xs
xsm
sm
md
lg

"เฟิน"พืชโบราณ ใบสวย-มากประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฟินท้องเงิน
"เฟิน" พืชต้นเล็กๆ ที่มีใบหลากหลายรูปทรงอันสวยงาม ที่หลายคนมักจะนำเฟินมาปลูกเลี้ยง เพื่อเพิ่มความสดชื่นให้กับตัวเองเหมือนกับได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติในความเป็นโลกสีเขียวของเฟิน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า เฟิน (FERNS)เป็นหนึ่งในพืชโบราณที่ถือกำเนิดคู่โลกมาตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์และก่อนที่มนุษยชาติจะถือกำเนิดขึ้นมาหลายล้านปี

ตามหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์หรือที่เรียกว่า "ฟอสซิล" (Fossil) ที่นักวิทยาศาสตร์ขุดค้นพบ ในมหายุคพาลีโอโซอิก เมื่อประมาณ 400 ล้านปีมาแล้วระบุว่า ต้นตระกูลเฟินพัฒนาตัวขึ้นมาจากสาหร่ายเซลล์เดียวที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร จนขึ้นมายึดครองพื้นพิภพอันว่างเปล่าที่ยังไร้มนุษย์และสัตว์ใดๆเสียอีก

ดร. ปิยเกษตร สุขสถาน นักวิชาการพฤกษาศาสตร์ ประจำหอพรรณไม้ สำนักวิชาการ-วิจัย สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กระทรวงทัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หนึ่งกูรูด้านเฟินของเมืองไทย กล่าวว่า เฟิน เป็นพืชที่มีเสน่ห์ถึงแม้จะไม่มีดอก แต่มีความหลากหลายมาก มีตั้งแต่ใบเดี่ยวจนเป็นใบประกอบฝอยเล็ก และเฟินมีขึ้นตั้งแต่ระดับริมทะเล จนกระทั่งถึงยอดเขาสูง ซึ่งในเมืองไทยมีเฟินกว่า 670 ชนิด

"เฟินมีโครงสร้างหลายส่วน เริ่มจากเหง้าหรือลำต้นของเฟิน มีอยู่หลายแบบแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิด มีทั้งเหง้าตั้งตรง และเหง้าทอดเลื้อย ต่อมาคือใบที่เมื่อเป็นยอดอ่อนจะม้วนงอเป็นลานนาฬิกา แล้วจะค่อยๆคลายลานปล่อยม้วนออกมากางเป็นใบเฟินขนาดปกติ ส่วนต่อมาคือ สปอร์ ที่เฟินใช้ในการขยายพันธุ์ ซึ่งสปอร์จะบรรจุอยู่ในอับสปอร์ และอยู่รวมกันเรียกว่า กลุ่มอับสปอร์
จุดลวดลายที่เห็นด้านหลังใบเฟิน คือสปอร์ที่ใช้ในการขยายพันธุ์
"หากลองพลิกดูที่หลังใบ จะเห็นว่าเฟินมีการสร้างสปอร์อยู่หลังใบ ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นความสวยงามของเฟิน เห็นว่ามีการเรียงตัวของสปอร์อยู่ใต้ผิวใบ ถ้าดูให้ดีๆ จะเห็นว่ามีเยื่อบางๆ ปิดบนกลุ่มอับสปอร์อีกทีหนึ่ง และเมื่อกลุ่มอับสปอร์หลายๆ กลุ่มมาเรียงตัวกันก็จะเป็นลวดลายสวยงามอยู่ด้านหลังใบ แต่ละพันธุ์แต่ละกลุ่มจะมีลวดลายต่างกัน เฟินจะสร้างสปอร์ขึ้นแล้วปล่อยให้หลุดร่วงปลิวไปตามลมหรือน้ำ และเมื่อไปตกยังที่เหมาะสม ก็จะเกิดเป็นเฟินเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมันต่อไป" ดร.ปิยเกษตร อธิบาย

สำหรับเมืองไทยตามป่าเขาและตามอุทยานแห่งชาติๆส่วนใหญ่ ต่างก็มีเฟินขึ้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของผืนป่านั้นๆ โดยเฉพาะที่"อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่"นั้น ถือเป็นหนึ่งในดินแดนเฟินที่น่าสนใจแห่งหนึ่งของเมืองไทย

"เขาใหญ่ มีเฟินไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด เพราะเฟินเป็นดัชนีบ่งชี้สภาพความสมบูรณ์ของป่า อีกทั้งเขาใหญ่ยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินทราย ซึ่งเราจะพบเฟินอยู่บนภูเขาหินทรายหลายๆ ชนิด เนื่องจากภูเขาหินทรายในหน้าแล้ง ค่อนข้างจะแห้งแล้ง ก็จะมีเฟินนี่แหละที่จะสามารถปรับตัว และจะขึ้นเกาะอยู่ได้ตามภูเขาหินทราย และบางส่วนก็จะเป็นเฟินอิงอาศัยเกาะอยู่ตามต้นไม้ บางส่วนก็จะเป็นเฟินที่ขึ้นอยู่บนดินธรรมดา"

ดร.ปิยเกษตรพูดถึงเฟินบนเขาใหญ่ ก่อนจะอธิบายถึงสายพันธุ์ต่างๆของเฟินที่ขึ้นอยู่ตามริมป่าข้างทางบนเขาใหญ่ว่า สามารถพบเห็นได้หลากหลายสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น โชน กูดดอย เฟินกีบแรด ลิเภาใหญ่ หรือเฟินที่ขึ้นแบบเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ อย่าง กูดอ้อม กระแตไต่ไม้ หรือจะเป็นเฟินที่น่าสนใจและถือว่าหาชมได้ยาก อย่าง เฟินท้องเงิน ที่ใบด้านบนเป็นสีเขียวมีลายของเส้นใบย่อยเป็นร่องลึกชัดเจน มีก้านใบตอนบนสีน้ำตาลเข้มหรือดำ เกลี้ยงเป็นมัน แต่พอพลิกใต้ใบจะเห็นว่าปกคลุมไปด้วยขี้ผึ้งสีขาว ที่ดูราวกับสีเงินสะท้อน
มาเที่ยวที่เขาใหญ่ สามารถพบเห็นเฟินได้ตั้งแต่ริมป่าข้างทาง
"ส่วนที่บริเวณ ผาเดียวดาย เป็นอีกหนึ่งจุดที่มีเฟินหลากหลายสายพันธุ์ให้ชมกัน อาทิ เฟินแผ่นฟิลม์ หรือฟิลม์มี่เฟิน เป็นเฟินที่มีใบบางจัด โปร่งแสง ถือว่ามีประโยชน์ทางนิเวศวิทยาในแง่ที่ว่าเป็นตัวบ่งชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของสภาพป่า ตัวต่อมา กนกนารี ที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดิน มีใบสีเขียวเป็นเกล็ดเล็กๆ แผ่ออกมาดูสวยงาม

"เถานคราช เป็นเฟินอีกชนิดที่ชอบขึ้นอาศัยอยู่ตามต้นไม้หรือโขดหิน ลักษณะใบเป็นรูปแถบยาว ปลายสอบแหลม ก้านใบสั้นๆ แตกกิ่งก้านสาขามากมาย อีกชนิดคือ ลิ้นกุรัม เป็นเฟินที่มีใบก้านยาว ตัวใบรูปขอบขนานแถมรูปไข่ ปลายใบแหลม แค่โคนใบกลม มีผิวบนในเรียบเกลี้ยงหรือมีขนรูปดาวประปราย (ซึ่งต้องใช้กล้องขยายส่องถึงจะเห็น) ใต้ใบมีขนสีน้ำตาลหนาแน่น นี่เป็นเพียงสายพันธุ์ของเฟินเพียงบางส่วน ซึ่งที่จริงแล้วในป่ายังมีเฟินอีกหลายชนิดให้ได้ดูกัน" ดร.ปิยเกษตรพูดถึงเฟินบนเขาใหญ่

อย่างไรก็ตาม เฟินใช่ว่าจะเป็นเพียงพืชใบที่มีไว้ให้ดูสวยงาม หรือนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดอกไม้ประดับอย่างที่รู้กันเพียงเท่านั้น แต่แท้ที่จริง เฟินนับเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มากมาย ซึ่งดร.ปิยเกษตรบอกว่า

"จริงๆ แล้วเฟินมีประโยชน์หลายอย่างต่อผืนป่าและต่อสภาพนิเวศวิทยาคือ เฟินหลายกลุ่มเป็นไม้เบิกนำ สมมุติว่ามีการทล่มของดิน อาจจะเป็นเพราะหินมันพุตัว หรือว่าอะไร พอดินสไลด์ลงมามันจะเป็นพื้นที่โล่งๆ ถ้าพื้นที่อย่างนี้ถ้ามีการปล่อยโล่งต่อไป ฝนตกลงมาก็จะยิ่งชะหน้าดินลงไป ทีนี้ดินที่มันเปิดโล่งแล้วไม่ค่อยดี ตรงนี้พืชในป่าดิบทั่วไปมักจะไม่ค่อยขึ้น แต่จะมีเฟินบางกลุ่มไปขึ้นก่อน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นตรงนั้นขึ้นมา และหลังจากนั้นพอมีเมล็ดไม้ใหญ่มาตก ก็จะสามารถที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ก็เป็นพืชที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่า"

นอกจากนี้เฟินยังเป็นพืชสมุนไพรได้อีกต่างหาก อาทิ กระแตไต่ไม้ แก้ไทฟอยด์ แก้ไอ อาการบวม เฟินเงิน ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้บิดมูกเลือด ว่านกีบแรดและชายผ้าสีดา ใช้บรรเทาปวด-ลดไข้ รวมไปถึงเฟินยังเป็นอาหารได้อีกด้วย อย่างเช่น กูดห้วยหรือกูดกิน ลำเท็งหรือกูดแดง ที่สามารถนำมาเป็นอาหารได้สารพัด ตั้งแต่เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก นำมาผัด หรือเป็นส่วนผสมในแกงต่างๆ ยังไม่หมดเฟินบางชนิดอย่าง ย่านลิเภา ที่ทางภาคใต้นิยมใช้ก้านใบ มาทำเป็นเครื่องจักรสานที่มีความงดงาม เรียกว่าเฟินนั้นมีประโยชน์มากมายอย่างที่คาดไม่ถึง

สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังคิดอยากจะมาเที่ยวป่าดูเฟินบ้างนั้น นอกจากที่เขาใหญ่แห่งนี้แล้ว ดร.ปิยเกษตร ยังได้แนะนำสถานที่ดูเฟินตามแหล่งท่องเที่ยวที่อื่นๆ อีกที่มีเฟินให้ดูหลากหลายมากมาย และเลือกไปได้ตามความชอบ

"ถ้าเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ภูหินร่องกล้า ไปที่นู่นจะเห็นเฟินหลากหลาย และสะดวกในการเดินดูเป็นทีม แต่ถ้าชอบเดินป่าลุยๆ ก็ต้องที่เขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช เพราะว่ายิ่งลงใต้เฟินจะเยอะกว่าด้านบนของประเทศ โดยเฉพาะทางใต้จะมีเฟินแปลกๆ เยอะ ส่วนภาคเหนือ ถ้าบนเขาหินปูนก็คงจะเป็นดอยเชียงดาว แต่ถ้าเป็นเฟินบนเขาหินแกรนิต ก็ที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งที่นี่มีความแตกต่างกันในเรื่องระดับความสูง ต่ำๆ ก็จะมีเฟินแบบหนึ่ง ขึ้นไปอีกหน่อยก็มีเฟินอีกแบบหนึ่ง จนขึ้นไปถึงป่าเมฆด้านบนก็เป็นเฟินอีกแบบหนึ่ง" ดร.ปิยเกษตรแนะนำ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สำหรับผู้ที่สนใจหรือชื่นชอบเรื่องเฟิน และอยากศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเฟินมากกว่านี้ ดร. ปิยเกษตร สุขสถาน ได้ทำการเขียนหนังสือเรื่อง "FERNS" ขึ้น โดยเขียนร่วมกับม.ล. จารุพันธ์ ทองแถม ซึ่งหนังสือเรื่อง"FERNS"รวบรวมเรื่องราวรายละเอียดของเฟินกว่า 409 ชนิดไว้ในหนังสือ พร้อมรูปเฟินให้ได้ดูประกอบ ถือว่าเป็นคู่มือเฟินป่าและเฟินปลูกเลี้ยงในประเทศไทยที่สมบูรณ์ ที่อ่านแล้วจะได้ความรู้เกี่ยวกับเฟินอย่างมากมาย

กำลังโหลดความคิดเห็น