และพื้นที่กรณีศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมักมีคณะดูงานเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของการเกษตรอยู่เป็นประจำ และโฮมสเตย์นี้ก็เกิดมาเพื่อรองรับคณะดูงานเหล่านี้ ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่จะได้ร่วมทำในโฮมสเตย์นี้จึงจะออกเป็นแนวการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการมาเรียนรู้การดำเนินชีวิตการใช้เกษตรแบบผสมผสาน ที่ประสานกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้กิจกรรมการเกษตรที่เน้นการพึ่งตนเอง พึ่งพิงธรรมชาติ รวมไปถึงชมเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตรของชาวชุมชนตั้งแต่อดีต

ที่หมู่บ้านคลองลำไทร จึงเป็นอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครที่มีความน่าสนใจ และถือเป็นหมู่บ้านพอเพียงแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังคงพยายามรักษาความพอเพียงตามหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้จะเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองหลวงที่ได้ชื่อว่าเต็มไปด้วยสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยก็ตาม

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

โฮมสเตย์ที่ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ชุมชนแผ่นดินทองคอยรุตตั๊กวา เขตหนองจอก ราคาที่พัก 100 บาท/คน/คืน ค่าอาหารหลัก 70 บาท/คน ค่าอาหารว่าง 25 บาท/คน ค่าบริการทางมัคคุเทศก์ 500 บาท/คน/วัน ค่าวิทยากร 1,500 บาท/ครั้ง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อาจารย์สมชาย สมานตระกูล โทร.08-7145-0557
กำลังโหลดความคิดเห็น