xs
xsm
sm
md
lg

"ผีขนน้ำ"แห่งเชียงคาน...รู้จักแล้วจะรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การละเล่นผีขนน้ำอีกหนึ่งประเพณีที่ควรอนุรักษ์ของเมืองเลย
"ผีไม่มีในโลก ผีฉันไม่เคยเชื่อ เรื่องผีแหม...ช่างน่าเบื่อ ใครเชื่อก็เฉิ่มเต็มที ไม่สบายก็โทษผีทำ ขยับไม่ได้ก็โทษผีอำ จะมีใครชอกช้ำใจกว่าผี"

"ผู้จัดการท่องเที่ยว"นั่งฮัมเพลง "ผีไม่มีในโลก"ของนักแต่งเพลงรักชื่อก้อง อย่าง บอย โกสิยพงษ์ ไปพร้อมๆกับยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เมื่อคิดถึงผีชนิดหนึ่งที่เพิ่งมีโอกาสได้ทำความรู้จัก

แม้เรื่อง "ผี" จะเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ และไม่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ แต่กระนั้นความเชื่อเรื่องผีๆก็ยังคงมีแอบแฝงอยู่ในแทบทุกสังคมทุกวัฒนธรรม คนไทยเราเองก็มีความเชื่อเรื่องภูตผีแฝงอยู่กันไม่น้อย มีทั้งผีดีที่คอยปกป้องคุ้มครอง และผีร้ายที่คอยตามอาฆาตในรูปแบบเจ้ากรรมนายเวร อย่างที่หนังไทยชอบสร้างกันนั่นล่ะ

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพบว่าในหลายท้องถิ่น มีการจัดงานประเพณีเซ่นไหว้เหล่าคุณผี อย่างที่จังหวัดเลย ก็มีผีที่ดีเลิศประเสริฐศรี เพราะนอกจากไม่มาหลอกหลอนให้คนกลัวแล้ว ยังสร้างรายได้ให้ชาวเลยได้เป็นกอบเป็นกำทีเดียว

ผีที่ว่านี้ก็คือ "ผีตาโขน"อย่างไรเล่า ผีตาโขน ถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในงาน"บุญหลวง"(งานบุญใหญ่ประจำปี) ซึ่งได้รวมงาน"บุญพระเวส"(หรือบุญผะเหวด)และงาน"บุญบั้งไฟ"เข้าไว้ด้วยกัน แต่จะบอกให้ว่าจังหวัดเลยไม่ได้มีผีแค่กลุ่มเดียว อืม..ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีผีชุกชุมใช่ย่อยทีเดียว

ผีอีกจำพวกหนึ่งที่ "ผู้จัดการท่องเที่ยว"เพิ่งได้ไปทำความรู้จักมาคือ "ผีขนน้ำ" หรือเดิมเรียก "ผีขน" เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านนาซ่าว ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งจะเล่นกันระหว่างเดือนหกในงานบุญบั้งไฟประจำปี แต่มีบ่อยครั้งที่รับเชิญไปออกงานต่างๆของทางจังหวัดอย่างวันออกพรรษาที่จะถึงนี้ทางจังหวัดก็จะเชิญไปร่วมงานพร้อมกับผีชนิดอื่นๆ

ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น การละเล่นผีขนน้ำจะมีได้ก็ต่อเมื่อ ทางวัดจัดงานวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือนหกผ่านพ้นไปแล้ว ต่อจากนั้นชาวบ้านนาซ่าว จะกำหนดเอาวันแรม 1-3 ค่ำ ที่ต่อจากวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญ ในการจัดทำพิธีกรรมเลี้ยงบ้าน หรือเลี้ยงผีปู่ ตา
ตามประเพณีความเชื่อการนับถือผีบรรพบุรุษ เพื่อแสดงความเคารพและตอบแทนบุญคุณที่ "ผีเจ้าปู่"ให้ความคุ้มครองให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกตามฤดูกาลทำให้เกษตรกรมีพืชผลในการผลิตดี พร้อมกับมีการละเล่นผีขนน้ำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน

ความเชื่อเรื่อง "ผีขนน้ำ" นั้น ชาวบ้านนาซ่าว เชื่อกันว่าผีขนน้ำเป็นวิญญาณของสัตว์จำพวก วัว ควาย ที่ตายไป ยังล่องลอยวนเวียนอยู่ตามที่เคยอาศัย เช่น ห้วย หนอง แม่น้ำ เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำอาบ วิญญาณสัตว์เหล่านั้นจะตามคนเข้าหมู่บ้าน ซึ่งได้ยินแต่เสียงกระดึงหรือกระดิ่ง พบแต่ขนไม่เห็นตัวตน จึงเรียกว่า "ผีขนวัว ผีขนควาย"หรืออีกนัยหนึ่ง เชื่อว่า การเล่นผีขนน้ำเป็นประจำในเดือนหกเป็นการขอฝน จึงเรียกว่า ผีขนน้ำ เพราะขนน้ำจากฟ้ามานั่นเอง

การแต่งกายของผีขนน้ำ ชาวบ้านจะนำไม้เนื้ออ่อนอย่าง ไม้งิ้ว ไม้ต้นตีนเป็ด (พญาสัตบรรณ) มาถากเป็นหน้ากาก ทำลวดลาย เป็นหน้าผี แต่งแต้มลวดลาย ให้ดูน่ากลัว เน้นการใช้โทนสีเข้ม แต่งหน้าผีออกมาอย่างไรก็ได้จะยิ้มแยกเขี้ยวแลบลิ้นปลิ้นตาไม่ว่ากัน

สีที่ใช้แต่เดิมใช้สีจากธรรมชาติ เช่นสีที่ได้จาก ถ่าน มะเกลือ เม็ดผักปรัง ฯลฯ มาแต้มลาย ทำเขาโค้งตกแต่งเขาให้สวยงาม แต่ปัจจุบันเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ชาวบ้านหันมาใช้สีน้ำมันแทน สานชะลอมสำหรับสวมศีรษะ คลุมด้วยเศษผ้า ประกอบเข้าชุดโดยประกอบส่วนหัว ตกแต่งด้วยเศษผ้าสีต่างๆประกอบเข้ากับตัวหุ่นวัสดุที่นำมาใช้จะเน้นในท้องถิ่นเป็นหลัก กฎข้อบังคับของหน้ากากผีขนน้ำมีอยู่ว่า ต้องมีลายผักแว่นกับดอกบัวเครือวาดอยู่บนหน้ากากด้วย

ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการละเล่นผีขนน้ำ เป็นเครื่องดนตรีที่ให้จังหวะในการเล่นให้สนุกสนาน อาทิ "กลอง" ที่ทำจากถังสีเจาะก้นออก แล้วใช้หนังวัวที่ตากแดดแห้งมาหุ้ม ทำเป็นกลองสำหรับตีเป็นจังหวะ "กะลอ" ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งข้อบ้อง แล้วเจาะเป็นรางเวลาเคาะจะทำให้เกิดเสียง "กะเหลบ" ใช้กะเหลบที่ใช้ผูกคอวัว ควาย นำมาผูกที่เอวของผู้ละเล่น เวลาเต้นก็จะทำให้เกิดเสียงดังขึ้นตามจังหวะ หรือบางครั้งอาจจะใช้กระดึงแทน

มาถึงเชียงคานทั้งนี้นอกจากผีขนน้ำแล้ว ก็ควรแวะท่องเที่ยวเชียงคานด้วย ที่ อ.เชียงคาน แห่งนี้อาจมีเสน่ห์ที่หลายๆคนอาจกำลังถวิลหาอยู่ เชียงคานเป็นอำเภอเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำโขง สงบเงียบ งดงามด้วยวิถีชีวิตของผู้คนที่หล่อหลอมระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและยุคใหม่อย่างลงตัว มีบ้านไม้ที่ชาวบ้านเรียกว่า "เรือนแรม"และตึกสถาปัตยกรรมแบบยุโรปสมัย ร.5 ที่ทอดตัวอยู่ริมฝั่งโขง คนที่นี่สบายอย่างน่าอิจฉา มีเวลาอ้อยอิ่งอยู่กับสายน้ำสีชาเย็นและขุนเขาอย่างมิรู้เบื่อ

เชียงคานนั้นปรากฏความสำคัญ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ร.ศ.112 เมื่อไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสไปทั้งหมด "เมืองเชียงคานเดิม" ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ก็ต้องตกไปเป็นของฝรั่งเศสด้วย แต่มีชาวเชียงคานจำนวนหนึ่ง พร้อมใจกันอพยพข้ามมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ ที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเยื้องกับเมืองเชียงคานเดิมไปทางเหนือเล็กน้อย ซึ่งก็คือเชียงคานปัจจุบัน

ว่ากันว่าผู้คนที่อพยพมาครั้งนั้นแทบจะทำให้เชียงคานเดิมกลายเป็นเมืองร้างไปเลยทีเดียว ต่อมาฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองเชียงคานเดิมเป็น "เมืองสานะคาม"ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ในฝั่งประเทศลาว ที่ตัวอำเภอเชียงคาน มีจุดผ่านแดนถาวรที่ใช้เปิดให้สองประเทศใช้ไปมาหาสู่กัน อยู่ที่ถนนชายโขง บ้านเชียงคาน ตำบลเชียงคาน

มาถึงเชียงคานหากยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากจุดไหนดี "ผู้จัดการท่องเที่ยว"แนะนำให้เข้าไปตั้งหลักใน "วัดศรีคุณเมือง" วัดเก่าแก่ของเชียงคาน ตั้งอยู่ในซอย 7 ถนนชายโขง ทางด้านเหนือของตลาดเชียงคาน เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้าง ดังจะเห็นได้จากโบสถ์ ซึ่งหลังคาลดหลั่นอย่างศิลปะล้านนา
ภายในมีศิลปวัตถุที่สำคัญหลายชิ้น เช่น พระพุทธรูปไม้จำหลัก ลงรักปิดทองปางประทานอภัยศิลปะแบบล้านช้าง ยามเย็นแดดร่มลมตก ฝั่งตรงข้ามวัดมีขั้นบันไดให้สามารถนั่งชมแม่น้ำโขงยามเย็นเป็นบรรยากาศที่สุขีเปรมอารมณ์ไม่น้อย

หรือหากต้องการปลีกวิเวกจากผู้คน "วัดท่าแขก" วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ก็เป็นอีกหนึ่งที่ เข้าทีอยู่ไม่น้อยวัดท่าแขกนี้ ได้รับการบูรณะหลังจากถูกทิ้งร้างมานาน โดย พระอาจารย์ มั่น ภูมิกตฺโต พระอาจารย์ เสาร์ กนตฺสีโล และ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่ธุดงค์มาพัก ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ ที่สกัดจากหินทรายทั้งก้อน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวเชียงคานเป็นอย่างมาก
มองสายน้ำโขงจากเมืองเชียงคาน
ห่างจากวัดท่าแขกไปไม่ไกล มีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งจัดเป็นความมหัศจรรย์ ที่รังสรรค์โดยธรรมชาติ อย่าง "แก่งคุดคู้" ที่มีลักษณะเป็นแก่งหินใหญ่กลุ่มก้อนสีดำ ขวางอยู่กลางลำน้ำโขง ในช่วงโค้งของลำน้ำโขงพอดิบพอดี ยามที่น้ำไหลกระทบแก่งหินจะก่อให้เกิดเสียงดังสนั่น ทำให้เกิดกระแสน้ำเชี่ยวไหลผ่านแก่ง

ฉากหลังของแก่งคุดคู้เป็นขุนเขาสูงใหญ่ บางเวลาในยามเช้าจะเห็นสายหมอกไล่เรี่ย เกาะกลุ่มตัดแนวเขาเป็นภาพงดงามอันแบบหนึ่ง ชื่อของแก่งคุดคู้นั้นเกิดจากตำนาน "จึ่งคึงดังแดง" ที่บอกเล่าการกำเนิดของแก่งคุดคู้ ส่วนการไปชมแก่งคุดคู้ ก็ต้องศึกษาเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงด้วย เพราะในหน้าน้ำ น้ำจะท่วมสูงจนมองไม่เห็นแก่ง ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการชม คือ ช่วงเดือนก.พ.ถึงเดือนพ.ค.

นอกจากนี้เชียงคานยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่ออีกหลายแห่ง อย่าง พระพุทธบาทภูควายเงิน พระใหญ่ภูคกงิ้ว หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ หากมีโอกาสแวะมามาเมืองเลย อย่าลืมแวะมาดู "ผีขนน้ำ" ผีดีน่าหลงรักอีกหนึ่งตัวและอย่าพลาดการท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตอันสงบเงียบของคนเชียงคาน ที่ใจเย็นไม่ต่างจากน้ำโขงที่ไหลเอื่อยพาดผ่านเชียงคาน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ.เชียงคาน จ.เลย ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลย 47 กิโลเมตร การเดินทางสามารถใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 201 มุ่งตรงจากตัวเมืองเลยมายัง อ.เชียงคานได้ สอบถามรายละเอียดงานประเพณีผีขนน้ำและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองเลย ได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 5 โทร.0-4232-5406-7 หรือที่ ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดเลย โทร. 0-4281-2812

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเลย                 ที่พักในจังหวัดเลย                 ร้านอาหารในอ.เชียงคาน                เทศกาลและงานประเพณีจังหวัดเลย 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
"งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน" 1-3 ก.ค. 49 
ภาพบรรยากาศงานบุญหลวง-ผีตาโขน ปี 48


กำลังโหลดความคิดเห็น