xs
xsm
sm
md
lg

ยี่เป็งเชียงใหม่...ดาวโคมไฟลอยประดับฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


....วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิงสนุกกันจริงวันลอยกระทง....

"ผู้จัดการท่องเที่ยว" ฮัมเพลงลอยกระทงให้เข้ากับบรรยากาศงานเทศกาลลอยกระทงอันยิ่งใหญ่ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน 12 ตามจันทรคติแบบไทยๆกันสักหน่อยเพื่อบิ้วอารมณ์ ก่อนที่จะขอพามิตรรักนักอ่านไปเยือนจังหวัดเชียงใหม่ สัมผัสกลิ่นอายก่อนงานประเพณียี่เป็งแห่งเมืองเหนือที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันเจ้า

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่บรรยากาศยี่เป็งที่มีการปล่อยโคมลอย ซึ่งดูประหนึ่งดาวโคมไฟสีเหลืองส้มดารดาษเกลื่อนฟากฟ้า เรามาทำความรู้จักกับประเพณียี่เป็งกันก่อนดีกว่า เหตุที่ชาวเหนือเรียกประเพณีลอยกระทง ว่า "ประเพณียี่เป็ง" นั้น เนื่องมาจากคำว่า ยี่เป็ง เป็นภาษาคำเมืองทางภาคเหนือ คำว่า ยี่ แปลว่า สอง ส่วนคำว่า เป็ง มีความหมายตรงกับคำว่า เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งชาวไทยภาคเหนือจะนับเดือนทางจันทรคติเร็วกว่าคนไทยภาคกลาง 2 เดือน ทำให้เดือนสิบสองของไทยภาคกลางตรงกับเดือนยี่ หรือวันเพ็ญเดือนสิบสองตามปฏิทินพุทธศาสนานั้นเอง

ตามพงศาวดารโยนก และหนังสือจามเทวีวงศ์ กล่าวไว้อย่างสอดคล้องกันว่า เมื่อ พ.ศ.1490 ในสมัยที่พระยาจุเลราชได้ครองราชสมบัติในนครหริภุญชัย ได้เกิดโรคระบาด หรืออหิวาตกโรคขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองสุธรรมวดี หรือเมืองสะเทิม แห่งอาณาจักรรามัญ หรือที่รู้จักกันว่า มอญ ต่อมาพระเจ้าพุกาม กษัตริย์พม่าตีได้เมืองสะเทิม ได้เก็บเอากุลธิดาของชาวเมืองไปเป็นบาทปริจาริกาเป็นจำนวนมาก

แต่เมื่อเบื่อหน่ายก็ทอดทิ้งไม่ชุบเลี้ยงเหมือนดั่งก่อน พวกชาวเมืองหริภุญชัยจึงได้อพยพหนีไปอาศัยอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งพระองค์ทรงให้ความอนุเคราะห์ ชุบเลี้ยงเป็นอย่างดี หลังจากที่อาศัยอยู่ไม่นาน ชาวเมืองได้ทราบข่าวว่าโรคระบาดทางนครหริภุญชัยสงบแล้ว ก็คิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองก็พากันกลับมายังนครหริภุญชัยอีกครั้ง

ครั้นถึงเดือนยี่เป็ง เวลาครบรอบที่ได้จากพี่น้องทางเมืองหงสามา ก็ได้จัดแต่งธูปเทียน เครื่องสักการะ บูชา วัตถุข้าวของ ใส่ในกระถางไหลล่องลอยตามแม่น้ำเพื่อเป็นการระลึกนึกถึงญาติพี่น้อง โดยคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะลอยตามน้ำไปถึงญาติที่อยู่ในเมืองหงสาอันไกลโพ้น และเรียกการลอยกระทงนี้ว่า "ลอยโขมด" หรือ "ลอยไฟ"

ส่วนเหตุที่เรียกว่า "ลอยโขมด" นั้น คำว่า โขมด เป็นชื่อผีป่าเรียกกันว่าผีโขมด ชอบออกหากินเวลากลางคืน จะมีพะเนียงแสงไฟเห็นเป็นระยะคล้ายผีกระสือ ดังนั้น กระทงที่จุดเทียนลอยน้ำแสงไฟจะกระทบกับน้ำทำให้เงาเกิดขึ้นสะท้อนวับๆแวมๆ จะเหมือนแสงไฟของผีโขมด ดังนั้นทางล้านนาโบราณ จึงเรียกการลอยกระทงว่า "ลอยโขมด" นั่นเอง

เอาล่ะ เมื่อรู้จักกับประเพณียี่เป็งของชาวไทยล้านนาแล้ว เรามาเรียกน้ำย่อยก่อนวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงกันต่อเลย สำหรับงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาจะเตรียมสะเปาบรรจุดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวสารอาหารแห้ง ลอยไปตามลำน้ำ หรือไม่ก็เตรียมเป็นกระทงลอยเพื่อขอขมาและบูชาพระแม่คงคาคล้ายกับของชาวภาคกลาง

นอกจากจะมีการลอยกระทงล่องสะเปาในยามค่ำคืนแล้ว ก่อนวันยี่เป็ง ชาวบ้านจะตระเตรียมข้าวของที่จะใช้ในงานประเพณี และตกแต่งบ้านเรือนด้วยโคมแขวนให้สวยงามสว่างไสว ครั้งนี้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" จึงถือโอกาสไปยังหมู่บ้านต่างๆที่ทำข้าวของเครื่องใช้ที่สำคัญๆในงานประเพณียี่เป็ง ประเพณีอันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนถึงความเชื่อ ความศรัทธาของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

โดยหมู่บ้านแรกได้แก่ "หมู่บ้านน้ำต้น" ต.บ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ผลิต "ผางประทีป" หรือ "กระถางเทียน" โดยมี แม่แสงคำ จิระผ่อง ชาวบ้านหมู่บ้านน้ำต้น เล่าถึงขั้นตอนในการทำว่า การทำผางประทีป เริ่มจากการเอาดินเหนียวมาตำ คล้ายที่ตำข้าวอันใหญ่ๆ ในสมัยโบราณ หรือในปัจจุบันจะใช้เครื่องตีดินแทนเพื่อทุ่นแรง

จากนั้นนำไปผสมน้ำแล้วนวดให้เข้ากันได้เป็นดินก้อนใหญ่ๆ ขั้นต่อมาคือการปั้นรูปทรงเป็นผางประทีปมีทั้งแบบใหญ่และแบบเล็กทำลวดลาย ลวดลายที่นิยมจะเป็นแบบหยักๆโดยใช้ฝาน้ำอัดลมแบบจีบประกบกัน เมื่อได้เป็นผางประทีปแล้วหากมีขนาดใหญ่ต้องผึ่งแดดให้แห้งก่อนแล้วจึงเอาเข้าอบ แต่ถ้าเป็นอันเล็กเอาเข้าอบได้เลย เมื่ออบได้ที่แล้วเอาไปล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้แห้งอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อย

ต่อไปหันมาดูการทำตีนกากันบ้าง อ๊ะ!.. อย่าเพิ่งตกใจ ตีนกานี้ไม่ใช่ตีนกาบนหน้าคน หากแต่เป็นแกนกลางของผางประทีปหรือของเทียนนั่นเอง ซึ่งแม่แสงคำบอกว่า "การทำตีนกา จะเอาฝ้ายสีขาวมาลงขี้ผึ้งผสมน้ำมันมะพร้าว แล้วเอามาตากลม ต้องตากลมเท่านั้นห้ามมีแดด เพราะถ้าตากแดดขี้ผึ้งจะละลายได้ จากนั้นจึงนำมาฟั่นเป็นตีนกา คงเป็นเพราะรูปร่างหน้าตาเป็นเหมือนตีนกานั่นแหละเขาถึงเรียกว่าตีนกา"

ส่วนเทียนที่ใช้หยอดลงบนผางประทีป แม่แสงคำบอกว่าได้มาจากขี้ผึ้ง และเทียนที่จุดเหลือตอนช่วงเข้าพรรษานำมาผสมน้ำมันมะพร้าวอีกนิดแล้วใส่ปี๊บตั้งไฟให้ลำลายเป็นน้ำเหลว จากนั้นนำตีนกาไปใส่ไว้ตรงกลางผางประทีป และก็หยอดเทขี้ผึ้งเหลวลงในผางประทีปให้เต็ม ทิ้งไว้จนแห้งก็เป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย

สำหรับผางประทีปนี้ ใช้ได้ทุกโอกาสจึงทำให้ "ผู้จัดการท่องเที่ยว" และเพื่อนๆร่วมทริปในครั้งนี้ควักกระเป๋าจับจ่ายซื้อผางประทีปติดไม้ติดมือกันกลับไปอย่างเพลิดเพลินชนิดไม่กลัวหนักกันเลยเชียวหล่ะ

จากบ้านน้ำต้น พวกเราไปต่ออารมณ์เทศกาลยี่เป็งวันเพ็ญเดือนยี่กันที่ "หมู่บ้านเมืองสาตร" ต.หนองหอย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่ทำโคม ทั้งโคมแขวน โคมลอย โคมไฟ และโคมชนิดต่างๆหลากหลายรูปแบบ

ส่วนที่ถือเป็นไฮไลท์ในประเพณียี่เป็ง เมืองเชียงใหม่ ก็คือการปล่อย "โคมลอย" ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวเหนือโดยโคมลอยมี 2 แบบ คือแบบว่าว เป็นแบบที่ใช้ปล่อยตอนกลางวัน จะเน้นด้วยกระดาษหลากสีสันเพื่อให้เห็นเด่นชัดจะใช้การรมควันในการที่ทำให้โคมลอยขึ้นบนท้องฟ้า การจุดโคมลอยในตอนกลางวันมักจะนำเงิน สิ่งของ หรือเขียนข้อความว่าผู้ใดเก็บโคมนี้ได้ก็นำไปรับรางวัลจากผู้จุด

โคมลอยที่ปล่อยในตอนกลางคืน เรียกว่า "โคมไฟ" ตัวโคมจะทำด้วยกระดาษสีขาวเพื่อให้เห็นแสงไฟที่ใช้จุดรมไอร้อนเพื่อให้โคมลอยขึ้น ทำให้เห็นเป็นแสงไฟลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าดูสวยงามมาก การจุดโคมไฟนี้ ตามตำนานกล่าวไว้ว่า ทำเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เฉลียว อุทธิยา ผู้ทำโคมหมู่บ้านเมืองสาตร กล่าวถึงการทำโคม ชนิดโคมไฟว่า แต่เดิมชาวเหนือจะนิยมปล่อยโคมไฟแค่ในประเพณียี่เป็งเท่านั้น เพื่อเป็นการปล่อยทุกข์โศก ปล่อยเคราะห์ภัย แต่ในปัจจุบันใช้ได้ทุกงานทุกโอกาส

สำหรับการทำโคมไฟนั้น เฉลียว อธิบายว่า "เราใช้กระดาษว่าวสีขาวน้ำหนักเบามาทากาวต่อๆกัน มีหลากหลายขนาดแล้วแต่ความชอบ พับก้นคล้ายถุงกระดาษ แล้วนำปลายอีกด้านไปติดกาวกับไม้วงซึ่งทำมาจากไม้ไผ่ขดให้เป็นวงกลม จากนั้นทำเชื้อเพลิง หรือลูกเล่น โดยนำเทียนไขกับพาราฟินไปต้มให้ละลายก่อนแล้วจึงใส่กระดาษทิชชูนำไปต้มด้วย จากนั้นจะใช้ลูกเล่นอันนี้ไปมัดติดกับลวดที่ขึงกับไม้วงตรงกลาง เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการลอย"

ในขณะที่การทำโคมแขวน ที่ใช้แขวนตามต้นไม้ ประตู เพื่อความสวยงามนั้น อรวรรณ คันธวงศ์ อธิบายถึงวิธีการทำว่า "เอาไม้ไผ่เส้นๆมาดักทำเป็นรูปโคมตามโครงที่ทำไว้ จากนั้นใช้กระดาษสาสีๆตัดเป็นช่องติดกาว ติดหาง ให้สวยงามเรียบร้อย หากเป็นโคมแขวนขนาดใหญ่จะนิยมใส่ผางประทีปไว้ด้านในด้วย"

หลังจากที่พวกเราจดๆจ้องๆการทำโคมต่างๆแล้ว ก็เหมือนเช่นเดิม ทุกคนพากันควักกระเป๋าอีกรอบเลือกซื้อทั้งโคมไฟ โคมแขวนขนาดน้อยใหญ่ หอบกลับบ้านกันเป็นแถว กระจายรายได้กันอย่างสนุกสนานสำราญใจ

นอกจากการลอยกระทงล่องสะเปา ปล่อยโคมลอย โคมไฟ และประดับตกแต่งสถานที่ด้วยโคมแขวน ในงานประเพณียี่เป็งแล้ว ชาวเชียงใหม่ยังนิยมตกแต่งซุ้มประตูป่า โดยนำเอาก้านมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย ดอกไม้มาช่วยกันทำซุ้มประตูที่หน้าบ้านและประตูวัด เรียกว่า "ประตูป่า" ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ทำเพื่อต้อนรับพระเวสสันดรเพราะชาวล้านนานิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก และขณะเดียวกันก็มีความเชื่อว่าหากใครฟังเทศน์จนครบ 13 กัณฑ์ จะเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วย

สำหรับปีนี้ใครที่สนใจอยากสัมผัสประเพณียี่เป็งและชมโคมลอยอันสวยงามแบบเก่าแก่ของล้านนา รวมถึงร่วมลอยกระทงแบบล้านนาในเทศกาลลอยกระทงเชียงใหม่ ก็สามารถไปร่วมงานประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ ได้ตั้งแต่วันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2550 ทั่วเมืองเชียงใหม่ ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจให้เที่ยวชมมากมาย อาทิ การประกวดเทพียี่เป็ง การปล่อยกระทงสายล้านนา (กระทงกาบกล้วย) ขบวนแห่โคมยี่เป็ง กาดมั่ว จำหน่ายอาหารพื้นเมือง หัตถกรรมพื้นบ้าน การแสดงวัฒนธรรมพื้นเมืองต่างๆ ฯลฯ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สอบถามข้อมูลประเพณียี่เป็งและเทศกาลลอยกระทงเชียงใหม่เพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลนครเชียงใหม่ โทร.0-5325-9094, 0-5325-9097 หรือที่ ททท. ภาคเหนือ เขต 1 โทร. 0-5324-8604

ที่พักในจังหวัดเชียงใหม่                                    ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่       
เทศกาลและงานประเพณีในจังหวัดเชียงใหม่            ของที่ระลึกจ.เชียงใหม่

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
พืชสวนโลก...กลับมาอีกครั้ง
โครงการหลวงหมอกจ๋าม ชวนชม“พิธีโล้ชิงช้า”ชาวอาข่า
จากลำพูนสู่เชียงใหม่ ตามรอย "พระแก้วขาว" แห่งล้านนา
งามพรรณไม้ใน"สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์"
แอ่วเวียงพิงค์ ชม"หอศิลป์ฯ"เชียงใหม่
ชมความอัศจรรย์ทางธรรมชาติ ที่ "บ่อน้ำพุร้อนฝาง"
"งานปอยออกหว่า" ประเพณีออกพรรษาของชาวไทยใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น