กระบวนพยุหยาตราชลมารค(หรือขบวนเรือพระราชพิธี หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จประทับในเรือพระที่นั่ง)และประเพณีเห่เรือ ถือเป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลกที่เมืองไทยเท่านั้น
โดยเรือพระราชพิธีใน“กระบวนพยุหยาตราชลมารค” รังสรรค์ขึ้นด้วยศิลปะหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นศิลปะนาวาสถาปัตยกรรมในการออกแบบรูปทรงลำเรืออันวิจิตรตระการตา อีกทั้งยังมากไปด้วยประโยชน์ใช้สอย ศิลปะจิตรกรรมในการออกแบบลวดลายอันสวยสดงดงาม ในขณะที่งานศิลปะประติมากรรมที่ได้แก่ การแกะสลักนั้น ช่างได้บรรจงสลักอย่างมีมิติตื้นลึก มีแสงและเงา มีท่วงทำนองการทอดจังหวะของลวดลาย
เมื่อเรือพระราชพิธีโลดแล่นในแม่น้ำ จึงดูเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตจริง และยามที่ฝีพาย พายพร้อมกันจะดูพร้อมเพรียงงามสง่ามาก ยิ่งเมื่อประกอบกับกาพย์เห่เรืออันไพเราะประทับใจ กระบวนพยุหยาตราชลมารคจึงเป็นหนึ่งในความประทับใจไม่รู้ลืมของผู้ที่ได้ชม ซึ่งกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้น ใช้เรือรวมทั้งสิ้น 52 ลำ ระยะต่อระหว่างลำ 40 เมตร เว้นเรือพระที่นั่ง 80 เมตร ระยะเคียงระหว่างริ้ว 20 เมตร ความยาวของกระบวน 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร
ในส่วนของเรือประเภทต่างๆ ที่ใช้ในขบวนเรือพระราชพิธีนั้น มีดังนี้
เรือประตูหน้า คือเรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือคู่แรกของขบวน ตามด้วยเรือพิฆาต เป็นเรือรบที่อยู่ในริ้วที่ 2 และริ้วที่ 4 ถัดจากเรือประตูหน้าเข้ามาในกระบวน หัวเรือเป็นรูปเสือ มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือ ได้แก่เรือเสือทยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์
เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาน้ำมัน บางลำทาสีทอง (เรือดั้ง 21 และเรือดั้ง 22) ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับเป็นเรือรอบนอกของกระบวนโดยอยู่ในริ้วขวาสุดและริ้วซ้ายสุด ริ้วนอกด้านหน้าของกระบวนมี 11 คู่ หรือ 22 ลำ ได้แก่เรือดั้ง 1-22 โดยเลขคี่อยู่ด้านขวา และเลขคู่อยู่ด้านซ้าย
เรือกลองใน-เรือกลองนอก เป็นเรือกราบ อยู่ในริ้วกลางหรือริ้วที่ 3 มีปี่ชวาและกลองแขกสำหรับบรรเลง มี 2 ลำ ได้แก่เรือกลองใน (เรือแตงโม) อยู่บริเวณกลางกระบวนข้างหน้าเรือพระที่นั่ง เป็นเรือสำหรับผู้บัญชาการกระบวนเรือ และเรือกลองนอก (เรืออีเหลือง) อยู่หน้าสุดของริ้วกลาง เป็นเรือสำหรับรองผู้บัญชาการกระบวนเรือ
เรือตำรวจใน-เรือตำรวจนอก เป็นเรือกราบ มีพระตรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห มี 2 ลำ ได้แก่เรือตำรวจใน อยู่ในริ้วกลางหน้าเอพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือตำรวจนอก อยู่ถัดจากตำรวจใน
เรือรูปสัตว์ เป็นเรือแกะสลัก หัวเรือเป็นรูปขุนกระบี่ รูปอสูร รูปพญาวานร และรูปครุฑ ปัจจุบันมีอยู่ 8 ลำ หรือ 4 คู่ จัดให้อยู่มนริ้วกระบวนที่ 2 และริ้วกระบวนที่ 4 อยู่ถัดระดับเรือตำรวจนอกเข้ามา โดยมีตำแหน่งเรือคือริ้วที่ 2 เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือสุครีพครองเมือง และเรือครุฑเตร็จไตรจักร ริ้วที่ 4 เรืออสุรวายุภักษ์ เรือกระบี่ราญรอนราพย์ เรือพาลีรั้งทวีป และเรือครุฑเหินเห็จ
เรือพระที่นั่ง จัดว่าเป็นเรือที่สำคัญที่สุดและสง่างามที่สุดในกระบวน ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือคู่ชัก เป็นเรือที่ทำหน้าที่นำเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ทางเบื้องขวาเฉียงไปทางซ้าย คือเรือเอกชัยเหินหาว และอยู่ทางเบื้องซ้ายเฉียงไปทางข้างท้าย คือเรือเอกไชยหลาวทอง
เรือตำรวจตาม ใช้เรือกราบกัญญา เป็นพาหนะของพระตำรวจรักษาพระองค์ที่ตามเสด็จในกระบวน มีตำแหน่งเรืออยู่ในริ้วกลางต่อจากเรือพระที่นั่งรอง (เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์)
เรือแซง ใช้เรือกราบกัญญา เป็นเรือทหาร เรือแซงเสด็จทั้งสองข้างของเรือพระที่นั่ง โดยอยู่ในริ้วกระบวนนอกสุดของกระบวน มี 6 ลำ หรือ 3 คู่ โดยแซงด้านขวา 3 ลำ ได้แก่เรือแซง 1 เรือแซง 3 เรือแซง 5 และแซงด้านซ้าย 3 ลำ ได้แก่ เรือแซง 2 เรือแซง 4 เรือแซง 6 นอกจากนั้นยังจัดเรือแซงปิดท้ายริ้วกลางของกระบวน ต่อจากเรือตำรวจตามอีก 1 ลำ คือเรืองแซง 7 และปิดท้ายขบวนด้วย เรือประตูหลัง ใช้เรือกราบกัญญา คือเรือแซง 5 และเรือแซง
สำหรับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 นี้ นับเป็นโอกาสดีอีกครั้ง ที่คนไทยจะได้ชม“กระบวนพยุหยาตราชลมารค” ในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในระหว่างเวลา 15.00 – 17.00 น. ตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีจนไปสิ้นสุดบริเวณวัดอรุณราชวรารามฯ
*************************************
ผังการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค
ชมรายละเอียดเรือต่างๆในกระบวนพยุหยาตราชลมารคเพิ่มเติม