โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของคนทั้งประเทศ นั่นก็คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ของคนไทยนั่นเอง ฉันยังจำได้ถึงความเศร้าโศกของประชาชนในช่วงนั้น และยังได้ไปร่วมเคารพพระบรมศพของพระองค์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังด้วย
และเนื่องจากใกล้จะถึงวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ดังนั้นในวันนี้ฉันจึงอยากจะพาทุกคนไปเยือนนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ซึ่งอยู่ในแถบวัดอนงคาราม ย่านคลองสานนี่เอง
ความสัมพันธ์ของสมเด็จย่ากับวัดอนงคารามนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ และอยู่อาศัยที่บ้านในชุมชนหลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นห้องแถวชั้นเดียว ใช้เวลาเดินเท้าจากวัดอนงคารามประมาณ 5 นาที ภายในบ้านเล็กๆ ซึ่งประกอบด้วยที่นอน ห้องครัว และห้องโถงที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพทำทองของบิดาของพระองค์
และเมื่อสมเด็จย่าทรงเจริญวัยขึ้น ก็ได้ทรงเข้าเรียนครั้งแรกกับสมเด็จพระพุฒาจารย์นอม เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม ที่โรงเรียนอุดมวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงในวัดอนงคาราม ดังนั้นที่วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในวัยเยาว์ของสมเด็จย่า พระองค์จึงทรงมีความผูกพัน และเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกุศลที่วัดนี้อยู่เสมอๆ
และในวันนี้ฉันก็ได้มายืนอยู่ที่ "วัดอนงคาราม วรวิหาร" หรือชื่อเดิมคือวัดน้อยขำแถม เพราะท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นผู้สร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 ส่วนคำว่าขำแถมนั้นมีเพิ่มเติมมาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดอนงคารามอย่างในปัจจุบัน
แม้พื้นที่ของวัดแห่งนี้จะค่อนข้างคับแคบ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม
ส่วนในพระวิหารก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้พระวิหารจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบดี และมีพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธจุลนาคซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย
และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้
นอกจากนั้น ที่วัดอนงคารามนี้ก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเขตคลองสานอีกด้วย เพราะบนชั้นสองของห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน" ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งชื่อที่มาของเขต "คลองสาน" ที่มีข้อสันนิษฐานถึงที่มา 3 ข้อด้วยกัน คือมาจากคำว่าประสาน หมายถึงคลองที่เชื่อมประสานคลองต่างๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า "สาน" ที่หมายถึงเส้นทางคลองที่สอดสานกัน และที่มาสุดท้ายมาจากคำว่า "ศาล" เนื่องจากในอดีตเคยมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ปากคลอง
ในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังให้ความรู้ฉันอีกว่า ในแถบคลองสานนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในอดีต เรือสินค้าของต่างชาติจะต้องมาจอดอยู่บริเวณนี้ ดังนั้นพ่อค้าต่างชาติจึงนิยมมาตั้งรกรากและประกอบการค้าที่นี่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งคลองสานจึงเป็นที่ตั้งกิจการน้อยใหญ่ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ ฯลฯ ซึ่งบางแห่งก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เราได้เห็นบ้าง
อีกทั้งที่คลองสานนี้ยังถือเป็นย่านขุนนางอีกแห่งหนึ่ง โดยเป็นนิวาสสถานของตระกูลบุนนาคและขุนนางชั้นสูงอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเจ้าสัวจีนอีกหลายตระกูล ที่ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวจีนที่แต่งสำเภามาค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา และอีกส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในยุครัชกาลที่ 3-5 สมัยรัตนโกสินทร์ หลายคนคงจะคุ้นหูกับนามสกุลหวั่งหลี นามสกุลบูลกุล นามสกุลพิศาลบุตร นามสกุลโปษยานนท์ ตระกูลเหล่านี้แหละที่เป็นเจ้าสัวจีนในแถบคลองสาน
ในพิพิธภัณฑ์ยังมีข้าวของต่างๆ จัดแสดงไว้ให้ชม ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นตู้พระไตรปิฏกซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนเป็นรูปพระมโหสถตอนข้าศึกเข้าล้อมเมือง มีฝีมือการเขียนที่งดงามมากทีเดียว
ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสานและวัดอนงคารามแล้ว ก็และเมื่อมาเยือนถิ่นนิวาสถานเดิมของสมเด็จย่าแล้ว ก็อย่าลืมแวะเข้าไปที่ "อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 เข้าไปจนเกือบสุดซอย อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "อุทยานสมเด็จย่า" นี้ สร้างขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราชชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์
ภายในอุทยานฯ นั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นสวนสาธารณะร่มรื่น มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ด้านหน้าสวนจะมีพระรูปของสมเด็จย่าตั้งอยู่ โดยเป็นพระรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถสบายๆ เหมือนกับกำลังประทับเล่นอยู่ในสวน นอกจากนั้นแล้ว ภายในสวนก็ยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติเล่าพระราชประวัติของสมเด็จย่าตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคาราม และเรื่องราวก่อนที่จะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ รวมไปถึงพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่า อีกทั้งยังมีเรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่าที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์อีกด้วย
และในวันที่ 20-21 ต.ค.นี้ ที่อุทยานสมเด็จย่าก็ยังมีการจัดงาน "น้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ นิวาสสถานเดิม" ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างนิทรรศการ "คิดถึงสมเด็จย่า" และ "ความรัก ความผูกพัน ความกตัญญู" การจัดแสดงผลงานของสล่าล้านนาในรูปแบบงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทรรศการบ้านตุ๊กกะตุ่นและการแสดงหุ่นกระบอกไทย นิทรรศการจิตรกรรมชื่อ ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ และมีการจัดคอนเสิร์ตวงดุริยางค์สากล ตามรอยพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หากใครจะมากราบพระที่วัดอนงคาราม เรียนรู้เรื่องราวในย่านคลองสานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน และปิดท้ายด้วยการมาร่วมงานรำลึกถึงสมเด็จย่าที่อุทยานสมเด็จย่า ก็จะถือเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวในวันหยุดนี้ได้ดีทีเดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดอนงคารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 41 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2437-1595, 0-2438-3156 มีรถประจำทางสาย 6, 42, 43 ผ่าน ส่วนอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 (ซอยอยู่ติดกับวัดอนงคาราม) โทรศัพท์ 0-2437-7799, 0-2439-0902, 0-2439-0896
เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักของคนทั้งประเทศ นั่นก็คือสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ของคนไทยนั่นเอง ฉันยังจำได้ถึงความเศร้าโศกของประชาชนในช่วงนั้น และยังได้ไปร่วมเคารพพระบรมศพของพระองค์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังด้วย
และเนื่องจากใกล้จะถึงวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ดังนั้นในวันนี้ฉันจึงอยากจะพาทุกคนไปเยือนนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ซึ่งอยู่ในแถบวัดอนงคาราม ย่านคลองสานนี่เอง
ความสัมพันธ์ของสมเด็จย่ากับวัดอนงคารามนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ และอยู่อาศัยที่บ้านในชุมชนหลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นห้องแถวชั้นเดียว ใช้เวลาเดินเท้าจากวัดอนงคารามประมาณ 5 นาที ภายในบ้านเล็กๆ ซึ่งประกอบด้วยที่นอน ห้องครัว และห้องโถงที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบอาชีพทำทองของบิดาของพระองค์
และเมื่อสมเด็จย่าทรงเจริญวัยขึ้น ก็ได้ทรงเข้าเรียนครั้งแรกกับสมเด็จพระพุฒาจารย์นอม เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม ที่โรงเรียนอุดมวิทยายน ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงในวัดอนงคาราม ดังนั้นที่วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานศึกษาแห่งแรกในวัยเยาว์ของสมเด็จย่า พระองค์จึงทรงมีความผูกพัน และเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกุศลที่วัดนี้อยู่เสมอๆ
และในวันนี้ฉันก็ได้มายืนอยู่ที่ "วัดอนงคาราม วรวิหาร" หรือชื่อเดิมคือวัดน้อยขำแถม เพราะท่านผู้หญิงน้อย ซึ่งเป็นภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เป็นผู้สร้างขึ้นคู่กันกับวัดพิชัยญาติแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงในรัชกาลที่ 3 ส่วนคำว่าขำแถมนั้นมีเพิ่มเติมมาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้ก็ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดอนงคารามอย่างในปัจจุบัน
แม้พื้นที่ของวัดแห่งนี้จะค่อนข้างคับแคบ แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม
ส่วนในพระวิหารก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน แม้พระวิหารจะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็มีบรรยากาศที่เงียบสงบดี และมีพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธจุลนาคซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย
และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้
นอกจากนั้น ที่วัดอนงคารามนี้ก็ยังเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเขตคลองสานอีกด้วย เพราะบนชั้นสองของห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน" ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งชื่อที่มาของเขต "คลองสาน" ที่มีข้อสันนิษฐานถึงที่มา 3 ข้อด้วยกัน คือมาจากคำว่าประสาน หมายถึงคลองที่เชื่อมประสานคลองต่างๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยา บ้างก็ว่ามาจากคำว่า "สาน" ที่หมายถึงเส้นทางคลองที่สอดสานกัน และที่มาสุดท้ายมาจากคำว่า "ศาล" เนื่องจากในอดีตเคยมีศาลเจ้าเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ปากคลอง
ในพิพิธภัณฑ์ฯ ยังให้ความรู้ฉันอีกว่า ในแถบคลองสานนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานต่างๆ ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากในอดีต เรือสินค้าของต่างชาติจะต้องมาจอดอยู่บริเวณนี้ ดังนั้นพ่อค้าต่างชาติจึงนิยมมาตั้งรกรากและประกอบการค้าที่นี่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งคลองสานจึงเป็นที่ตั้งกิจการน้อยใหญ่ เช่น โรงสีข้าว โรงเลื่อย อู่ต่อเรือ ฯลฯ ซึ่งบางแห่งก็ยังคงหลงเหลือร่องรอยให้เราได้เห็นบ้าง
อีกทั้งที่คลองสานนี้ยังถือเป็นย่านขุนนางอีกแห่งหนึ่ง โดยเป็นนิวาสสถานของตระกูลบุนนาคและขุนนางชั้นสูงอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเจ้าสัวจีนอีกหลายตระกูล ที่ส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวจีนที่แต่งสำเภามาค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา และอีกส่วนหนึ่งก็คือกลุ่มพ่อค้าที่เข้ามาค้าขายในยุครัชกาลที่ 3-5 สมัยรัตนโกสินทร์ หลายคนคงจะคุ้นหูกับนามสกุลหวั่งหลี นามสกุลบูลกุล นามสกุลพิศาลบุตร นามสกุลโปษยานนท์ ตระกูลเหล่านี้แหละที่เป็นเจ้าสัวจีนในแถบคลองสาน
ในพิพิธภัณฑ์ยังมีข้าวของต่างๆ จัดแสดงไว้ให้ชม ที่โดดเด่นก็เห็นจะเป็นตู้พระไตรปิฏกซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนเป็นรูปพระมโหสถตอนข้าศึกเข้าล้อมเมือง มีฝีมือการเขียนที่งดงามมากทีเดียว
ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสานและวัดอนงคารามแล้ว ก็และเมื่อมาเยือนถิ่นนิวาสถานเดิมของสมเด็จย่าแล้ว ก็อย่าลืมแวะเข้าไปที่ "อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 เข้าไปจนเกือบสุดซอย อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "อุทยานสมเด็จย่า" นี้ สร้างขึ้นมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราชชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์
ภายในอุทยานฯ นั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นสวนสาธารณะร่มรื่น มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ด้านหน้าสวนจะมีพระรูปของสมเด็จย่าตั้งอยู่ โดยเป็นพระรูปที่อยู่ในพระอิริยาบถสบายๆ เหมือนกับกำลังประทับเล่นอยู่ในสวน นอกจากนั้นแล้ว ภายในสวนก็ยังจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติเล่าพระราชประวัติของสมเด็จย่าตั้งแต่ปฐมวัยและยังเป็นสามัญชนอาศัยอยู่ในย่านวัดอนงคาราม และเรื่องราวก่อนที่จะเลื่อนฐานันดรศักดิ์มาเป็นพระราชชนนีของพระมหากษัตริย์ไทยถึงสองพระองค์ รวมไปถึงพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยวัตรของสมเด็จย่า อีกทั้งยังมีเรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่าที่เคยประทับเมื่อยังทรงพระเยาว์อีกด้วย
และในวันที่ 20-21 ต.ค.นี้ ที่อุทยานสมเด็จย่าก็ยังมีการจัดงาน "น้อมรำลึกถึงสมเด็จย่า ณ นิวาสสถานเดิม" ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างนิทรรศการ "คิดถึงสมเด็จย่า" และ "ความรัก ความผูกพัน ความกตัญญู" การจัดแสดงผลงานของสล่าล้านนาในรูปแบบงานหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทรรศการบ้านตุ๊กกะตุ่นและการแสดงหุ่นกระบอกไทย นิทรรศการจิตรกรรมชื่อ ดอกไม้ไม่จำนรรจ์ และมีการจัดคอนเสิร์ตวงดุริยางค์สากล ตามรอยพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หากใครจะมากราบพระที่วัดอนงคาราม เรียนรู้เรื่องราวในย่านคลองสานที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน และปิดท้ายด้วยการมาร่วมงานรำลึกถึงสมเด็จย่าที่อุทยานสมเด็จย่า ก็จะถือเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวในวันหยุดนี้ได้ดีทีเดียว
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วัดอนงคารามวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 41 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2437-1595, 0-2438-3156 มีรถประจำทางสาย 6, 42, 43 ผ่าน ส่วนอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งอยู่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 (ซอยอยู่ติดกับวัดอนงคาราม) โทรศัพท์ 0-2437-7799, 0-2439-0902, 0-2439-0896