โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
บอกไว้ก่อนเลยว่าคอลัมน์ลุยกรุงอาทิตย์นี้จำต้องมีคำเตือนว่า "เนื้อหาที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน" เพราะวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันปล่อยผีของฝรั่งหรือวันฮัลโลวีน ซึ่งในฐานะที่ฉันเป็นผู้นิยมการท่องเที่ยวในเมืองกรุงโดยเฉพาะ ฉันจึงจะพาไปในสถานที่ที่เคยมีเรื่องลึกลับจำพวกผีหรือเปรตเพื่อให้เข้ากับเทศกาลปล่อยผีนี้ แต่แทนที่จะพาไปดูผีฝรั่ง ฉันก็จะพาไปดูผีไทยแทนเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบ
ที่แรกที่จะพาไปก็คือ "ประตูผี" แน่นอนว่าฉันไม่ได้จะพาไปกินสารพัดอาหารอร่อยแถวๆ นั้นหรอก แต่ดูจากชื่อก็รู้ว่าต้องมีอะไรเกี่ยวกับผีๆ สักอย่าง แต่ก่อนอื่นก็ต้องรู้ที่มาที่ไปของชื่อประตูผีกันเสียก่อน โดยต้องย้อนไปในกรุงเทพมหานครสมัยเมื่อเริ่มสร้างเมืองใหม่ๆ หรือในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น กรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางแบ่งเป็น เขตๆเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่จะมีศูนย์รวมอยู่ภายในกำแพงเมือง ส่วนด้านนอกกำแพงก็จะมีการทำนาทำการเกษตรอยู่เป็นส่วนใหญ่
และภายในกำแพงเมืองนี้ก็ถือธรรมเนียมกันอยู่ว่าหากมีชาวบ้านเสียชีวิตในกำแพงเมือง จะต้องขนเอาศพออกไปเผาด้านนอกกำแพง และทางออกที่จะขนศพออกไปได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือประตูทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ถ้าจะให้ระบุตำแหน่งก็น่าอยู่ช่วงระหว่างเสาชิงช้าและวัดสระเกศ หรือใกล้กับสี่แยกสำราญราษฎร์ปัจจุบัน เหตุที่ประตูเมืองด้านนี้ได้ชื่อว่าเป็นประตูผี ก็เพราะเป็นทางขนย้ายศพผีออกไปนอกกำแพงเมืองนั่นเอง ซึ่งวัดคนส่วนมากนำศพมาเผาหรือฝังก็มักจะเป็นที่วัดสระเกศ ซึ่งอยู่ติดๆ กับประตูผีนั่นเอง และไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีประตูผีเช่นนี้ แต่เมืองใหญ่ๆ ในสมัยโบราณเช่นเมืองเชียงใหม่ก็มีประตูผีเช่นกัน
แม้จะเรียกย่านนี้กันว่าย่านประตูผี แต่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่เห็นจะมีประตูสักบานให้เห็นแล้ว (แต่จะเห็นผีหรือไม่อันนี้ก็แล้วแต่ความซวยของแต่ละบุคคล) เพราะหลังจากที่ได้มีการตัดถนนบำรุงเมืองผ่านประตูผี และมีการรื้อถอนกำแพงเมืองและประตูออกไป ประตูผีก็เหลือแต่ชื่อไว้ให้ระลึกถึง แต่จะว่าเหลือแต่ชื่อก็ไม่ถูกนัก เพราะภายหลังยังได้เปลี่ยนชื่อเรียกบริเวณนี้จากเดิมที่เรียกว่าย่าน "ประตูผี" มาเป็น "สำราญราษฎร์" เพื่อให้เป็นมงคลแก่สถานที่อีกด้วย แต่ชื่อประตูผีก็ยังคงเป็นชื่อเรียกติดปากหลายๆ คนมาจนปัจจุบัน
และถ้าพูดถึงช่วงที่ประตูผีถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงขนศพอยู่บ่อยครั้งก็คงจะเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียงในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเกิดโรคห่า หรืออหิวาตกโรคระบาดไปทั่ว ทำให้มีคนตายหลายหมื่นคนด้วยกัน วัดสระเกศซึ่งเป็นสถานที่จัดการศพก็ยังไม่สามารถเผาศพหรือฝังได้ทันจนศพกองพะเนินมากมาย จึงต้องขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วฝังศพไปในหลุมเดียวกัน แต่จำนวนศพที่มากมายเกินไปก็ทำให้ฝูงแร้งจำนวนมากมาจิกกินซากศพเป็นอาหาร
และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงมีโรคระบาดเกิดขึ้นและมีคนตายเป็นจำนวนมากซ้ำอีกครั้ง และวัดสระเกศก็ยังคงประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเหมือนเดิม และมีแร้งมาจิกกินศพอีกเช่นเคย ทำให้มีคำเรียก "แร้งวัดสระเกศ" เกิดขึ้น
แต่ถ้าพูดถึงแร้งวัดสระเกศ แล้วไม่พูดถึง "เปรตวัดสุทัศน์" ก็จะดูเหมือนเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเรามักจะได้ยินสองอย่างนี้คู่กันเสมอๆ สำหรับ "เปรต" นั้น ก็เป็นชื่อเรียกผีหรือมนุษย์ที่ทำบาปทำกรรมหนักหนาสาหัส เมื่อตายไปแล้วก็จะมาเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์
เปรตนั้นก็มีหลายประเภทหลายลักษณะด้วยกัน แต่ภาพของเปรตที่คนส่วนมากจะคิดถึงก็คือต้องตัวสูงเท่าต้นตาล มือเท้าใหญ่เหมือนใบลาน ปากเท่ารูเข็ม ส่งเสียงร้องหวีดๆ ตอนกลางคืน และมักมาปรากฏตัวให้เห็นตอนกลางดึกเพื่อขอส่วนบุญ ส่วนคนที่ได้เห็นเปรตก็ถือว่าช่วงนั้นดวงตกต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรตตนนั้นเสีย
และสำหรับเปรตที่วัดสุทัศน์นี้ บางคนก็ว่ามีคนเคยเห็นเปรตสองผัวเมียออกมาหลอกคนแถววัดสุทัศน์อยู่บ่อยครั้งจนเป็นที่ร่ำลือถึงความน่ากลัว บ้างก็ว่าคำว่าเปรตวัดสุทัศน์นั้นใช้เป็นคำเรียกเชิงประชดประชันของพวกมารศาสนาซึ่งก็เป็นคนเหมือนๆ เรานี่แหละแต่ชอบมาหลอกลวงชาวบ้านชาวช่องให้หลงงมงายอยู่แถวๆ วัดสุทัศน์นี่เอง
ไม่ว่าจะเป็นเปรตแบบไหนก็ตาม แต่ฉันขอฟันธงว่าใครก็ตามที่ได้ไปวัดสุทัศน์ก็จะได้เห็นเปรตแน่นอน!!! ถ้าไม่เชื่อวันนี้ก็ลองเดินเข้าไปในพระวิหารของวัดสุทัศน์ ไหว้พระประธานหรือพระศรีศากยมุนีเสียก่อนเพื่อให้อุ่นใจ จากนั้นให้เดินไปทางด้านขวามือของพระประธาน เดินไปให้ถึงเสาต้นที่สี่ซึ่งอยู่ด้านในสุดของพระวิหาร จากนั้นเงยหน้ามองขึ้นไปด้านบนเสาใกล้ๆ กับโคมไฟ สิ่งที่จะได้เห็นก็คือ... เปรตที่กำลังนอนเหยียดยาวอยู่นั่นเอง!!!
ใช่แล้ว... เปรตที่ฉันว่ามานี้ก็คือภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเปรตที่อยู่บนเสาพระวิหารนั่นเอง โดยภาพวาดนี้วาดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จุดประสงค์ก็เพื่อใช้ภาพวาดสอนคนให้รู้ถึงการทำดีทำชั่ว หากทำดีก็จะได้อยู่ในชาติภพที่ดี แต่หากทำชั่วไว้มากก็ต้องมาเกิดเป็นเปรต ต้องทนทุกขเวทนารอส่วนบุญส่วนกุศลที่จะมีคนอุทิศให้อย่างในภาพวาดนี้... รู้นะว่ามีคนแอบโล่งใจที่ได้เห็นภาพวาดเปรตแทนที่จะได้เห็นเปรตตัวเป็นๆ
คราวนี้ข้ามจากย่านประตูผีมาฟังเรื่องผีๆ ทางฝั่งธนบุรีกันบ้าง ที่ "วัดสุวรรณาราม" ริมคลองบางกอกน้อยนี้ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องผีๆ อยู่มากเช่นกัน เพราะวัดสุวรรณฯ นี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี บริเวณวัดแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นลานประหารชีวิตเชลยพม่าโดยการตัดคอ ซึ่งก็มีเรื่องเล่ากันว่ามีคนเคยเห็นร่างของผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าโจงกระเบนแต่ไม่มีหัวมายืนอยู่ให้เห็น ส่วนสถานที่ที่นำศพเหล่านั้นมาฝังไว้ก็คือบริเวณที่เป็นสนามโรงเรียนวัดสุวรรณารามและบริเวณลานวัดสุวรรณารามปัจจุบัน
ที่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ฝังศพก็เนื่องจากว่า เมื่อครั้งที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่บริเวณนี้ ก็มีคนพบกระดูกคนอยู่มากมาย และมีเรื่องเล่าน่ากลัวๆ อีกว่า เคยมีคนพบกระดูกท่อนขาหรือท่อนแขนก็ไม่ทราบ แต่ก็มีกำไลทองคล้องอยู่ แสดงว่าเจ้าของกำไลนั้นน่าจะเป็นทหารพม่าระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่พอควร คนที่ขุดเจอกำไลก็เอาไปขาย นำเงินมาซื้ออาหารให้ภรรยาที่กำลังท้อง แต่คืนนั้นก็ฝันเห็นทหารพม่ามาบีบคอทวงกำไลคืน และภรรยาก็เสียชีวิตแบบที่เรียกว่าตายทั้งกลม ต่อมาจึงมีการตั้งศาลเพียงตาไว้ที่บริเวณโรงเรียนวัดสุวรรณแห่งนี้
ที่น่าสนใจก็คือ หากใครที่มาไหว้ศาลแห่งนี้ แล้วมองเข้าไปด้านในศาล ก็จะเห็นภาพวาดเป็นรูปนายกองทหารพม่าไว้สามรูป แทนที่จะมีเจว็ดอยู่ด้านในแบบศาลพระภูมิทั่วไป คงเพื่อเป็นการระลึกถึงดวงวิญญาณทหารพม่าที่เสียชีวิตในอดีต อีกทั้งด้านหน้าศาลก็ยังมีปิรามิดเล็กๆ ตั้งไว้ด้วย โดยมีความเชื่อกันว่า สถานที่ตรงไหนที่มีความอาถรรพ์มากๆ ก็จะใช้ปิรามิดสะท้อนสิ่งอาถรรพ์นั้นออกไป
กว่าจะมาถึงวัดสุวรรณฯ นี่ก็ได้เวลาโพล้เพล้พอดี ลมยามเย็นพัดแรงได้ยินเสียงใบไม้ดังซู่ๆ มองไปเห็นหอระฆังสูงทะมึนอยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์ ยิ่งได้ยินมาว่ามีคนเคยเห็นเปรตอยู่ตรงหอระฆังของวัดเสียด้วยสิ ฉันเลยจะมัวเดินอ้อยอิ่งอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องรีบก้าวเท้าแทบจะเป็นวิ่งกลับบ้านเลยทีเดียว
จะว่าไปแล้วไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ต้องมีคนตายอยู่ทั้งนั้นแหละ ยิ่งเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่เก่าแก่และมีความเป็นมายาวนานอย่างนี้ก็ต้องมีคนเกิดแก่เจ็บตายอยู่แทบทุกตารางนิ้วอยู่แล้ว ย่อมมีสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่รู้สึกได้อย่าง "ผี" อยู่ทั่วไปหมด แต่ฉันก็มีวิธีมาแนะนำ เป็นหนทางหนึ่งสำหรับคนกลัวผีและไม่อยากให้ผีมาหลอก นั่นก็คือการทำดี เป็นคนดี เพราะ "คนดีผีคุ้ม" สำหรับพวกที่ทำชั่วมากๆ ก็ระวังไว้เถอะ เพราะนอกจากผีจะไม่คุ้มครองแล้ว ตายไปก็ไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องคอยเป็นผีเร่ร่อนไปหลอกเขาอีกทอดหนึ่งก็ได้
บอกไว้ก่อนเลยว่าคอลัมน์ลุยกรุงอาทิตย์นี้จำต้องมีคำเตือนว่า "เนื้อหาที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน" เพราะวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันปล่อยผีของฝรั่งหรือวันฮัลโลวีน ซึ่งในฐานะที่ฉันเป็นผู้นิยมการท่องเที่ยวในเมืองกรุงโดยเฉพาะ ฉันจึงจะพาไปในสถานที่ที่เคยมีเรื่องลึกลับจำพวกผีหรือเปรตเพื่อให้เข้ากับเทศกาลปล่อยผีนี้ แต่แทนที่จะพาไปดูผีฝรั่ง ฉันก็จะพาไปดูผีไทยแทนเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเปรียบ
ที่แรกที่จะพาไปก็คือ "ประตูผี" แน่นอนว่าฉันไม่ได้จะพาไปกินสารพัดอาหารอร่อยแถวๆ นั้นหรอก แต่ดูจากชื่อก็รู้ว่าต้องมีอะไรเกี่ยวกับผีๆ สักอย่าง แต่ก่อนอื่นก็ต้องรู้ที่มาที่ไปของชื่อประตูผีกันเสียก่อน โดยต้องย้อนไปในกรุงเทพมหานครสมัยเมื่อเริ่มสร้างเมืองใหม่ๆ หรือในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้น กรุงเทพฯ ยังไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางแบ่งเป็น เขตๆเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่จะมีศูนย์รวมอยู่ภายในกำแพงเมือง ส่วนด้านนอกกำแพงก็จะมีการทำนาทำการเกษตรอยู่เป็นส่วนใหญ่
และภายในกำแพงเมืองนี้ก็ถือธรรมเนียมกันอยู่ว่าหากมีชาวบ้านเสียชีวิตในกำแพงเมือง จะต้องขนเอาศพออกไปเผาด้านนอกกำแพง และทางออกที่จะขนศพออกไปได้ก็มีอยู่ทางเดียวคือประตูทางด้านทิศตะวันออกของเมือง ถ้าจะให้ระบุตำแหน่งก็น่าอยู่ช่วงระหว่างเสาชิงช้าและวัดสระเกศ หรือใกล้กับสี่แยกสำราญราษฎร์ปัจจุบัน เหตุที่ประตูเมืองด้านนี้ได้ชื่อว่าเป็นประตูผี ก็เพราะเป็นทางขนย้ายศพผีออกไปนอกกำแพงเมืองนั่นเอง ซึ่งวัดคนส่วนมากนำศพมาเผาหรือฝังก็มักจะเป็นที่วัดสระเกศ ซึ่งอยู่ติดๆ กับประตูผีนั่นเอง และไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่มีประตูผีเช่นนี้ แต่เมืองใหญ่ๆ ในสมัยโบราณเช่นเมืองเชียงใหม่ก็มีประตูผีเช่นกัน
แม้จะเรียกย่านนี้กันว่าย่านประตูผี แต่ในปัจจุบันนี้ก็ไม่เห็นจะมีประตูสักบานให้เห็นแล้ว (แต่จะเห็นผีหรือไม่อันนี้ก็แล้วแต่ความซวยของแต่ละบุคคล) เพราะหลังจากที่ได้มีการตัดถนนบำรุงเมืองผ่านประตูผี และมีการรื้อถอนกำแพงเมืองและประตูออกไป ประตูผีก็เหลือแต่ชื่อไว้ให้ระลึกถึง แต่จะว่าเหลือแต่ชื่อก็ไม่ถูกนัก เพราะภายหลังยังได้เปลี่ยนชื่อเรียกบริเวณนี้จากเดิมที่เรียกว่าย่าน "ประตูผี" มาเป็น "สำราญราษฎร์" เพื่อให้เป็นมงคลแก่สถานที่อีกด้วย แต่ชื่อประตูผีก็ยังคงเป็นชื่อเรียกติดปากหลายๆ คนมาจนปัจจุบัน
และถ้าพูดถึงช่วงที่ประตูผีถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงขนศพอยู่บ่อยครั้งก็คงจะเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ และเมืองใกล้เคียงในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเกิดโรคห่า หรืออหิวาตกโรคระบาดไปทั่ว ทำให้มีคนตายหลายหมื่นคนด้วยกัน วัดสระเกศซึ่งเป็นสถานที่จัดการศพก็ยังไม่สามารถเผาศพหรือฝังได้ทันจนศพกองพะเนินมากมาย จึงต้องขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วฝังศพไปในหลุมเดียวกัน แต่จำนวนศพที่มากมายเกินไปก็ทำให้ฝูงแร้งจำนวนมากมาจิกกินซากศพเป็นอาหาร
และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงมีโรคระบาดเกิดขึ้นและมีคนตายเป็นจำนวนมากซ้ำอีกครั้ง และวัดสระเกศก็ยังคงประสบปัญหาเผาศพไม่ทันเหมือนเดิม และมีแร้งมาจิกกินศพอีกเช่นเคย ทำให้มีคำเรียก "แร้งวัดสระเกศ" เกิดขึ้น
แต่ถ้าพูดถึงแร้งวัดสระเกศ แล้วไม่พูดถึง "เปรตวัดสุทัศน์" ก็จะดูเหมือนเป็นประโยคที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเรามักจะได้ยินสองอย่างนี้คู่กันเสมอๆ สำหรับ "เปรต" นั้น ก็เป็นชื่อเรียกผีหรือมนุษย์ที่ทำบาปทำกรรมหนักหนาสาหัส เมื่อตายไปแล้วก็จะมาเกิดเป็นเปรตเพื่อชดใช้กรรมที่ทำไว้เมื่อยังเป็นมนุษย์
เปรตนั้นก็มีหลายประเภทหลายลักษณะด้วยกัน แต่ภาพของเปรตที่คนส่วนมากจะคิดถึงก็คือต้องตัวสูงเท่าต้นตาล มือเท้าใหญ่เหมือนใบลาน ปากเท่ารูเข็ม ส่งเสียงร้องหวีดๆ ตอนกลางคืน และมักมาปรากฏตัวให้เห็นตอนกลางดึกเพื่อขอส่วนบุญ ส่วนคนที่ได้เห็นเปรตก็ถือว่าช่วงนั้นดวงตกต้องไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เปรตตนนั้นเสีย
และสำหรับเปรตที่วัดสุทัศน์นี้ บางคนก็ว่ามีคนเคยเห็นเปรตสองผัวเมียออกมาหลอกคนแถววัดสุทัศน์อยู่บ่อยครั้งจนเป็นที่ร่ำลือถึงความน่ากลัว บ้างก็ว่าคำว่าเปรตวัดสุทัศน์นั้นใช้เป็นคำเรียกเชิงประชดประชันของพวกมารศาสนาซึ่งก็เป็นคนเหมือนๆ เรานี่แหละแต่ชอบมาหลอกลวงชาวบ้านชาวช่องให้หลงงมงายอยู่แถวๆ วัดสุทัศน์นี่เอง
ไม่ว่าจะเป็นเปรตแบบไหนก็ตาม แต่ฉันขอฟันธงว่าใครก็ตามที่ได้ไปวัดสุทัศน์ก็จะได้เห็นเปรตแน่นอน!!! ถ้าไม่เชื่อวันนี้ก็ลองเดินเข้าไปในพระวิหารของวัดสุทัศน์ ไหว้พระประธานหรือพระศรีศากยมุนีเสียก่อนเพื่อให้อุ่นใจ จากนั้นให้เดินไปทางด้านขวามือของพระประธาน เดินไปให้ถึงเสาต้นที่สี่ซึ่งอยู่ด้านในสุดของพระวิหาร จากนั้นเงยหน้ามองขึ้นไปด้านบนเสาใกล้ๆ กับโคมไฟ สิ่งที่จะได้เห็นก็คือ... เปรตที่กำลังนอนเหยียดยาวอยู่นั่นเอง!!!
ใช่แล้ว... เปรตที่ฉันว่ามานี้ก็คือภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเปรตที่อยู่บนเสาพระวิหารนั่นเอง โดยภาพวาดนี้วาดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จุดประสงค์ก็เพื่อใช้ภาพวาดสอนคนให้รู้ถึงการทำดีทำชั่ว หากทำดีก็จะได้อยู่ในชาติภพที่ดี แต่หากทำชั่วไว้มากก็ต้องมาเกิดเป็นเปรต ต้องทนทุกขเวทนารอส่วนบุญส่วนกุศลที่จะมีคนอุทิศให้อย่างในภาพวาดนี้... รู้นะว่ามีคนแอบโล่งใจที่ได้เห็นภาพวาดเปรตแทนที่จะได้เห็นเปรตตัวเป็นๆ
คราวนี้ข้ามจากย่านประตูผีมาฟังเรื่องผีๆ ทางฝั่งธนบุรีกันบ้าง ที่ "วัดสุวรรณาราม" ริมคลองบางกอกน้อยนี้ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องผีๆ อยู่มากเช่นกัน เพราะวัดสุวรรณฯ นี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรี บริเวณวัดแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่ซึ่งใช้เป็นลานประหารชีวิตเชลยพม่าโดยการตัดคอ ซึ่งก็มีเรื่องเล่ากันว่ามีคนเคยเห็นร่างของผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่นุ่งผ้าโจงกระเบนแต่ไม่มีหัวมายืนอยู่ให้เห็น ส่วนสถานที่ที่นำศพเหล่านั้นมาฝังไว้ก็คือบริเวณที่เป็นสนามโรงเรียนวัดสุวรรณารามและบริเวณลานวัดสุวรรณารามปัจจุบัน
ที่เชื่อว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ฝังศพก็เนื่องจากว่า เมื่อครั้งที่มีการขุดปรับแต่งพื้นที่บริเวณนี้ ก็มีคนพบกระดูกคนอยู่มากมาย และมีเรื่องเล่าน่ากลัวๆ อีกว่า เคยมีคนพบกระดูกท่อนขาหรือท่อนแขนก็ไม่ทราบ แต่ก็มีกำไลทองคล้องอยู่ แสดงว่าเจ้าของกำไลนั้นน่าจะเป็นทหารพม่าระดับนายกองชั้นผู้ใหญ่พอควร คนที่ขุดเจอกำไลก็เอาไปขาย นำเงินมาซื้ออาหารให้ภรรยาที่กำลังท้อง แต่คืนนั้นก็ฝันเห็นทหารพม่ามาบีบคอทวงกำไลคืน และภรรยาก็เสียชีวิตแบบที่เรียกว่าตายทั้งกลม ต่อมาจึงมีการตั้งศาลเพียงตาไว้ที่บริเวณโรงเรียนวัดสุวรรณแห่งนี้
ที่น่าสนใจก็คือ หากใครที่มาไหว้ศาลแห่งนี้ แล้วมองเข้าไปด้านในศาล ก็จะเห็นภาพวาดเป็นรูปนายกองทหารพม่าไว้สามรูป แทนที่จะมีเจว็ดอยู่ด้านในแบบศาลพระภูมิทั่วไป คงเพื่อเป็นการระลึกถึงดวงวิญญาณทหารพม่าที่เสียชีวิตในอดีต อีกทั้งด้านหน้าศาลก็ยังมีปิรามิดเล็กๆ ตั้งไว้ด้วย โดยมีความเชื่อกันว่า สถานที่ตรงไหนที่มีความอาถรรพ์มากๆ ก็จะใช้ปิรามิดสะท้อนสิ่งอาถรรพ์นั้นออกไป
กว่าจะมาถึงวัดสุวรรณฯ นี่ก็ได้เวลาโพล้เพล้พอดี ลมยามเย็นพัดแรงได้ยินเสียงใบไม้ดังซู่ๆ มองไปเห็นหอระฆังสูงทะมึนอยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์ ยิ่งได้ยินมาว่ามีคนเคยเห็นเปรตอยู่ตรงหอระฆังของวัดเสียด้วยสิ ฉันเลยจะมัวเดินอ้อยอิ่งอยู่ไม่ได้แล้ว ต้องรีบก้าวเท้าแทบจะเป็นวิ่งกลับบ้านเลยทีเดียว
จะว่าไปแล้วไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ต้องมีคนตายอยู่ทั้งนั้นแหละ ยิ่งเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่เก่าแก่และมีความเป็นมายาวนานอย่างนี้ก็ต้องมีคนเกิดแก่เจ็บตายอยู่แทบทุกตารางนิ้วอยู่แล้ว ย่อมมีสิ่งที่จับต้องไม่ได้แต่รู้สึกได้อย่าง "ผี" อยู่ทั่วไปหมด แต่ฉันก็มีวิธีมาแนะนำ เป็นหนทางหนึ่งสำหรับคนกลัวผีและไม่อยากให้ผีมาหลอก นั่นก็คือการทำดี เป็นคนดี เพราะ "คนดีผีคุ้ม" สำหรับพวกที่ทำชั่วมากๆ ก็ระวังไว้เถอะ เพราะนอกจากผีจะไม่คุ้มครองแล้ว ตายไปก็ไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องคอยเป็นผีเร่ร่อนไปหลอกเขาอีกทอดหนึ่งก็ได้